ประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่2/2549


ในการทำงานร่วมกัน การให้เครดิตกับบุคคลอื่นๆเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนอยากเข้ามาร่วมกันทำงาน

      เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง  ได้จัดให้มีการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 2/2549 ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์  2549  ณ  ที่ทำการองค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริก  อำเภอแม่พริก  จังหวัดลำปาง  ในการประชุมครั้งนี้มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง  คือ  ผู้มีสังเกตการณ์จากภายนอกเข้ามาร่วมประชุมด้วย  โดยผู้สังเกตการณ์ประกอบด้วย

      1.ตัวแทนจากหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  จำนวน 2 คน  คือ  น้องแหม่มและน้องแป้น (ต้องขอโทษด้วยค่ะที่บอกเป็นชื่อเล่น  เพราะ  ผู้วิจัยจำชื่อจริงของน้องทั้ง 2 ไม่ได้)

      2.กลุ่มผู้นำและเจ้าหน้าที่จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดชัยภูมิ  ประมาณ 20-25 คน

      ก่อนที่จะเล่ารายละเอียดของการประชุม (ขอบอกก่อนว่าควรติดตามเป็นอย่างยิ่ง  เพราะ  มีประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกิดขึ้นในการประชุมเครือข่ายฯครั้งนี้ด้วย)  เป็นธรรมเนียมทุกครั้งที่ผู้วิจัยจะเล่าเกี่ยวกับสถานที่จัดการประชุมก่อน  เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงบรรยากาศ (แม้จะไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยก็ตาม) 

      ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์มีโอกาสมาที่กลุ่มแม่พริกประมาณ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ (ถ้าจำไม่ผิดค่ะ)  สำหรับที่ทำการของกลุ่มนั้นขณะนี้ใช้บริเวณด้านหน้าของบ้านอ.ธวัช  ซึ่งเป็นประธานฯกลุ่มเป็นที่ทำการถาวรค่ะ  โดยลักษณะของที่ทำการปลูกสร้างคล้ายศาลา  มีขนาดใหญ่  เปิดกว้าง  สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อมองจากด้านนอก  ภายในประกอบด้วย

     1.ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆสำหรับวางคอมพิวเตอร์

     2.โต๊ะ  เก้าอี้  และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ 

     3.ป้ายแสดงข้อมูลด้านต่างๆของกลุ่ม

     สิ่งที่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์รู้สึกนั้นเหมือนกับที่เคยรู้สึกกับกลุ่มแม่ทะเลย  นั่นก็คือ  เมื่อมาที่นี่พวกเราจะเห็นและสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทุกครั้งไป  ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน  มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น  ได้แก่

     1.การจัดวางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เห็นชัดเจน  แม้จะวางอยู่ในห้องเล็กๆ  ที่กั้นไว้แล้ว  แต่ก็สามารถมองเห็นได้  เพราะ  บริเวณด้านข้างของห้องเปิดโล่ง  มีเพียงเหล็กกั้นไว้เท่านั้น  คนที่มาออมเห็นอย่างนี้ย่อมมีความรู้สึกที่ดี  เพราะ  กลุ่มมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

     2.โต๊ะ  เก้าอี้   จัดวางอย่างเป็นระเบียบ  รองรับผู้เข้าร่วมได้อย่างเพียงพอ   มีตู้เหล็กสำหรับใส่เอกสารต่างๆของสมาชิก  แยกเอาไว้เป็นหมวดหมู่  เช่น  ชั้นที่ 1  เป็นทะเบียนสมาชิก   ชั้นที่ 2  เป็น รายละเอียดการออม  เป็นต้น  การจัดเอกสารอย่างเป็นหมวดหมู่ชัดเจน  สะท้อนให้เห็นความโปร่งใส  ตรวจสอบได้ของคณะกรรมการ  รวมทั้งทำให้คณะกรรมการทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

     3.ป้ายแสดงข้อมูลด้านต่างๆของกลุ่ม  สิ่งนี้มีความสำคัญมาก  เพราะ  ทำให้สมาชิกได้รับทราบความเคลื่อนไหว  ความเป็นไปของกลุ่ม  รวมทั้งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มจ่ายสวัสดิการจริง  ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นมากขึ้น  และคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็เกิดความต้องการที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก  สำหรับป้ายแสดงข้อมูล  ประกอบด้วย

         - ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม  เป็นการบอกข้อมูลว่ากลุ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร  เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  และใครเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกลุ่ม  ผู้วิจัยเห็นว่าข้อมูลตรงนี้ดีมากค่ะ  ผู้ที่จัดทำขึ้นมาคงเป็นผู้ที่มีจิตวิทยาสูง  เนื่องจาก  ในการทำงานร่วมกัน  การให้เครดิตกับบุคคลอื่นๆเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนอยากเข้ามาร่วมกันทำงาน

         - แผนภูมิโครงสร้างการทำงาน  มีทั้งหมด 2 บอร์ด  บอร์ดแรก  ให้รายละเอียดว่าโครงสร้างการบริหารระดับกลุ่มประกอบด้วยอะไรบ้าง  ส่วนบอร์ที่สอง  เป็นการใส่รายละเอียดว่าใครทำหน้าที่อะไรบ้างในกลุ่ม

         - จำนวนสมาชิก  ทางกลุ่มแสดงสถิติจำนวนสมาชิกตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มจนถึงปัจจุบัน  โดยแสดงรายละเอียดเป็นรายเดือน  แล้วพันยอดไปเรื่อยๆ

         - ตารางรายรับ-รายจ่าย  ในส่วนของรายรับนั้นจะแสดงข้อมูลว่าในแต่ละเดือนรับเงินจากสมาชิกมาเท่าไร  รับมาจากไหน  ส่วนรายจ่ายนั้น  เป็นการแสดงข้อมูลว่าทางกลุ่มส่งเงินไปที่เครือข่ายในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใด  ส่งเข้าไปไว้ในกองทุนใดบ้าง

         - ตารางการจ่ายสวัสดิการ  ประกอบด้วยข้อมูลการจ่ายสวัสดิการต่างๆให้กับสมาชิก  ได้แก่  ค่าทำขวัญ (เด็กเกิดใหม่และแม่) , เยี่ยมไข้ , ทำศพ , ช่วยคนชรา คนพิการ

       สำหรับบรรยากาศรอบๆที่ประชุมนั้นค่อนข้างร่มรื่นเป็นอย่างมาก  เนื่องจาก  บ้านอ.ธวัชเป็นสวน  มีบริเวณกว้าง  ที่สำคัญ  คือ  มีต้นไม้มาก  เจ้าภาพ (ประธานฯกับคณะกรรมการ) ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  ของรับประทานเพียบ  ทานกันแบบไม่หวาดไม่ไหว (เหมือนกลุ่มป่าตันเลยค่ะ) 

      เชื่อว่าหลายคนเมื่อได้อ่านที่ผู้วิจัยบรรยายมาแล้วคงอยากมาสัมผัสบรรยากาศจริง  และคงอยากทราบว่าเนื่อหาสาระในการประชุมเป็นอย่างไร  อดใจไว้ก่อนนะคะ  พรุ่งนี้ (ถ้ามีโอกาส) จะเข้ามาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดค่ะ  วันนี้ขอตัวก่อนค่ะ  เพราะ  ต้องรีบไปเตรียมตัวไปกรุงเทพฯค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16433เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ถ้ามีรูปด้วย อ่านงานเขียนอาจจะไม่สนุก แต่ก็ช่วยได้มากทีเดียวครับ คิดอีกทีเป็นการฝึกคนอ่านให้มีจินตนาการตามภาษาสละสลวยของอ.อ้อม ก็ดีเหมือนกันนะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท