ทำยังไงดีกับพื้นที่ให้บริการที่ไม่เพียงพอ(ตอน1)


         ปัญหาโลกแตกครับท่าน ผมเดินเข้าห้องสมุดมาคุณวันเพ็ญถามผมว่าอาจารย์ได้เข้าไปอ่านกระทู้บ้างหรือยัง ผมยังงงๆ ถามกลับไปว่ากระทู้อะไรหรือครับ คุณวันเพ็ญก็เลยตอบกลับมาว่า อาจารย์ลองเข้าไปอ่านดูแล้วกัน พอเข้ามาอ่านแล้วก็ถึงบางอ้อครับ ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจตรงกันผมเลยขออ้างอิงถึงกระทู้ดังกล่าวนะครับ

ที่นั่งอ่านหนังสือภายในห้องสมุด

 เรียนอธิการบดี
           เนื่องจากว่าตึกใหม่ 4 ชั้น เนื้อที่ 7000 ตารางเมตร ฝั่งตรงข้ามกับหอสมุดเก่ากำลังจะเสร็จ ทางวิทยาลัยนานาชาติได้ขอใช้พื้นที่ของหอสมุดเก่าซึ่งกินเนื้อที่ทั้งหมด 4800 ตารางเมตร (สองชั้น) และมติได้ให้ย้ายหอสมุดเก่าไปที่ตึกใหม่ กระผมคิดว่าตึกใหม่ "จะให้แค่ความรู้สึกว่าใหม่ของตึกและเนื้อที่ที่มากกว่าตึกเก่าแบบไม่มีนัยสำคัญเลยครับ" ถ้าเทียบกับจำนวนนิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรประมาณ หนึ่งหมื่นคน ของเราเองเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยที่เป็น research university แล้ว 7000 ตารางเมตรถือว่าน้อยที่สุดครับ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยนั่นคือต้องมี text books และ ฐานข้อมูลออนไลน์กับคอมพิวเตอร์ ที่นั่งอ่านหนังสือให้กับนิสิตที่พอเพียง ผมคิดว่าน่าจะคงหอสมุดเก่าไว้และให้แบ่งเนื้อที่ของตึกใหม่เป็น 1750 ตารางเมตร (ชั้น 4) ให้สำหรับวิทยาลัยนานาชาติ ส่วนที่เหลือให้เป็นเนื้อที่ของหอสมุดน่าจะดีกว่าเพราะอย่างไรก็ตามนิสิตวิทยาลัยนานาชาติก็สามารถใช้หอสมุดเนื้อที่ชั้น 1-3 ได้อยู่แล้ว
ด้วยความนับถือ
           อ.ชโนภาส ชนลักษณ์ดาว

       จากคำถามของ อ.ชโนภาส ซึ่งผมต้องขอชมอาจารย์ครับว่าประเด็นแนวคิดของอาจารย์มีความน่าสนใจ และกล้าหาญมากที่ตั้งกระทู้ดังกล่าว จริงๆ แล้วต้องบอกว่าตอนที่สำนักหอสมุดทำการประเมินตนเองในการประกันคุณภาพการศึกษา และทางผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เชิญนิสิตมาสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล นิสิตหลายคนก็ได้หยิบยกปัญหาเรื่องพื้นที่นั่งอ่านหนังสือไม่เพียงพอกับจำนวนนิสิตที่เข้ามารับบริการ และยิ่งทราบว่า หลังจากที่อาคารห้องสมุดใหม่สร้างเสร็จ ในปี 2551 จะมีการปรับเปลี่ยนอาคารสำนักหอสมุดเก่า เป็นวิทยาลัยนานาชาติ ยิ่งทำให้นิสิตที่มาให้ข้อมูลสะท้อนกลับว่าน่าควรจะคงสำนักหอสมุดเก่าไว้ สำหรับการเป็นห้องสมุดในส่วนของหนังสือเก่า หรือปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดวิทยาศาสตร์สุขภาพจะเหมาะสมกว่า ซึ่งที่เดิมห้องสมุดวิทย์สุขภาพอยู่บนชั้น 5 คณะแพทย์ ขึ้นไปใช้บริการในช่วงกลางคืนลำบาก และไม่ได้เปิดบริการถึงเที่ยงคืนเหมือนที่สำนักหอสมุดกลาง

             และนอกจากนี้ ประธานกรรมการประเมินตรวจสอบ ดร.ขวัญชฎิล พิศาลพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา ยังทักว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนนิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรกับพื้นที่ห้องสมุด แล้วห้องสมุดเราเล็กมาก โดยเฉพาะอาคารใหม่ที่จะสร้างขึ้น พบว่าพื้นที่ใช้สอยสำหรับให้นิสิต เข้ามาใช้พื้นที่ห้องสมุดเพิ่มขึ้นเพียง 2200 ตารางเมตร แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ที่ให้นิสิตเข้ามาใช้บริการได้อย่างเดียวแต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับชั้นวางหนังสือ ห้องบริการ ห้องสำหรับซ่อมหนังสือ ห้องสำหรับฝ่ายจัดซื้อ และวิเคราะห์หมวดหมู่หนังสือ ทำให้พื้นที่ใช้งานสำหรับนิสิตนั้นน้อยจริงๆ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของจำนวนนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 24,483 คน(ข้อมูลนะ ต.ค. 2548)
              ดังนั้นข้อเสนอของ อ.ชโนภาสน่าคิดมากครับ ผมว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยน่าจะได้ทบทวนแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนห้องสมุดอาคารปัจจุบันไปเป็น วิทยาลัยนานาชาติ หรือพวกเราชาวมอนอมีความคิดเห็นว่าไงครับ อาคารห้องสมุดปัจจุบันควรปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบไหนดีครับ แต่ถ้ายังไม่ตัดสินใจลองดูข้อมูลที่คุณวันเพ็ญให้ไว้และผมลองมาคำนวณเล่นๆ ดูในตอนสองก่อนก็ได้นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 16703เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยที่สุดที่จะคงมีสำนักหอสมุดเก่าไว้ค่ะ ดูแล้วคงจะไม่พอกับพื้นที่ใช้งานอีกเป็นแน่ ปัญหาเดิมเหมือนไม่ได้แก้

 นิสิตเพิ่มมากขึ้น หนังสือก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี มหาวิทยาลัยจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ซึ่งจัดได้ว่าห้องสมุดเป็นหัวใจ ถ้าหัวใจแข็งแรง  ร่างกาย (มหาวิทยาลัย) ก็ย่อมแข็งแรงตามไปด้วย ....การจัดสรรพื้นที่การใช้งานควรคำนวณเผื่ออีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า เพราะว่าเราจะโตขึ้น
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ผมเคยใช้บริการหอสมุด(มน.) รู้สึกว่า หอสมุดมีขนาดเล็กมาก ไม่พอที่จะบริการอาจารย์ นิสิต และเจ้าหน้าที่ได้เลย
  • เรื่องนี้ได้เรียนเสนอให้ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ทดลองทำห้องสมุด "ภาควิชาฯ" ดู โดยเฉพาะหนังสือภาษาไทย และหนังสือเฉพาะสาขาที่ห้องสมุดกลางมักจะมีไม่พอ
  • ถ้าเปรียบหอสมุดกลางเป็นคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (server) อาจจะเปรียบเทียบหอสมุดสาขาเป็นลูกข่าย (clients) ได้
  • ถ้าเราสนับสนุนให้คณะ ภาควิชา หรือหน่วยงานต่างๆ เป็น "สาขาย่อย" คล้ายกับเป็น "ร้านค้าปลีกใกล้บ้าน" แล้ว มน.น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ห้องสมุดได้มาก โดยไม่ต้องลงทุนด้านอาคารสถานที่เพิ่มขึ้นมากนัก
  • แนวคิดสำคัญที่ขอเรียนเสนออาจารย์และทีมงานทั้งหลายได้แก่ ถ้าเป็นไปได้...น่าจะมีฐานข้อมูลหนังสือ (database) ร่วมกัน เพื่อให้หนังสือหรือวารสารที่มีอยู่ "มีชีวิต (active)" หรือมีการหมุนเวียน (circulate) มากรอบที่สุด
  • ขอเรียนเสนอให้ทำ "ห้องอ่านหนังสือ (reading rooms)" ไว้ด้วย จะคิดค่าไฟ(แอร์)นิสิตก็น่าจะได้ ขอให้มีคนดูแลกฎกติกาให้สว่าง เงียบ และเย็นสบาย เพราะอากาศที่มน.ร้อนมาก ต้นไม้ใหญ่ เช่น หู
    กวาง ฯลฯ มีน้อยมาก
  • ถ้ามี "ห้องอ่านหนังสือติดแอร์" คล้ายๆ กับที่ผมเคยเห็นในม.รามคำแหงได้... น่าจะมีประโยชน์มากครับ
  • ขอขอบคุณอาจารย์ ทีมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน...
ห้องสมุดของสถานศึกษาเปรียบเสมือนเป็นแหล่งปัญญาหรือสมองของบุคคลากรในสถาบัน เพราะเป็นแหล่งรวมความรู้ ยิ่งหนังสือมีความหลากหลายและเป็นปัจจุบันมากเท่าไร ก็ก่อประโยชน์มากเท่านั้น ทั้งนี้สถานที่และระบบการจัดเก็บเอกสาร วารสาร ควรเป็นระบบที่สามารถเข้าถึงตัวข้อมูลคือหนังสือได้ง่าย สถานที่เป็นปัจจัยสำคัญ รักที่จะเห็นนเรศวรพัฒนา ขอเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานด้านนี้ด้วยนะคะ เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญในการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท