บทความจากนสพ


 

แนวคิดการบริหาร : นวัตกรรมทางการจัดการ

จาก นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์

16 กุมภาพันธ์ 2549 17:45 น.

              รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
       คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       [email protected]
       
       ผมจำได้ว่าเคยนำเสนอเรื่องความสำคัญของนวัตกรรม และนวัตกรรมทางการจัดการผ่านทางผู้จัดการรายสัปดาห์ไปหลายครั้ง และจากที่สังเกตดูในปัจจุบันหลายๆ องค์กรชั้นนำของเมืองไทยก็ได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับในเรื่องของนวัตกรรมกันเป็นอย่างมาก ยักษ์ใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทยถึงกับประกาศเป็นนโยบายที่สำคัญโดยทีมผู้บริหารชุดใหม่ในการให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ถึงขั้นมีการประกวดและมอบรางวัลให้กับทีมชนะเลิศเป็นตัวเลขจำนวนมากอยู่
       
       เวลาเราพูดถึงนวัตกรรมส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน แต่เรามักจะไม่ค่อยได้นึกถึงนวัตกรรมทางการจัดการ (Management Innovation) กันเท่าใด เนื่องจากนวัตกรรมทางการจัดการอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากกว่านวัตกรรมทั่วๆ ไป และตัวอย่างของนวัตกรรทางการจัดการก็ไม่ค่อยได้พบเห็นทั่วไปเช่นนวัตกรรมในด้านอื่นๆ
       
        อย่างไรก็ดีในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ Gary Hamel ซึ่งถึงเป็นกูรูทางด้านกลยุทธ์ผู้หนึ่งได้เขียนบทความเรื่องชื่อ The Why, What, and How of Management Innovation ซึ่งในบทความดังกล่าว Hamel พยายามนำเสนอถึงแนวคิด ความจำเป็น และความสำคัญ ของนวัตกรรมทางการจัดการ
       
       โดย Hamel พยายามตอกย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางการจัดการว่ามีความสำคัญต่อการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ไม่แพ้นวัตกรรมด้านอื่นๆ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าในรอบร้อยปีที่ผ่านมา นวัตกรรมทางการจัดการเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำพาองค์กรหลายแห่งสู่ความสำเร็จมากกว่านวัตกรรมในด้านอื่น
       
       อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญก็คือองค์กรต่างๆ ขาดระบบหรือกระบวนการในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการจัดการ Hamel ระบุไว้ว่านวัตกรรมทางการจัดการ หรือ Management Innovation หมายถึง แนวทางคิดในด้านการบริหารจัดการที่แตกต่างจากการบริหารจัดการปกติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการบริหารจัดการขององค์กร หรือถ้าให้ง่ายเข้า ก็คือสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการบริหารจัดการขององค์กร ในขณะที่นวัตกรรมในด้านอื่นๆ เน้นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ กระบวนการในการทำงานทั่วๆ ไป นวัตกรรมทางการจัดการเน้นปรับปรุงกระบวนการในการบริหารจัดการภายในองค์กร (Management Process)
       
       ในบทความดังกล่าว Gary Hamel ได้ยกตัวอย่างขององค์กรชั้นนำที่มีนวัตกรรมทางการจัดการ และประสบความสำเร็จอันได้แก่ GE, DuPont, P&G, Visa, และ Linux โดยนวัตกรรมทางการจัดการของ GE ได้แก่การนำระบบการบริหารที่มีความเป็นระบบและชัดเจนเข้ามาทำให้เกิดความเป็นระบบเรียบสำหรับ GE ที่ในอดีตอุดมไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนขาดระเบียบในการบริหาร หรือ ของ DuPont ก็เป็นการนำเอาหลักการของ Return on Investment (ROI) มาใช้เป็นแห่งแรก จนกระทั่งสามารถหาตัวชี้วัดทางการเงินที่สามารถใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร หรือ P&G ที่เป็นผู้บุกเบิกเรื่องของการบริหารแบรนด์ขึ้นมาใช้เป็นแห่งแรก หรือ Visa ที่เป็นองค์กรแรกๆ ที่มีลักษณะเป็น Virtual Organization อย่างแท้จริง หรือ Linux ที่พัฒนาซอฟแวร์โดยการอาศัยโปรแกรมเมอร์จากทั่วโลกให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า Open Source Development
       
       ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างขององค์กรในต่างประเทศนะครับที่เขาถือว่ามีนวัตกรรมทางการจัดการ ผมว่าถ้าย้อนกลับมามองในประเทศไทยถ้าเราได้ศึกษาอย่างละเอียดก็น่าจะพบว่ามีบริษัทหลายแห่งที่ถือว่ามีนวัตกรรมทางการจัดการนะครับ
       
       บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็น่าจะมีนวัตกรรมทางการจัดการของตนเอง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการลอกเลียนของที่มีอยู่แล้วหรือของต่างประเทศ และลองดูนะครับว่าในองค์กรที่มีนวัตกรรมทางการจัดการจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กร หรือนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่?
       
       Gary Hamel ระบุไว้ในบทความของเขาว่าไม่ได้หมายความว่านวัตกรรมทางการจัดการทุกประเภทจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือการได้เปรียบทางการแข่งขันนะครับ อาจจะมีนวัตกรรมทางการจัดการอีกหลายประเภทที่ไม่นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรมุ่งเน้นในการทำให้เกิดนวัตกรรมทางการจัดการนะครับ Hamel ระบุไว้ในบทความเขาว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของจำนวนครับ นั้นคือยิ่งทำให้มีนวัตกรรมมาก โอกาสประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมากขึ้น เนื่องจากการที่มีจำนวนนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้โอกาสที่นวัตกรรมใดนวัตกรรมหนึ่งจะประสบความสำเร็จมีมากกว่านวัตกรรมที่มีจำนวนน้อย
       
       Hamel เขาได้ร่วมกับอาจารย์จาก London Business School สำรวจว่าในรอบร้อยปีตั้งแต่ 1900 จนกระทั่งถึง 2000 มีนวัตกรรมทางการจัดการที่สำคัญอะไรบ้าง โดยได้รวบรวมบรรดานวัตกรรมทางการจัดการทั้งหมดได้ 175 เรื่อง และจากทั้งหมดได้คัดสรรให้เหลือเพียงแค่ 12 เรื่อง โดยใช้เกณฑ์สามประการได้แก่ นวัตกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกต่างจากแนวทางในการบริหารจัดการแบบเดิมหรือไม่? ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันแก่บริษัทที่คิดและนำมาใช้ก่อนหรือไม่? และ ยังพบการใช้อยู่ในองค์กรปัจจุบันหรือไม่? จากเกณฑ์ทั้งสามข้อ ทำให้ได้สิ่งที่ Hamel เรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางการจัดการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารในยุคปัจจุบัน อันประกอบไปด้วย
       
       1. Scientific Management (Time and motion studies)
       2. Cost accounting and variance analysis
       3. The Commercial Research Laboratory (the industrialization of science)
       4. ROI Analysis and capital budgeting
       5. Brand Management
       6. Large-Scale Project Management
       7. Divisionalization
       8. Leadership Development
       9. Industry Consortia (multicompany collaborative structure)
       10. Radical Decentralization (Self-Organization)
       11. Formalized Strategic Analysis
       12. Employee-Driven Problem Solving
       
       จากทั้ง 12 ข้อข้างต้นผมเองก็ไม่คุ้นกับหลายๆ ชื่อนะครับ อาจจะเป็นชื่อที่ไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายก็ได้ ท่านผู้อ่านลองดูแล้วกันนะครับว่าเห็นด้วยกับ Hamel เขาหรือไม่? ก็ต้องระลึกไว้นิดหนึ่งนะครับว่า Gary Hamel เขาเป็นนักคิดด้านกลยุทธ์ที่เน้นในเรื่องของนวัตกรรมทางกลยุทธ์มาหลายปีแล้ว ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่เขามุ่งเน้นก็อาจจะเป็นแนวคิดที่ใหม่หรือมุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรมพอสมควรนะครับ
       
       ผมจำได้เคยอ่านบทความของเขาเรื่องนวัตกรรมทางกลยุทธ์ Strategic Innovation ก็เน้นในเรื่องการทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางกลยุทธ์ มาคราวนี้เป็นนวัตกรรมทางการจัดการ ไม่แน่นะครับอีกสองสามปีอาจจะเป็นนวัตกรรมในเรื่องอื่นๆ อีกก็ได้ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอ่านฉบับเต็มก็ลองหาอ่านจาก Harvard Business Review ฉบับเดือนนี้ได้นะครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16114เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท