บันทึกการประชุมด้วยเรื่องเล่าและจิตนาการ"แก้จนเมืองนคร"(วันที่21ก.พ.)


ใช้เครื่องมือKMมาเสริมกระบวนการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างสมบูรณ์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียงและวิสัยทัศน์เมืองนครโดยการบูรณาการสรรพกำลังทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ(สถาบันวิชาการและหน่วยปฏิบัติการทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน)

เมื่อวาน(21ก.พ.)มีการประชุมคณะทำงานทางวิชาการด้านการจัดการความรู้โครงการแก้จนเมืองนครครั้งที่ 2 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้เล่าความคิดและเจตนารมณ์ในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างละเอียด ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมที่มากันครบ(เกือบ60คน)
โดยสรุปคือ เป็นการใช้เครื่องมือKMมาเสริมกระบวนการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างสมบูรณ์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียงและวิสัยทัศน์เมืองนครโดยการบูรณาการสรรพกำลังทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ(สถาบันวิชาการและหน่วยปฏิบัติการทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน) แบ่งปันความรู้ร่วมกันโดยมีเป้าหมายในการพัฒนานำร่อง400 หมู่บ้าน จำนวน25,600คน/ครัวเรือน
เป็นการดำเนินงานระยะยาว เริ่มจากการสำรวจทุนชุมชนรายครัวเรือน วิเคราะห์ศักยภาพในการพัฒนาโดยแบ่งเป็น 4 ระดับ จัดเวทีประชาคม จัดกระบวนการเรียนรู้ เสริมทักษะความรู้เพื่อแปรศักยภาพให้เป็นความสามารถเพื่อยกระดับการพัฒนาให้สูงขึ้น
เป็นการพัฒนาคนที่ต้องใช้เวลาต่อเนื่องให้เกิดสำนึกในการพึ่งตนเอง พึ่งพากันและพึ่งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี2552 ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้งบซีอีโอรวมกันประมาณ 85ล้านบาท โดยบูรณาการการทำงานและงบตามโครงสร้างของหน่วยงานต่างๆเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

หลังจากท่านผู้ว่าเปิดประเด็นแล้วได้มอบให้ผมดำเนินการประชุมเพื่อจัดทัพให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ผมเริ่มตามหัวข้อหารือ 8 หัวข้อที่เตรียมไว้ โดยเริ่มจากการแนะนำตัวคณะทำงานวิชาการและผู้เข้าร่วมประชุม มีที่ขาดไปคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

หัวข้อแรกท่านผู้ว่าฯได้นำเสนออย่างครอบคลุมแล้ว
ข้อ2 การหารือคณะทำงานฝ่ายต่างๆสรุปว่า
1)ผมจะรับเป็นทีมบันทึกกระบวนการดำเนินงานและความรู้ที่ได้ร่วมกับทีมกศน.4ท่าน

2)อ.หญิงจากม.วลัยลักษณ์รับไปดูเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาซึ่งสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์มีหลักสูตรการจัดการความรู้อยู่ด้วย จะได้เข้ามาเติมและนำความรู้จากการปฏิบัติไปปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอน

3)พี่ปุกจากพช.รับเป็นทีมประสาน/บูรณาการหน่วยงาน/องค์กร เพราะมีโครงการมาตรฐานชุมชน (มชช.) ที่สอดคล้องกันรับผิดชอบอยู่แล้ว

4)ทีมกศน.และปกครองรับเรื่องประสานจัดการและการเงิน

ข้อ3,4 คุณอำนวยกลางจากตัวแทนหน่วยงานต่างๆมีดังนี้

1)ปกครอง 5 คน 2)ธกส. 5 คน 3) กศน. 8 คน 4) พช. 5 คน 5) สธ. 5 คน 6) เกษตร 5 คน 7) ยมนา 6 คน 8) มวล. 1 คน (ธีรพันธ์) ม.เทคโนโลยีราชมงคล 3 คน รวม 44 คน

บทบาทของคุณอำนวยกลางคือ การสนับสนุนการเรียนรู้ในวงคุณเอื้ออำเภอและวงคุณอำนวยตำบล

จากนั้นได้พูดถึงการจัดระบบทำงานโดยแบ่งเป็น 5 โซน (หลังจากเสนอและจัดระบบเพื่อให้สอดคล้องกับระบบเดิมของแต่ละหน่วยงานให้มากที่สุด) โดยแบ่งตามภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำ คือโซนปากพนัง1 ปากพนัง2 ตาปี 1 ตาปี 2 และลุ่มน้ำกลาย แต่ละหน่วยงานเสนอชื่อคุณอำนวยกลางรับผิดชอบแต่ละโซนๆละ6-9คน

หัวข้อถัดมาคือการสรรหาคุณอำนวยตำบล มีการหารือข้ามประเด็นเรื่องการประชุมคณะกรรมการ/ทำงานในวันที่ 7 มี.ค. ซึ่งจะเชิญคุณอำนวยตำบลมาด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพราะบางท่านเห็นว่าน่าจะคุยในวงคุณเอื้อประมาณ 600 คนก่อน คุณอำนวยตำบลประมาณ 500 คนยกไปอีกวงหนึ่ง จะได้คุยกันละเอียดหน่อย ประเด็นนี้หารือกันกลับไปกลับมา สุดท้ายสรุปว่าเอาอย่างเดิมคือเชิญมาทั้งหมดประมาณ1,000 คน โดยในหนังสือเชิญได้แจ้งให้คุณเอื้ออำเภอของแต่ละหน่วยงานชวนคุณอำนวยมาด้วยซึ่งตัวเลขกลมๆที่สรุปไว้ก็ประมาณ 500 คน โดยมีคุณอำนวยตำบลจาก กศน.เป็นฐานสำคัญเพราะผอ.กศน.ได้สั่งการไปล่วงหน้าแล้ว

เมื่อกลับมาหัวข้อเตรียมการประชุมวันที่ 7 กับจำนวนคน 1,000 คน ที่ประชุมได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ที่จะชี้แจงสร้างความเข้าใจในช่วงเช้าและทำแผนปฏิบัติการในภาคบ่าย เป็นการประชุมสร้างความเข้าใจทั้งหมด เพราะการทำแผนต้องทำรายอำเภอจำนวน 23 อำเภอ ในกลุ่มเป้าหมายต่างกันคือวงคุณเอื้อ 23 อำเภอ และวงคุณอำนวย อีก23 อำเภอ ทีมงานสรุปว่าไม่สามารถทำได้แน่ จึงตั้งวัตถุประสงค์เรื่องการสร้างความเข้าใจให้ชัดเจน ทั้งแนวคิด เครื่องมือจัดการความรู้และการจัดขบวน(ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ) นอกจากนี้อาจใช้กรณีศึกษามานำเสนอเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม

สำหรับการลงพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการทำงานร่วมกับอำเภอ ทีมอำนวยกลางในแต่ละโซนจะทำแผนมาก่อนและนำเสนอในตอนท้ายของการประชุมวันที่ 7 จากนั้นทีมงานจะประชุมสรุปบทเรียนกัน(AAR)

หัวข้อสุดท้ายคือ การนัดประชุมของนักเรียนวงเรียนรู้วิชาการและคุณอำนวยกลางซึ่งครั้งต่อไป นัดไว้วันที่ 21 มีนาคม 2549 ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ชั้น3 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ห้องเดิมเพื่อบอกเล่าความคืบหน้าของแต่ละโซน ซึ่งผมเสนอให้แต่ละโซนตั้งผู้ประสานงานและคุณลิขิตไว้ด้วย เพื่อจะได้ประสานกับทีมประสานจัดการ(ปกครอง/กศน.)และทีมวิชาการ(ผมและกศน.)อย่างเป็นระบบต่อไป

ผมกลับ ม.วลัยลักษณ์ด้วยความยินดีในความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆและผลสำเร็จของการประชุมในขั้นต้น แม้รู้สึกล้ามากจากการดำเนินการประชุมที่ต่อเนื่องในหลากหลายความคิดเห็นกับขนาดของงานที่ค่อนข้างกว้างขวางใหญ่โต

วันนี้ตอนเช้าผมออกมาเดินเล่นตามปกติ ในส่วนของการนำเสนอกรณีศึกษาในวันที่ 7 ผมเกิดปิ้งแว๊บว่า น่าจะเชิญครูชบ ยอดแก้ว มาบอกเล่าการจัดการความรู้ของขบวนสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาท ทำสวัสดิการภาคประชาชน แก้จนอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการได้ประโยชน์2สถานในคราวเดียวกัน คือ เป็นการเล่าเรื่องการจัดการความรู้จากการปฏิบัติจริงและเป็นการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยกิจกรรมสัจจะลดรายจ่ายซึ่งอยู่ในแนวคิดที่ผมเสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ผมเคยตั้งผังในใจไว้แล้วว่า แนวปฏิบัติของครูชบเรื่องสวัสดิการชุมชนจะต้องนำมาใช้ขับเคลื่อนที่นครศรีธรรมราชด้วย เพื่อเสริมแผนชีวิตเพื่อพัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชนของน้าประยงค์ รณรงค์ โอกาสนี้น่าจะเป็นประโยชน์ กับขบวนการแก้จนเมืองนครครั้งหนึ่งครับ

ผมโทรหาครูชบ ขอเชิญเป็นวิทยากรในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งได้รับความกรุณาจากครูชบด้วยดี    เช่นเคย

มิตรที่ดีต้องอย่างนี้ซีครับ ต้องดูให้ออกว่าใครเป็นเครือข่ายทำงานเกื้อกูลกันมาอย่างไร ต้องเริ่มด้วยคำพูดแบบอีวานคนโง่ว่า "ทำไมจะไม่ได้ละครับ"

ต่อไปก็เป็นการออกแบบกำหนดการประชุม และทำpower point นำเสนอขบวนการจัดการความรู้ในโครงการนี้ทั้งระบบ เพื่อเตรียมนำเสนอในวันประชุมต่อจากท่านผู้ว่าและน้าประยงค์ ซึ่งจะได้เสนอให้ทีมจัดการดำเนินการต่อไป ทั้งแจ้งผู้เข้าร่วม เตรียมห้องประชุม อุปกรณ์และอาหารให้ครบถ้วน

ประชุมวันที่ 7 ถือว่าเป็นทัพหลัง จากนั้นเราต้องจัดทัพหน้าซึ่งประกอบด้วยผู้นำหมู่บ้านละ 8 คน รวม 3,200 คน อาจจะต้องลงตามโซน
ถัดจากนั้นจะเป็นการทำงานของทัพหน้ากับกลุ่มเป้าหมาย25,600คน/ครัวเรือน ร่วมกับคุณอำนวยตำบล 495 คน  โดยเชื่อมโยงกับคุณเอื้ออำเภอ/ตำบล และเชื่อมโยงกับคุณอำนวยกลาง+ทีมวิชาการ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับคุณเอื้อจังหวัด โดยที่กลไกคุณเอื้ออำเภอก็เชื่อมโยงกับคุณเอื้อจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย

เราจะเติมความรู้เรื่องBlogให้คุณลิขิตตำบลทุกตำบลรวม165ตำบล เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายอำเภอ โซน และจังหวัด โดยมีคุณลิขิตของแต่ละโซนทำงานร่วมกับทีมวิชาการซึ่งมีผมและทีมกศน.4ท่านร่วมรับผิดชอบ จะเป็นโครงข่ายความรู้ที่มีศูนย์เรียนรู้ของกศน.แต่ละอำเภอเป็นจุดเรียนรู้แบบB2Bซึ่งผอ.กศน.จะติดตั้งระบบinternetความเร็วสูงในทุกห้องสมุดอำเภอ และอบรมการใช้internetและการใช้Blogรวมทั้งการเขียนบันทึกกับทีมงานคุณลิขิตตำบลด้วย

แผนงานเหล่านี้จะทยอยดำเนินการหลังจากการสร้างความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมขบวนการในวันที่ 7 มีนาคมนี้แล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 16379เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เสียดายมากคะพี่ภีมที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีด้วย แต่ก็อ่านเรื่องราวจากบล็อคของพี่ภีมแล้ว อยู่ทางนี้ก็จะปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด (เท่าที่ความสามารถจะถึงนะคะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท