สางงานเก่า....คุยกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด


ในการสร้างเครือข่ายฯนั้น อยู่ที่การจัดการ อย่าให้ราชการเข้ามาจัดการแทนประชาชน/ชุมชน ชุมชนต้องเป็นผู้ริเริ่มในการจัดการเอง

     ช่วงนี้กลับเข้าสู่สภาวะแห่งความยุ่งเหยิงอีกแล้ว  หลังจากที่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วสถานการณ์ดีขึ้นมาหน่อย  แต่ก็ไม่เป็นอะไรค่ะ  ชีวิตต้องสู้  เพราะเราสู้ชีวิตอยู่แล้ว  วันนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องที่ไปคุยกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางให้อ่านค่ะ  ความจริงผู้วิจัยได้ไปพบท่านนายแพทย์ฯตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์  ที่ผ่านมาค่ะ  แต่เนื่องจากโอกาสไม่ค่อยอำนวยก็เลยยังไม่ได้เล่าให้ฟังค่ะ

     วันที่ 15 กุมภาพันธ์  2549  เวลาประมาณ 13.30-14.30น.  ผู้วิจัยได้เข้าพบนายประดิษฐ์  วินิจจะกูล  ท่านดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง  ท่านได้กล่าวถึงบทบาทในการทำงานของสาธารณสุข  รวมทั้งปัญหา  อุปสรรค  ในการทำงาน  และได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานกับองค์กรชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ  มีรายละเอียดดังนี้

     ท่านกล่าวว่า  เรื่องของสุขภาพไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุข  หรือราชการ  เนื่องจาก  ในสมัยก่อนการขยายงานในเรื่องนี้ทำได้ยาก  ดำเนินการไปได้ช้ามาก   ประชาชนเข้าไม่ถึง  การทำงานในระยะแรกเป็นการทำงานที่เน้นในเรื่องการสร้างโครงสร้าง  เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของบุคคล  บุคคลต้องมีความสามารถในการป้องกัน  ระวัง  รักษาสุขภาพ  นี่เองจึงเป็นที่มาของการสาธารณสุขมูลฐาน  การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในระยะแรกกระทำโดยการเอาตัวแทนของประชาชนในพื้นที่มาอบรม  เรียกว่า อสม. ซึ่งอสม.นั้นได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรีให้ความชื่นชมและให้ความสำคัญกับ อสม.  ถึงขนาดที่ต้องการให้ อสม. เข้ามาช่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข   สำหรับการคัดเลือกคนมาอบรมเป็น อสม. นั้น  เฉลี่ยแล้ว 10 หลังคาเรือนจะคัดเลือกตัวแทนมา 1 คน  หน้าที่ของ อสม. คือ  เป็นปากเสียงให้กับประชาชนในพื้นที่  รวมทั้งให้คำแนะนำ  กระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ 

     ในระยะต่อมาบทบาทหน้าที่  รวมทั้งความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขได้แตกแขนงออกมาครอบคลุมในเรื่องสุขภาวะด้วย  เช่น  เรื่องคุณภาพชีวิต  การศึกษา  อาชีพ  รายได้  เป็นต้น  นอกจากนี้แล้วยังมีการพัฒนาตัวชี้วัดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  อนามัย  และสุขภาวะด้วย  รวมทั้งมีการรณรงค์  ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองด้วย  และมีโครงการต่างๆ  เช่น  โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  ศูนย์เด็กเล็ก (ช่วงหลังโอนไปให้อบต.รับผิดชอบ) เป็นต้น 

     สำหรับในส่วนของการทำงานนั้น  ในปัจจุบันปรากฎว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อสาธารรสุขด้วย  เช่น  ในขณะนี้งบประมาณจะไปอยู่ที่ อบต.  เมื่อทางสาธารณสุขจังหวัดไปติดต่อกับทาง อบต.ก็มักจะได้รับการปฏิเสธทั้งๆที่ไม่ได้ไปขอเงิน  (แต่ก็ยอมรับว่าบางครั้งก็ไปขอเงินจริงๆ)  บางครั้งทาง อบต. ก็จะบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ  แต่ไม่มีเงิน  เนื่องจากเงินยังไม่ไปถึงอบต. (แต่คำสั่งไปถึงแล้ว)  แต่ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  มีหลายเรื่องที่ทาง อบต. ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่  เช่น  เรื่องไข้เลือดออก  แต่สำหรับเรื่องคนพิการ  ผู้ติดเชื้อ  ทาง อบต. ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้อยู่

     นอกจากนี้แล้ว  ท่านยังให้ทัศนะเกี่ยวกับการทำงานว่า  การทำงานแบบบูรณาการทำได้ยาก  ซึ่งมีเหตุมาจากหลายปัจจัย  เช่น  เรื่องจังหวะการทำงาน  มีการแทรกแซงจากส่วนกลางสูง  มีเวลาน้อย  เป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่น  ในกรณีของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีอยู่หลายกรม  ซึ่งแต่ละกรมรับผิดชอบงานที่ไม่เหมือนกัน  เช่น  กรมควบคุมโรค  บอกให้โรงเรียนดูแลเรื่องไข้เลือดออก  ในขณะที่กองโภชนาการ  ให้โรงเรียนดูแลเรื่องโภชนาการ  ทีนี้พอต่างหน่วยงานต่างสั่งการลงมา  ผู้รับผิดชอบ  คือ  ครูในโรงเรียนก็เบื่อ  ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม  เพราะ  ต่างฝ่ายต่างสั่ง  สั่งลงมามากเหลือเกิน  ภาระหน้าที่ของครูก็มากอยู่แล้ว  เมื่อเป็นอย่างนี้จึงทำให้เกิดการปฏิเสธไม่ยอมทำงาน  หรือ  ถ้าทำก็ทำไม่เต็มที่  วิธีการแก้  คือ ต้องนำแต่ละฝ่ายมานั่งคุยกัน 

     ในส่วนของการทำงานกับองค์กรชุมชนนั้น  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางให้ข้อคิดที่น่าสนใจ  คือ 

     1.ในการสร้างเครือข่ายฯนั้น   อยู่ที่การจัดการ  อย่าให้ราชการเข้ามาจัดการแทนประชาชน/ชุมชน  ชุมชนต้องเป็นผู้ริเริ่มในการจัดการเอง  คณะกรรมการชุมชนต้องพยายามรวมกลุ่มต่างๆที่อยู่ในชุมชนเข้าด้วยกัน  ต้องสร้างกลุ่มขึ้นมาในชุมชนให้ได้  โดยกลุ่มต้องมีความหลากหลาย    ต้องหาจุดเชื่อมระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการให้ได้

     2.ต้องมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  ปัญหาของราชการ  คือ  งบประมาณมาเป็นปี  เมื่องบประมาณหมดกิจกรรมก็พลอยหมดตามไปด้วย  ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง  ความชำนาญไม่เกิด   

     ขอจบเอาไว้ที่สาธารณสุขจังหวัดลำปางนะคะ  แล้วจะมาเล่าถึงหน่วยงานอื่นๆในวันต่อๆไปค่ะ

     

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16127เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท