beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

รอร่า <๔> : เสียงกู่จากครูใหญ่


ผลที่ได้อย่างยิ่งใหญ่และคุ้มค่ากับการลงแรงคือ ความสุข ซึ่งความสุขก็เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เสียงกู่จากครูใหญ่

           ครูใหญ่ชายคนหนึ่ง ได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือให้ไปสอนหนังสือที่หมู่บ้านแห้งแล้งทุรกันดารแห่งหนึ่ง ที่หมู่บ้านแห่งนั้นมีผู้คนในหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำใจ ขาดความสามัคคี ขาดความร่วมมือร่วมใจ

           เมื่อรถโดยสารแล่นมาถึงปากทางเข้าหมู่บ้านอย่างยากลำบากด้วยถนนลูกรังที่ขรุขระ  ครูใหญ่ต้องเดินข้ามเขาไปอีก ๑ ลูก เพื่อไปถึงหมู่บ้าน โดยไม่ต้องรอคนที่มารับครูใหญ่ ซึ่งกระเป๋าของครูใหญ่ ก็คือห่อผ้าที่มัดกันคล้ายคนญี่ปุ่นสมัยก่อนที่แสนจะใหญ่โต แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปยังเป้าหมาย และการเข้าพบนักเรียนของตน หมายถึงความตั้งใจที่จะทักทายนักเรียนโดยไม่พักเลยหลังจากเดินทางอย่างเหน็ดเหนื่อย

           ระหว่างทางที่ครูใหญ่เดินทางไปยังหมู่บ้านนั้น ทางโรงเรียนได้ส่งคนไปรับ ๑ คน คนที่ไปรับครูใหญ่ เมื่อเห็นสภาพของครูใหญ่ "ใส่รองเท้าขาด" ก็ไม่เชื่อว่าเป็นครูใหญ่ และก็ไม่ช่วยแบกของ ครูใหญ่ต้องใช้วาทะศิลป์ในการพูดคุยกับชายที่ทางโรงเรียนส่งมารับ จนกระทั่งเขายอมช่วยแบกของ นั่นคือชัยชนะของนักพัฒนาขั้นแรก ที่ต้องศรัทธาให้กับผู้อื่นให้ได้ก่อน ถ้าสร้างศรัทธาไม่ได้ ก็ไม่มีวันทำงานได้สำเร็จ

          ทันทีที่ครูใหญ่มาถึงโรงเรียน ครูใหญ่ก็เดินสำรวจบริเวณโรงเรียนและทักทายกับนักเรียน ก่อนที่จะเรียกประชุมครูทั้งโรงเรียน ซึ่งมีอยู่แค่ ๒ คน และได้กำหนดวิสัยทัศน์(คำขวัญ)ของโรงเรียนนั่นคือ "การทำงานหนักเป็นดอกไม้งามของชีวิต"

           ครูใหญ่ได้แสดงจิตวิญญาณนักพัฒนาโรงเรียนให้คนในหมู่บ้านได้เห็น โดยอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ตั้งแต่การมุ่งมั่นสร้างโรงเรียนและขอความร่วมมือจากหมู่บ้าน โดยเรียกประชุมคนในหมู่บ้านทั้งหมด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความตั้งใจในการสร้างโรงเรียนใหม่ ให้มีห้องเรียนเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการและมีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อมเพียง  เพื่อให้ลูกหลายของเขามีการศึกษาที่ดีขึ้น แต่พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นมีจิตใจคับแคบที่จะช่วยเหลือ โดยบอกว่า หน้าที่การสร้างโรงเรียนเป็นเรื่องของทางราชการ ไม่ใช่เรื่องของพวกเขา

           เมื่อผู้คนในหมู่บ้านไม่มีใครให้ความร่วมมือกับครูใหญ่เลย ครูใหญ่ก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค  คิดที่จะสร้างโรงเรียนด้วยตัวเองด้วยความคิดว่า "พึ่งตนเอง" จนกระทั่งครูใหญ่ได้พลัดตกลงจากภูเขา ได้รับบาดเจ็บ ครูใหญ่นอนป่วยอยู่หลายวัน

           และแล้วสวรรค์ ก็ได้มาช่วยครูใหญ่ คือ ครูน้อยและนักเรียนช่วยกันขนหินมาปรับพื้นที่ในการสร้างโรงเรียน เมื่อนักเรียนมาช่วย ผู้ปกครองเห็นก็มาช่วยด้วย จากการเห็นความมุ่งมั่นและความตั้งใจของครูใหญ่ ทำให้ชาวบ้านช่วยครูใหญ่สร้างโรงเรียนอย่างขันแข็ง ทั้งกลางวันและกลางคืน จนการสร้างโรงเรียนเป็นผลสำเร็จ มีห้องเรียนเพิ่มขึ้น....

           ครูใหญ่ใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กและครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น การนำเงินของตนเองไปซื้อไก่ เมื่อเลี้ยงไก่ให้มีลูกไก่จำนวนหนึ่ง เพื่อแจกให้นักเรียนไปเลี้ยง ส่วนไข่ที่ออกมาตอนที่ครูใหญ่เลี้ยงก็เอามาให้นักเรียนทาน ถ้าเหลือก็ขายให้นักท่องเที่ยว ส่วนไก่ที่แจกให้นักเรียนไปเลี้ยงครูใหญ่ก็จะตามไปให้คะแนน ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องช่วยเด็กเลี้ยงไก่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมู่บ้านก็เจริญตามมา

           หลังจากนั้นครูใหญ่ก็ขายไก่ของโรงเรียนไปส่วนหนึ่ง นำเงินไปซื้อผึ้งมาเลี้ยง โดยใช้วิธีการเดิมคือให้คะแนนเด็ก ทำให้ชาวบ้านเลี้ยงผึ้งกันทั้งหมู่บ้าน มีทั้งผึ้งและน้ำผึ้งจำหน่าย

           ต่อมาก็ขายผึ้งไปจำนวนหนึ่ง เพื่อจำเงินไปซื้อวัวมาเลี้ยง ชาวบ้านที่เฝ้าดูอยู่จึงหันมาเลี้ยงวัวกันอีก เมื่อวัวมากขึ้น ครูใหญ่ก็ขายวัวไป นำเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนและเครื่องดนตรีให้เด็กนักเรียน ส่งผลให้จำนวนเด็กที่เคยไปศึกษาไกลหมู่บ้านหันกลับมาเรียนยังโรงเรียนแห่งนี้มากขึ้น

           เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งข่าวการเป็นนักพัฒนาตัวอย่างที่สามารถทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เด็กมีความพร้อมมากขึ้น รู้ไปถึงทางราชการ ทางราชการก็ส่งเรือมาให้ ๑ ลำ เพื่อให้ทางหมู่บ้านได้ใช้งานในการเดินทางไปในเมือง

           และในที่สุดครูใหญ่ ก็ได้รับเหรียญของการเป็นนักพัฒนาตัวอย่างจากประธานาธิบดีเกาหลี จากโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมทั้งสถานที่ อุปกรณ์ในการเรียน จนกระทั่งมีนักเรียนและครูเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก มีอาคารที่ใหญ่โต มีระบบการเรียนการสอนที่ดีขึ้นและครูใหญ่ได้ทำสำเร็จดังวิสัยทัศน์ที่ให้ไว้ตั้งแต่ครั้งแรก คือ "การทำงานหนักเป็นดอกไม้งามของชีวิต"

           หลังจากการดูวีดิทัศน์ ฉันก็ได้คิดสรุปออกมาว่า "การจะทำอะไรต้องเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริง ทำให้คนอื่นศรัทธา เมื่อคนอื่นศรัทธา ก็จะเกิดความเชื่อไว้ใจ ทำให้เกิดความสามัคคี ช่วยกันร่วมมือกัน ทำให้งานที่ทำสำเร็จ จากจุดเล็กๆ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จนสู่จุดใหญ่ ผลที่ได้อย่างยิ่งใหญ่และคุ้มค่ากับการลงแรงคือ ความสุข ซึ่งความสุขก็เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เมื่อเกิดความปรารถนาต้องการแล้ว ก็จะย้อนมาสู่ความมุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข

           เบื้องหลังความสำเร็จของครูใหญ่ ฉันคิดว่า ครูใหญ่มีวิสัยทัศน์ การมีภาวะผู้นำ โดยนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้กับเด็ก และมีจิตใจมุ่งมั่น ทำด้วยใจจริงๆ มีความมานะ บากบั่นและอดทน โดยมีวิธีการสำคัญของความสำเร็จ คือ การร่วมมือร่วมใจในการทำงานเป็นทีม เพื่อไปสู่เป้าหมาย มีความตั้งใจจริงๆ "พัฒนาตลอดชีวิต" มีกิจกรรมเป็นสื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ให้เกิดขึ้นในชุมชน

            จากการดูวีดิทัศน์ก็หวนคิดถึงในอดีต เมื่อดูหนังดูละคอนก็ย้อนมาดูตัวเราเอง ว่างานในหน้าที่ที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพตามบทบาทที่ควรจะเป็นหรือยัง...

             แง่คิด จาก "เสียงกู่จากครูใหญ่"

  1. เปลวเทียนยังสามารถต้านลมได้ แล้วเราล่ะจะไม่สามารถต่อสู้กับอุปสรรคได้หรือ
  2. ไม่มีโรงเรียนเยี่ยมที่ครูใหญ่แย่ และไม่มีโรงเรียนแย่ที่ครูใหญ่เยี่ยม
  3. ค่าของคนอยู่ที่ผลของงา ค่าของสถาบันอยู่ที่การบริการคน
  4. การพัฒนานั้นจะต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป
  5. การพัฒนาใดๆ ก็ตาม ถ้าสามารถสร้างให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานที่เกิดจากการพัฒนาแล้ว ผลงานนั้นจะคงอยู่ต่อไปได้นานแสนนาน..

            จากการได้ดูสื่อ ทำให้ฉันได้รับความรู้และแนวคิดต่างๆ เยอะขึ้น ทำให้ฉันรู้ว่า

  • การทำดี ย่อมได้ผลตอบแทนที่ดีตามมาเสมอ แต่ต้องใช้เวลา
  • การตัดสินคนไม่ควรตัดสินว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี โดยการดูที่การแต่งตัวหรือรูปลักษณ์ภายนอก
  • ถึงแม้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเหมือนในเมือง แต่เราก็มีความสุขได้ด้วยการอยู่อย่างพอเพียง
  • ครูที่ดีต้องสอนศิษย์ด้วยใจรัก ไม่ใช่เพราะหน้าที่

            ซึ่งแนวคิดที่ได้ดังกล่าว สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี..

 รอร่า....

หมายเลขบันทึก: 161788เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 06:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีครับ อ.บีแมน
  • ผมได้ดูมาแล้วนับ 10 รอบ
  • ดูทุกครั้งไม่เคยเบื่อ และได้เรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้ย่อมาให้ได้อ่าน และสรุปบทเรียนไว้อีกต่างหาก
  • อิอิ....

 

  • สวัสดีครับสิงห์ป่าสัก
  • บันทึกนี้เป็นของรอร่า นิสิตปี ๒ เป็นคนเขียนครับ
  • ผมเพียงนำลงเพื่อให้อ่านในมุมมองของนิสิตคนหนึ่ง...
  • ขอบคุณที่เข้ามาให้ความคิดเห็นครับ

ขอบพระคุณอาจารย์Beemanมากค่ะ

ที่ได้นำบันทึกนี้มาลง

 

  • รอร่า มาพบเจอบันทึกของตัวเองก็ดีแล้วครับ
  • คงจะนำบันทึกมาลงต่อๆ ไปจนจบครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท