สัมมนาโครงการวิจัยกระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน


กรมส่งเสริมการเกษตรรุกหน้าเตรียมการเสริมหนุนโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ประจำปี 2549

            กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการจัดสัมมนาโครงการวิจัยกระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร ชั้น 5  โดยมีนายไพโรจน์   ลิ้มจำรูญ      รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายบริหาร เป็นประธานพิธีเปิด และนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ ประธานคณะทำงานโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน กล่าวรายงาน  ในการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยทั้งส่วนกลางและจังหวัด เกิดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการวิจัย ร่วมกันวางแผนและพัฒนาโครงการวิจัย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ นักวิชาการจากจังหวัดนำร่อง 4จังหวัด คือ กำแพงเพชร อ่างทอง นครพนม และนครศรีธรรมราช รวมทั้งนักวิชาการส่วนกลางและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 45 คน  และในวันที่สอง ได้มีทีมวิจัยโครงการหนึ่งฟาร์มหนึ่งตำบล เข้าร่วมสัมมนาเพิ่มเติม จำนวน 14  คน
           นายไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายบริหาร ได้ให้นโยบายในการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  โดยขอให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาช่วยกันระดมสมองวางแผนดำเนินงานและพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน และร่วมกันพัฒนาเครื่องมือในการเก็บบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล สามารถนำไปใช้ในการเก็บข้อมูล  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้นักวิชาการสามารถทำงานวิชาการควบคู่กับการปฏิบัติงานในพื้นที่ และสามารถใช้เป็นผลงานวิชาการ  พร้อมทั้งได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ควรมีการเก็บบันทึกข้อมูลให้ละเอียด รัดกุม ต่อเนื่องเป็นระบบ สามารถค้นหาได้ง่าย และควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น สถาบันการศึกษา แหล่งทุนต่าง ๆ  เพื่อขอรับการสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณ เป็นต้น รวมทั้งควรมีการบูรณาการทำงานและทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละองค์กร ให้สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้  ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในส่วนของชุมชนและเจ้าหน้าที่ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนา คน งาน องค์กรและชุมชนไปพร้อมกัน   เกิดเป็นองค์ความรู้และแนวทางส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานที่ดีและเหมาะสม  มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน  สามารถตอบสนองต่อนโยบายรัฐ ที่มุ่งเน้นการผลิตอาหารที่ปลอดภัย และพัฒนาสู่การเป็นครัวของโลก เป็นผู้นำด้านการเกษตรในการผลิตอาหารป้อนตลาดโลก
          กิจกรรมการสัมมนาครั้งนี้ ในภาคเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ได้จัดอภิปรายคณะ เรื่อง การดำเนินงานโครงการวิจัยกระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยนายธงชัย สุทธิพงศ์เกียรติ นักวิชาการเกษตร 8 ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  เพื่อให้เห็นขั้นตอนในแต่ละกิจกรรมตามปฏิทินการปฏิบัติงานโครงการที่จะเชื่อมโยงกับงานวิจัย  ซึ่งนางสุกัญญา อธิปอนันต์  ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนางานวิจัยด้านส่งเสริมการเกษตร ได้ชี้แจงว่าโครงการวิจัยครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อ 1) วิจัยและพัฒนากระบวนการ  ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน 2) วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน และ 3) วิจัยและพัฒนาการทำงานวิจัยควบคู่กับการปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการส่งเสริมและกระบวนการสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ซึ่งมีวิธีการดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 3 โครงการย่อย คือ 1)  วิจัยการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยระดับตำบล โดยใช้แบบบันทึกผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นผลงานวิจัยการดำเนินงานโครงการฯระดับตำบล/จังหวัด  2) วิจัยการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิต  สินค้าที่ ปลอดภัยระดับเขต/ส่วนกลาง  โดยการสรุปจากข้อมูลผลการปฏิบัติงาน เป็นผลงานวิจัยการดำเนินโครงการฯ ระดับเขต และภาพรวม และ 3) วิจัยกระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและมาตรฐาน  โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ระหว่างส่วนกลาง เขต จังหวัดและตำบล เป็นผลงานวิจัยกระบวนการฯ ระดับจังหวัดและภาพรวม  ซึ่งการวิจัย PAR ดังกล่าว ได้คัดเลือกจังหวัดที่มีการดำเนินการจัดการความรู้ในปี 2548 เป็นจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร อ่างทอง นครพนม และนครศรีธรรมราช และดำเนินการวิจัยจังหวัดละ 3 ตำบล  ซึ่งสอดคล้องกับนายสำราญ  สารบรรณ์   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 8 ได้เล่าถึงการดำเนินงานการจัดการความรู้ในปี 2549  ของกรมส่งเสริมการเกษตร  ที่เน้นการจัดการความรู้เรื่องการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  ซึ่งได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดการความรู้ ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2549 แก่จังหวัดนำร่อง 18 จังหวัด  และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น  3 ระดับ คือ 1) เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง 2) เจ้าหน้าที่จังหวัด และ 3) เกษตรกร  ในตอนท้ายของการอภิปราย นางมัลลิกา เขียวหวาน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาศูนย์และถ่ายทอดความรู้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการวิจัย เรื่อง ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วม ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นตัวอย่างในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมชัดเจนขึ้น  ในช่วงสุดท้ายของภาคเช้า นายสำราญ สารบรรณ์ ได้นำเสนอยกร่างกรอบแนวคิดการวิจัยและโจทย์วิจัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม  ส่วนภาคบ่ายวันแรก นางพัชรินทร์ นาคะประวิง ผู้อำนวยการกลุ่มระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ ได้ชี้แจงว่าได้จัดทำเวบไซด์คณะทำงานวิจัย Food safety ภายใต้เวบไซด์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ภายในโครงการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  โดยเนื้อหาภายใน ประกอบด้วย ข่าวประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินงาน รายงานการประชุม ความรู้ในงานวิจัย และกระดานสนทนา  ซึ่งคณะวิจัยทั้งส่วนกลางและในพื้นที่สามารถใช้ในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานวิจัยได้  หลังจากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมสมองในการพัฒนาเครื่องมือการวิจัย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) จำแนกพื้นที่ 2) บูรณาการแผน  3) ถ่ายทอดเทคโนโลยี 4) เครือข่ายและตลาด และเพิ่มเติมกลุ่มที่ 5 ) พัฒนากรอบแนวคิดการวิจัย  ซึ่งให้เวลาในการทำงาน ประมาณ 2 ชั่วโมง และนำเสนอในกลุ่มใหญ่ ใช้เวลาประมาณ  10 นาทีต่อกลุ่ม โดยให้เจ้าหน้าที่ 5 คนจากแต่ละจังหวัด แบ่งไปตามกลุ่มต่างๆโดยมีนักวิชาการส่วนกลางดูแลประจำกลุ่ม  ทุกคนให้ความร่วมมือดี  มีการแนะนำตัว และเล่าถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานตามโครงการเพื่อสร้างความคุ้นเคยและบรรยากาศการสนทนาที่เป็นกันเอง  แล้วค่อย ๆ พิจารณาแต่ละขั้นตอนย่อยของกิจกรรมตามแบบบันทึกการปฏิบัติงานต้นร่างที่ทีมวิจัยส่วนกลางได้ออกแบบไว้  ว่าควรเพิ่มเติมหรือปรับปรุงเพื่อให้เข้าใจง่ายต่อการบันทึกและสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่ประจำตำบล ซึ่งเป็นผู้บันทึกข้อมูล  มีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด เพื่อให้ได้แบบบันทึกที่เหมาะต่อการใช้งานจริง
           ในภาคเช้า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ได้รับความอนุเคราะห์จากรองศาสตราจารย์บำเพ็ญ เขียวหวาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) โดยได้อธิบายว่าการวิจัย PAR เป็นการผสมผสานระหว่างการมีส่วนร่วม (Participatory) การปฏิบัติ (Action) และการแสวงหาความรู้ (Research)  กล่าวสรุปได้คือ งานวิจัย PAR  เป็นการแสวงหาความรู้ร่วมกันในระหว่างหมู่คณะ ร่วมคิด  ร่วมวางแผน  ร่วมตัดสินใจ  ร่วมดำเนินการ      ร่วมประเมินผล ร่วมรับผลที่เกิดจากการดำเนินงาน  และสรุปบทเรียน เพื่อหาทางพัฒนา  โดยปัญหาควรเริ่มจากชุมชน/องค์กร และวิเคราะห์ แก้ไข โดยชุมชน/องค์กรเอง  ซึ่งงานวิจัย PAR มีลักษณะเด่น ดังนี้ คือ  1) คำถามวิจัย เกิดจากปัญหาในชุมชน/องค์กร (ที่จะร่วมกำหนดคำถามวิจัย เพื่อศึกษาปฏิบัติ และแก้ปัญหา คำถามอาจปรับเปลี่ยนระหว่างดำเนินการ) 2) เก็บข้อมูลสามเส้า สหวิทยาการ (ผู้รู้หลายด้าน) ข้อมูลหลายแหล่ง(คน/เหตุการณ์/สถานที่) หลากหลายเทคนิค (สนทนา สังเกต เล่าเรื่อง สัมภาษณ์ สำรวจ AIC PAP ฯ)   3) วิเคราะห์ร่วมกันในพื้นที่สนามทันที    4) นำมาตรวจสอบร่วม  ทุกฝ่ายร่วมเสนอ ทบทวน วิพากษ์ และให้ข้อเสนอแนะ 5) บทบาทนักวิจัยภายนอก และภายในพื้นที่/องค์กร/กลุ่ม   คนในชุมชนเผชิญสถานการณ์ จัดการ ปฏิบัติ  ส่วนคนนอกชุมชนมีบทบาทในการประสาน สนับสนุน กระตุ้น ร่วมวิเคราะห์ สรุป  และ 6) ความเที่ยงตรงของงานวิจัย PAR วัดได้โดยการใช้เทคนิคสามเส้า วิพากษ์ตนเอง กลุ่มช่วยในการวิพากษ์วิเคราะห์  ตีความเรื่องตนเอง ฯลฯ เป็นต้น    ต่อมาได้นำเสนอตัวอย่างการวิจัย PAR เรื่องการบ่มเพาะนวัตกรรมชุมชนเกษตร ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ ในการวิจัย PAR มากขึ้น  ต่อมาในภาคบ่าย วิทยากรได้ทบทวนกรอบแนวคิดการวิจัยและโจทย์วิจัย  เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนาเข้าใจยิ่งขึ้น  จึงได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อกำหนดประเด็นโจทย์วิจัยและแนวทางค้นหาคำตอบที่ตั้งโจทย์ไว้ โดยแบ่งกลุ่มพัฒนาโจทย์วิจัยออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) จำแนกพื้นที่และบูรณาการแผน 2) ถ่ายทอดเทคโนโลยี 3) เครือข่ายและการพัฒนาตลาด  4) บริบทของชุมชน และ  5) กระบวนการเสริมหนุนจากภายในและภายนอกองค์กร ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการตั้งโจทย์วิจัยที่ตนเองต้องการค้นหาคำตอบ และเพื่อให้ได้กรอบแนวคิดและโจทย์วิจัยที่ชัด สามารถหาคำตอบได้ง่ายและตรงประเด็น  ซึ่งในแต่ละพื้นที่อาจมีใช้วิธีการ เทคนิค เครื่องมือที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการออกแบบ โดยสามารถค้นหาตำตอบได้หลายวิธี เช่น การบันทึกผลการปฏิบัติงาน การจัดเวที การสนทนากลุ่ม การสอบถาม/สัมภาษณ์ หรือการใช้ข้อมูลมือสอง  เป็นต้น
           นางสุกัญญา อธิปอนันต์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนางานวิจัยด้านส่งเสริมการเกษตร ได้กล่าวสรุปว่า   ผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งเป็นแกนนำทีมวิจัย สามารถไปคัดเลือกผู้ร่วมวิจัยในพื้นที่เพิ่มเติมได้  เพื่อมาช่วยกันทำงานวิจัย และเรียนรู้การทำงานวิจัยไปพร้อม ๆ กัน ทั้งส่วนกลาง เขต จังหวัด โดยมาร่วมกันคิด วางแผน ดำเนินการและสรุปบทเรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติการ และปรับปรุงแก้ไขร่วมกันในการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรในการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน โดยใช้การจัดการความรู้และการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์โครงการ ในอันที่จะทำให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  ตลอดจนได้รูปแบบกระบวนการส่งเสริมที่เหมาะสมที่จะกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนิน โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานในปีต่อไป
          ในตอนท้ายของการสัมมนา นายยงยุทธ  สุวรรณฤกษ์  เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวขอบคุณทีมงานและ   ผู้เข้าสัมมนาทุกท่านที่ได้ให้ความร่วมมือ ระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในงานสัมมนาครั้งนี้  นับว่าเป็นประโยชน์มาก ทำให้ได้แนวทางร่วมกันในการดำเนินงานโครงการวิจัยกระบวนการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานในภาพรวม ซึ่งทางจังหวัดจะได้นำไปจัดทำแผนวิจัยและคัดเลือกทีมวิจัยในพื้นที่ร่วมกันดำเนินการวิจัยเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของโครงการต่อไป

           ถ้าสนใจรายละเอียดและภาพกิจกรรมสามารถติดตามดูได้ที่เวบไซด์กรมส่งเสริมการเกษตร www.doae.go.th คลิกที่ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ในงานวิจัย Food safety

           ครั้งหน้าจะมาเล่าประสบการณ์การทำงานวิจัย PAR ในพื้นที่ ตอนนี้กำลังฝึกเป็นคุณลิขิต และยังไม่ค่อยเข้าใจเทคนิคการใช้บล็อกมากนัก ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปสำหรับน้องใหม่ gotoknow

 

คำสำคัญ (Tags): #par#คุณลิขิต
หมายเลขบันทึก: 16230เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
         เขียนเล่าได้ละเอียดมากเลยครับ อาจตัดตอนเป็นวัน/เรื่องๆ แล้วทำลิงค์เชื่อมหากัน(เห็นในเว็ปมีภาพสวยๆ ด้วย อาจนำมาแทรกในบล็อกก็ได้นะครับ)  ขอเอาใจช่วยและรออ่านอยู่นะครับ

     เรียน  คุณพรภิมน

             กำลังรออ่านบันทึกต่อไป มีอะไรดีอย่าเก็บไว้เพียงคนเดียวนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท