การประเมินผลแนวใหม่


การประเมินผลแนวใหม่

         รศ. ดร. อรทัย  อาจอ่ำ   แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล   มาชวนไปร่วมให้ความเห็นในการประชุมนำเสนอบททบทวนองค์ความรู้ด้านการประเมินผลแนวใหม่   ในวันที่ 29 มี.ค.49   แต่ผมติดไปบรรยายให้สมาคมเทคนิคการแพทย์ที่อุดร   จึงไปร่วมไม่ได้    จึงขอให้ความเห็นของผมไว้ในบล็อกต่อแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการประเมินผลสำหรับให้ทีม ดร. อรทัย  พิจารณา
-  การประเมินมีคู่ตรงกันข้ามหลายคู่   ผมนึกออกในขณะนี้ 4 คู่
 - การประเมินสำหรับให้ได้ - ตก   หรือให้เกรด A, B, C...หรือที่เรียกว่า summative evaluation กับ การประเมินเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงาน   ช่วยทำให้งานประสบผลสำเร็จที่เรียกว่า formative evaluation
 - การประเมินโดยผู้อื่นหรือทีมประเมิน   กับ  การประเมิน โดยทีมงานนั้นเอง
 - การประเมินเพื่อหาจุดบกพร่องสำหรับนำไปแก้ไข กับ การประเมินเพื่อหาความสำเร็จ  นำไปขยายผล
 - การประเมินเพื่อให้มีรายงานผลการประเมินเป็นเอกสารเป็นการทางการ   เอาไว้เป็นหลักฐานหรือนำเสนอผู้มีอำนาจ  กับ  การประเมินแบบไม่เป็นทางการ  ใช้ผลปรับปรุงการทำงานของตนเองหรือของทีมงานอยู่ตลอดเวลา
- ในชีวิตจริง   การประเมินแบบทำกันเองในทีมทำงานและประเมินหาความสำเร็จมาขับเคลื่อนต่อ   ขยายผลต่อ   น่าจะมีความสำคัญที่สุด
- การประเมินโดยทั่วไปจะให้ความรู้สึกเชิงลบ   เชิงบีบคั้นแก่ผู้ทำงาน  แต่ถ้าประเมินกันเอง   และเน้นประเมินหาความสำเร็จ  เอามาขยายผล  จะสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก   ความไว้วางใจ  ความเคารพ  เห็นคุณค่าซึ่งกันและกันภายในทีมงาน   เกิดการทำงานเป็นทีม   เกิดการเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning)   เกิดความคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking)   เกิดความมั่นใจในตนเองและมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้จากการทำงาน (Personal Mastery)   เกิดความเข้าใจและยอมรับวิธีคิดที่แตกต่างกันของเพื่อนร่วมงาน (Mental Model) และเกิดความชัดเจนในเป้าหมายของงานร่วมกัน (Shared Vision)
- จะเห็นว่าการประเมินผลแนวใหม่ที่เน้นประเมินร่วมกันภายในทีมงาน   ใช้แนวคิดเชิงบวก   เชิงชื่นชม  ค้นหาความสำเร็จเล็ก ๆ เอามาชื่นชม  เรียนรู้ทำความเข้าใจ  เอาไปทดลองปฏิบัติต่อเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายร่วมกัน   คือแนวทางสู่ "องค์กรเรียนรู้" (Learning Organization) จะนำไปสู่ความรู้และการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ
- เทคนิคในการประเมินร่วมกันภายในทีมงานเรียกว่า AAR อ่านได้จากหนังสือ "การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ"  โดยวิจารณ์  พานิช หน้า 162 - 166
- ในชีวิตจริงคนเราใช้การประเมินในชีวิตประจำวันทุกวัน   เช่นประเมินความจริงใจของคน   ประเมินว่าโครงการที่มีคนมาชวนไปช่วยทำงานจะมีความยั่งยืนจริงจัง   หรือจะเป็นเพียงโครงการสร้างภาพของผู้บริหารบางคนหรือประเมินความสดของปลาที่ไปซื้อ   ประเมินเพื่อเลือกส้ม   ประเมินเพื่อเลือกไก่ทอดชิ้นที่ดีที่สุดบนถาด   เป็นต้น
- ในชีวิตจริง   คนทุกคนเป็นเป้าของการประเมิน   ที่เป็นการประเมินระยะยาว   พิสูจน์ความเป็นคนดี   เป็นคนซื่อสัตย์   เป็นคนมีจริยธรรมสูง   เป็นคนเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ส่วนรวม ฯลฯ   คำพังเพยที่ว่า "ระยะทางพิสูจน์ม้า  กาลเวลาพิสูจน์คน" คือสุดยอดของแนวคิดด้านการประเมิน....การประเมินระยะยาว (longitudinal evaluation)

วิจารณ์  พานิช

 18 ก.พ.49

คำสำคัญ (Tags): #การประเมินผล
หมายเลขบันทึก: 16098เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ค่ะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ  ที่ได้กรุณาให้ feedback ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว  โดยไม่ต้องรอถึงวันที่ 29 มีนาคม  สิ่งที่อาจารย์เขียน  มีความกระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น และทำให้เกิดแง่คิดต่าง ๆ ดีมากเลยค่ะ  โดยเฉพาะ 2-3 บันทัดสุดท้าย สำคัญมาก  ถึงรากถึงแก่นดีค่ะ  เพราะที่ผ่านมา  เรามักจะทำอะไร แบบกลไกมากเกินไป  หรือ มองการประเมินเป็นเชิงเทคนิคมากเกินไป  ขาดรากทางปรัชญา  ทำแล้วซับซ้อน  หาจุดที่จะเรียนรู้ร่วมกันได้ยาก  และขาดการตั้งคำถามที่แหลมคม

จะทำการโฆษณา ให้ผู้เข้าร่วมประชุม  (ประมาณ 80 คน) จากหลากหลายสาขาวิชา และองค์กรต่าง ๆ  มาอ่านข้อความนี้ของอาจารย์ต่อไปค่ะ  และจะส่งบททบทวนองค์ความรู้แนวใหม่ หรือ การประเมินผลเพื่อสร้างเสริมพลังอำนาจ (Empowerment Evaluation) มาให้อาจารย์ช่วยกรุณา comment เพิ่มเติม ให้ด้วยนะคะ (คงประมาณอีก 2 อาทิตย์ค่ะ)

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้งหนึ่งค่ะ

อรทัย  อาจอ่ำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท