Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๒)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๒)_๑

ห้องเรียน KM (5)

ประเด็นการนำเสนอ:   การสังเคราะห์เรื่องเล่าที่เป็นแก่นความรู้  (๒)
ผู้ดำเนินรายการ :       ดร.ปฐมพงศ์   ศุภเลิศ   
วัน/เวลา                   วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2548  เวลา 13.30 -16.45 น. 

ดร.สมาน  อัศวภูมิ:
        ขอบคุณท่านผู้ดำเนินการและบรรดาสมาชิก ที่จริงก็อยากจะฟังในที่มีสมาชิกมากแต่ผมจะพูดไม่ยาว ผมมีประเด็นที่เรียน ประเด็นที่ครูเล่น แต่ผู้บริหารไม่เล่น  ผมเคยมีประสบการณ์การนิเทศคลินิกเมื่อปี 27, 28  ผมนำแนวคิดคลินิกไปใช้คล้ายกับเรื่องนี้มาก คือทำอย่างไรที่จะให้ครูใช้ห้องเรียน สนุกมาก  ไปทำที่เลิงนกทา  ก็ผลิดอกออกผล แต่พอผู้บริหารย้าย  ผู้บริหารคนใหม่ สั่งเลิก ครูเครียดเลย ครูนั่งรถจากเลิงนกทา  เขต 10  มานั่งร้องห่มร้องไห้ ผมไม่รู้จะทำอย่างไรก็นั่งร้องไห้กับครู  นั้นคือเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นผมก็เรียนรู้ ประเด็นก็คือ ผมเป็นคนเดียวที่ไม่ให้ผู้บริหารย้าย เป็นคนเดียวที่ต่อสู้ให้ผู้บริหารเติบโตที่โรงเรียนเก่า เหมือนที่โรงเรียนจนเกษียณที่นั่น ถ้าทำงานไม่ดีก็เอาออก  ไม่งั้นทำร้ายครูมาก  คนอื่นอาจไม่เห็นด้วย  อย่างไรก็ตามผมก็เห็นด้วยกับคุณหมอชาตรีที่ว่า เราสามารถจัดการได้    ครูสามารถจัดการได้  ถ้าเมื่อไรครูอาจารย์ช่วยกัน  ผู้บริหารต้องตามครับ แต่ก็ยากครับ   จะมีครูอาจารย์บางคนที่มีความคิดที่แตกต่าง จะปรับตัวเข้ากับผู้บริหาร  ก็ทำให้เพื่อเฉาตายเหมือนกัน  เป็นประสบการณ์อันยาวนานที่ทำงานมา แต่ก็เห็นด้วยกับหลายท่านที่ว่ามีผู้บริหารอยู่ที่นี่ด้วยจะช่วยอีกมาก    อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นครับ
         ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าตอนนี้เป็นการเริ่มต้นของ KM เข้าสู่วงการการศึกษา ส่วนใหญ่ผมสังเกตว่ารายชื่อมาจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลค่อนข้างเอา quality assurance มานานมากแล้วและเล่นจริงจัง  ทางการศึกษานี้เรามี สมศ. แต่พวกเรายังเล่นไม่จริงจัง  แต่งวดสองนี้เป็นการประเมินเพื่อรับรอง เรื่อง TQA อาจจะเข้ามามากขึ้น  ตอนนี้ผมคิดว่าถ้าจะให้ตัวนี้ยั่งยืนคงจะต้องทำ KM ทั้งระบบ ยังใช้ระบบเดียวกันกับการเรียนรู้เพียงแต่ขยายการเรียนรู้ไปสู่ระบบการทำงานทั้งหมด  ซึ่งเป็นอีก step หนึ่ง และกระทรวงต้องเล่นด้วยถ้าต้องการปฏิรูปการศึกษา     ที่พูดเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับ สคส. แต่เขาเชิญมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีกับคุณภาพตั้งแต่ พ.ศ. 2526, 2527 ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด  และถ้าเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพ ไม่ว่า QC  TQM  ผมไปยุ่งทุกเรื่อง   มันแปลกนะ  ประเทศไทยใครเอาอะไรมาแล้วมักจะทำได้หมดในระดับหนึ่งแล้วหายไปกลีบเมฆ ที่เรียกว่า QC เกิดญี่ปุ่นแล้วตายเมืองไทย TQM  เกิดแถวอเมริกา โตแถว ยุโรป แล้วตายเมืองไทย KM ถ้าไม่เลี้ยงดีๆ ก็จะมาตายเมืองไทย  เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันดู    ผมเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในนี้เป็นคนที่รักคุณภาพ  เราอยากเห็นทุกอย่างมีคุณภาพ และอยากเห็นลูกหลานเรามีคุณภาพ และอยากเห็นลูกหลานเราอยู่ในสังคมโลก อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน  ผมเชื่อว่าพวกเราต้องการ นี่เป็นประเด็นที่อยากจะกราบเรียนด้วยความเคารพยิ่ง
         ประเด็นเพิ่มข้อคิดที่นำเสนอแล้วแต่กลุ่มจะพิจารณา ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือ core competency  ของครูมืออาชีพ  เราถือว่าทุกท่านที่นั่งที่นี่คือตัวแทนครูมืออาชีพ ที่เราต้องการเรียกว่ากลยุทธ์และกระบวน การสร้างการเรียนรู้ บทบาทใหม่ของการจัดการความรู้ครูมืออาชีพ   แต่ละท่านที่มอง KM ที่โรงเรียนของท่าน ท่านก็มีจุดเริ่มต้นและทิศทางของท่าน เราถือว่าที่นั่งอยู่ที่นี้คือตัวแทนของครูมืออาชีพ เราก็เลยมาเริ่มต้นว่าครูมืออาชีพ มีขีดความสามารถความสำเร็จของเขาคืออะไร  ผมมีข้อสังเกตอยู่สองอัน  ตัวหนึ่งที่ผมเห็นคือ  เพิ่มพลังความกล้าและท้าทายความสามารถ  ผมว่าความสำเร็จของทุกคนที่เป็นเพราะเราเลิกกลัว  และชีวิตผมที่สำเร็จที่เปลี่ยนแปลงคือเลิกกลัว  ผมเคยถูกตีมากเมื่อตอนเป็นเด็ก  ผมตกอยู่สองอันคือ ผมตกเกษตร ผมเป็นลูกชาวนาแต่ตกเกษตร  ไม่ได้ให้ผมปลูกข้าว เพราะว่าผมปลูกต้นกุหลาบไม่เป็น   อันที่สองก็คือร้องเพลง ตอนนี้ก็เลยเลิกกลัว  ผมก็ร้องเพลง   อันที่สองผมคิดว่าผลการเรียนรู้ดูที่ผลงานเด็ก เท่าที่ดูแล้วไม่สบายใจ สอนไปสอนมาครูจบหลักสูตรแต่นักเรียนไม่รู้อะไร  แต่ที่ฟังนี้เป็นว่านักเรียนจบรู้อะไรแต่ครูยังไม่จบหลักสูตร เพราะฉะนั้นผลการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องดูที่ผลงานเด็กมากกว่าการดูที่ผลงานครู ครับ  ขอขอบคุณ

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
         เป็นอย่างไรครับ คิดว่าเวลาของเราน่าจะมีอีก น่าเพิ่มสักสองวัน เราจะเห็นได้ว่าในเรื่ององค์ความรู้ที่ได้รับอาจเป็นเพียงตัวอย่าง  สิ่งที่ท่านจะได้ต่อเนื่องไม่สิ้นสุดคือการที่เรามีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเราจัดให้เวทีเสมือนอยู่ใน www.gotoknow.org เข้าไปดูจะพบคุณหมอชาตรี  ดร.วิรัตน์ ดร.สมาน และหลายๆ ท่านในวงนี้ จะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ในงานที่เป็นบทเรียนของเรา ในช่วงตอนท้ายจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงพักเบรก  ขอเรียนเชิญ และกลับมาพบกันใหม่เวลา 3   โมงตรงครับ

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
         ช่วงต่อไปนี้เปิดโอกาสให้ท่านซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวทีเรามีทั้งครู อาจารย์ หมอ พยาบาล ภาคธุรกิจเอกชน ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอยากจะเปิดโอกาสนี้จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นอื่น โดยเฉพาะคุณหมอชาตรีที่มีความรู้ลุ่มลึกหลากหลายเพราะว่าท่านเป็นนักปฏิบัติตัวจริง ท่าน ดร.วิโรจน์ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ด้วย  จะขอความอนุเคราะห์จากท่านให้ท่านได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้  ขอเรียนเชิญครับ

คุณไกรเดช :  ผู้ร่วมประชุม 
         สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ ใช้เวทีช่วงสุดท้ายในการแลกเปลี่ยน ผมชื่อ    ไกรเดช จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และเป็นนักวิจัยจากสถาบันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน ประเด็นที่ได้ฟังตั้งแต่เช้า ก็มี 2 เรื่อง คือ การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนรวมถึงการบริหารในเรื่องอื่นๆ ด้วย  ประเด็นที่จับได้ 2  เรื่อง คือเรื่องของความเป็นภาพรวมของโรงเรียนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า องค์ความรู้ที่ถือว่าเป็นองค์คืออะไร เป็นอย่างไร ส่วนที่สองน่าจะพูดถึงความยั่งยืน ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราพูดคุยกันกลายเป็นการกระทำที่ยั่งยืน ให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ยั่งยืนขององค์กร ให้ฝังลึกอยู่ในองค์กร มีความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  ผมจะขออนุญาตนำเรียนสองประเด็น  ประเด็นแรกคือ ความเป็นโรงเรียนแห่งความยั่งยืน  คือ Whole School Approach  จะขออนุญาตพูดถึงก่อนความเป็นภาพรวมของโรงเรียน ขออนุญาตสมมติว่าครูที่นั่งอยู่โรงเรียนเดียวกัน  อาจารย์ชัยวัฒน์ อาจารย์หลายท่านเป็นครูสอนภาษาไทย ครูสอนสังคม  ถ้าครู 10 ท่านที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกันต่างคนต่างสอน   ผมว่าเป็นวิธีการทีดี ผมว่ายังไม่เกิดพลังที่ทำให้ให้เกิดองค์ความรู้ในภาพรวม  ประเด็นแรกคือทำอย่างไรที่จะให้ครูทั้ง 10 ท่านนี้ สังเคราะห์รวมกันเป็นภาพหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะมีพลังมากที่สุด   แทนที่จะต่างคนต่างสอน ต่างคนต่างไป ทำอย่างไรที่จะให้เอาภาพรวมของครูทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน  ผมคิดว่าจะมีความสวยงามมาก 
         อันต่อมาคือทำอย่างไรที่จะให้ความเป็นพลังนี้ฝังลึกเข้าไปในโรงเรียน เป็นทุนทางปัญญา เพิ่มพูน เป็นวัฒนธรรมองค์กร ไม่ว่าผู้บริหารคนใหม่จะเอาหรือไม่ก็ตาม    ทำอย่างไรจึงจะให้อำนาจผู้บริหารพ่ายแพ้ต่อความดีที่มีอยู่  งานที่ทำอยู่คือการจัดระบบ ผมได้มีประสบการณ์ในการทำงานกับสถาบันการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบ ใช้เครื่องมือที่เอาองค์กรแห่งการเรียนรู้  LO ผสมกับ KM เป็นเครื่องมือหนึ่งของชุมชน เครื่องมือนี้เรียกว่า TOPSTAR เป็นเครื่องมือที่เอาแนวคิดการผสมผสานการพัฒนาคุณภาพเชิงระบบมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ยกตัวอย่างว่า ทั้ง 10 ท่านเป็นครูในโรงเรียนเดียวกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ครูทั้ง 10 ท่าน จัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ อาจจะเป็นโรงเรียน KM   ทำอย่างไรจึงจะหา ครน. แล้วคิดเอาเป็นหลักกระบวนการหนึ่งของโรงเรียน  นี่เป็นงานหนึ่งที่สถาบันวิจัยพยายามชวนครูที่โรงเรียนระดมสรรพความรู้ที่มีอยู่ หลายโรงเรียนมีครูที่มีประสบการณความรู้ที่ยาวนาน  หลายคนสอนอยู่ยาวนาน อายุเฉลี่ย 52-53 ปี ทำอย่างไรจึงจะให้ความรู้เหล่านั้นตกผลึกเป็นความรู้คุณภาพของโรงเรียน สถาบันที่ผมทำงานอยู่ใช้เครื่องมือที่ทำ ไปดึงความรู้จากครูในโรงเรียนให้เป็นระบบ เป็นกระบวนการที่ชัดเจนแต่ละขั้นตอนมีมาตรฐานเดียวกันและมีการบันทึก ร่องรอย มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน  ผมใช้ตรงนี้รูปแบบว่าระบบ  ถ้าเอาครูทั้ง 10 ท่านที่มีสรรพความรู้ มาหาตัวร่วมแล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน KM แล้วกลายเป็นระบบของโรงเรียนที่มีพลังมาก ซึ่งระบบนี้สามารถนำไปใช้และนำมาทบทวนเป็นระยะ ตามวงจรที่มีคุณภาพ PDCA  มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ใช้แนวคิด SECI โมเดลของโนนากะ ที่เรารู้จักในวงจรการจัดการความรู้ นี่น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งทีทำให้การจัดการความรู้เป็นภาพรวม แทนที่จะเป็นปัจเจก   แล้วเอาคุณภาพของครูแต่ละคนมาสังเคราะห์เป็นหนึ่ง คุณภาพนี้จะ synergy กันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่   สามารถขับเคลื่อนไปสู่ที่เราต้องการจริงๆ เป็นคำตอบหนึ่งที่เราต้องการว่าทำอย่างไรที่จะเอา tacit knowledge ที่อยู่ในโรงเรียนให้สังเคราะห์ที่เป็นภาพของโรงเรียน  และจะขับเคลื่อนสู่คุณภาพอย่างแท้จริง  ระหว่างครูคนเดียวคงจะไม่เก่งกว่าเพื่อนหลายรวมกัน  นี่คือคำตอบข้อที่หนึ่ง
         คำตอบข้อที่สอง เป็นเรื่องของความยั่งยืน sustainable  ปัจจัยที่เราพูดถึงอันดับแรกคือ ผู้บริหาร แน่นอน  ผู้บริหารมีทั้งมุ่งมั่น  และมุ่งแต่มอบอย่างเดียว  ลักษณะของผู้บริหารที่มุ่งมั่นแล้วด้วยวัฒนธรรมถ้าหัวกระดิกแล้วหางส่ายแน่นอน แต่ถ้าหัวไม่กระดิก  ผู้บริหารไม่เอาพลังของผู้บริหารกับโรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่เหมือนเดิม  ถ้าโรงเรียนมีพลังอำนาจอยู่อย่างมั่นคง มีระบบการจัดการความรู้อย่างชัดเจน  เชื่อว่าอำนาจผู้บริหารมันแพ้แน่นอน  อาจมีการต่อสู้บ้างท้ายที่สุดก็จะแพ้ระบบได้  ถ้าระบบมั่นคงอำนาจผู้บริหารจะพ่ายแพ้ได้  โดยสรุปแล้วอยากจะแลกเปลี่ยนว่า ทำอย่างไรจึงจะให้องค์ความรู้ที่ซ่อนลึกตัวอยู่ในโรงเรียน วัฒนธรรมและบรรยากาศอย่างไรเข้ามาจัดการภาพรวมของโรงเรียนได้ แล้วใช้พัฒนา แล้วมีการทบทวน ประเมินเป็นระยะ แล้วปรับปรุง จะกลายเป็น upward spiral ไปเรื่อยๆ  ผมเชื่อว่า พลังของความเป็นภาพรวมจะส่งเสริมขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ความยั่งยืนนั้นจะขึ้นกับระบบ ว่า ถ้าฝังลึกกับวัฒนธรรมขององค์กรแล้ว เชื่อว่าอำนาจผู้บริหารสู้ไม่ได้ และเชื่อว่ามันจะเกิดผลดีที่สุดได้

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
         ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ไกรเดช จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาครับ
 
รศ. ภาวิณี  ศรีสุขวัฒนานันท์:  ผู้ร่วมประชุม
         ดิฉันมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยากจะเล่าประสบการณ์บางอย่างที่ยังประทับใจอยู่ ก่อนที่เราจะได้พระราชบัญญัติ เราก็มีกรรมการปฏิรูป และก็มีคณะอนุกรรมการปฏิรูป ซึ่งตัวเองก็อยู่ในคณะ อนุกรรมการปฏิรูป เราจะทำอย่างไรให้มีการสำรวจความพร้อมของประเทศ ถ้าทุกประเด็นของพระราช บัญญัติปฏิบัติได้สำหรับครู ก็เกิดกลุ่มตั้งใจขึ้นมา ในกลุ่มตั้งใจก็มาปรึกษากันว่าจะทำยังไง น่าจะไปดูโรงเรียน 3 ระดับความพร้อมคือ ระดับความพร้อมสูง และก็ไปเรียนรู้ เอาความรู้เขามาเผยแพร่ กับระดับที่ยังทำอยู่ และก็ยังต้องการความช่วยเหลือ นักวิจัยเรานี้จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร กับอีกประเภทหนึ่ง ประเภทอยู่หลังเขา เป็นว่าเกิดอะไรขึ้น เขาจะรู้ไหม เราก็มีการปรึกษากันและอาสาจะไปหลังเขา และก็ไปดอยแม่วาง ที่เชียงใหม่ ที่ไปเพราะว่าทางดอยแม่วาง โรงเรียนบ้านทุ่งหลวงนี้ยังอยู่ในความดูแลของยูนิเซฟ  ซึ่งยังให้ความช่วยเหลืออยู่ แล้วอาจารย์ ดร.เลขา ก็ให้ไปดูว่าหลังจากที่ดูแลแล้วเขายังต่อเนื่องไหม  แล้วเราก็พ่วงอีกโรงเรียนหนึ่ง โรงเรียนบ้านทุ่งหลวง โรงเรียนบ้านหนองเต่าไปด้วยกันอยู่บนดอย แต่ดิฉันก็เสนอว่า  ไหนๆ ก็ไปแล้ว สกลนครเป็นที่ที่เราอยากจะไป เราก็ไปเพื่อจะดูว่าโรงเรียนเขาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะช่วยเหลือเขา แต่ดิฉันก็มีทฤษฎีของดิฉันว่า การบริหารจัดการต้องทั้งโรงเรียน  ดิฉันก็เสนอ Whole  School Approach  เมื่อปี 41  และต้องขับเคลื่อน   การขับเคลื่อนนี้ต้องใช้โรงเรียนไม่ใหญ่มาก  เราก็ไปเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมคือโรงเรียนที่มีครูที่เป็นครู  เราคงไม่ไปสอนคนที่ไม่เป็นครูให้เป็นครู เพราะสถาบันผลิตครู 4  ปียังผลิตครูไม่ได้เลย แล้วเราจะไปผลิตอะไร  เราไปถึงโรงเรียนเชียงเครือ ที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนคร ครูก็กระตือรือร้นมากเลย  แต่ทุกคนกังวลเรื่องการปฏิรูปกันมาก แต่สิ่งที่ประทับใจก็คือ เขาสามารถที่จะดูแลวัวสองตัว เอามาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็ก  ซึ่งในจังหวัดนั้น วัวหายไปแล้ว แทงศูนย์ไปแล้ว ว่าดูแลวัวอย่างไร  อีกโรงเรียนหนึ่งเราไปที่โรงเรียนกำลังทำบัญชีส่ง สปจ. เรื่องเด็กขาดสารอาหาร เราถามว่าเด็กขาดสารอาหารเท่าไร ครูใหญ่บอกว่า ไปเรียกผู้ช่วยมา  ผู้ช่วยก็บอกว่าไปเรียกหัวหน้างานมา เราเลิกคบแล้วไปจากเขา  แล้วเราก็คุยกับเขา ถามเขา ถ้าเขาเอาด้วยก็ดูว่า โรงเรียนนั้นมีความเข็มแข็งอย่างไร อ่อนแอตรงไหน ให้เขาเล่าความภาคภูมิใจ แล้ววางแผน เขาเคยเลี้ยงไก่  ขณะนั้นยังไม่เป็นโรค ชาวบ้านก็เข้ามาช่วย  แล้วเอาตัวอย่างงานนี้ก็แล้วกัน มีการจดบันทึก  ตอนนั้นเราเรียกว่าวิจัย  วิจัยก็คือการจดหลักฐานความสำเร็จ เพื่อถ่ายทอดและทำซ้ำได้  ตอนนั้นเราบอกเขาว่า เรามาทำวิจัยทั้งโรงเรียน ยังไม่มี KM แต่เราสามารถทำซ้ำและเกิดประโยชน์ แล้วเราก็เปิด open house ปีนั้นเป็นปี 42 ก็จบไป   ก่อนปี 41 ได้ทำวิจัยให้กับ สกศ. เรื่องประเมินการบริหารครู   มุ่งไปที่ครูใหญ่  ดิฉันได้ทฤษฎีที่มาจากการทำงานวิจัยระดับประถม ทฤษฎีที่เขียนไว้คือ ดีดูดดี เลวดูดเลว  โรงเรียนที่ดีจะมีครูที่ดีอยากมา โรงเรียนที่เลวครูอยากจะหนี แต่เลวก็สามารถดูดเลวได้  ทั้งสองโรงเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนกัน  ตามไปดู happy ทั้งคู่   แต่ใครจะได้จะเสียก็คงจะเป็นที่เด็ก  ดิฉันก็บอกว่า Whole  School Approach ต้องมา ถ้าไม่มาจะไม่มีประโยชน์ เวลาที่ครูมาอบรมเราจะเจอคนที่ซ้ำหน้า เพราะโรงเรียนของเขาไม่ปรารถนาให้เขาอยู่ ต่อมาปี 45  อาจารย์ ดร.เลขา ชวนให้ทำวิจัย จะเอา Whole School Approach มาใช้ ดิฉันก็ลงลุยในโรงเรียนก็สนุกไปกับการลุย สิ่งที่เราพบคือผู้บริหารนี้สำคัญมาก โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในความภาคภูมิใจที่พบ คือ โรงเรียนบางน้ำชน โรงเรียนนี้อยู่ใน กทม. ตรงสะพานกรุงเทพ   คนไม่รู้จักเพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  ที่น่ารักคือทุกคนเป็นครู  ทุกคนต้องเรียนรู้  เขาเองก็ทำกันหลังโรงเรียน จะประชุมกันถึง 3 ทุ่ม ดิฉันก็ลงลุยไปกับเขา ด้วยมีความประทับใจในตัวอาจารย์ใหญ่ ว่าทำอะไรก็ทำจริงก็เลยไปช่วยเขา ที่สำคัญคือวัฒนธรรมของการเกิดโครงการ โรงเรียนนี้ได้รับรางวัลในการสอนบูรณาการ  ในห้องนี้วันที่ 16  มิถุนายน  ดิฉันเป็นนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย บอกเลยว่าเขาสามารถทำได้และสามารถทำซ้ำ และสามารถให้ผู้อื่นดูได้ นี่คือตัวอย่างว่าการทำงานด้วยกันต้องมีผู้บริหาร ถ้าเก่งคนเดียวทำไม่ได้  ขณะนี้น่าเสียดายมาก  มีการย้ายผู้บริหาร อยากสนับสนุนท่านอาจารย์สมาน เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ไม่ควรอยู่นานใน กทม. ย้ายบ่อย เพราะหวังความก้าวหน้าของผู้บริหาร แต่ไม่ได้หวังการเรียนรู้ของเด็ก   ดิฉันพูดไปแล้วอัดเทปได้เลย ดิฉันกำลังอบรมโรงเรียนวัดยางสุทธาราม ประกันเลยว่าถ้าเธอเรียนไม่รู้เรื่องไม่ต้องใส่ชื่ออาจารย์ภาวิณี นี่คือจุดที่สำคัญสำหรับคนเป็นครู ครูดีก็ทำวิจัยได้ แล้วทำวิจัยอะไร ก็ทำวิจัยในความสำเร็จแล้วทำซ้ำ บทเรียนนี้คือบทเรียนที่เราเรียนรู้ด้วยตนเอง  แล้วสามารถทำซ้ำจนสามารถเผยแพร่ ไม่อยากเชิญชวนอาจารย์ทั้งสิบคนเพราะอาจารย์อยู่คนละที่กัน  อาจารย์ก็ไปเป็นแกนนำในการสร้างพลังในการสร้างการเรียนรู้ สังคมต่างที่มาเมื่ออยู่ด้วยกันอาจทะเลาะกัน ดังนั้นให้อาจารย์กระจายกำลังไปสร้างฐานที่มีผู้บริหาร  ถ้าไม่ดีต้องไล่  ที่สุโขทัยนี้ดิฉันไปศึกษางานวิจัยของ สกศ. เขาจุดประทัดไล่ผู้บริหาร โรงเรียนที่ไปเป็นโรงเรียนที่ท่านผู้บริหารถูกไล่ และโรงเรียนนี้ก็ไม่มีผู้บริหารเพราะได้เข้าไปอยู่ที่กรุงเทพ  คนที่อยู่มีแต่คนแก่ไม่มีกำลัง เสนอว่าโรงเรียนเล็กขนาดนี้ น่าจะยุบ ใกล้กันมีโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เข็มแข็ง เอาเงินที่จ้างครูมาซื้อจักรยานดีกว่า สองเดือนที่ผ่านมากลับไปเยี่ยม ปรากฏว่าโรงเรียนเปลี่ยนโฉมใหม่ มี คอมพิวเตอร์  ไฮเทคมาก  มีวีดีโอ แต่ครูยังเหมือนเดิมค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16181เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท