กรมอนามัยกับงบประมาณปี 2550


จะเตรียมตัวอย่างไรกับแนวโน้มงบประมาณที่ลดลง

        เมื่อวานลองเขียนบันทึกในบล็อคนี้ แต่ไม่รู้เป็นอะไรตื่นขึ้นมาดูตอนเช้า ไม่รู้ว่าบทความที่เขียนไป มันหายไปไหน แต่อยากทำเลยขอเขียนอีกที สิ่งอยากจะเขียนต่อแต่นี้ จะพยายามอธิบายสิ่งที่กองแผนงาน หรือตัวผู้เขียนได้ทำลงไป โดยอาจจะนำเสนอในแง่ของหลักการ วิธีการที่ทำ หรืออาจเป็นคำถามเพื่อให้ชุมชนนี้ได้แสดงความคิดเห็นกัน โดยไม่ปิดกั้นว่าจะเชิงรัก หวาน เค็ม แซ่บ อย่างไร

        ช่วงนี้กองแผนงาน กำลังง่วนอยู่กับการจัดทำรายละเอียดคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 เพราะตามปฏิทินจะต้องส่งให้กระทรวงและกระทรวงสรุปส่งสำนักงบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ และปีนี้ที่ต้องทำก็คือต้องทำรายละเอียดผ่านระบบ e-budgeting ด้วย ซึ่งก็ทราบมาว่ายังมีข้อขัดข้องเชิงเทคนิคหลายประการ

        สิ่งที่อยากจะนำเรียนให้ผู้อ่านได้รับทราบก็คือ ระบบงบประมาณที่นำมาใช้ในปัจจุบันเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเชิงยุทธศาสตร์ (SPBB : Strategic Performance Budgeting Bases) ซึ่งความหมายก็ตามชื่อระบบที่เรียกกัน ที่นี้คำถามที่ถามกันเยอะก็คือ ยุทธศาสตร์นี้มาจากไหน ก็มาจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในยุคนี้ได้ถูกกำหนดให้มีการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน ระยะ 4 ปี ตามอายุขัยของรัฐบาล โดยการแปลงมาจากนโยบายของรัฐบาล และก็กำหนดให้กระทรวง กรม ต่าง ๆ ไปจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ที่สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน และในแต่ละปีกระทรวง กรมก็จะมาจัดทำคำขอตั้งงบประมาณ โดยต้องบอกว่ามาจากแผนปฏิบัติราชการที่กำหนดไว้ ข้อไหน จะเห็นได้ว่า ความสำคัญของแผนที่วางไว้จะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่สอดคล้องกับแผนที่วางไว้ ก็จะไม่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญและจะไม่ได้รับงบประมาณมาทำงาน

         สิ่งที่สำคัญที่บ่งบอกความสำเร็จของยุทธศาสตร์อีกสิ่งหนึ่งก็คือ ต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดที่เรียกกันติดปากว่า KPI ซึ่งก็ย่อมาจากคำว่า Key Performance Indicators เพราะจะเป็นสิ่งบ่งบอกให้เห็นทั้งเป้าหมายการทำงาน และเมื่อเวลาผ่านไปจะเป็นตัวบอกว่าผลที่เกิดขึ้นกับเป้าหมายที่วางไว้นั้นมันสำเร็จหรือไม่สำเร็จ KPI นี้มีหลายระดับ ภาษาแผนงานก็จะเรียกว่า KPI ระดับ Input ระดับ Process ระดับ Output ระดับ Outcome ระดับ Impact ซึ่งตรงนี้เถียงกันมาโดยตลอดว่า KPI ที่ตั้งมันเป็น KPI ระดับใด

         ที่นี้วกเข้ามาในส่วนที่กรมอนามัยดำเนินการอยู่ ซึ่งนับว่าโชคดีที่นโยบายงบประมาณของกรมเราให้สานงานต่อเนื่องจากปี 2549 ที่ผ่านมา กล่าวคือ ให้ยึดกรอบการทำงานตามโครงการสำคัญ 10 โครงการ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีที่ในปัจจุบันคนในกรมอนามัยได้เข้าใจและเรียนรู้กับโครงการเหล่านี้มาพอสมควร ทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนปีที่ผ่านมา เพราะกว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ปาเข้าไป 1 ไตรมาสแล้ว แต่ละโครงการก็จะมี KPI หลัก KPI รอง ซึ่งเจ้า KPI หลัก รองเหล่านี้ก็จะเป็น KPI ที่ถูกระบุไว้ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของกรมอนามัย ซึ่งเชื่อมโยงมาจากแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงและก็เชื่อมโยงมาจากแผนบริหารราชการแผ่นดินที่กว่าไว้ตอนต้น ฉะนั้น การดำเนินงานของเราทั้ง 10 โครงการ ก็เป็นการดำเนินงานตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ไปในตัว (งงไหมครับ)

         สำหรับในปี 2550 นี้ ครม. ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณของประเทศไว้ที่ 1.476 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 2549 ที่มีงบประมาณ 1.360 ล้านล้านบาท เป็นเงินถึง 116,000 ล้านบาท แต่พอไปดูเนื้อรายละเอียด เงินที่สูงขึ้นกลายเป็นรายจ่ายประจำขั้นต่ำ รายจ่ายชำระหนี้ รายจ่ายตามนโยบายรัฐบาล เงินอุดหนุน อปท. และรายจ่ายตามภาระผูกพัน เสียเป็นส่วนใหญ่ เหลือเป็นงบที่จะนำมาจัดสรรให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานกัน เพียง 409,568.6 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนถึง 4.7 % หนำซ้ำเงินในส่วนนี้จะต้องกันไว้สำหรับนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ทั้ง Mega Project โครงการ Flagship งบผู้ว่า CEO อีก เห็นอย่างนี้แล้วคงเข้าใจว่าแนวโน้มงบประมาณที่กรมอนามัยจะได้รับเพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นไปได้ยากมาก

           โอกาสหน้าจะมาเขียนให้เห็นรายละเอียดของงบประมาณที่กรมอนามัยตั้งไป แต่สิ่งที่อยากให้คิดกันก็คือ เราชาวกรมอนามัยจะเตรียมตัวอย่างไรกับงบประมาณที่ลดลง อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ใครมีความคิดเห็นดี ๆ เชิญให้ข้อคิดเห็นมานะครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16442เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กองแผนเข้า   เขียนมากๆ  จะได้มาแบ่งปันความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท