ช่วงที่ 2 ความเป็นมาขององค์กรการเงินชุมชน


วิวัฒนาการ และความเป็นมาขององค์กรการเงินชุมชน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

       ในวันนี้ก็ได้รับเกียรติ จาก อาจารย์ที่มีประสบการณ์และคร่ำหวอดอยู่ในองค์กรการเงินชุมชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา อ.จำนงค์ แรกพินิจ มาให้ความรู้เกี่ยวกับองค์กรการเงินชุมชน

    ประเด็นในวันนี้เรื่องที่จะคุยกันคือเรื่องสำคัญเรื่ององค์กรการเงินชุมชน  องค์กรการเงินที่ทำขึ้นมาโดยชาวบ้าน คนที่เริ่มก่อตั้งเริ่มแรก คิดว่าทำกันแบบเล็กโดยไม่ได้คิดว่าองค์กรการเงินมันจะพัฒนาอย่างรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน

      เมื่อพูดถึงองค์กรการเงินชุมชน เรื่องที่จะเล่าให้ฟังก็คือ การรวมกลุ่ม การสนับสนุนให้ประชาชน ได้รวมตัวกันเป็นองค์กร เป็นกลุ่มต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่มันไม่โต และทุกคนก็รู้จักสหกรณ์ดี สหกรณ์ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2454 สมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรก เริ่มมีการออม ซึ่งตอนนี้ก็มีอายุ 95 ปี การดำเนินงานก็ยังเป็นเหมือนเดิม แต่เมื่อมาเทียบกับองค์กรการเงินที่ทุกคนทำอยู่ในวันนี้ ปี 2517 เป็นปีแรกที่กลุ่ม ออมทรัพย์เพื่อการผลิตเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เกิดเมื่อเดือนมีนาคม 2517 อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นกลุ่มแรกของกลุ่มออมทรัพย์ และเป็นฐานให้มาปรับและพัฒนามาเป็นกองทุนหมู่บ้าน องค์กรการเงินชุมชน จาก 2517 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 32 ปี ความเจริญเติบโตเร็วมาก แต่เมื่อเทียบกับ 95 ปี ของสหกรณ์ เทียบกันไม่ได้ การตั้งสหกรณ์ในสมัยก่อนที่บ้านเรา ในสมัยรัชกาลที่ 6 เราตั้งขึ้นตามความต้องการของเจ้านาย ของขุนนาง ที่เห็นว่าชาวไร่ชาวนาสมัยนั้นเป็นหนี้นายทุนชาวจีน คนจนมาก สมัยรัชกาลที่ 5 – 6 ประเทศไทยเราอาชีพหลักคือทำนา ขายข้าว ขายน้ำตาลจากอ้อย ซึ่งตอนนั้น ข้าวและน้ำตาลก็มีราคาแพง คนก็เร่งปลูกเพื่อที่จะได้ขายได้มาก ๆ เมื่อไม่มีทุน ก็ไปยืมเงินลงทุนจากนายทุนชาวจีน เพื่อนำมาลงทุน ทำการเพาะปลูก แต่สุดท้ายแล้วก็มีหนี้สิน เป็นหนี้ชาวจีน ในรัชการที่ 6 ก็เห็นว่าเกษตรกรเป็นหนี้นายทุนจีนกันเยอะมาก ก็ได้หาวิธีแก้โดยการศึกษา และให้เกษตรกรมาร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัยกัน กู้ยืมกันเอง โดยไม่ต้องไปกู้เงินจากนายทุนชาวจีน เหตุผลที่ อ.จำนงค์ ได้เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพื่อที่ทุกคนจะได้ทราบเรื่ององค์กรการเงินนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อเห็นเกษตรกรเป็นหนี้ และทุกข์ยาก ก็ได้ศึกษาว่ามีประเทศใดบ้างที่ทำเกี่ยวกับองค์กรการเงินที่มีลักษณะให้เกษตรกรมารวมกัน แล้วช่วยเหลือพึงพาอาศัยกันเอง ก็พบว่าประเทศอังกฤษ และในแถบยุโป ก็ได้ทำกัน เจ้านาย ขุนนาง เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในสมัยนั้น ก็เริ่มไปศึกษา เริ่มเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา ให้คำแนะนำรัฐบาลในสมัยนั้นว่า ถ้าอยากจะแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ควรจะทำอย่างไร แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามาเป็นเวลา 100 ปี ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะว่าในปัจจุบันนี้เกษตรกรก็ยังคงเป็นหนี้สินอยู่

    คนไทยได้เริ่มจัดตั้งสหกรณ์โดยการเรียนรู้จากประเทศอังกฤษ ศึกษาว่าสหกรณ์เขาทำกันอย่างไร และในแถบยุโรปเติบโตเร็วมาก และมีกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันและต่อต้าน ได้ไปจัดตั้งกลุ่มเล็กขึ้นมา และมีบริหารจัดการกันเอง ในประเทศมีการจัดตั้งสหกรณ์ในแบบร้านค้า โดยมีการซื้อสินค้ามาขายให้กับกรรมกรในโรงงาน สำหรับฝรั่งเศสจะเก่งในเรื่องสหกรณ์การรวบรวมปัจจัยการผลิต เนเธอร์แลนด์ เก่งในเรื่องการแปรรูป เช่นแปรรูปนม

    สำหรับประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเกษตรกรเป็นหนี้สิน ประเทศไทยก็ต้องไปศึกษาในเรื่องการเงิน ประเทศไหนจัดตั้งสหกรณ์เกี่ยวกับการเงิน ประเทศไทยก็ไปได้มาจากประเทศเยอรมัน สหกรณ์ที่ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 คือสหกรณ์วัดจันทร์ โดยการเลียนแบบมาจากเยอรมันเรียกว่าสหกรณ์ หาทุน หรือเรียกว่าเครดิต จัดตั้งสหกรณ์โดยให้ประชาชนนำเงินมาออมรวมกัน และให้สมาชิกกู้ ก็เหมือนกับการทำออมทรัพย์ในปัจจุบัน แต่ในตอนนั้นเมื่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมาประชาชนก็ไม่มีเงินที่จะนำมาออม เมื่อไม่มีเงินออมรัฐบาลก็ต้องกู้แบงค์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) มา 300,000 บาท หลังจากนั้นสหกรณ์ก็ตั้งขึ้นมา มีแนวคิดกันว่าก็ไปเอาเงินของรัฐบาลมาปล่อยกู้กันเองในหมู่สมาชิก แล้วเก็บดอกเบี้ยส่งให้สมาชิก ซึ่งเป็นแนวคิดของสหกรณ์ที่ติดมาจนถึงปัจจุบันนี้ การคิดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรมีมาแล้วเป็น 100 ปี วิธีการก็ไม่แตกต่างกับปัจจุบัน เป็นการเน้นให้เกษตรกรพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่วิธีการจัดการไม่เหมือนกัน สมัยก่อนรัฐบาลลงไปจัดตั้งสหกรณ์ให้เกิดขึ้น แต่ผลที่ออกมาก็คือสหกรณ์ก็ไปขึ้นกับกระทรวงเกษตร เมื่อสหกรณ์เกิดขึ้นแล้วและก็เติบโตไปเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 กรมการพัฒนาชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป้าหมายก็เพื่อต้องการให้เกษตรกรออมเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นทุนในการผลิต ไม่ได้คิดว่ามันจะใหญ่โต

  กลุ่มออมทรัพย์ที่จัดตั้งเป็นกลุ่มแรกเมือปี 2517 คือกลุ่มออมทรัพย์ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และได้ขยายความคิดนี้ผ่านพัฒนากรในอำเภอต่าง ๆ  กลุ่มคนที่เข้าไปส่งเสริมในช่วงแรก คือพัฒนากร ซึ่งในช่วงแรก ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลาน เพราะระเบียบการดำเนินงานต่าง ๆ เขาก็ได้ร่างมาเรียบร้อยแล้ว และนำมาปฏิบัติ บางที่ก็ปฏิบัติได้ บางแห่งก็เจอปัญหาแต่ก็ยังดำเนินการอยู่ บางแห่งก็เลิกทำ เพราะว่าเมื่อสมาชิกกู้เงินไปแล้วแล้วก็ไม่คืน บางหมู่บ้านก็ประสบกับปัญหา เพราะในตอนนั้นระเบียบต่าง ๆ มาจากส่วนราชการ

       จากปี 2517 แนวความคิดก็ได้ขยายไปทั่วประเทศ สำหรับภาคใต้ กลุ่มออมทรัพย์กลุ่มแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2520 คือกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองหวะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มออมทรัพย์กลุ่มนี้ก็เป็นแบบอย่างให้กับภาคใต้ กลุ่มนี้เมื่อเกิดขึ้นไม่ได้ทำตามแบบของกรมพัฒนาชุมชน โดยใช้เวลา 2 ปี ในการพูดคุยกับกรมพัฒนาชุมชนกว่าจะได้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพราะคนที่ตำบลคลอหวะ บอกว่า ถ้าคนออมเงินกันแล้วให้ไปฝากธนาคาร เวลาจะกู้ยืมเงินดก็ต้องไปกู้เงินธนาคาร และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กลุ่มออมทรัพย์เมื่อก่อนเมื่อออมแล้วก็นำไปฝากกับธนาคาร ถ้าสมาชิกต้องการกู้ยืมก็ให้ยืมเงินธนาคาร แต่เอาเงินของกลุ่มเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินที่เรายืมจากธนาคาร กลุ่มออมทรัพย์ในช่วงแรกก็มีการทำกันในลักษณะนี้

      แต่พอมาถึงที่บ้านคลองหวะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็ไม่ทำตามแบบที่ราชการออกมาให้ เพราะถ้าทำตามวิธีของราชการที่ออกมา เป็นการสร้างความร่ำรวยให้กับธนาคาร แต่ที่บ้านคลองหวะจะออมเงินกันเองและจะให้กู้ถ้ามีเงินเหลือ โดยไม่ต้องนำเงินไปฝากธนาคาร มีการถกเถียงกับพัฒนาชุมชนเป็นเวลา 2 ปี และอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนก็ได้ลงพื้นที่ไปคุยกับสมาชิก แต่สมาชิกก็ไม่ยอม อธิบดีกรมพัฒนาชุมชนก็บอกว่าถ้าชาวบ้านอยากจะทำตามแบบของเขาก็ให้เขาทำตามความพอใจ

    ปัจจุบันนี้กลุ่มออมทรัพย์ที่ใหญ่ ๆ เป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่อยู่ในภาคใต้ นักวิชาการมักจะคิดว่าคนในภาคใต้ร่ำรวยกว่าคนภาคเหนือภาคอีสาน แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น   

       ความได้เปรียบในการจัดการเงินเงินทุน คนใต้จะเก่งกว่าคนภาคอีสานในการบริหารจัดการเงินทุนเป็นเวลา 30 ปี คนใต้ก้าวหน้ากว่าคนอีสาน 30 ปี ภาคเหนือ 20 ปี เหตุผลเพราะคนในภาคใต้มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลเป็นแหลมติดต่อกับประเทศจีนและอินเดีย คนที่ทำการค้าขายก็จะเดินทางผ่านเพื่อไปค้าขายที่ประเทศจีนและอินเดีย เรือสินค้าต่างชาติก็จะมาแวะหลบมรสุม เพราะในภาคใต้เป็นเมืองท่าเรือ จึงมีประสบการณ์ในการค้าขาย 

     คนใต้จะเก่งในเรื่องการบริหารจัดการเงิน เมื่อคนใต้บริหารจัดการเงินเป็นก็ทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ออมทรัพย์ในบ้านเราก็เติบโตตามไปด้วย ไม่ได้เป็นเพราะคนใต้รวยแต่เป็นเพราะการบริหารจัดการเงินเป็น เมื่อกลุ่มออมทรัพย์แพร่หลายไปทั่วประเทศ ปี 2529 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่า กลุ่มออมทรัพย์เป็นธนาคารเถื่อน ( ชาวบ้านทำอะไรก็เถื่อนหมด น้ำผึ้งก็น้ำผึ้งเรา ไฟก็ของเรา น้ำก็ของเรา หม้อก็หม้อเรา พอเราต้มเหล้า เขาก็เรียกว่าเหล้าเถื่อน )

    ปี 2526 ครูชบ ยอดแก้ว ที่บ้านน้ำขาว ได้คิดค้นการออมทรัพย์แบบใหม่ คือการออมทรัพย์แบบการพัฒนาครบวงจรชีวิต คือการออมทรัพย์แบบมีสวัสดิการ เดิมทีสวัสดิการภาคประชาชนไม่ได้แยกมาจากกลุ่มออมทรัพย์ แต่ได้เอากำไรส่วนหนึ่งในกลุ่มออมทรัพย์มาจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ซึ่งหลักการณ์ก็เกิดขึ้นในปี 2526 ที่ตำบลน้ำขาว หลังจากนั้นแนวคิดสวัสดิการก็ได้แพร่ขยายไปเรื่อย ๆ ไปทั่วประเทศ แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับ

    กลุ่มออมทรัพย์ไม่มีการจดทะเบียน และไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่มออมทรัพย์ แต่ถ้าจดทะเบียนเมื่อไหร่ก็จะเป็นเครดิตยูเนียน และเคยมีคนไปถามครูชบว่าทำไมไม่จดทะเบียน ครูชบก็บอกว่า เราอยากเป็นออมทรัพย์ ไม่ได้อยากเป็นสหกรณ์ หากถามว่าไม่จดทะเบียนจะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะไม่มีกฎหมายสำหรับกลุ่มออมทรัพย์ แต่จะมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องสำหรับการทำความผิดของสมาชิก

     ปี 2540 เป็นปีที่การจัดการองค์กรการเงินชุมชนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย หลังจากการเกิดวิกฤตทางการเงิน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ตอนนั้นชุมชนที่มีกองทุนอยู่และมีการบริหารจัดการโดยไม่มีผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบไม่ได้รุนแรงมากนัก

        วันนี้เรามีกองทุนหมู่บ้านละล้านเกิดขึ้นมาแล้ว และมีกฎหมายควบคุมอยู่ องค์กรการเงินชุมชนมีอยู่ 2 ลักษณะคือ เป็นเงินที่เกิดจากการรวบรวมการออมของชาวบ้านเอง เช่น ออมทรัพย์ องค์กรการเงินแบบกลุ่มออมทรัพย์ภาครัฐจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะถือว่าเป็นเรื่องของประชาชนต้องจัดการกันเอง

      องค์กรการเงินที่เราได้เงินมาจากรัฐ เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้าน หรือกองทุนแบบอื่นที่เราต้องกู้เงินบางส่วนมาจากภาครัฐสมทบไปกองทุนของเรา องค์กรแบบนี้ต่อไปต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมดและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เพราะกองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนหนึ่งที่เกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐบาล แม้ว่าตอนหลังเราจะมีการออมกันเอง ซึ่งตอนนี้เงินออมของกะหรอก็มีอยู่ประมาณ 1,300,000 บาท แต่เป็นเงินที่เริ่มต้นจากเงินของรัฐ จึงจะต้องมีกฎเกณฑ์ และระเบียบลงมา

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16354เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท