ยิ้มพิมพ์ใจ ไทยหรือแคนาดา


"เราๆ ท่านๆ คงจะจำนางงามแคนาดาที่ชนะเลิศการประกวนในไทยปี 2548 ที่ไหว้พร้อมกับรอยยิ้มพิมพ์ใจได้ คนที่มีรูปกายงามเป็นพื้นฐาน เมื่อบวกรอยยิ้มเข้าไปทำให้น่าดูน่าชมยิ่งขึ้น..."

เราๆ ท่านๆ คงจะจำนางงามแคนาดาที่ชนะเลิศการประกวดในไทยปี 2548 ที่ไหว้พร้อมกับรอยยิ้มพิมพ์ใจได้ คนที่มีรูปกายงามเป็นพื้นฐาน เมื่อบวกรอยยิ้มเข้าไปทำให้น่าดูน่าชมยิ่งขึ้น

ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะเป็นคนยิ้มเก่งคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า สยามเป็นเมืองยิ้ม (Land of smile) ผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ค่อยยิ้ม ตอนเป็นเด็กมีลูกของคุณอาท่านกล่าวว่า ผู้เขียนชอบทำตัวคล้ายหุ่นยนต์ คงจะหมายถึงไม่ค่อยมีชีวิตชีวา หรืออะไรทำนองนั้น

ข่าวดีคือ เรื่องยิ้มนี่พอจะหัดกันได้ครับ วันนี้เรา(สาระ4U)ขอนำคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมาเล่าสู่กันฟัง

ดร.กฤตินี ณัฏฐวิฒิสิทธิ์ อาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ เขียนชมพนักงานที่ด่านเก็บเงินทางด่วนท่านหนึ่งว่า พูดจา “ขอบคุณค่ะ” ได้ไพเราะ แถมยังมีรอยยิ้มกว้างแถมให้เป็นเพื่อนร่วมทาง

อาจารย์กล่าวว่า ยิ้มพิมพ์ใจเริ่มที่สายตา เน้นการมองสบตา (eye contact) เนื่องจากเป็นการแสดงความเชื่อมั่น และจริงใจ ดังคำกล่าวที่ว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ

ตัวอย่างเช่น พนักงานต้อนรับสายการบินแห่งหนึ่งยืนสวัสดีตรงทางเข้า-ออก บางท่านก็มองสบตา บางท่านก็ไม่มองสบตา ตาลอยไปลอยมา ถ้าสังเกตจะพบว่า คนที่มองสบตาพร้อมกับยิ้มดูจริงใจมากกว่า

สายการบินที่เน้นเรื่องการยิ้มพิมพ์ใจ หรือยิ้มให้เกิดความประทับใจได้แก่ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์

เรื่องที่น่าสนใจคือ เขาไม่จ้างคนไทยไปสอน แต่จ้างผู้ฝึกอบรมชาวแคนาดา ชาติเดียวกับที่ประกวดนางงามชนะเลิศในปี 2548

อาจารย์ท่านเดาจากประสบการณ์วิจัย “Branding Thailand” หรือเครื่องหมายการค้าที่เป็นเอกลักษณ์ไทยว่า ยิ้มสยามมาพร้อมกับความน่าฉงนสนเท่แบบให้ต้องตีความ

ยิ้มสยามมีความหมาย 2 อย่างคือ ดีใจจังหรือโอเค(ตกลง... ได้เลย) งานบริการต้องการยิ้มพิมพ์ใจแบบแคนาดา

ยิ้มพิมพ์ใจแบบแคนาดาเป็นยิ้มแบบเผยใจ ไม่เหมือนยิ้มสยามที่ต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกต่อหนึ่ง

อาจารย์ท่านแนะนำว่า นอกจากจะต้องฝึกสบตาเวลายิ้มแล้ว เราควรจะฝึกการพูดจาเอื้ออาทรเพื่อแสดงพลังทางบวก หรือความปรารถนาดีร่วมด้วย

ท่านไปทานข้าวที่ศูนย์อาหารเซ็นทรัล วางกระเป๋าไว้บนเก้าอี้ข้างๆ พนักงานที่มาเก็บโต๊ะพูดเบาๆ แนะนำให้ระมัดระวังกระเป๋า

ท่านคงจะชอบวางกระเป๋าที่เก้าอี้ เมื่อไปทานข้าวที่จตุจักรก็มีคุณลุงขายน้ำเฉาก๊วยเตือนว่า “ระวังกระเป๋าด้วยนะลูก”

คำพูดเอื้ออาทรเพื่อแสดงพลังทางบวกเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟัง

เราๆ ท่านๆ ลองมาฝึกตามที่ท่านอาจารย์แนะนำดูนะครับ ยิ้มแล้วสบตา สบตาแล้วหาคำพูดเอื้ออาทรมาพูดมาคุยกัน

ขั้นแรกยิ้มให้ได้อย่างน้อยวันละครั้ง ถ้าพูดจากเอื้ออาทรยังไม่เป็นก็เริ่มด้วยการชมเชยตามจริง เช่น เห็นใครทำอะไรดีเป็นทนไม่ได้ ต้องออกปากชม ฯลฯ

ถ้าท่านผู้อ่านตั้งใจจะยิ้ม หรือจะพูดจาเอื้ออาทรตอนนี้... ผู้เขียนก็ขอยิ้มให้ในใจ และขอชมท่านผู้อ่านล่วงหน้ามาตอนนี้เลย

ขออนุโมทนาในเมตตากายกรรม(ยิ้มแสดงความปรารถนาดีทางกาย) และขออนุโมทนาในเมตตาวจีกรรม(คำพูดแสดงความปรารถนาดีทางวาจา)ของท่านผู้อ่านทุกท่านครับ...

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ อาจารย์ด้านการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Marketing Weapon: แรงดึงดูดใจ. กรุงเทพธุรกิจ BizWeek. 10-16 กุมภาพันธ์ 2549. หน้า C6.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.
หมายเลขบันทึก: 16211เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท