แม่ทัพในงานส่งเสริมการเกษตร


งานส่งเสริมการเกษตร , ผู้นำ , เกษตรกร

แม่ทัพในงานส่งเสริมการเกษตร

   อาชีพเกษตรกรรม  เป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงลูกหลาน โดยการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  หลังจากนั้น ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นอาชีพที่หา  รายได้เข้ามาสู่ตนเองและครอบครัว  "อาชีพเกษตรกรรม" จึงเป็นอาชีพหลักให้กับคนไทยจนถึงปัจจุบัน

            “เกษตรกร   เป็นกระดูกสันหลังของชาติ” 
            “เกษตรกร   เป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลก”

   ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจให้กับผู้ประกอบอาชีพค่อนข้างมากแต่เมื่อทำการเกษตรไปได้สักระยะหนึ่งเมื่อทำไป ๆ จะเห็นได้ว่า……เกษตรกรบางท่านก็ประสบผลสำเร็จ…บางท่านก็ล้มเหลวมีหนี้สิน และบางท่านก็ถึงกับหมดเนื้อหมดตัวต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนกลายเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมการเกษตรที่ว่า  “เกษตรกร คือ  ผู้ที่โง่….จน….เจ็บ”

   จึงเกิดข้อคิดขึ้นว่า “เราในฐานะของข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกร"  โดยมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพของเขาเหล่านั้นให้ประสบ ผลสำเร็จ มีความมั่นคงทางด้านอาชีพ ไม่ล้มลุกคลุกคลาน เป็นเกษตรกรที่ไม่โง่ ไม่จน และไม่เจ็บ  และเป็นเกษตรกรที่คิดเป็น ปฏิบัติเป็น และตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในการทำเกษตรกรรม

   กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้นำองค์กรในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  มีข้าราชการภายใต้เบื้องพระยุคคลบาทปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ภารกิจที่รับผิดชอบในทุกระดับ คือ ส่วนกลาง (กรมฯ  และ  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต) สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ  การทำงานของบุคลากรเหล่านี้ต่างต้องเชื่อมโยงสอดคล้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมีนโยบายและแผนเป็นตัวกำหนดการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรโดยมี  "การตรวจสอบและประเมินผล" เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการทำงานของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรเป้าหมาย

   เกษตรกร คือ  กลุ่มเป้าหมายในการทำงานที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องดูแลและรับผิดชอบให้มีความมั่นคงทางด้านอาชีพ เศรษฐกิจ และสังคมจากการทำอาชีพการเกษตร ความสำเร็จในการทำงานส่งเสริมการเกษตรจึงขึ้นกับ “ผู้นำ”  โดยเฉพาะผู้นำองค์กรในหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกร คือ เกษตรจังหวัด เพราะสำนักงานเกษตรจังหวัด เป็นองค์กรที่ต้องดูแลสำนักงานเกษตรอำเภอในสังกัดระดับจังหวัดนั้น ๆ และ  “สำนักงานเกษตรจังหวัด”  ยังเป็นหน่วยงานปฏิบัติการที่สำคัญและจำเป็นต่อการแปลงนโยบายและแผนส่งเสริมการเกษตรไปสู่การปฏิบัติงานกับเกษตรกรให้ประสบผลสำเร็จในพื้นที่นั้น ๆ

    เกษตรจังหวัด  จึงเป็นสัญลักษณ์ของเกษตรกรในเรื่อง “การเกษตร” เพราะป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่  โดยเฉพาะการอนุมัติและจัดสรรโครงการให้เจ้าหน้าที่ไปส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกรในการสนับสนุนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้ถึงมือเกษตรกรและตรงเป้าหมายขององค์กร  งบประมาณและโครงการต่าง ๆ จึงต้องผ่านความเห็นชอบและอนุมัติจากเกษตรจังหวัดก่อนปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ภาคสนาม  “เกษตรจังหวัด”  จึงเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญทางด้านนโยบาย  การวางแผน  การบริหารจัดการ  ผู้เชี่ยวชาญ  ผู้ประสานงาน  ผู้รับผิดชอบ  และผู้ตรวจสอบควบคุมและกำกับการทำงานส่งเสริมการเกษตรของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรในระดับพื้นที่ 

   จากการประมวลและสืบค้นข้อมูลโดยใช้วิธีการสนทนาแลกเปลี่ยนเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ "สิ่งที่... ผู้นำ...จะต้องเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์" นั้น สรุปได้ว่ามีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ

     1)  ผู้ตาม (Follower) เพราะผู้นำจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ได้แก่ สมาชิกในกลุ่มและผู้ตาม  ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องยอมรับผู้นำ
     2)  อำนาจ (Power) เพราะผู้นำจะกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสมาชิกกลุ่มและผู้ตาม  ตลอดจนเป็นผู้ที่มีอำนาจในการชี้ทิศทางของการดำเนินกิจกรรมของสมาชิก ซึ่งสมาชิก ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการชี้นำกิจกรรมของผู้นำ
     3)  อิทธิพล (Influence) เพราะผู้นำจะมีอิทธิพลเหนือผู้ตามและสมาชิกกลุ่มในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มหรือองค์กร  ซึ่งกลุ่มจะปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ

   นอกจากนี้  ”ความเป็นผู้นำ”  จะถูกกำหนดด้วย "ตำแหน่งในกลุ่ม" ได้แก่  การยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม บุคลิกภาพ และการตัดสินในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็น "ตัวชี้วัดความเป็นผู้นำ”  โดยมีสมาชิกและผู้ตาม และสังคมเป็นผู้ประเมิน เช่นเดียวกันกับ “เกษตรจังหวัด”  ที่เป็นผู้นำในงานส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน

   เมื่อทำการประเมินสถานการณ์และจัดประเภทแบบคร่าว ๆ เกี่ยวกับการทำหน้าที่และการปฏิบัติงานของเกษตรจังหวัดในปัจจุบันนั้นจะมีด้วยกัน  4 ประเภท คือ                       

     ประเภทที่ 1 เป็นผู้บริหารจัดการ พบว่า เกษตรจังหวัดส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการ งบประมาณและโครงการ  ในลักษณะของ "การสั่งการ" ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ ซึ่งค่อนข้าง  จะใช้อำนาจ  ออกจะเผด็จการ และสั่งให้ปฏิบัติตามมากกว่า "สอนให้ปฏิบัติ"
     ประเภทที่ 2 เป็นนักวิชาการ พบว่า เกษตรจังหวัดซึ่งมีน้อยมากที่จะทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ "ที่สอนงานและสอนวิชาการ" ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเกษตรจังหวัดลักษณะเช่นนี้อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านการบริหาร เพราะในการปฏิบัติการจริงนั้น ถ้าผู้บริหารมุ่งแต่ทำงานวิชาการเพียงอย่างเดียวก็ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านการบริหารงานได้
     ประเภทที่ 3 เป็นนักผสมผสาน พบว่า  เกษตรจังหวัดมีค่อนข้างน้อยที่ทำหน้าที่เป็นทั้งนักบริหารจัดการและนักวิชาการควบคู่กันไป ซึ่งเกษตรจังหวัดในลักษณะเช่นนี้จะไม่ค่อยมี เพราะจะต้องเป็นเกษตรจังหวัดที่เหนื่อยมาก และต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับงานและส่วนรวม คือ  เกษตรกร ดังนั้น ถ้างานส่งเสริมการเกษตรมีเกษตรจังหวัดลักษณะดังกล่าวค่อนข้างสูงก็ย่อมส่งผลให้งานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรประสบผลสำเร็จได้เพิ่มขึ้น
     ประเภทที่ 4 เป็นนักตามหลัง พบว่า เกษตรจังหวัดในลักษณะเช่นนี้มีค่อนข้างมากคือ ทำงานแบบผักชีโรยหน้า  รอให้งานมาถึงตัวก่อนแล้วจึงค่อยทำ  หนักไม่เอาเบาไม่สู้  เก่งในเรื่องการ  เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่  ทำงานแบบแบ่งพรรคแบ่งพวก  ไม่ค่อยมีความยุติธรรม  และจะไม่ค่อยนำหลักการมาใช้แต่จะใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจเป็นหลัก  ซึ่งจะเป็นปัญหาหลักในการทำงาน     ส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและเกษตรกร

   โดยจะเห็นได้ว่า  ถ้าผู้นำองค์กรในระดับจังหวัด คือ  เกษตรจังหวัด  ยังทำหน้าที่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ไม่ทำงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ครบถ้วนและอย่างมีประสิทธิภาพนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพราะในสภาวการณ์ปัจจุบันเกษตรกรจะเป็น "ผู้ประเมินผลและเป็นตัวชี้วัดการทำงานส่งเสริมการเกษตร" ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับได้ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า  การทำงานส่งเสริม การเกษตรในระดับพื้นที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับเบื้องบน เช่น การสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานเป็นที่เรียกว่า "นักส่งเสริมฯมืออาชีพ" เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ควรจะสอดคล้องและสัมพันธ์กัน

   อนาคตของงานส่งเสริมการเกษตรจะประสบผลสำเร็จหรือไม่กลไกสำคัญที่เป็นฟันเฟืองหลัก คือ  “ผู้นำที่มีศักยภาพ”  เป็นนักผสมผสานระหว่างนักบริหารกับนักวิชาการ และเป็นผู้นำที่ทำงานไปข้างหน้า (เชิงรุก) ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตามหลัง (เชิงรับ) ตลอดจน “มาตรฐานของผู้นำ” ควรจะได้รับการพัฒนา กำหนด และปฏิบัติกันอย่างจริงจริง มิฉะนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างสูง  เพราะมีการตรวจสอบของสังคมโดยมีตัวชี้วัดอยู่ที่เกษตรกรที่เป็นผู้รับการบริการและเป็นลูกค้าโดยตรง..... แล้วเมื่อนั้น  "เราจะอยู่กันได้อย่างไร".

                                             ศิริวรรณ  หวังดี     เรียบเรียง

                                                   24  กุมภาพันธ์  2549

หมายเลขบันทึก: 16608เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ไอ้อ่อนดาก

 

ดีคัรบ เอาไว้ทำงาน ^^

มส่รใรฝใน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท