Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๕)_๑


ห้องเรียน KM (8)

ประเด็นนำเสนอ        เสวนาบทบาทของ CKO  ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน (๒)
                            เรื่องเล่าจากการปฏิบัติของ CKO  บทบาทของผู้ผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้

อ.จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา :
         ขอบพระคุณมากค่ะ ในตอนนี้อาจมีบางคนอึดอัด อยากจะสะท้อน หรืออาจเชิญครูหวานให้ช่วย เชิญค่ะ  

รศ. ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์ :
         ดิฉันมีคำถามสิ่งหนึ่งคืออาจารย์เล่าผลสำเร็จที่งามๆ แล้ว  แต่พออาจารย์เริ่มทำให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นี้ เจออุปสรรคอย่างไร   CKO สำหรับของอาจารย์นี้เป็นการเริ่มต้นที่ผู้บริหารเอง เมื่อจะเริ่มการเปลี่ยนแปลงเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ อาจารย์เจออุปสรรค กับอาจารย์ที่ยังไม่ยอมรับสิ่งใหม่ 

อาจารย์ธิดา  พิทักษ์สินสุข :
         ขอบคุณคะ  พอดีในการทำเริ่มแรกเราตั้งหลักตอนทำโรงเรียนใหม่ก่อน  คือไม่มีใครที่รู้ไปหมด  ไม่มีสมบูรณ์แบบเรื่องความรู้  เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งโรงเรียนไม่ใช่เป็นเจ้าของใดเจ้าของหนึ่ง  หรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง  แต่เกิดจากผู้คนที่รักการเรียนรู้  และเชื่อในความคิดที่แตกต่างกัน  แต่โดยธรรมชาติมันจะเกิดปัญหาแน่นอน  คือผู้คนของเราไม่คุ้นเคยกับการแสดงความคิดเห็น   อุปสรรคตรงนี้คือการที่คนไม่แสดงความคิดเห็นตามประสาคนไทยด้วย ต้องมีการกระตุ้นว่าความคิดทุกความคิดมีความหมายและให้บทบาทของตนเองและสะท้อนความคิดของเขา จะค่อยให้เขาสบายใจ และค่อยๆ ให้นำเสนอความคิดเห็น   อันนี้เป็นอีกเรื่องที่เราพบเห็นโดยเฉพาะความคิดเห็นที่แตกต่าง   ส่วนที่สองคือว่าทำอย่างไรโรงเรียนของเราก่อตั้งได้เป็นทางการ 1 ปี    ปัญหาของเราคือองค์กรของเราเติบโตเร็ว  จาก 10 เป็น  30  เป็น 170 เร็วมาก   การเติบโตทำให้เกิดปัญหาแล้ว  แต่เราไม่ได้เริ่มต้น พัฒนาจาก intranet เราเริ่มจากการที่ทำให้คนได้มีโอกาสพบกัน เจอะกันในหลายๆ แง่มุม หลายเวที ทุกเวทีต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทุกเวทีจะมีการบันทึกความรู้ แล้วต้องนำความคิดเห็นกลับมาใช้งาน คนเราจะรู้สึกแย่มากถ้าความรู้มันหายไป แล้วจะรู้สึกเบื่อการประชุม แต่ถ้าเราทำให้การประชุมนั้นเป็นที่ก้าวหน้า   ยกระดับความรู้ของตนเอง ขณะเดียวกัน  เราก็มีคลังความรู้ให้เขาได้ใช้อีก    การบริหารจัดการการประชุมที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่แรก  ตอนนี้เราต้องทำให้เขามีความรู้สึกว่า เมื่อไรจะประชุมกันอีกแล้ว    อย่างที่ สคส.ทำให้เราเจอกันเป็นเรื่องดี  การที่ทำอย่างนั้นได้ต่อไปคือระบบ intranet อยากจะเรียนอาจารย์ว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทำไปแล้วก็มีอุปสรรค โดยเฉพาะ คนที่ผ่านวัยแล้ว มีปัญหากับการใช้ mouse  การ click   เราก็ทำให้เขาเกิดการเรียนรู้  โดยการยั่วยุ เขาให้เขาไปค้นคว้าในคลังความรู้และสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าให้เขาเห็น รางวัลอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่มากกว่าการที่เขาเห็นความก้าวหน้า ตรงนี้ CKO ต้องสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าตลอดว่าดีขึ้น ในเรื่องการใช้ intranet การ search เราต้องสะท้อนให้เห็นเล็กน้อยก็ต้องสะท้อน เพราะมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์    เราทำผ่านมาได้ 1 ปี  อุปสรรค ก็ค่อยๆ คลี่คลายไปได้  มันก็เป็นวงจรของการวิจัยพัฒนา  ก้าวไปปรับปรุงไปเรื่อย

คุณสุจิดา  ธนะจิต: สกว. 
         ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าจากประสบการณ์ที่ทำวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นที่ปลุกครูให้ลุกขึ้นมาทำ  คิดว่ามีอีกข้อคือ ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขา  เลยคิดว่าในสไลด์สุดท้ายของอาจารย์ที่ว่าเชื่อมั่นในศักยภาพของเขาแล้ว   อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเพิ่มคือ  ทำอย่างไรจึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเขา ขอบคุณค่ะ

อ.จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา:
         เห็นได้ว่าบทบาทของ CKO มีตั้งแต่วิธีคิดของ CKO  คิดและเชื่อมั่นว่าคนทุกคนมีศักยภาพ และ เชื่อว่าคนทุกคนมีการเรียนรู้และเติบโตได้  วิธีคิดทำให้เกิดพฤติกรรมของ CKO ตามมา นอกจากวิธีคิดแล้วยังมีกระบวนการของการส่งเสริมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ยังฝังแนบแน่นในทุกกิจกรรมในทุกบริบทของสถาน ศึกษา   สิ่งที่สำคัญถ้าเราจับภาพได้คุณครูหวานมีบทบาท ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ     ต้นน้ำคืออะไร  เอาเป้าหมายของการจัดการความรู้แนบแน่นกับองค์กร  โดยดูตั้งแต่พันธกิจ วิสัยทัศน์ของโรงเรียน วิสัยทัศน์ของ KM  ที่เรียกว่ามีความสอดคล้องกัน  ในเชิงกระบวนการของคุณครูหวานก็มีการการกระตุ้นส่งเสริม คือ   knowledge sharing หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญ  knowledge  capture   และผลที่ได้ต้องมีร่องรอยของกระบวนการจัดการความรู้ ขุมทรัพย์ของความรู้ที่เรียกว่า knowledge  assets  และ knowledge  assets  นั้น เป็นตัวเอื้อเมื่อคนเข้าไปเรียนรู้ทำให้อยากเรียนรู้ สร้างความรู้ อยากมีส่วนร่วม อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้ทีตั้งแต่ต้น   และสุดท้ายนำสิ่งที่ทำขยายไปสู่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ชุมชนหลายๆ ชุมชน ก็คงทำให้ปณิธานของโรงเรียนที่บอกว่าเพื่อทำให้สังคมดี    สังคมดีไม่มีขาย  ถ้าอยากได้ต้องทำเอง  คงเป็นจริง เร็วๆ นี้  กราบขอบพระคุณคุณครูหวาน  เราเชื่อว่าบริบทของการศึกษานำมาเพื่อการจัดการความรู้ที่หลากหลาย  บริบทนี้เป็นของโรงเรียนเพลินพัฒนาที่เป็นโรงเรียนเอกชน  และโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่แตกต่างกัน  อุดมการณ์ก็ต่างกันเกิดขึ้นภายหลังปฏิรูปการศึกษา  ลองฟังอีกฟากหนึ่งที่แตกต่างกัน แต่ด้วยจิตวิญญาณ  ดิฉันคาดว่าคงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่อาจแตกต่างกันที่แนวทาง จะขอข้ามไปทางต่างจังหวัด อาจารย์ชาญเลิศ  อำไพวรรณ   ท่านเป็นนักการบริหารโดยแท้  ทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ ท่านเป็นวิทยากร ถ้าใครสนใจติดต่อภายหลัง เช่น การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  การจัดการเรียนการสอนที่เป็นส่วนร่วม  โดยมีวุฒิบัตรจากรางวัลที่ได้รับมากมาย    กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ชาญเลิศ ว่ามีวิธีการอย่างไร แต่วิธีการนี้จะเล่าเรื่องผ่าน VTR  ซึ่งอาจารย์บอกว่าทำง่ายมาก
 
อาจารย์ชาญเลิศ  อำไพวรรณ : 
(การนำเสนอด้วย VTR) 
โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบางจักรเลน อำเภอเมืองสมุทร  จังหวัดสมุทรสงคราม  โดยอาศัยวัดศรัทธราธรรมเป็นที่ตั้ง

         การคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 7 กิโลเมตร  อยู่ในเขตของการบริการไฟฟ้า   ประปา โทรศัพท์  ติดต่อหน่วยราชการได้สะดวกรวดเร็ว โรงเรียนอยู่ใกล้อ่าวแม่กลอง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมงในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลายประเภท  ประชากรทั้งในท้องถิ่นอพยพมาจากต่างถิ่น อพยพมารับจ้างจำนวนมาก และแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก  ฐานะทางการเรียนเป็นส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจนและปานกลาง และจากการย้ายโรงเรียนบ่อยๆ ทำให้ผลการเรียนค่อนข้างต่ำ การเรียนไม่ต่อเนื่อง ปรัชญาของโรงเรียน ปัญญา เจตัง ปัสสาสติ   ปัญญาเป็นเครื่องป้องกันตัวเรา  ปรัชญาแนวพุทธพัฒนาคนให้เป็นแนวพุทธ หลุดพ้นจากภัย ให้พ้นสติ  
         วิสัยทัศน์ของโรงเรียน ภายในปีการศึกษา 2548   โรงเรียนวัดศรัทธาธรรมมุ่งมั่นให้นักเรียนทุกคนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษา มีทักษะพื้นฐานในการประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตแนวพุทธเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  
         โครงสร้างการบริหารจัดการ การเรียนการสอนของโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม  กิจกรรม 1 สัปดาห์ในภาคเช้ามีวิชาต่างๆ ดังนี้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาต่างประเทศ และคอมพิวเตอร์  โครงสร้างการบริหารจัดการ การเรียนการสอนกิจกรรมภาคบ่ายมีดังนี้  วันจันทร์ วิชาพละศึกษาและแนะแนว   วันอังคาร  หลักสูตรท้องถิ่นบูรณาการลุ่มน้ำแม่กลองสายน้ำแห่งชีวิต  วันพุธ  ศิลปะ การงานอาชีพลูกเสือ  วันพฤหัส  วิถีศรัทธาธรรม    วันศุกร์  วิถีพุทธบูรณาการ
          ในภาคบ่ายของวันจันทร์ กิจกรรมแนะแนวเริ่มตั้งแต่ 12.00-13.00 นาฬิกา  จัดกลุ่มนักเรียนเท่าจำนวนครู  แต่ละกลุ่มแบ่งเป็น 3 ช่วงชั้น  วางแผนกิจกรรมเป็นแม่บทหลัก 1 ปี   พละศึกษาเริ่มตั้งแต่ 13.30-15.00 นาฬิกาใช้เวลา 2 ชั่วโมง  จัดกิจกรรม 3  ช่วงชั้นด้วยกัน โดยจัดเป็นทีมงาน 
         วันอังคาร   หลักสูตรท้องถิ่นบูรณาการลุ่มน้ำแม่กลองสายน้ำแห่งชีวิต มีสาระสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้ สายใยอดีตกาล  ศึกษาถึงความสำคัญของเมื่ออดีตกาล  บุคคลสำคัญ  น้ำและลมของเมืองสามน้ำ  ตำนานประวัติศาสตร์ของอำเภอเมือง และอำเภอบางคนที  ธรรมชาติศึกษาเกี่ยวกับน้ำตาลมะพร้าว การประมง  การทำนาเกลือ และเศรษฐกิจของจังหวัด    วิธีดำเนินการดำเนินงาน  ใช้เวลา 3 ชั่วโมง  เริ่มตั้งแต่ เวลา 12.30 -15.30 น. จัดกิจกรรม 3  ช่วงชั้นด้วยกัน โดยจัดเป็นทีมงาน ในแต่ละช่วงชั้น  สาระช่วงชั้นนำมาจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ และเขียนคำอธิบายรายวิชา  นำคำอธิบายมาเขียนแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ บูรณการโครงเรื่องด้วยรูปแบบต่างๆ วัดประเมินตามสภาพจริง  โดยเน้นพฤติกรรม  คุณธรรม  จริยธรรม  ทักษะจริยธรรม ผลงานจากกิจกรรมการเรียนรู้
         บ่ายวันพุธ   มี 3 วิชา ศิลปะ  การงานอาชีพ  และกิจกรรมลูกเสือ  จัดทีมงานเป็น 3 ทีมสอนสามช่วงชั้น เริ่มตั้งแต่ 12.30 – 15.30 น. ดังนี้
ชั่วโมงที่ 1   ช่วงชั้นที่ 1    ศิลปะ   ช่วงชั้นที่ 2   การงานอาชีพ  ช่วงชั้นที่  3   ลูกเสือ
ชั่วโมงที่ 2   ช่วงชั้นที่ 2    ศิลปะ   ช่วงชั้นที่ 3   การงานอาชีพ  ช่วงชั้นที่  1   ลูกเสือ
ชั่วโมงที่ 3   ช่วงชั้นที่ 3    ศิลปะ   ช่วงชั้นที่ 1   การงานอาชีพ  ช่วงชั้นที่  2   ลูกเสือ
วันพฤหัส   เป็นหลักสูตรท้องถิ่นวิถีศรัทธาธรรม  รู้รักสามัคคี  เศรษฐกิจพอเพียงได้แก่งานกระดาษ งานมัดย้อม งานบาติก  สุขภาพบูรณาการ  สมุนไพรพื้นฐาน  โยคะ  อนามัยใกล้ตัวและโภชนาการมีสุข  ใช้เวลา 3 ชั่วโมง  เริ่มตั้งแต่ เวลา 12.30 -15.30 น. แบ่งสาระเป็น 3 ช่วงชั้น   จัดกิจกรรมในแต่ละชั้น สาระในแต่ละชั้น นำมาจัดเป็นคำอธิบายรายวิชา คำอธิบายรายวิชา มาจัดเป็นแผนการเรียนรู้  วัดและประเมินผลตามสภาพจริง โดยเน้นพฤติกรรม  คุณธรรม  จริยธรรม  ทักษะคุณธรรม ผลงานจากกิจกรรมการเรียนรู้
          บ่ายของวันศุกร์ วิถีพุทธบูรณาการ  มีสาระดังนี้  ศึกษาหลักสูตรสาระศึกษา สาระสังคม  หน่วยศาสนาศีลธรรม  จริยธรรม  มาตรฐาน  ตัวบ่งชี้  คุณลักษณะที่พึงประสงค์  ระเบียบการวัดผลและประเมินผล จัดทำหน่วยวัดการเรียนรู้ จากสาระศาสนาศีลธรรมเป็นแม่บทหลัก นำแผนแม่บทหลักมาจัดเป็นกิจกรรมบูรณการ วิธีดำเนินงาน จัดทีมงานเป็น 3 ทีม  จัดกิจกรรมเป็นฐาน  เริ่มตั้งแต่ เวลา 12.30 -15.30 น. แบ่งเป็น 6 ฐาน  โดยเน้นประเมินผลตามสภาพจริง   โดยเน้นพฤติกรรม  คุณธรรม  จริยธรรม  ทักษะคุณธรรม ผลงานจากกิจกรรมการเรียนรู้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16584เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท