บันทึกจากแดนซากุระ 13 : นิสัยคนญี่ปุ่นกับนิสัยคนไทย


     ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นมาจนถึงวันนี้ก็รวมเป็น 43 วัน จะว่าน้อยก็ค่อนข้างน้อย จะว่านานก็ค่อนข้างนาน เพียงแต่อาจจะยังนานไม่พอในการที่เราจะสรุปนิสัยของคน อีกประการคือคนที่ผมพบอยู่ทุกวันที่นี่ก็เป็นเพียงนักศึกษาญี่ปุ่นประมาณสัก 10 คน อาจจะใช้ในการอ้างอิงได้ค่อนข้างยาก แต่ผมก็เห็นว่านิสัยของนักศึกษาญี่ปุ่นเหล่านี้ มีบางอย่างที่ไม่เหมือนกับนิสัยของคนไทย

1. ความขยัน ต้องขอชมเชยว่านักศึกษาญี่ปุ่นที่นี่มีความขยันเป็นอย่างมาก ถึงมากที่สุด ที่นี่ไม่มีข้อกำหนดว่าคุณจะมาทำงานกี่โมงกลับบ้านกี่โมง มีเพียงข้อบังคับว่าวันเสาร์คุณต้องเข้าร่วมฟังบรรยายทางวิชาการ ซึ่งทุกคนต้องเวียนกันมาพูดเฉลี่ยแล้ว เสาร์ละประมาณ 5-6 คน แต่นักศึกษาที่นี่ก็เลือกที่จะมาทำงานประมาณ 9.30 น ไปจนประมาณหลัง 2 ทุ่ม หลายคนกลับบ้านประมาณ 4 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 13-14 ชั่วโมง วันเสาร์ฟังบรรยายเสร็จก็ทำงานต่อ กลับบ้านมืดอีกตามเคย แถมวันอาทิตย์ก็ยังพบได้ที่ห้องแล็บอีก ไม่เรียกว่าโคตรขยันก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้ว ผมคงไม่ขอเทียบกับคนทำงานแล้วดีกว่า ย้อนกลับไปประมาณ 2 ปี ผมยังเป็นนักศึกษา ป.โทอยู่ ที่นั่นสามารถพบนักศึกษาไทยได้หลัง 10 โมงไปแล้ว และเห็นหลังไวๆ ตอนสักสี่โมงเป็นต้นไป ส่วนอีกพวกหนึ่งก็จะพบได้เมื่อ advisor กลับบ้านแล้ว พวกนี้จะโผล่ออกมาตอนกลางคืน และรีบกลับก่อนที่ใครจะมาพบตัว โดยเฉลี่ยแล้วก็ทำงานประมาณวันละ 5-6 ชั่วโมง

2. ความมุ่งมั่น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาญี่ปุ่นมีกันค่อนข้างมาก พวกนี้ถ้าเจอปัญหาอะไรก็ตาม ก็จะวนเวียนแก้อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสำเร็จ ทำไปทีละอย่าง แก้กันที่ละเปราะ จนกว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พวกนี้ไม่ค่อยจะยอมพึ่งใคร ยกเว้นว่าจนด้วยเกล้า นึกอะไรไม่ออกแล้วค่อยไปถาม นิสัยนี้ค่อนข้างต่างจากคนไทย แม้กระทั่งตัวผมเอง ที่เมื่อเจอปัญหา สิ่งแรกที่นึกถึงคือ.....แล้วจะถามใครดีหว่า.....

3. การให้ความช่วยเหลือกันค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะเนื่องจากคนญี่ปุ่นมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ทำให้ต้องพัฒนาให้ตนเองเป็นคนเก่งให้ได้ เพื่อให้ได้รับเลือก ดังนั้นความรู้สึกในการช่วยเหลือกันค่อนข้างน้อย ยิ่งถ้าเมื่อไรเขารู้สึกว่าเป็นคู่แข่งด้วยแล้ว เขาแทบจะไม่ให้ความช่วยเหลือเอาเสียเลย มีคนเล่าให้ผมฟังว่า อาจารย์ให้มาวิเคราะห์ข้อมูล ไม่บอกด้วยว่าวิเคราะห์อะไร ยังไง ต้องใช้สถิติตัวไหน ทำกันอย่างไร มี software อะไรช่วยบ้าง สรุปว่าไม่รู้อะไรสักอย่าง รู้แต่ว่ามีข้อมูลแล็บลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำก็คือกลับไปนั่งอ่านหนังสือเพื่อดูว่าข้อมูลลักษณะนี้มีใครเขาเคยทำเอาไว้บ้าง เขานำเสนอกันยังไง วิเคราะห์ด้วยสถิติตัวไหน ใช้ software อะไรวิเคราะห์ และอื่นๆ อีกมากมาย หมดเวลาไป 1 เดือน ก็ได้รู้ว่าต้องทำยังไงกับข้อมูลที่มีอยู่ ที่นี้ก็มาที่เรื่อง software ม้นต้องใช้ software ตัวนี้ในการวิเคราะห์ เอาล่ะหว่าใครทำเป็นบ้างวะ (นิสัยคนไทย) อ้อ มีอยู่คนนึงทำเป็นต้องไปถามสักหน่อย ไอ้เจ้ายุ่นคนนั้นก็บอกว่า You ไปเอาหนังสือมาอ่านก่อน ถ้าไม่รู้เรื่องเลย สอนยาก คนไทยอย่างเราถ้าพูดกันดีๆ อย่างนี้ ได้เลย อ่านก็อ่านวะ ก็หมดไปอีก 2 อาทิตย์ ก่อนจะบอกตัวเองว่า ทำไมตรูอ่านไม่รู้เรื่องวะ ก็บากหน้ากับไปหาเจ้ายุ่นใหม่ บอกมันไปตรงๆ นั่นแหละว่าอ่านไม่รู้เรื่อง หนอยแน่ะ นึกว่าคราวนี้มันจะช่วย มันกลับบอกมาว่า  You ยังอ่านไม่มากพอ ให้กลับไปอ่านใหม่ เลยถึงบางอ้อ ว่ายังไงมันก็ไม่บอกแล้วล่ะวะ หมดอัศวินม้าขาวแล้ว ยังไงเราก็ต้องช่วยตัวเอง ก็กลับบ้านควักเอาความอึดที่มีอยู่ออกมาใช้ ยังไงคราวนี้ก็ต้องรู้เรื่องให้ได้วะ ว่าแล้วเวลาก็ผ่านไปอีกเดือนเหมือนโกหก ก่อนจะพอทำความเข้าใจกับ software ได้ว่ามันใช้ยังไง กะท่อนกะแท่นทำไปเรื่อยๆ ไม่พึ่งใคร ว่าไปแล้วดูเหมือนว่าเจ้ายุ่นจะแล้งน้ำใจ แต่เรื่องนี้ไม่ได้จบอย่างนั้น ในคืนสุดท้ายก่อนที่จะส่งการบ้านให้อาจารย์ เจ้ายุ่นก็เข้ามาถามว่าอ่านไปถึงไหนแล้ว ทำได้หรือยัง แล้วใช้เวลาในคืนนั้นสอนให้ใช้โปรแกรมให้เป็น  เฮ้อ! สุดท้ายเรื่องนี้ก็จบด้วย happy ending แต่บอกได้อย่างว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดในเมืองไทย เจ้ายุ่นนั่นไม่ได้เกิดแน่ เพราะจะต้องถูกประจานให้อับอายไปชั่วฟ้าดิน ในฐานะที่รู้เรื่องแล้วแล้งน้ำใจ ไม่ยอมสอนตั้งแต่ต้น แต่เรื่องนี้เจตนาของเขาต้องการให้เราใช้ความพยายามของเราอย่างเต็มที่ก่อน ไม่ใช่แบมือขอกันตั้งแต่ต้น

4. ความรับผิดชอบ ไม่รู้ว่าผมรู้สึกไปเองหรือเปล่า ว่าเด็กญี่ปุ่นที่นี่เขารับผิดชอบกันได้ดีถึงดีมาก อย่างเช่นที่นี่ทุกคนมีเวรทำความสะอาดห้อง ล้างเครื่องแก้ว เทถังผง ฯลฯ ก็ช่วยกันเองภายในแล็บ เนื่องจากไม่มีคนงานมาช่วย ก็มีการจัดเวรกันอาทิตย์ละ 2 วัน อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง วันที่เขาทำเวรกัน เด็กญี่ปุ่นจะมากันตั้งแต่ 9 โมงเช้า แล้วรีบจัดการหน้าที่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบให้เสร็จ ก็จะได้ไปทำงานกัน ทั้งๆที่คืนก่อนหน้านั้นบางครั้งเด็กพวกนี้อยู่ที่แล็บกันจนเกือบเที่ยงคืน แต่พอวันรุ่งขึ้นทุกคนจะพร้อมหน้ากันตั้งแต่เช้า บางคนบ้านก็อยู่แสนไกล แต่ตอนเช้าก็ยังถ่อสังขารมาได้ ก็มีแต่พี่ไทยนี่แหละที่ค่อยๆ ยุรยาตร พอไปถึงห้องแล็บ เด็กพวกนี้ก็ทำเวรของตัวเองเสร็จแล้ว เอาล่ะทีนี้ก็ตราพี่ไทยบ้าง จะได้ไม่ต้องแย่งกับใคร  หรืออย่างน้องปริญญาตรีญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้จัดเวรการพูดวันเสาร์ คุณเธอก็พูดอังกฤษอยู่ในระดับที่เรียกว่าสื่อสารไม่ได้ก็แล้วกัน มาเจอพี่ไทยอย่างผมที่พูดญี่ปุ่นได้แต่คำว่า อายิโนะโม๊ะโต๊ะ โตโยต้า มิชชูบิชิ แล้วมันจะคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร ผมเองก็เห็นใจ แต่คุณเธอก็เลือกที่จะคุยกับผมเอง ทั้งๆที่วานให้คนอื่นที่พูดภาษาอังกฤษได้มาคุยกับผมก็หมดเรื่อง เรื่องนี้จบลงด้วยดีจากการใช้ภาษามือ จัดอะไรมาก็ได้ วันไหนก็ได้ พี่ไทยอย่างเรารับได้ทุกเรื่อง ก็เถียงด้วยภาษาญี่ปุ่นไม่ได้นี่หว่า

5. ความตรงต่อเวลา เรื่องนี้คงไม่ต้องสาธยายมากนัก ผมว่าพี่ไทยรู้ตัวเองอยู่แล้ว นัดเวลาไหนก็ตามบวกไปอีก 5-10 นาที เป็นเวลาออกจากบ้าน

6. ไม่เถียงครู เป็นเรื่องน่าแปลกอีกเหมือนกันที่ อาจารย์ใช้ให้ทำอะไร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เด็กพวกนี้ไม่ค่อยจะเถียงครู ก้มหน้าก้มตาทำไป ทั้งๆที่ไม่เห็นด้วย กว่าจะหาทาง หาโอกาสชี้แจงได้ จนอาจารย์เห็นด้วยว่า เออ ไม่ทำก็ได้ ก็ปรากฎว่างานที่ใช้มาเสร็จพอดี ผมว่าเรื่องนี้ต่างจากคนไทยค่อนข้างมาก ที่มักจะเริ่มต้นด้วยการเถียงก่อน จะทำหรือไม่ทำค่อยว่ากันทีหลัง ขอให้ได้เถียงไว้ก่อน สบายใจ กินได้นอนหลับดี

     เรื่องนี้ผมไม่มีข้อสรุป เพียงแต่อยากเล่าให้ฟังเท่านั้น

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16149เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบจังค่ะ ขอแจมด้วย แถมเด็กนักเรียน Postgrad. Aussy บ้างเพราะพี่อยู่เจอมาหลายรุ่น เอาระดับที่เค้าทำ honours (ที่โน่นเค้าจะทำ honours เมื่อเรียนจบตรี เป็นการทำ Research หนึ่งปี) กับนักเรียนโท-เอก รู้สึกว่าเด็ก Aussy มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่า คือค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือส่วนมากเค้าเรียนเพราะอยากเรียนจริงๆ และมีหลากหลายวัย

 ความขยัน เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก็ทำงานกันดึกดื่นเหมือนกันค่ะ อาจจะไม่มาทำงานเช้า แต่ข้อที่ต่างกับเราและพี่ยุ่นน่าจะเป็นว่าเค้ามีการพักแบบสุดๆทุกเย็นวันศุกร์ ไป pub กินเบียร์สังสรรค์กันเป็นวัฒนธรรมเลย (เท่าที่เจอเกือบจะเรียกได้ว่า 80-90%)

ความมุ่งมั่น เด็ก Aussy เหมือนเราคือถามก่อนค่ะ ไม่ยอมเสียเวลา เค้ามักจะเรียนรู้จากคนอื่นมากกว่าหมกมุ่นมุ่งมั่นแก้ปัญหาเอง ส่วนมากมักจะคุย ยิ่งแก้ไม่ได้ยิ่งคุยวงกว้างขึ้น

การให้ความช่วยเหลือกัน เท่าที่เจอเค้ามักจะช่วยเหลือกัน มักจะทำงานเป็นทีม งานอะไรที่เกื้อกูลกันได้ก็จะช่วยกันทำ นานๆจะเจอคนหวงวิชา ส่วนมากมักจะช่วยเต็มที่ บางทีเราก็ได้รู้จักคนอื่นเพราะมีคนแนะนำมาถามเรา หรือบางทีก็เราได้รู้ว่า ยูไปหาคนนี้สิ เค้าทำเรื่องนี้ อันนี้เห็นได้ว่าเค้าไม่แบ่งเชื้อชาติด้วย พี่เป็นเอเชียจริงๆคนเดียว เค้าก็เชื่อถือดีและช่วยเมื่อเราขอให้ช่วย

ความรับผิดชอบ ถ้ายกตัวอย่างเรื่องเวรทำความสะอาด เด็ก Aussy ที่เห็นๆมักจะไม่ค่อยรับผิดชอบค่ะ รู้สึกว่าอาจเป็นเพราะเค้าใช้ของแบบคนรวยจนติดเป็นนิสัยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเค้าทำแล้วทิ้งๆขว้างๆกันซะมาก คนที่จัดเวรทั้งหลาย (พวก lab assistants หรือ lab attendances) มักจะต้องคอยตั้งกฎแล้วก็ตามจี้ หรืออาจจะเป็นเพราะส่วนใหญ่ของส่วนรวมจะมีคนดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องทำเองเหมือนพี่ยุ่น

ความตรงต่อเวลา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พี่เคยแปลกใจ เพราะคิดว่าฝรั่งได้ชื่อว่าตรงต่อเวลา แต่ที่พี่เจอๆมา เด็ก Postgrad Aussy ก็เหมือนเราคือบวกลบ 5-10 นาที (ส่วนมากจะเป็นลบ แต่ก็เจอแบบบวกบ้าง ไม่ถึงกับไม่มี อาจจะดีกว่าเราหน่อยตรงนี้แหละค่ะ)

ไม่เถียงครู อันนี้ก็เป็นไปไม่ได้สำหรับเด็ก Aussy ค่ะ แต่ไม่น่าจะเรียกว่าเถียง เท่าที่เห็นก็คือ ต้องคุยกันถ้าเห็นไม่เหมือนกัน จะเป็นว่าถ้าความเห็นต่างออกไปก็จะไม่มีการทำตามจนกว่าจะได้คุยกันแล้วรู้ว่าจำเป็นต้องทำจริงๆ ถึงจะทำ อันนี้ตัวเองก็ชอบ แต่รู้สึกว่าเราจะทำไม่เป็น กว่าจะซึมซับรับมาทำได้ก็เมื่อปีสุดท้ายนี่เอง มีคนอึดอัดแทนเหมือนกัน แต่ก็ไม่ยักกะมีใครมาแนะนำให้เราพูด

พี่ก็ขออนุญาตเล่าเสริมบ้างเพราะเคยคิดเปรียบเทียบโดยไม่ได้มีข้อสรุปอะไรเหมือนกันแต่ไม่มีโอกาสได้เขียนไว้ที่ไหน ขอบคุณที่ยกประเด็นขึ้นมาค่ะ  

มั่ยจิงค่ะ ที่ว่าคนญี่ปุ่นมะเถียงครู

ได้ยินกะหูเลย มะชั่ยแค่เถียงนะ

ด่าแถมอีกต่างหาก

อึ้งเลยเหมือนกัน เด็กญี่ปุ่นแสบจะตาย

อยู่ประเทศไหนก็มีคนดี และ คนไม่ดีทั้งนั้นแหละคับ ก็เหมือนประเทศไทยเรานี้แหละ พอ ชาวต่างชาติมาก็ทำตัวดีดีเวลาเขาไปแล้ว นิสัยก็เริ่มออก เป็นไงเถียงไม่ออก

ขอโทษนะคับที่ใช้คำไม่สุภาพ อิอิ

เราอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่นมาก แต่เห็นมีคนบอกว่าคนญี่ปุ่นมักจะตัวใครตัวมันจริงหรอ

อยากจะถามคนที่ไปญี่ปุ่นมาแล้วหรือรู้จักคนญี่ปุ่นมาบ้างว่าจริงหรือเปล่า

เพราะเราก็ไม่เคยไปญี่ปุ่นมาก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท