เทคโนโลยีสีเขียว และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์


เทคโนโลยีสีเขียว และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์  

         ขอขอบคุณ ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บวท. (บวท. = บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  มีฐานะเป็นมูลนิธิ)  ที่ส่งจดหมายเชิญชวนให้ลงคะแนนเลือก “สิบเทคโนโลยีอนาคตสำหรับประเทศไทย”   ทำให้ผมเกิดความคิดนี้     เตือนไว้ก่อนว่าคงจะเป็นความคิดที่ทวนกระแส 


         บวท. และ สวทช. ร่วมกันดำเนินการโครงการนี้มาหลายเดือน หลายขั้นตอนแล้ว     จนได้รายชื่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต ๑๘ รายการเอามาให้ลงคะแนนกันเพื่อให้ได้ ๑๐ เทคโนโลยีแห่งอนาคตสำหรับสังคมไทย


         ที่จริงผมเกี่ยวข้องแบบห่างๆ กับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะผมเป็นกรรมการบริหาร บวท. ด้วย     แต่ผมตามเรื่องเทคโนโลยีไม่ค่อยทัน จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้มากนัก


         พอได้รับจดหมายเชิญให้ลงคะแนนและได้อ่านข้อสรุปสำหรับแต่ละเทคโนโลยี (ซึ่งเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญไทยในแต่ละด้าน   และเขียนอย่างดี ทำให้ผมได้ความรู้มาก)     ผมก็ฉุกคิดว่าข้อสรุปสิบเทคโนโลยีอนาคต นี้ น่าจะมีความลำเอียงอยู่     คือเป็นสิบเทคโนโลยีอนาคตตามความเห็นของนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องในโครงการลงไปที่ประเด็นของบันทึกนี้เลยนะครับ    ในรายการ ๑๘ เทคโนโลยีที่เขาส่งมาให้เลือกนั้น รายการที่ ๑ ชื่อ เทคโนโลยีสีเขียวแบบผสมผสาน    และเทคโนโลยีที่ ๓ ชื่อ ชีวโมเลกุลที่ผลิตในแบคทีเรีย


         ผู้เชี่ยวชาญ คือ ศ. ดร. จงรักษ์  ผลประเสริฐ แห่ง AIT ได้ให้นิยามของ เทคโนโลยีสีเขียวแบบผสมผสาน    ว่า     เป็นการรวมตัวกันของเทคโนโลยีสีเขียว (หมายถึง เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม) ในหลายแขนงวิชา    ได้แก่ ด้านวัสดุ  ระบบคอมพิวเตอร์  ระบบพลังงาน  และเทคโนโลยีการผลิต ไว้ด้วยกัน    ไม่เพียงแค่ลดปริมาณของเสีย  แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดของเสียเลย    และสามารถนำผลผลิตและของเสียกลับมาใช้ใหม่อย่างสมบูรณ์    เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในภาคเกษตร  การผลิตอุตสาหกรรม  เหมืองแร่  และระบบการขนส่ง


         ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ ได้ให้ความหมายของ ชีวโมเลกุลที่ผลิตในแบคทีเรีย ว่าหมายถึงการใช้จุลินทรีย์เป็นโรงงานผลิตสารชีวโมเลกุลที่มีคุณค่าสูงและราคาแพง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals)   เช่นสารปฏิชีวนะ   วิตามิน  ยา  วัคซีน  เอนไซม์   กรดอะมิโน  รวมไปถึงสารชีวโมเลกุลอื่นๆ ที่ไม่เคยพบตามธรรมชาติมาก่อน

         ผมชอบ ๒ เทคโนโลยีนี้มาก    แต่ชอบคนละแบบกับการนำเสนอ ซึ่งเสนอในแบบตามแนวตะวันตก    คือมองการผลิตแบบไฮเทค    ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่จุดแข็งของเรา     จุดแข็งของเราคือความเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ที่จุลินทรีย์ในธรรมชาติเติบโตได้ดี    ผมจึงมอง ๒ เทคโนโลยีนี้ผสมผสานกัน    เป็นการผลิตด้วยเทคโนโลยีสีเขียว    ปลอดสารพิษ  ปลอดการทำลายสิ่งแวดล้อม     โดยให้จุลินทรีย์ในธรรมชาติสร้างปุ๋ยและชีวโมเลกุลเร่งการเติบโตของพืช    ถ้ามีน้ำดี    เทคโนโลยีชีวภาพที่เน้นการพัฒนาจุลินทรีย์ให้ทำหน้าที่สร้างปุ๋ยและฮอร์โมนธรรมชาติ น่าจะเป็นเรื่องที่เราเร่งพัฒนาให้จงหนัก    โดยประสานกันระหว่างเกษตรกรผู้สร้างความรู้จากการปฏิบัติจริง    กับนักวิชาการผู้ต่อยอดความรู้ปฏิบัติด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์     ผมได้แนวคิดนี้จากการไปคลุกคลีกับโรงเรียนชาวนาในจังหวัดภาคกลาง     และพบว่าการบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพและจุลินทรีย์ ให้ผลผลิตสูงอย่างไม่น่าเชื่อ


          ผมมองว่าประเทศไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรที่เรามีจุดได้เปรียบ    เช่นข้าว    เราควรผลิตข้าวคุณภาพสูงทั้งด้านกินอร่อย และเป็นข้าวปลอดสารพิษ    และขายตลาดบน    หรืออย่างน้อยขายภายในประเทศ    ให้คนไทยได้บริโภคอาหารปลอดภัย    เราจะได้ผลในด้านสุขภาพเป็นของแถม (หรืออาจมองเป็นผลหลักก็ได้)     ทั้งสุขภาพของผู้ผลิต และของผู้บริโภค


         เทคโนโลยีอนาคตแนวนี้สอดคล้องกับกิจกรรมโรงเรียนชาวนา    และสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง

วิจารณ์ พานิช
๑๔ กพ. ๔๙
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16180เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท