AAR การประชุมภาคี GKM ครั้งที่ 2 (16 ก.พ.49)


AAR การประชุมภาคี GKM ครั้งที่ 2 (16 ก.พ.49)

         GKM คือ Government KM Network

         การประชุมครั้งนี้ศิริราชเป็นเจ้าภาพ   มีผู้เข้าร่วมและผู้สังเกตการณ์มากเป็นพิเศษ   รวมแล้ว 50 - 60 คนจาก 11 หน่วยงาน

    

         บรรยากาศในห้องประชุม            ผู้เข้าร่วมประชุม ๑ 

    

          ผู้เข้าร่วมประชุม ๒                      ผู้เข้าร่วมประชุม ๓     

ความคาดหวังของผม
1. เพื่อ ลปรร. ประสบการณ์การทำ KM ในหน่วยราชการ   อันจะช่วยให้ผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมหยิบวิธีการดี ๆ ไปปรับใช้ในหน่วยงานของตน
2. เป็นการชื่นชมยินดีในผลสำเร็จของแต่ละหน่วยงาน   และเรียนรู้จากผลสำเร็จนั้น
3. เพื่อร่วมกันพัฒนาวิธีดำเนินการ KM ในหน่วยราชการ
4. เพื่อร่วมกันเรียนรู้วิธีดำเนินการ KM โดยวิธีการต่าง ๆ

ที่ได้เกินความคาดหวัง
1. ได้เรียนรู้ผลการวิจัยเรื่องผลของวัฒนธรรมองค์กรต่อการจัดการความรู้   โดย ดร. ยุวดี เกตสัมพันธ์   ซึ่งจะได้นำมาเขียนใน "KM วันละคำ" ต่อไป
2. ได้เรียนรู้วิธีดำเนินการประชุมแบบ KM ของ ดร. ประพนธ์  คือให้พูดเฉพาะส่วนที่ชื่นชม  ที่เป็นผลสำเร็จ
3. ได้เรียนรู้เรื่องการจัดทำแผน KM ของหน่วยราชการตามขั้นตอนของ กพร. และสถาบันเพิ่มฯ   และเห็นว่าแบบฟอร์ม 13 แบบฟอร์มนั้นเอง  คือเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้
4. ได้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่มีพลังมาก   เห็นความก้าวหน้าของทีมแกนนำ KM ในหลายหน่วยงาน   เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร   กรมอนามัย   กรมสุขภาพจิต  เป็นต้น
5. ได้เห็นว่าหน่วยงานที่ทำ KM ไประยะหนึ่งอย่างถูกต้อง   มีการพัฒนาวิทยากรขึ้นใช้ภายในหน่วยงาน   จะสามารถช่วยเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้หน่วยงานอื่นได้
6. ช่วยยืนยันกับผมว่า สคส. สามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองไปได้อีกก้าวหนึ่ง   คือลดบทบาทการเป็นวิทยากร   ให้หน่วยงานที่มีประสบการณ์ทำ KM ได้ผลดีไประยะหนึ่งแล้วรับหน้าที่นี้แล้ว   สคส. มุ่งทำงานสร้างตัวคูณ  รุกสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น
7. ผมมีความสุขมากครับที่ได้เห็นความก้าวหน้าของหน่วยราชการที่ดำเนินการ KM เพื่อ LO จริง ๆ   ไม่ใช่แค่เอาคะแนน
8. ได้เชิญชวนหน่วยงานที่ทำ KM เข้มแข็งมากจัดทำ VCD นำเสนอกิจกรรม KM ของตน   ทำนองเดียวกันกับโครงการ Patho OTOP
9. ได้ฟังวิธีออกแบบ KM ของจังหวัดสมุทรสงคราม   โดย อ. แมนสรวง  เป็นวิธีที่ตั้งเป้าให้พุ่งไปที่เรื่องเดียว   คือการทำให้น้ำปลาที่ผลิตในจังหวัดสมุทรปราการผ่านเกณฑ์ GMP และมีปริมาณไนโตรเจนจากกรดกลูตามิคต่อปริมาณไนโครเจนรวม   ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด   เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย   และต้องร่วมกันทำโดยทุกหน่วยราชการและประชาสังคมด้วย   ผมขอเอาใจช่วยและจะติดตามผลการดำเนินการครับ

ที่ได้น้อยกว่าที่คาดหวัง
ไม่มี

จะทำอะไรต่อ
1. สคส. จะรับฝึกอบรมวิทยากร KM ตามประกาศ KM Internship Program
2. สคส. จะมุ่งจัด Workshop พัฒนาวิทยากร KM/ "คุณอำนวย"
3. สคส. จะไป "จับภาพ" KM เพื่อนำมายกย่อง
4. จะดำเนินการ KM Innovation Award
5. จะดำเนินการ BIO Award
6. จะดำเนินการรางวัล CoP ติดดาว

วิจารณ์ พานิช
 16 ก.พ.49

คำสำคัญ (Tags): #km#หน่วยราชการ
หมายเลขบันทึก: 16110เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท