อยุธยา "มหานครแห่งการเรียนรู้" (2)


การเรียนรู้เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของบุคคล ครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติโดยรวม

"การเรียนรู้เป็นสิ่งที่บุคคล หน่วยงาน องค์การ ชุมชน สังคมและประเทศชาติปรารถนา"

บทเรียนจากต่างประเทศ
        จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับมหานครแห่งการเรียนรู้เป็นเรื่องทันสมัย  โดยเฉพาะงานวิจัยขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development - OECD) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา (Center for Education Research and Innovation - CERI) ในปี พ.ศ. 2534 สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเครือข่ายนครแห่งการเรียนรู้ของสหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 เครือข่ายดังกล่าวได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยจำนวนของนครที่สนับสนุนได้ขยายจากกลุ่มย่อยที่เป็นแกนกลางจนกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายนครที่มีขนาดใหญ่ จำนวนถึง 20 แห่ง  เครือข่ายดังกล่าวถือเป็นเวทีสำคัญในการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการเชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับวงจรการเรียนรู้และการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาและการเผยแพร่ของเครือข่ายมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต

วัตถุประสงค์ของนครแห่งการเรียนรู้
        นครแห่งการเรียนรู้มีหลักการและวัตถุประสงค์เชื่อมโยงกัน 2 ประการ ได้แก่
        1) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
        2) เพื่อเรียนรู้แนวทางส่งเสริมการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ

       การเรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึงการสนับสนุนให้บุคคล นายจ้างและองค์กรต่างๆมีส่วนร่วมการการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เนื่องจากลักษณะของภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประชาชนต้องปรับและยกระดับทักษะความรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในตลาดแรงงาน ชุมชนที่มีทักษะสูงจะดึงดูดการจ้างงาน นครใหญ่และนครเล้กที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นสถานที่ที่น่าอยุ่น่าอาศัย  การเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรวม ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมากขึ้นเท่าใด ชุมชนนั้นจะยิ่งมั่งคั่ง ประสบความสำเร็จและน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น  

         การปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ  นครแห่งการเรียนรู้จำเป็นต้องทราบบริทบของการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ในการกำหนดลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิด "สังคมแห่งความรู้" เพื่อการวางแผนสำหรับอนาคต  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายประชากร ความเติบดตและความเสื่อมถอยของพื้นฐานทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมตลอดจนผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีต่อระบบการสื่อสาร ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการปฏิรูปจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อพัฒนาทักษะของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อทำความเข้าใจองค์ประกอบต่างๆในชีวิตของนครแห่งการเรียนรู้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปวัฒนธรรม

ภารกิจของนครแห่งการเรียนรู้
        การทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ชุมชนต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือแบบหุ้นส่วน ระหว่างหุ้นส่วนต่างๆในรูปแบบใหม่  รวมทั้งวิธีการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น  ภารกิจนี้ได้แก่
       1) ความร่วมมือแบบหุ้นส่วน  เป็นภารกิจช่วงต้นของนครแห่งการเรียนรู้ กล่าวคือ การสร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างสถาบันและส่วนต่างๆ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือและความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของสมาชิกชุมชนทุกคน  ลักษณะของความร่วมมือแบบหุ้นส่วนได้แก่
        1.1 พัฒนากิจกรรมการรวมกลุ่ม/องค์กรทุกแห่งทั่วทั้งชุมชน เพื่อประสานงานระหว่างหุ้นส่วนทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
        1.2 ประสานแนวทางต่างๆ สำหรับการเรียนรู้หลากหลายประเภทที่ชุมชนให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในระบบ หรือการเรียนรู้นอกระบบ และการเรียนรู้โดยใช้ที่ทำงานเป็นฐาน
        1.3 ติดต่อประสานงานระหว่างส่วนต่างๆในทุกระดับการศึกษาและการจ้างงาน
        1.4 ใช้สื่อประเภทต่างๆในการส่งเสริมผลสัมฤทธิ์และสร้างความกระตือรือร้นในการเรียนรู้
        2) การมีส่วนร่วม  ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ๆที่โน้มน้าวประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการปกครองและการเปลี่ยนแปลงชุมชน  กระบวนการดังกล่าวเรียกร้องให้ประชาชนที่มีทักษะแสดงออกถึงความต้องการและความคาดหวัง ในขณะเดียวกันทักษะดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการทำงานและการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ "ในสังคมซึ่งอยู่ในภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลง ระบบการศึกษามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวไปสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้"ดังกล่าวข้างต้น

เงื่อนไขของนครแห่งการเรียนรู้
        หากชุมชนใดประสงค์จะเป็น "นครแห่งการเรียนรู้" ต้องมีความสร้างสรรค์โดยอาศัยแนวทาง ดังต่อไปนี้
        1) การเรียนรู้เพื่อคิดหาวิธีการใหม่ในการเรียนรู้  โดยอาศัย
        1.1 การพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนให้มีความหลากหลายและมีความยืดหยุ่น
        1.2 การรับรู้และการให้คุณค่าต่อการเรียนรู้ทุกรูปแบบที่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในชุมชน

        การเรียนรู้ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศึกษาในระบบ  หากรวมถึงการเรียนรู้ที่หลากหลายประเภท ทั้งในสถานที่ทำงาน องค์กรอาสาสมัคร และในครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยให้ชุมชนเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยมากขึ้น

         2) การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ ควรคิดไตร่ตรองดังนี้
         2.1 ในอดีต ชุมชนเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเผชิญอยู่อย่างไร?
         2.2 ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด? 
         2.3 คุณค่าของการเรียนรู้ที่ชุมชนได้รับเพิ่มมีมากน้อยเพียงใด? 

กรณีศึกษา "นครแห่งการเรียนรู้"ของสหราชอาณาจักร
        นครต่างๆ แสดงให้เห็นถึงวิการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆที่ชุมชนใช้ในการปฏิรูป หรือการเผชิญหน้ากับอนาคต โดยเฉพาะนครต่างๆในสหราชอาณาจักรที่นำแนวคิดเรื่องนครแห่งการเรียนรู้มาใช้ ได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเชื่อมโยงการปฏิรูปเข้ากับการัฒนาทักษะที่จำเป็น อาทิเช่น
        ลิเวอร์พูล  ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงนักเรียนและผู้เรียนในชุมชน
        เซาท์แฮมตัน  กำหนดเป้าหมายในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่ประชาชนทั้งหมด
        สวอนซี  พัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยใช้เงินทุนสนับสนุนของยุโรป
        เชฟฟีลด์  พัฒนาเครือข่ายยกระดับท้องถิ่นของศูนย์การเรียนรู้ เรียกว่า "Citinet" เชื่อมโยงครัวเรือน โรงเรียน ธุรกิจ และศูนย์ต่างๆ ของชุมชนในลักษณะที่เสมือนว่าโลกอยู่ที่ปลายนิ้วมือของทุกคน

อยุธยา "มหานครแห่งการเรียนรู้"
        จากสภาพความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทำให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งทางโตรงและทางอ้อม  
         การปรับตัวให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องอาศัยกระบวนการจัดการความรู้ที่เป็นระบบ เป็นเครือข่าย สอดประสานสัมพันธ์กันทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการจัดการความรู้ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปสู่การเป็น "สังคมแห่งการเรียนรู้" และ "มหานครแห่งการเรียนรู้" ต่อไป

   ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
      26 ก.พ.49
         

  

หมายเลขบันทึก: 16916เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2006 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท