ความสุขใจ กับสิ่งเล็กๆในที่ทำงาน


เช้าวันนี้ที่สำนักงาน  สคส.   คุณสุนทรี  เลขาฯ อาจารย์วิจารณ์  (เป็นคำเรียกอาจารย์ที่ทีมงาน สคส. เรียกกันจนติดปาก)  นำหนังสือ  “การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ”  มาแจกทุกคนในสำนักงาน     ทุกคนสนใจว่า  อาจารย์วิจารณ์เขียนข้อความด้วยลายมือว่าอย่างไรบ้าง?       กรณีคล้ายๆกัน  เวลา อาจารย์ประพนธ์ (คำฮิตติดปากใช้เรียกอาจารย์)  ออกหนังสือเล่มใดออกมา  เราทีมงานทุกคนก็จะรับหนังสือพร้อม วลีสั้นๆ และลายมือชื่อของอาจารย์     ที่ผ่านมามี  “ปัญญาญาน” และ “หลุด”  ซึ่งคงจำกันได้  เป็นหนังสือที่อาจารย์ประพนธ์แปลมาจากนักเขียนแดนภาระตะ นามว่า Osho

,หัวหน้าเก่าผม  (พี่จุมพล ไชยวงศ์) เคยคุยกันเล่นๆหลังเลิกงานตอนที่ทำงานพัฒนาชนบทมาด้วยกันว่า  “หนังสือ 1 เล่ม นับเป็นอาจารย์ 1 คน”  แต่จะเป็นอาจารย์  เป็นศิษย์ กันเนี่ย!   ต้องอ่านก่อนนะ  ไม่ใช่ว่าพอครอบครองเป็นเจ้าของแล้วจะเป็นโดยอัตโนมัติ     เอ่ยถึงเรื่องนี้ ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง   ผมนึกถึงสถานที่เล็กๆแห่งหนึ่ง   เมื่อก่อนที่ทำงานเก่าเราจะมีศาลาเล็กๆที่ต่อขึ้นมาแทรกระหว่างทางเดินจากโรงรถไปที่โรงครัว  ศาลาหลังนี้มีชื่อว่า “ศาลาใจเย็น”   คือจะเป็นที่สนทนาพูดคุยเรื่องราวจิปาถะ รวมทั้งเรื่องลึกๆในใจของแต่ละคน      แน่นอนครับ  การเปิดใจของคนก็มีหลายระดับ   แต่ที่แน่ๆหลายครั้งที่เราใช้สถานที่ตรงนี้คุยกันในเรื่องที่เราเห็นต่างกัน   บางครั้งก็ได้ข้อสรุป  บางครั้งก็ไม่มีข้อสรุป    แต่เราเจอหน้ากันก็ยังยิ้มให้กันได้  ทำงานร่วมกันได้  จนถึงเวลาที่หลายคนต้องแยกย้ายกันไปตามสายทางชีวิตบนเส้นทางใหม่   

กลับมาที่หนังสืออีกที

หนังสือแต่ละเล่มที่ได้มาต่างก็มีจุดน่าสนใจที่ต่างกัน   เช่น  ปัญญาญาน และหลุด  เน้นไปทางชวนคิด  ชวนมองอะไรใหม่ๆ    ผมรู้สึกว่ามันกระตุ้นให้สมองมันคิดตาม  คิดแย้ง  คิดทบทวน  คิดเทียบเคียงกับชีวิตของคนอ่าน        ส่วน   นักจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ  ชื่อก็บอกอยู่แล้ว  ชวนลงมือทำ   ที่รู้ว่าตัวเองได้มากก็คือ  เวลาจะออกไปเป็นวิทยากรกระบวนการเรื่อง KM ที่ไหน     ผมมักจะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านประกอบ  โดยเฉพาะเวลาที่นั่งคิด  ตอนทำสไลด์นำเสนอ     ที่ต้องอ่านเพราะว่าผมรู้ตัวดีว่ามีนิสัย  “ขี้ลืม” เป็นที่สุด   เลยต้องอาศัยดูหนังสือเล่มนี้ว่าประเด็นสำคัญที่ไม่ควรพลาด   นั้นมีอะไรบ้าง   อีกอย่าง  ส่วนใหญ่ 80% ของสไลด์ที่ทำ ผมจะทำใหม่ไม่ซ้ำกัน    โอกาสที่จะตกหล่นประเด็นดีๆอันเดิม  ก็อาจจะมีสูง   แต่หนังสือเล่มนี้ช่วยได้ครับ  

ผมเชื่อว่าบางคนในทีมงานอาจจะคิดเหมือนกัน  บางคนก็คิดต่างกัน    แต่ที่แน่ๆมีการกระเซ้าเหย้าแหย่ระหว่างทีมงาน   ”ไหนขอดูซิ   อาจารย์เขียนเหมือนกันมั๊ย?”  คลุกเคล้ารอยยิ้มของทั้งคนถามและคู่สนทนา 

สิ่งเล็กๆเหล่านี้  แม้ดูเหมือนจะยากถ้าต้องอธิบายว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกับ  “ดอกไม้ปลายทาง” ที่องค์กรต้องการจะบรรลุ   แต่ที่จับชีพจรตัวเองได้ว่า  มันช่วยหล่อเย็นจิตใจของคนทำงานบางขณะได้ไม่เลวเลยครับ

คำสำคัญ (Tags): #micro#knowledge
หมายเลขบันทึก: 16201เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท