AAR การทำงานในรอบสัปดาห์


      โอ๊ย! ช่วงนี้งานยุ่งจริงๆ  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานจรมากกว่า  อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้วว่าจะลองตั้งเป้าหมายและวางแผนในการทำงานเป็นรอบสัปดาห์ดู  เพราะ  รู้สึกว่าในช่วงที่ผ่านมาแม้จะ (รู้สึกว่า) ทำงานหนักแต่ก็ไม่ได้งานเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง  ขืนเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  ชีวิตคงไม่เจริญก้าวหน้า  ความจริงตั้งใจจะเข้ามาเขียนบันทึก AAR การทำงานในรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันอาทิตย์แล้ว (ตามที่สัญญาไว้กับตัวเองและผู้เข้ามาอ่าน)  แต่โอกาสไม่อำนวยเลย  (ถ้าเป็นแต่ก่อน  ผู้วิจัยจะรู้สึกว่าที่ทำงานไม่ได้ดังใจหวัง   เพราะ  ไม่มีเวลา  แต่วันนี้คิดว่าทุกคนมีเวลาเท่ากัน  คนอื่นทำได้   เราก็ต้องทำได้  แต่ที่เราทำไม่ได้อาจเป็นเพราะตัวเราเองที่มีความพยายามไม่เพียงพอ  รวมทั้งเงื่อนไขที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  โอกาสไม่อำนวย)   ไม่เป็นไร  ไม่ได้เขียนวันอาทิตย์  แต่มาเขียนวันนี้ก็ได้  (เขียนช้าดีกว่าไม่เขียนเลย)  บันทึก AAR การทำงานของผู้วิจัยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีดังนั้

      ความคาดหวัง (ความตั้งใจ)

      1.ศึกษาเอกสาร  หนังสือเกี่ยวกับการจัดการความรู้  รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยจัดการความรู้ทุกวัน  (ศึกษาได้มากหรือน้อยก็ไม่เป็นอะไร)

      2.สะสางงานเก่า  โดยเฉพาะการพูดคุยกับหน่วยงานสนับสนุนเบื้องต้น  เพื่อให้ทราบแนวทางการทำงานของหน่วยงานสนับสนุน  คาดหวังไว้ว่าจะต้องพูดคุยให้ครบทั้ง 5 หน่วยงาน (ที่เหลืออยู่)  คือ  สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำปาง  ธนาคารออมสิน  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรร์การเกษตรสาขาลำปาง

     3.ทำงานจัดการความรู้  โดยมุ่งไปที่ระดับกลุ่มเป็นหลัก  ความคาดหวังก็คือ  ได้แผนการดำเนินการของแต่ละกลุ่ม

     สิ่งที่สมหวัง

     1.ได้รับความรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลตำบลแม่พริกเพิ่มมากขึ้น  (จากเดิมไม่ทราบเลย)

     2.เห็นช่องทางที่จะพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลกับองค์กรชุมชนที่ชัดเจนมากขึ้น

    3.ศึกษาเอกสารจบไป 1 เรื่อง (อ่านจบตั้งแต่เช้ามืดวันอาทิตย์ค่ะ) อาทิตย์หน้า (ก็คืออาทิตย์นี้)  จะได้เริ่มอ่านเรื่องใหม่ 

     สิ่งที่เกินความคาดหวัง

     1.จากการได้ไปพูดคุยกับหน่วยงานทำให้ผู้วิจัยพบเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานสนับสนุนกับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  (แต่ยังไม่ขอเล่าในรายละเอียดนะคะ  ขอไปฝึกวิทยายุทธ์การเขียนและการวิเคราะห์แบบกัลยาณมิตรให้ดีเสียก่อน)

     2.ได้รับความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่  ภาระความรับผิดชอบ  รวมทั้งแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานสนับสนุนกับเครือข่ายฯที่ชัดเจนขึ้น  หลายๆเรื่องเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้วิจัยไม่เคยทราบมาก่อนจริงๆ  เช่น  การที่ธนาคารออมสินให้บริการในเรื่องวิทยากรฝึกอบรม  หรือ  ส่งเสริมในเรื่องการรวมกลุ่ม  เป็นต้น

     3.ทำให้กลุ่มเกิดฉุกคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่มกำลังประสบอยู่  ซึ่งการฉุกคิดนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อีกหน้าหนึ่งของการทำงานชุมชน (ไม่ขอเล่ารายละเอียดนะคะ  เรื่องนี้จะเปิดเผยก็ต่อเมื่อปิดโครงการ  หรือ  อาจไม่เปิดเผยเลยก็ได้ค่ะ  แต่คิดว่าคนที่ติดตามอ่านบันทึกของผู้วิจัยคงเดาได้ไม่ยาก)

     สิ่งที่ผิดหวัง

     1.ไม่ได้ศึกษาเอกสารหรือหนังสือทุกวันตามที่ตั้งใจไว้ (แอบถเลไถลไป 2 วันค่ะ  เพราะ  เหนื่อยจริงๆ  อยากพักผ่อน  ก็เลยไปอ่านหนังสืออื่นแทน)

     2.คุยกับหน่วยงานได้เพียง 3 หน่วยงาน  ที่เหลืออีก 2 หน่วยงาน  คือ  สำนักงานเกษตรจังหวัด  นัดกับหน่วยงานไม่ได้เลยค่ะ  หน่วยงานยังไม่มีเวลาว่างให้เข้าพบ  ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรนั้น  เป็นความผิดของผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์เองค่ะที่เมื่อวานนี้ไปช้ากว่าที่นัดไว้เลยไม่ได้เข้าพบ  ความจริงวันนี้ก็นัดไว้ด้วยเวลา 14.00 น.  แต่ตอนเช้าเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรกลับมาว่าขอเลื่อนเวลาเป็น 15.30น.  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ก็เลยตัดสินใจขอยกเลิกนัดในวันนี้  เพราะ  ต้องรีบเดินทางไปกรุงเทพฯ  เพื่อประชุมในวันพรุ่งนี้  โดยได้นัดใหม่ว่าจะขอเข้าพบในวันที่ 28 กุมภาพันธ์  หรือ 1 มีนาคม  วันใดวันหนึ่ง

    3.ไม่ได้แผนการทำงานของแต่ละกลุ่ม  มีเพียงการพูดคุยเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานเท่านั้น

     สิ่งที่ต้องทำต่อไป

     1.สะสางสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำจากอาทิตย์ที่ผ่านมา  เช่น  การพูดคุยกับหน่วยงาน ศึกษาเอกสารหรือหนังสือเกี่ยวกับการจัดการความรู้ต่อไป เป็นต้น

     2.ทำงานกับกลุ่มอย่างเข้มข้นขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16421เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
P

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่มาเยี่ยมและอ่านบันทึกค่ะ และปลื้มใจในคำชมมากค่ะ

คุณ RAK-NA บอกว่า    มีคนบอกว่า  ถ้าว่างจิตฟุ้งซ่านมากไปก็อาจเป็นคนขี้ลืมได้  

เป็นเรื่องจริงค่ะ เพราะในช่วงที่เราฟุ้งซ่าน เราขาดสติ  เผอเรอลืมโน่นนี่ไปเสียหลายอย่าง และก็จะนึกไม่ออก เพราะ เราไม่ได้มีการรับรู้ และจดจำเอาไว้ ปล่อยผ่านไปค่ะดังนั้น  การคุมใจไว้กับกิจ  หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ การทำสมาธิ  คือความมีใจตั้งมั่น   การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ จะช่วยได้มากค่ะด้วยค่ะ   อยากให้ฝึกทำด้วยนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท