บรรยายKMที่โรงพยาบาลยโสธร


การทำWorkshopจะช่วยให้ผู้ฟังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้และสามารถดึงเอางานประจำมาพูดคุยร่วมกันได้ง่ายขึ้น

             วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ผมออกจากบ้านด้วยรถยนต์ไปถึงสนามบินพิษณุโลกเวลา 13.30 น. และขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ รอที่ดอนเมืองเกือบ 3 ชั่วโมง จึงขึ้นเครื่องไปอุบลต่อ ถึงอุบลมีพี่แป๋วกับพี่แก้ว คนขับรถมารับไปทานอาหารที่ร้านปลาทองแล้วเดินทางต่อไปที่ยโสธรถึงเกือบห้าทุ่มพักที่โรงแรมเจพี เอ็มเมอรัลด์ เพื่อเตรียมบรรยายที่โรงพยาบาลยโสธรในช่วงเช้า

             ได้คุยกับพี่แป๋วว่า ทำไมถึงเชิญผมมาพูด พี่เขาบอกว่าทางรองผอก.ฝ่ายการพยาบาลเคยฟังผมแล้ว ก็อยากให้ผมได้มาเล่าให้ทีมงานคนอื่นๆได้ฟังด้วย

              ช่วงเช้าก่อนบรรยายมีพี่ธีรพล รองแพทย์มากล่าวเปิด ตอนแรกผมนึกว่าท่านผู้อำนวยการ(นพ.พิเชฐ อังศุวัชรากร) ไม่อยู่ แต่ตอนที่ผมเริ่มบรรยายก็ได้สังเกตเห็นว่าท่านได้เข้ามานั่งฟังอยู่ด้านหลังห้องและท่านก็อยู่ฟังตลอด ปรากฎว่าครึ่งเช้าผมยังบรรยายไม่จบเนื่หาที่เตรียมไปเพราะผมเพิ่มสไลด์ที่จะพูดมากกว่าทุกครั้งจึงต้องมาพูดต่อตอนบ่ายอีก 1 ชั่วโมงแล้วสรุปประเด็นด้วยการนำเอาสไลด์ตกผลึกKMของอาจารย์หมอวิจารณ์ไปเล่าต่อด้วยเพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากนั้นก็ทำworhshop Knowledge sharing โดยใช้เครื่องมือธารปัญญา แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แต่มีผมเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มคนเดียวก็เลยต้องวิ่งรอกให้ข้อเสนอแนะให้ครบทั้ง 5 กลุ่ม จากการสังเกตแล้วผู้ฟังสนใจฟังและร่วมกิจกรรมดีมาก ถามจากรองผอก.ด้านพยาบาลท่านบอกว่าเจ้าหน้าที่ที่มาฟังโดยเฉพาะพยาบาลมาด้วยความอยากฟังเองเพราะเป็นเวรหยุดของเขาแต่เขาก็มากันเยอะ ทั้งห้องน่าจะกว่า 200 คน แต่ตอนบ่ายที่ทำworkshopก็หายไปเกือบครึ่ง แต่คนที่ไม่หายไปอยู่จนถึงการทำworksopเสร็จสิ้นก็คือท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาล

                ผู้ที่เข้าฟังบรรยายมีจากโรงพยาบาลชุมชนมา 3 แห่งและจากสสจ.ยโสธรเกือบ 30 คน ทราบว่าท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สุรพร ลอยหา)ให้มาฟัง

                การทำworkshop ช่วยให้เข้าใจประเด็นต่างๆมากขึ้น ตอนแรกผมก็ได้ไกด์เฉพาะการใช้เครื่องมือ แต่ตอนสรุปก็ได้พยายามดึงประเด็นต่างๆมาให้เห็นว่าการใช้KMกับการพัฒนาคุณภาพเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ทุกกลุ่มจะกำหนดหัวปลา ตาปลาออกมาได้แต่ก็ยังติดกับกระบวนการอยู่มาก เช่นหารพัฒนาระบบนั้นระบบนี้ ซึ่งเป็นการกำหนดในลักษณะว่าจะทำอะไรซึ่งบ่งบอกถึงกระบวนการหรือprocess oriented พอกำหนดปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือองค์ประกอบสำคัญก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการหรือกิจกรรมที่ทำ ซึ่งผมเองก็ถือว่าไม่ผิดเพราะเครื่องมือธารปัญญาเองก็ได้นำเอาหลักการของBenchmarking มาใช้ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งเปรียบเทียบกระบวนการและเปรียบเทียบผลลัพธ์(Results)

                ตอนสรุปหรือให้ข้อเสนอแนะ ผมได้ชี้ประเด็นว่า พวกเราชินกับกระบวนการ ก็เลยมองกระบวนการที่ทำ แต่หลายครั้งเรามักพบว่ากระบวนการที่ทำก็ไม่ได้สร้างความแน่ใจว่าจะส่งผลลัพธ์ที่ต้องการจริงหรือไม่ ทำให้เกิดการถกเถียงและไม่ยอมรับกันได้ง่าย ผมจึงลองให้มองที่ผลลัพธ์ได้ไหม การกำหนดKnowledge visionนั้นคือเป้าหมายที่เราอยากได้ ซึ่งก็คือผลลัพธ์ แทนที่จะเป็นการพัฒนาระบบการส่งต่อให้มีคุณภาพ ซึ่งบ่งทางกระบวนการ ปรับมาเป็นระบบส่งต่อที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นผลลัพธ์แทน ก็จะช่วยให้เราคิดปัจจัยที่จะบอกว่ามีการส่งต่อที่มีคุณภาพ ซึ่งก็จะบ่งไปถึงว่าต้องวัดอย่างไรจึงจะได้อย่างนี้ ก็จะทำให้คิดไปถึงตัวชี้วัดต่างๆที่มีอยู่จากการทำคุณภาพ ทำให้ปัจจัยที่คิดมาเป็นตัวชี้ผลลัพธ์ที่ดีได้ แล้วค่อยให้คนที่มีผลลัพธ์ที่ดีมาพูดว่าเขาทำอย่างไรจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น

                การโยงแบบนี้ช่วยให้ทุกงานเริ่มมองผลงานของตนเองมากขึ้น จะสามารถเปรียบเทียบผลลงานของหน่วยตนกับหน่วยอื่นได้มากขึ้น ทำให้สามารถกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไปได้ด้วย เวลาผ๔บริหารจะดูง่าผลงานหน่วยไหนจะดีกว่ากัน ก็ดูได้ง่าย เช่นหอผู้ป่วยเหมือนกัน หากต่างคนต่างคิดก็จะมีตัวชี้วัดหรือวิธีทำงานที่หลากหลายมาก แต่พอเอาเครื่องมือธารปัญญาประเภทมุ่งผลลัพธ์มาใช้ จะทำให้ทุกหน่วยเริ่มมองผลงานที่คล้ายกัน กลุ่มเดียวกันมากขึ้น การปรับวิธีการทำงานแบบเดียวกันที่ทำแตกต่างกันในต่างหน่วยกันจะทำได้ง่ายขึ้นเพราะในเมื่อผลลัพธ์ที่ดีออกมาอย่างนี้ แผนกอื่นจะไปเถียง ไม่ยอมรับไม่ได้แล้ว ทำให้งานแบบเดียวกันในต่างหน่วยมีมาตรฐานและวิธีปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน ไม่เกิดภาวะDouble standard

                 การทำworkshopครั้งนี้ จึงให้ผมได้เรียนรู้การเชื่อมดยงหน่วยคนละเหน่วย ที่ต่างคนต่างทำ ได้เข้ามาคิดร่วมกันในเรื่องเดียวกันได้มากขึ้น นับว่าผมในฐานะผู้ให้เองก็กลายเป็นผู้รับไปโดยไม่รู้ตัวด้วย แต่ก็เป็นประโยชน์มาก

หมายเลขบันทึก: 16426เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท