การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๔)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๔)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๔ กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน มาลงต่อนะครับ     กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนมาจากเทคนิคจัดการความรู้ที่เรียกว่า peer assist


ตอนที่  14  เพื่อนเยี่ยมเพื่อน  :  ชุมชนชาวนา
        กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชาวนาจากโรงเรียนชาวนาทั้ง  4  แห่ง  4  อำเภอ  (อำเภอเมือง  อำเภอบางปลาม้า  อำเภออู่ทอง  และอำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี)  ซึ่งเป็นสมาชิกของมูลนิธิข้าวขวัญ  ได้มารวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน  ทำให้ชุมชนชาวนาต่างๆจะได้ใช้เวทีดังกล่าวในการถ่ายทอด  เผยแพร่ผลงาน  และแสดงความสามารถผ่านเครือข่ายโรงเรียนชาวนา  ให้เห็นเป็นประจักษ์แก่สายตาของทุกคน


        เวทีแลกเปลี่ยนความรู้  จะจัดขึ้น  1  ครั้ง  ต่อ  3  เดือน  โดยโรงเรียนชาวนาแต่ละแห่งจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้ให้และผู้รับที่ดี  เมื่อโรงเรียนชาวนาในชุมชนแห่งหนึ่งเป็นเจ้าภาพต้อนรับขับสู่ผองเพื่อนนักเรียนชาวนาจากบ้านอื่น  บทบาทของการเป็นผู้ให้จึงเกิดขึ้น  ในขณะเดียวกันการไปเยี่ยมเยือนถิ่นใดก็ถือว่าได้ประโยชน์หลายสถาน  เพราะเป็นผู้รับ  เวทีเพื่อนเยี่ยมเพื่อนจึงเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยความลูกหลานชาวนาด้วยกัน  คงจะไม่มีใครเข้าใจชาวนาเหมือนกับชาวนาด้วยกันเอง  ใครมีของดีก็เอามาแบ่งกัน  มีเทคนิคใหม่ๆ  ดีๆ  ก็บอกต่อๆกันในเวทีนี้ได้  หรือใครมีปัญหาเรื่องนาเรื่องข้าว  ก็ผู้ที่มีประสบการณ์จะเข้าไปช่วยกันแนะนำหาแนวทางที่เป็นทางออกที่ดีให้ก้าวต่อไปให้ได้


        กิจกรรมจะช่วยสร้างความรักสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มนักเรียนชาวนา  สร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน  รวมกันเราอยู่  พลังของกลุ่มชาวนาที่จะร่วมมือร่วมใจร่วมแรงกันพัฒนาให้นักเรียนชาวนาก้าวเข้าสู่เกษตรกรรมยั่งยืน  ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้เพื่อนผองนักเรียนชาวนาที่จะคิดสู้ต่อไป   


        ในอีกมุมหนึ่งของกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนในฝ่ายของเจ้าภาพ  ถือเป็นการฝึกทักษะ      ความเป็นผู้นำให้กับนักเรียนชาวนาได้เป็นอย่างดี  ฝึกการวางแผนงานเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ  เสริมสร้างทักษะการเป็นวิทยากรชาวนา 


        โดยปกติแล้ว  กิจกรรมจะช่วยซักซ้อมความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน  นักเรียนชาวนามักนำเรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  เรื่องพืชสมุนไพร  เรื่องพันธุ์ข้าว  เรื่องการศึกษาดูงานแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ  และก็ถือเอาโอกาสนี้ได้พูดคุยเสวนาในเรื่องสถานการณ์ข้าวกับชาวนาไทย  มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง  ใครใคร่ซักถามพูดคุยกันในประเด็นเฉพาะอะไรก็จับกลุ่มคุยคุ้ยเรื่องนั้นเป็นกลุ่มย่อยอย่างหลากหลาย  บรรยากาศของกิจกรรมจึงอบอุ่นด้วยวิชาการอย่างชาวนา


        พอถึงเรื่องจังหวะสนุกสนานก็มีกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านและการละเล่นอย่างนักเรียนชาวนาเข้าไปช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน  อย่างเช่น  การแข่งขันบรรจุถุงเพาะเห็ด     การแข่งขันดำนา  การแข่งขันเกี่ยวข้าว  เป็นต้น


        เมื่อมองดูแล้ว  กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนจึงถือเป็นงานของนักเรียนชาวนา  ที่นักเรียนชาวนาเป็นคุณกิจดำเนินงานกันเองทั้งหมด  (เจ้าหน้าที่เป็นคุณอำนวยคอยช่วยเหลือตามความเหมาะสม)  เพื่อสร้างผลความรู้ให้แก่นักเรียนชาวนาด้วยกันเองทั้งหมดเช่นกัน 


 


             
  ภาพที่  90  เพื่อนเยี่ยมเพื่อนจัดกิจกรรมแข่งขันกันใส่ถุงเพาะเห็ด  ทั้งผู้แข่งขัน  กรรมการ  ผู้ชม  ต่างสนุกสนานกันยกใหญ่ 
  ภาพที่  91  การแข่งขันเน้นความสามัคคีในหมู่คณะ  เกิดความสนุกสนาน  หาใช่เอาผลแพ้ชนะ
 

        ความเชื่อมโยงของชุมชนชาวนา  (Community  of  Practice)  ไปเป็นตามเป้าหมายประสงค์ของโครงการที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดชุนชนชาวนาที่สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง  แม้โครงการจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม  สมาชิกกลุ่มควรจะนำกิจกรรมนี้ใช้เป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดเครือข่ายในระดับท้องถิ่น  สู่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ  เชื่อมโยงไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป 


           ทาง มขข. มองกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน ว่าเป็นเครื่องมือทำให้เกิด ชุมชนแนวปฏิบัติ (CoP – Community of Practice) ด้านเกษตรยั่งยืน    ซึ่งน่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง     ต่อไปเมื่อกิจกรรมโรงเรียนชาวนาสิ้นสุดลง  ถ้าสมาชิกกลุ่มยังคงรวมกลุ่มกันต่อไป    ยังดำรงกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยไม่ต้องพึ่งเงินหรือทรัพยากรอุดหนุนจากภายนอก     ก็น่าจะถือได้ว่า ชุมชนนั้นๆ ได้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ อย่างแท้จริง    ผมกำลังรอแสดงความยินดีต่อทั้ง ๔ ชุมชน    ผมฝันเห็นว่าทั้ง ๔ ชุมชนจะยังเป็น CoP ที่เหนียวแน่น และคึกคักเหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1673เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2005 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท