เรียนรู้อะไรบ้างจากเวที ตลาดนัดความรู้ป้องกันไข้หวัดนก


หากว่าวันใด เราเจอ "คนที่คิดนอกกรอบ" ตัวจริงเมื่อใด เราอาจจะได้เรียนรู้วิธีการ จับ Tacit Knowledge แล้วนำมาแปลงเป็น Explicit Knowledge ให้เราเห็น วันนั้นเราก็จะได้เรียนรู้กันจริงๆ

เมื่อวันที่ 18 - 19 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเข้าไปช่วยอำนวยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตวปีก และกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชการ (ปศุสัตว์ และ สาธารณสุข) ในพื้นที่ที่เกิดโรคไข้หวัดนก  ณ โรงแรม เอสดี อเวนิว  ปิ่นเกล้า  กรุงเทพฯ

เจ้าภาพของงานนี้ที่ทำงานอย่างแข็งขันก็ได้แก่  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.)  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ตั้งแต่การพูดคุยช่วยกันออกแบบกำหนดการ  ค้นหารายชื่อเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่มีผลงานความสำเร็จ  เพื่อเชิญเข้ามาแลกความรู้แก่กัน

กระบวนการ "ตลาดนัดความรู้เพื่อป้องกันไข้หวัดนก"  ครั้งนี้  โครงสร้างกระบวนการก็คล้ายๆกับ  ตลาดนัดเวทีอื่นๆ  ที่ สคส. เคยจัดผ่านไปแล้ว   ที่ต่างชัดๆ  คือ  กระบวนการจะดำเนินการเพียงเพื่อบรรลุขั้นตอนของการสร้าง  "แก่นความรู้"  ของการป้องกันไข้หวัดนกจากประสบการณ์ตรงของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่   ทั้งนี้เนื่องมาจาก  ทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่มาเข้าร่วมนั้นเมื่อดูรายชื่อและพื้นที่ทำงานแล้ว  ค่อนกระจายและมีลักษณะเป็นตัวบุคคลมากกว่าที่จะนับเป็นตัวแทนของพื้นที่ได้   จึงจำเป็นต้องตัดกระบวนการประเมินตนเองออกไป

หลังจากเปิดตลาดนัด  คุณสุภาภรณ์ ธาตรีโรจน์  น้องใหม่ สคส.  ได้นำผู้เข้าร่วมทุกคน ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท  โดยการเดินสมาธิ   แต่เนื่องจากห้องเล็กไปหน่อย การเดินก็เลยต้องใช้เวลานิดหนึ่งกว่าจะครบรอบ    แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเลย  ในขณะที่ตัวเองเดินตอนแรก ก็คิดในใจถึงเรื่องความราบรื่นของการเดินของเรา  แต่พอเดินจริงๆ  แต่ละก้าวต้องรอคนข้างหน้าขยับตัวออกไปก่อนถึงจะมีพื้นที่เดิน   ยอมรับว่ารู้สึกกังวลนิดหน่อย  แต่พอปล่อยเวลาไปนิดหนึ่งก็เริ่มมีความรู้สึกใหม่เข้ามาแทน  เป็นความรู้สึกที่เข้าใจสภาพมากขึ้น  เลยปล่อยทิ้งความกังวลนั้นไปโดยไม่รู้ตัว

พอเริ่มงานกลุ่ม  โจทย์แรกที่ให้กับกลุ่ม  คือ การเล่าเรื่องความสำเร็จของแต่ละคนให้สมาชิกในกลุ่มฟัง  เท่าๆที่  แว๊บไป  แว๊บมา  ดูแต่ละกลุ่ม  ทั้งคุณอำนวย (Group Facilitator) และคุณลิขิต (Note Taker) แสดงบทบาทดีมากทีเดียวครับ  แต่ละกลุ่มก็จะมีสไตล์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป  บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น    ส่วนเนื้อหาในเรื่องเล่าก็น่าสนใจมากครับ  ซึ่ง อาจารย์หมอวิจารณ์  ได้บันทึกแบบละเอียดมาฝาก หากสนใจคลิกเข้าไปอ่านดูนะครับ 

จากนั้นแต่ละกลุ่มก็ช่วยกันสรุป "ขุมความรู้" (Knowledge Assets) ของกลุ่มออกมาและมานำเสนอในเวทีรวมอีกครั้งหนึ่ง   เป็นที่งุนงงมากครับ  เมื่อปรากฎว่า  ผู้นำเสนอของกลุ่มเกษตรกร  ไม่ได้มาเล่าเรื่องอย่างที่เราคุยกันไว้  แต่เป็นการเล่า วิถีการต่อสู้ในเชิงนโนบายหลังจากเกิดโรคไข้หวัดนก  ทำให้ขุมความรู้ของกลุ่มที่ได้จากเวลากว่า 2 ชั่วโมง  จืดลงไปมากเลยครับ     ส่วนกลุ่มเจ้าหน้าที่ก็มีเรื่องเล่าประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดที่เห็นภาพ  แต่สุดท้ายเมื่อทำเป็นแก่นความรู้ของกลุ่ม  ยังมีหลายท่านติงว่า  "มันยังดูไม่แตกต่าง  หรือไม่มีอะไรใหม่ อย่างคาดหวังไว้"   นี่คือ  ความยากของการ  แปลง Tacit Knowledge เป็น Explicit Knowledge  เพราะว่าเรามักใช้วิธีการสรุปความแบบเดิมที่เรามักคุ้นเคย  ประเด็นที่ออกมา  เลยหน้าตาก็จะเหมือนเดิม   ตรงนี้  คงอธิบายยาก  โดยเฉพาะใครที่ยังไม่เคยลงมือทำขั้นตอนนี้  จะเข้าใจมันยากมากครับ     ผมตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ (จากที่เจอมาหลาย workshop) ว่า   หากว่าวันใด  เราเจอ "คนที่คิดนอกกรอบ" ตัวจริงเมื่อใด  เราอาจจะได้เรียนรู้วิธีการ  จับ Tacit Knowledge แล้วนำมาแปลงเป็น Explicit Knowledge  ให้เราเห็น  วันนั้นเราก็จะได้เรียนรู้กันจริงๆ   แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่เจอแบบเต็มๆ ครับ

อีกเรื่องหนึ่ง  ที่ชี้ชัดว่าระหว่าง  "ความรู้" กับ "การต่อสู้เชิงนโยบาย"  มักจะไม่ค่อยไปด้วยกัน  เพราะเท่าที่พบ  คนที่กำลังต่อสู้ในเชิงนโยบายนั้น  จะไม่มีความนิ่งพอที่จะมาทบทวนหรือพูดคุยเรื่องความรู้ในเนื้อหาเท่าใดนัก  เขามักจะสนใจความรู้อีกประเภหนึ่ง  คือ  ความรู้เพื่อการต่อสู้  ที่จะเอาชนะมาให้ได้    จากตรงนี้  หากจะใช้รูปแบบตลาดนัดความรู้ไปเดินเรื่องประเด็นร้อนเชิงนโยบายอีกในคราวหน้า   คงต้องทบทวนกันมากยิ่งขึ้นว่า   แน่ใจหรือไม่ว่า  ผู้ที่ถูกเชิญเข้ามานั้นจะสนใจ "ความรู้เชิงเนื้อหา"  มากกว่า  "ความรู้เชิงการต่อสู้"       ความรู้แบบใดที่เราต้องการ  และหากเรายังต้องการความรู้เชิงเนื้อหา  กระบวนการคัดเลือก  เฟ้นหาผู้สำเร็จในเนื้อหาเรื่องนั้นๆ จะต้องมีความปราณีต  ชนิดชัดเจนว่าคนๆนั้น  ผ่านอะไรมาบ้าง สำเร็จอย่างไร     ตรงนี้  แหละครับโดยส่วนตัวที่ผมเชื่อว่า  เป็นวิธีการค้นหา  ทุนเดิม (Intellectual Capital) ที่เรามี  เป็นทุนทางปัญญาที่จับต้องไม่ได้   เรื่องนี้มีคนคุยกันมามาก   แต่ที่ทำจริงๆนั้นมีน้อย    เพราะหากทุนเหล่านี้ไม่ได้ถูกลงบัญชีไว้    ก็คงไม่ต้องพูดถึงความถูกต้องของบัญชีนะครับ    โดยเฉพาะภาคประชาสังคม  ทุนหมวดนี้สำคัญต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง    สังเกตได้ว่า  พื้นที่ใดที่ค้นพบทุนทางปัญญา  ที่นั่นจะค้นพบวิธีการทำงานแบบใหม่นำพาสังคมของเขาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ดี  เป็นที่ประจักษ์แก่เราท่านมาบ้างแล้วในทุกวันนี้

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1617เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2005 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท