พลังของการฟังอย่างลึกซึ้ง


ไม่ใช่แค่ฟังให้เข้าใจเรื่องราว แต่ฟังให้สัมผัสผู้พูด

พลังของการฟังอย่างลึกซึ้ง          

เมื่อวันที่ ๒๕ กค. ๔๘  ผมได้บันทึกเรื่อง

นวัตกรรมในการสร้าง “นักจัดการความรู้ท้องถิ่น”

และได้เล่าว่าคณะนักวิจัยได้ค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ๆ หลายอย่าง   เรื่องต่อไปนี้เป็นบันทึกของผู้ช่วยวิจัย คือคุณมิรา (บี) ซึ่งจะแสดงให้เห็นสิ่งที่ค้นพบนั้น


บันทึกการสนทนากับ ๒ หนุ่ม  (ชาลี และ บังสน) จาก หมู่บ้านคลองนิน เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่
วันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เวลา ๒๑.๐๐ น.

 

ประมาณ ๓ ทุ่ม หลังทานข้าวเย็นที่ร้าน cookkai หน้าที่พัก (Nature Beach Resort)  ชาลีกับสน (จากบ้านคลองนิน) เข้ามาขอคุยเรื่องโครงการ People Mapping ในเรื่องของเงื่อนไขการเป็นอาสาสมัคร การทำความเข้าใจภาพรวมว่าโครงการ people mapping คืออะไร? ไปพร้อมๆ กัน
ชายหนุ่มทั้งสองคนที่เข้ามาในโครงการนี้ด้วยความบังเอิญ และความเข้าใจผิด คือ บังเอิญเจอกับพี่รวง และพี่รวงบอกว่าเค้ามีอบรมถ่ายหนังกัน วันที่ 5-7 ก.ค. ถ้าสนใจก็ให้มาลองดู ทั้งสองคนก็เลยมาเข้าอบรมครั้งนี้ด้วยความเข้าใจว่า...”มาอบรมถ่ายหนัง”
ฟัง ฟัง ฟัง ฟังอย่างละเอียด
                   ช่วงแรกที่ทั้งสองหนุ่มตั้งต้นถามถึงโครงการ ชาลี ครูสอนศาสนาอิสลามอายุ ๒๘ ปี จากบ้านคลองนิน เริ่มเล่าถึงความประทับใจของการเข้า workshop ๓ วันที่ผ่านมา ชาลีบอกว่า “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมการฟัง ถึงมีพลังมากขนาดนี้    workshop ที่ผ่านมาผมประทับใจมาก ตอนที่ผมมาเล่าเรื่องแผนที่บ้านของผม ผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ ว่าทำไมคนนอกหมู่บ้าน จากนอกเกาะต้องมาฟังเรื่องในบ้านของผมด้วย แถมคนที่มานั่งฟังเป็นอาจารย์เป็นผู้ใหญ่ระดับประเทศทั้งนั้น   แล้วเค้านั่งฟังผมเล่าจริงๆ   ผมมองจากตาคนฟัง ผมรู้เลย ว่าเค้าฟังกันจริงๆ   ผมก็เลยทดลองเอาวิธีการฟัง ที่ผมได้รับมา ไปทดลองใช้ดู   จริงๆ ปกติผมก็ฟังคน ฟังผู้ใหญ่อยู่แล้ว แล้วผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ก็ชอบเล่าเรื่องให้เด็กๆ ฟังมาก แต่เวลาฟังเรามักจะมองข้ามคนเล่าไปติดอยู่ที่เรื่องราวที่เค้าเล่า ไม่ได้สนใจคนพูดเลย   แต่ผมลองเอากระบวนการที่ว่าไปลองใช้ดู   คือไม่ฟังแต่เรื่องอย่างเดียว แต่ฟังคนเล่า เอาใจไปฟังคนเล่ามากกว่า   มหัศจรรย์มาก ผมเรียนรู้เรื่องราวมากมายที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องเล่า ผมรู้สึกว่าใจกับใจมันต่อถึงกันจริงๆ    ผมรู้สึกว่ารู้จักเค้าจริงๆ ฟังแล้วรู้สึกเรื่องมันสนุกกว่า คนเล่าก็เล่าสนุกกว่าด้วย”

                   ตอนที่ฟังชาลีถ่ายทอดเรื่องราวตอนนั้น ก็สะท้อนให้เห็นตัวเองเหมือนกัน ปกติแล้วบีจะมีหน้าที่ต้องทำรายงาน ต้องบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงพยายามจับประเด็น พยายามจดจำ “เรื่องราว” ต่างๆ ให้ได้มากๆ คือเพ่งไปที่เรื่อง โดยไม่ได้สนใจ “ตัวคนเล่า” หรือคนถ่ายทอด บ่อยครั้งที่พบปัญหาว่าเราจับประเด็นไม่ได้  จำเรื่องเล่าไม่ได้เลย เพราะสมองไม่ผ่อนคลาย เรื่องราวมากมาย ก็ทำให้จำไม่ได้ แต่ครั้งนี้นอกจากจำเรื่องที่ชาลีเล่าได้อย่างครบถ้วนแล้ว ยังจำสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ในการเล่าได้อีก ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเพราะเป็นการฟังที่เราไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องราว แต่เราฟังอย่างละเอียด และฟังคนเล่าถ่ายทอดทุกอย่างออกมานั่นเอง และตรงนี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

People mapping คืออะไร?

                   โครงการนี้คิดขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่า รากฐานของการพัฒนาชุมชน อยู่ที่หน่วยย่อยที่สุดซึ่งก็คือ “คนในชุมชนเอง” โดยการที่คนเราจะมามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนนั้น คนในชุมชนต้องมีความมั่นใจในความสามารถของตนเสียก่อน เมื่อคนมั่นใจในคุณค่าของตนเองแล้วจึงจะนำคุณค่านั้นๆ เข้ามาจัดวางตนให้กับการพัฒนาชุมชน สร้างความมั่นใจในชุมชนได้ต่อไป ดังนั้น โครงการนี้จึงเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจในตัว “คนทุกคนในชุมชน” ซึ่ง “คน” เป็นส่วนประกอบหลักของชุมชน

การที่ชุมชนจะสามารถพัฒนาขึ้นได้นั้น มีฐานอยู่ที่ตัวคนในชุมชนแต่ละคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของชุมชน โดยคนเราจะเชื่อมั่นในชุมชนไม่ได้ หากเค้าไม่เชื่อมั่นในตนเองเสียก่อน และชุมชนเองคงจะเข้มแข็งขึ้นมาไม่ได้ หาก “คน” ซึ่งเป็นฐานล่างที่สุดของการพัฒนาชุมชน ไม่เข้มแข็งเสียก่อน”
สำหรับวิธีการของ people mapping นั้น ใช้วิธีการ “สร้างความสัมพันธ์” โดยนำเอา “การฟัง” อย่างลึกซึ้งเข้ามาใช้ สร้างความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับผู้ที่เราเข้าไปคุยด้วย เป็นการไปทำความรู้จัก ไปเป็น “เพื่อน” รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของกันและกัน และกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ (ปฏิสันถาร) นี่แหล่ะ ที่เราจะคุยไปด้วย ตั้งคำถามต่างๆ เพื่อชวนให้เค้าย้อนมองถึงคุณค่า ที่มาที่ไปของเรื่องราวต่างๆได้อย่างแท้จริง (โยนิโสมนสิการ) ตรงนี้ถ้าเราค้นหาศักยภาพ หรือคุณค่าเล็กน้อยในตัวคนแต่ละคนขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น “คนที่นอนน้อยที่สุด” ก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง “คนที่ทำแกงเหลืองอร่อยที่สุด” ก็เป็นคุณค่าอีกอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปจับประเด็นเรื่องอาชีพเสมอไป ตรงนี้หากเราสามารถสร้างความมั่นใจในตัวคนทุกคนในชุมชนได้ แล้วเอามาใส่ในแผนที่ที่เราทำกันเมื่อ ๓ วันก่อน  ลองคิดดูว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาช่วยเลยนะ คนในชุมชนนี่แหล่ะที่จะสามารถเอาศักยภาพของตนเองมาแก้ปัญหาของชุมชนเองได้ แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะว่า “แผนที่” เป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้เราเห็นภาพรวมชัดเจนขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ผลลัพธ์หรือกระบวนการทั้งหมดของโครงการ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเห็น “ภาพรวม” ร่วมกันเท่านั้นเอง

 

สนเล่าให้ฟังว่า จริงๆ ทั้งสองคนก็คิดถึงเรื่องเหล่านี้อยู่เหมือนกัน ตัวเค้าเองก็ได้ลงมือทำไปแล้วบางส่วน และไม่มั่นใจว่าจะเหมือนกับโครงการที่เราทำอยู่นี่มั๊ย สิ่งที่เค้าทำคือ “การรวมกลุ่มโดยนำเอาอาชีพกรีดยาง มาเป็นเครื่องมือในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนในชุมชน” โดยสนบอกว่า เมื่อก่อนนี้คนในบ้านของเค้าสัมพันธ์กันด้วยเรื่องของอาชีพเป็นหลักต้องทำมาหาเลี้ยงตนเองเป็นหลัก ก็เลยคิดว่าการรวมกลุ่มอาชีพ น่าจะทำให้ชาวบ้านในบ้านเค้ามารวมกันมากที่สุด
                   จากมุมมองของผู้ฟัง จึงสะท้อนให้บังสนฟังว่า จริงๆ แล้วการรวมกลุ่มอาชีพก็เป็นเครื่องมือที่ดี แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธ เครื่องมือนี้ในโครงการนี้ แต่เราต้องทำงานกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ซึ่งการใช้อาชีพซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อาจทำให้หลุดไปติดอยู่กับผลประโยชน์ได้ แต่ถ้าหาก ชาลี กับสน ซึ่งฟังดูแล้วเข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ รู้และตระหนักว่า “อาชีพ” เป็นเพียง “เครื่องมือ” เท่านั้น ก็น่าจะทำได้ หากคนที่เข้าใจ และไม่เอนเอียงไปกับกระแสแห่งผลประโยชน์ได้ง่ายๆ ก็ทำได้ แต่ทำแล้วเราก็น่าจะมาคุยกัน มาปรึกษากันว่าจะเจอปัญหาอะไร อยากให้เราเป็นเพื่อนกัน เป็นทีมเดียวกัน จะได้เรียนรู้ร่วมกัน บีก็ช่วยประสานงานหา “ผู้รู้” ที่สามารถช่วยจัดกระบวนการ หรือพอจะขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ได้ พาคนมาช่วยกันมอง ช่วยกันแก้ปัญหา ให้ความรู้พวกเราได้
                   ชาลียังถามขึ้นอีกว่า ผลที่เกิดขึ้นของโครงการคืออะไร และเมื่อผลนั้นออกมาแล้ว จะเอาผลนั้นไปทำอะไร” ตรงนี้เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะเคยพยายามทำความเข้าใจกับคณะทำงานหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า โครงการนี้สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดที่กระบวนการจริงๆ สิ่งที่จะเกิดตามมาไม่ว่าจะเป็นโครงการย่อยต่างๆ หรือการที่ชุมชนจะเข้มแข็งหรือไม่นั้น เป็นแค่ผลพลอยได้ แต่กระบวนการที่เสร็จไปแต่ละครั้งมันจะค่อยๆ ไปสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เคยมีในชุมชนขึ้นมา โดยผลในกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือ ความมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง และความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน แต่ในระหว่างกระบวนการนี้ มั่นใจเหมือนกันว่าจะมีโครงการย่อยๆ เล็กๆ โครงการอื่นเกิดขึ้นเต็มไปหมด  อย่างที่เราประชุมมาวันนี้ มีทั้งเรื่องการทำกะปิ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเอง ก็จัดเป็นกิจกรรมได้ มีการฝึกฝนร่วมกันได้ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นผลพลอยได้ ไม่อยากให้ไปเพ่งที่ผลพลอยได้ตรงนั้น เพราะทำให้เราหลุดไปได้ง่ายๆ ผลมันจะเกิดขึ้นมาเองหากคนมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง และชุมชน อะไรๆ มันก็เกิดขึ้นได้ อาจจะดีกว่าที่เราไปตั้งเป้าไว้อีก
ชาลีถามคำถามที่น่าสนใจมาก (เป็นการตั้งคำถามที่ดีจริงๆ) ถามว่า คิดได้ยังไง โครงการแบบนี้ เพราะผลลัพธ์ หรือภาพของโครงการมันไม่ชัดเลย ทำไปแล้วยังไม่รู้เลยว่าจะเกิดผลอะไรขึ้น ยังกล้าทำได้ยังไง ผมนับถือจริงๆ เพราะปกติคนอื่นเค้าทำงานกัน หากภาพมันไม่ชัดแบบนี้
เค้าคงไม่กล้าเสี่ยงกันแน่นอน แต่โครงการนื้ถ้าทำได้มันดีมากเลยนะ เป็นเรื่องที่สร้างโลก สร้างชาติได้เลย เพราะคนเรานี่แหล่ะเป็นคนที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา คิดและกล้าทำได้ยังไง เคยท้อมั๊ยเวลาทำ”
                   มาถึงตรงนี้ บีเล่าถึง “การค้นหาศักยภาพในตัวคน ว่าหากคนนชุมชน สามารถย้อนนึกถึงคุณค่าของตนเองไปเรื่อยๆ ผ่านการพูดคุยกัน การสัมพันธ์กัน การตั้งคำถามของผู้ฟังที่รู้จักโยงไปให้ถึงแก่นของความคิด ที่มาที่ไปของเรื่องราว จนทำให้เค้าเกิด “รู้สึกตัวขึ้นมาได้เอง” ในคุณค่าของเค้า แล้วนำมา map ในแผนที่ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นภาพรวม ระบุไปเลยว่าบ้านนี้ใครทำอะไรได้บ้าง บีเชื่อว่าคนบนเกาะนี้ มีตั้ง ๕ พันกว่าคน ทำไมจะแก้ปัญหากันเองไม่ได้ อย่างเช่น งานสถาปนิกเหมือนกัน บนเกาะนี้จะไม่มีใครมีทักษะด้านการออกแบบเลยหรือ เป็นไปไม่ได้ เพราะเห็นบ้านเรือนที่นี่สวยน่าอยู่จะตาย ยังไงก็ต้องมีแน่ แล้วทำไมต้องพึ่งสถาปนิกจากนอกเกาะด้วย   (ตรงนี้พูดแล้วก็นึกขึ้นได้ถึงตอนที่ไปชุมชนศรีรายา เมื่อวันที่ ๖ ก.ค. เห็นชาวบ้านคนหนึ่งกำลังสร้างบ้านตัวเองอยู่ เค้าออกแบบบ้านได้น่ารักมากๆ และกำลังลงมือสร้างบ้านด้วยตนเอง น่าจะชวนมาเข้าทีมออกแบบ เพื่อทดลองกระบวนการนี้ดู อย่างถ้าให้เค้าออกแบบที่อู่ต่อเรือศรีรายา ก็เริ่มทำได้เลย) ชวนมองตรงนี้ ทำให้ชาลีนึกขึ้นได้ว่ามีจริงๆ แต่อาจไม่มีคนที่เป็นวิชาชีพสถาปนิก แต่คนที่ออกแบบเก่ง ออกแบบเป็นมีอยู่หลายคนเหมือนกั
                   ส่วนภาพโครงการที่มันไม่ชัด ตรงนี้จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของพวกเรานั่นแหล่ะ ที่มีหน้าที่มาช่วยกันทำให้ชัดเจนขึ้น โครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่บี หรืออาจารย์อ๋อย แต่อยู่ที่ชาวบ้าน อยู่ที่ทีมที่จะมาช่วยกันทำงาน ๑๐ คนที่บอกไป ตรงนี้แหล่ะที่ต้องมาช่วยกันทำภาพโครงการให้มันชัดเจนขึ้น ซึ่งตอนนี้มันชัดขึ้นแล้วจากการคุยกันวันนี้ที่คุยกับสนกับชาลี แล้วสรุปได้ว่า “กระบวนการนี้ก็คือ การทำแผนที่ศักยภาพ/คุณค่าของชุมชน ให้เค้าสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้ โดยเริ่มจากให้เค้ามีความมั่นใจในคุณค่าของตัวเองก่อน แล้วเค้าจึงสามารถจัดวางตัวเองให้เหมาะสมกับคนในสังคมได้ และเมื่อนั้นแหละ คุณค่าของเค้า จึงได้ถูกนำไปใช้อย่างแท้จริง”
นอกจากนั้น ยังชวนให้ทั้งชาลีและสน มองให้ลึกไปถึง “การมีภาวะแกนนำ” จากที่คุยเรื่องกลุ่มอาชีพไป ชวนมองว่า แท้จริงแล้วการมีแกนนำไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่มีแกนนำแค่คนสองคน สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสร้างภาวะแกนนำ (ภาวะผู้นำ) ในตัวคนทุกคน ให้สามารถขึ้นมาเป็นแกนนำได้ในเรื่องที่แตกต่างกัน คืออาจจะไม่ใช่แกนนำในเรื่องอาชีพทุกคน หรือเป็นแกนนำในเรื่องเดียวกัน เมื่อกี้เรามีคนที่นอนน้อยที่สุดในชุมชน เกิดสมมติมีเหตุด่วนเหตุร้ายอะไร คนนี้ก็อาจจะขึ้นมาเป็นแกนนำในการรักษาความสงบ ความปลอดภัยให้กับหมู่บ้านก็ได้ คิดดูถ้าทุกคนมีคุณค่ามีภาวะแกนนำในตัว อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
                   สนยังถามขึ้นอีกว่า “ทำไมไม่ทำเรื่องแบบนี้กับเยาวชน กับนักเรียนในโรงเรียนก่อน ก็ไปสอนนักเรียนเลย น่าจะเร็วกว่า ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ก็อธิบายไปว่า โรงเรียนก็อาจเป็นโครงการย่อยในโครงการนี้เหมือนกัน หากมีโรงเรียนที่สนใจอยากทำ แต่อย่างที่บอกไปว่าเรากำลังทำโครงการกับส่วนที่เล็กที่สุดในชุมชน ซึ่งก็คือคนทุกคนในชุมชนนั่นเอง คือ เราเชื่อว่าหากเราเริ่มจากหน่วยย่อยที่สุดก่อน อะไรๆ จะเกิดตามมาเอง ทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆ เราอาจจะไปเจอ คนที่รู้จักต้นไม้ทุกต้นบนเกาะนี้ ก็อาจจะมาเป็นครูที่เปิดการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ให้เด็กๆ ก็ได้  แล้วก็อย่างที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดหรือไม่เกิดก็ไปบังคับมันไม่ได้ มันเป็น “ผลพลอยได้” ที่จะเกิดตามมา เพราะถ้าคนเหล่านั้นไม่มีความมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง กับสิ่งที่เค้ามี เค้าก็ไม่กล้าสอนเด็ก หรือเราอาจต้องช่วยเค้าเติมอะไรมากขึ้นเพื่อให้นำความรู้ที่ตัวเองมีไปใช้ประโยชน์ได้ ตรงนี้แหล่ะที่เป็นหน้าที่บี กับพี่นัท (สถาปนิกชุมชน) ที่จะช่วยสะท้อนมุมมองจากการเป็นคนนอกเกาะได้ ให้เห็นภาพกว้างขึ้น แต่หน้าที่หลักที่เราต้องระลึกเอาไว้ทุกคน คือ ต้องทำให้คนทุกคนมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง โครงการย่อยต่างๆ มันจะเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ
                   นอกจากจะคุยเรื่องแนวคิดของโครงการแล้ว ชาลีกับสนยังชวนคุยไปถึงเรื่องการทำงาน การให้ค่าตอบแทน โดยสะท้อนว่าเคยทดลองระบบเหล่านี้มาดูแล้ว ก็กลับเป็นการสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านหากเค้ามารับค่าตอบแทน ชาวบ้านจะมองเค้าไม่ดี มองว่ามีผลประโยชน์ อย่างตัวเค้าสองคนเอง อยากทำงานในโครงการนี้มาก แต่มารับค่าตอบแทนไม่ได้ เพราะมีงานประจำอยู่แล้ว ทำได้ไม่เต็มเวลา แต่ใจอยากทำมาก ก็ชวนว่าตรงนี้เราน่าจะมาสร้างเงื่อนไขการทำงานร่วมกัน หาวิธีที่เราจะทำงานด้วยกันได้ อย่างไร อย่างข้อจำกัดของสนกับชาลี เป็นเรื่องเวลา ของบีก็มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเหมือนกัน คือลงมาอยู่ที่นี่เลยไม่ได้ ต้องไปๆ กลับๆ ก็อยากให้ทั้งสองคนช่วยคิดด้วยว่าจะช่วยบีแก้ปัญหาได้ยังไง หรือหาวิธีการทำงานได้ยังไง และถ้าเราต้องการคนเพิ่ม เราจะทำยังไงดี คือให้เริ่มต้นด้วยวิธีการนี้เลย เรามามองข้อจำกัดกันแล้วช่วยกันแก้ โครงการนี้เราก็พึ่งคิดกันได้ และยังอยู่ในระหว่างการทดลองแนวคิดของตัวเองเหมือนกัน เงื่อนไขที่เราให้ไปมันอาจมีผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่มันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จะมีพลาดได้ อย่างพูดง่ายๆ ว่า โครงการนี้มี บี แล้วก็มีพี่นัท ซึ่งลงมาประจำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นความตั้งใจด้วยว่าต้องให้คนท้องถิ่นเป็นหลักให้โครงการนี้เท่านั้น บีกับพี่นัทช่วยเสริม ช่วยเป็นเพื่อนร่วมคิด ช่วยสะท้อนประเด็นต่างๆ ได้ เหมือนเป็นเพื่อนกันนั่นแหล่ะ เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ช่วยกันทำให้โครงการนี้มันเป็นจริงขึ้นมาด้วยกัน ถ้าอย่างนั้นตอนนี้ทั้งสองคนเข้าใจแล้วนะว่าจะมาเป็นหลักให้โครงการนี้ ก็อยากชวนให้เริ่มคิดเลย จากตรงนี้แหล่ะ มาสร้างวิธีการทำงานด้วยกัน
ชาลีกับสนต้องช่วยกันหาคนมาทำ เรามีโจทย์กันอยู่หลายเรื่อง เช่น เราต้องคุยกับคนทุกคนในทั้งหมู่บ้าน ภายใน ๔-๖ เดือนเราต้องใช้คนกี่คน เราจะทำยังไงถึงจะให้คนที่มาช่วยเรา มาเป็นทีมเดียวกับเราได้ อย่างตอนนี้พวกเราเป็นทีมเดียวกันแล้ว ก็มาช่วยบีตีโจทย์เลย ว่าชื่อโครงการภาษาไทย จะเอาชื่ออะไรดี คนถึงจะเข้าใจ ตอนนี้มันเรียกยากมาก ชาวบ้านไม่เข้าใจโครงการสักที แล้วก็ลองไปดูตารางเวลาตัวเองกันมา กลับมาจะได้เริ่มทำงานได้เลย อีกอย่างนึงที่สำคัญมากเป็นส่วนสำคัญที่สุดของโครงการเลยก็ว่าได้ คือเราต้องคิดกันด้วยว่าพวกเราจะช่วยโครงการอื่นๆ ได้ยังไง เพราะอย่างที่เห็น อันที่เราทำอยู่นี่ มันเป็นโครงการพื้นฐานที่อยู่ในทุกโครงการเลย พูดง่ายๆ ทุกโครงการก็ต้องการให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานอยู่แล้ว และเป็นโครงการของพื้นที่เองด้วย ก็คือจริงๆ แล้วชาวบ้านในชุมชนต้องทำทุกโครงการย่อยในโครงการนี้ ดูเหมือนยากนะถ้าเราทำคนเดียว แต่ถ้าเรามีทีมงาน มันไม่ยากหรอก ถึงบอกว่าต้องรีบทำแล้ว จะได้มีคนมาช่วยกันทำงาน ไม่งั้นทำกันอยู่ 4 คนเหนื่อยตายเลย
                                สนเสนอว่าเราน่าจะมี office ที่เป็นศูนย์กลางอยู่ด้วยกัน แล้วก็เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาบอกกัน มาคุยกัน น่าจะเป็นศูนย์กลางระหว่างชุมชนอื่นๆ ด้วย จะได้เป็นเพื่อนกับหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย
                                บีชวนคุยต่อว่า office ก็ดี แต่ไม่อยากให้เป็นรูปแบบ office ที่มีเฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มที่เข้าไปใช้ได้ อยากให้ office เป็นเหมือน “ศูนย์กลางชุมชน ที่เป็นที่ที่ทำให้พวกเราทุกคนมาเจอกัน” ชาวบ้านทุกคนกล้าเดินเข้าเดินออกได้อย่างไม่ขัดเขิน
                               
                                สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวงสนทนาวงเล็กๆ ในวันนี้ เป็นวงสนทนาที่ก่อให้เกิดมิตรภาพที่มาจากการทำงานที่เท่ากัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ทำให้บีเรียนรู้อะไรเยอะมากๆ โดยไม่นึกว่าจะมาเจอคนที่ “เข้าใจ” มีทิศทางความคิดเป็นไปในทางเดียวกันอย่างนี้ เป็นกำลังใจที่ดีให้กับการทำงานครั้งนี้ต่อไป

ฟังและบันทึกโดย บี 
จันทร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๔๘

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 1629เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2005 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท