Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๑)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๑)_๑

ห้องเรียน KM (4)

ประเด็นการนำเสนอ:   การสังเคราะห์เรื่องเล่าที่เป็นแก่นความรู้  (๑)
ผู้ดำเนินรายการ :       ดร.ปฐมพงศ์   ศุภเลิศ   
วัน/เวลา                        วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2548  เวลา 13.30 -16.45 น. 

ดร. ปฐมพงษ์ ศุภเลิศ:
         ในช่วงภาคบ่ายเป็นช่วงที่ตกผลึกขุมความรู้ เป็นช่วงที่อยากจะได้รับการสะท้อนความคิดเห็นจากท่าน  ในฐานะที่ท่านฟังมาตลอด  ความคิดที่ท่านเสนอจะมีสองแนวทาง  แนวทางที่หนึ่งเสนอผ่านเวทีโดยการพูด ท่านอาจจะใช้ไมค์พูดหรืออีกนัยหนึ่งคือท่านเขียนที่กระดาษ ซึ่งเจ้าหน้าที่นำกระดาษไปให้ท่านเขียนเป็นถ้อยคำนำเสนอ รบกวนท่านช่วยจดในประเด็นที่ท่านคิดว่าเราจะสกัดความรู้    ต้องชม note taker ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เรื่องเล่าที่ทรงพลังไว้หมดแล้ว เพื่อที่จะได้นำเสนอ  แต่ก่อนที่จะนำเสนอโดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามท่าน ขอให้ท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้ช่วยร่วมสะท้อนความคิดด้วย แล้วเราจะได้ภาพรวมของการจัดตลาดนัดความรู้อย่างสมบูรณ์แบบ   
         ท่านผู้ใดจะกรุณาเริ่มก่อน ขอให้ท่านแนะนำตัวว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพื่อจะได้เป็นเครือข่ายขอความ รู้และขอคำแนะนำจากท่าน เมื่อเช้านี้มีโอกาสพูดคุยกับนักการศึกษาท่านหนึ่งคือ รศ.ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์ ท่านเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง เหตุเกิดในห้องเรียน  หนังสือนี้จะมีสาระการจัดการความรู้ที่น่าสนใจ  ท่านใดอยากจะได้ไปอ่านก็ขอติดต่อรับได้ที่ท่านอาจารย์ ท่านอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  อย่างไรก็แล้วแต่ต้องการให้ช่วงบ่ายนี้เป็นกันเอง ขอเรียนเชิญท่านที่เป็นคุณกิจตัวจริงทั้งสิบท่านมาร่วมวง  ท่านอาจช่วยเสริมการสรุปในวันนี้ในประเด็นของท่านที่ยังไม่ครอบคลุม 
         ตามกำหนดเวลาจากนี้ไป จะเป็นช่วงสกัดขุมความรู้ ซึ่งจะได้จากเรื่องเล่า ผมได้ปรึกษากับทาง สคส.แล้ว จะมีการสรุปขุมความรู้ จากนั้นอยากจะได้จากท่านโดยการเขียนเพื่อจะได้สรุป หลังจากนั้นเวลา 14.00 น. - 14.30 น. ซึ่งตรงนี้ผู้ทรงคุณวุฒิจะสรุปอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะเป็นเรื่องของการสรุปขุมความรู้ ท้ายสุด จะเป็นการแลกเปลี่ยนที่เราเรียกว่า After Action Review หรือที่เรียกว่า AAR จะพยายามให้ทุกท่านที่อยู่ใน floor ได้สะท้อน ให้ท่านเขียนแล้วจะมีการสุ่มมาอ่าน แล้วจะเป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่งโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จะปิดตลาดนัดความรู้เวลา 16.30 น.  สมาชิกที่เข้ามาที่หลังอาจไม่ทราบว่าในภาคบ่ายนี้ท่านมีส่วนร่วมอะไรบ้าง  อยากจะฟังจากท่านและได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ เรามีผู้รู้ทั้งสถานศึกษาและนักวิชาการรวมไปถึงคุณหมอและพยาบาลที่นั่งอยู่ในวงนี้ เมื่อเช้านี้เข็มขัดเราสั้น คาดไม่ถึงว่าคุณหมอชาตรี  ท่านมีมุข มีสิ่งที่เป็นความรู้ที่ท่านจะสามารถสรุปได้ชัดเจนและเป็นประเด็นที่คมชัดลึก  ขอเรียนเชิญครับ

นายสุรพงศ์  ชัยวงศ์:  ผู้ร่วมประชุม
         เรียนวิทยากรและท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาผู้ทรงเกียรติที่เคารพ ผมนายสุรพงศ์  ชัยวงศ์ ครู กศน. จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่แน่ใจว่าจะพูดเรื่อง KM ได้หรือเปล่า ห้องนี้จะเป็น theme ห้องเรียน  กศน. มีห้องเรียนที่ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องเรียนของเราเป็นห้องเรียนที่ค่อนข้างใหญ่มากกว่าห้องเรียนที่นำเสนอ 10 เท่าของท่าน มีคนเรียน 161 คน อาทิตย์ที่แล้วถ้าใครได้ดูช่อง 7 สี  ท่านจะเห็นกะเหรี่ยงคอยาว  ถ้าไปหมู่บ้านที่พูดถึงคือหมู่บ้านห้วยกูแกง  มีคนพูดไทยได้  20  คน นอกจากนั้นก็พูดไทยไม่ได้  คนจบ ป.4 มี 2 คน  นี่เป็นสภาพของพี่น้องกะเหรี่ยงคอยาวที่ได้นำเสนอ  ทำอย่างไรก็ไม่อยากเรียนหนังสือ ทำอย่างไรก็ไม่สนใจ สิ่งที่เป็นภูมิหลังกะเหรี่ยงคอยาวหนีอพยพจากพม่าประมาณ  25 ปี เราถูกจัดตั้งว่าใครไปแม่ฮ่องสอนก็ล่องเรือดูกะเหรี่ยงคอยาว อย่างดีจ่ายเงินให้ 5 บาท 10  บาท แล้วทิ้งภาพที่หลงเหลือไว้ แล้วพี่น้องกะเหรี่ยงคอยาวที่เป็นอยู่   สิ่งที่เราคิดว่าทำอย่างไรที่ห้องเรียนจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เอามาเรียนคงไม่เรียน พูดไทยก็ไม่ได้ เอามาเรียนก็ไม่ได้ กระบวนการคือชวนมาเปิดเวทีว่าหน้าตาเป็นอย่างไร  เขาจะคอยรับเงิน ข้าวจากเอกชน  เขาจะคอยรับเงินจากเอกชน ดีดซึงให้ดู แล้วยิ้ม ยิ้ม เดือนหนึ่งมีรายได้ไม่เกินหนึ่งพันบาท  เกิดการพูดคุยยังไม่ตัดสินใจ   แล้วพาทีมงานของกะเหรี่ยงคอยาวไปนอกบ้าน ดูบ้านอื่นที่เขาทำว่าทำอย่างไร  ไปดูที่อำเภอเมืองทำอย่างไร  ที่ขุนยวม ทำอย่างไร  พี่น้องชาวละว้า ที่แม่ลาน้อยทำอย่างไร ในใจของครู กศน. คือทำอะไรไม่ได้ ขายได้อย่างเดียวคือความสวยงามของภูมิศาสตร์ ตั้งความหวังไว้ว่าอยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจด้วยตัวของเขาเองว่า ทำเป็นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ องค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นอย่างไรบ้าง ทีมงานพี่น้องกะเหรี่ยงคอยาวก็กำหนดเอง ว่าต้องมีบ้านให้คนพัก ต้องมีอาหารให้กิน คนมาต้องปลอดภัย คนมาต้องสวยงาม คนมาต้องถ่ายรูป  เขาอยากดูการแสดงวัฒนธรรม เขาก็ตั้งองค์กรขึ้นมา แล้วจัดผู้รู้สอนคนที่ไม่รู้ สอนเรื่องการฟ้อนรำของกะเหรี่ยงคอยาว สอนเรื่องหัตถกรรม หัตถศิลป์

         ในขณะนี้ถ้าดูว่าสวยงามคงไม่สวยงาม แต่เป็นภาพที่น่าพึงพอใจว่า  ในระยะเดินทางมา 1 ปีเศษ พี่น้องชาวกะเหรี่ยงคอยาวห้วยภูแกง ได้จัดห้องเรียนที่เป็นห้องเรียนใหญ่ ได้จัดตั้งองค์กร  มีการจัดระบบรักษาความสะอาด  จัดระบบทำ camping ground จัดระบบ home stay  จัดระบบการทำทัวร์ธรรมชาติ  เขาทำกิจกรรมเป็นไกด์ของชุมชนโดยเขาทำของเขาเอง  บทบาทของครู กศน. เราคงเป็นคุณเอื้อ ให้เขาจัดการเรียนรู้ได้อย่างไรในชุมชน และเราอยากให้ชุมชนที่มีการพัฒนาด้วยตนเอง เสียดายว่าไม่มีภาพพี่น้องห้วยภูแกงให้ดู  ถ้ากลับไปดูช่อง 7 คงจะเห็นขอบคุณครับ

ดร. ปฐมพงษ์ ศุภเลิศ :
         ขอบคุณอาจารย์สุรพงศ์ ที่นำเรื่องกรณีการจัดการความรู้กะเหรี่ยงคอยาวซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ท่านเองได้พยายามสรุปเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้  case ของแต่ละจังหวัดที่มีความหลายหลายและน่าสนใจ ในประเด็นต่อไปนี้ท่านอาจมีส่วนร่วม   เราอยากจะได้แง่คิดหรือมุมมองเพิ่มเติม โดยเฉพาะการสร้างการเรียนรู้:บทบาทใหม่ของครูมืออาชีพ ระหว่างรอ note taker ของทางฝ่ายคุณลิขิตที่จะนำเสนอ  มีท่านใดจะกรุณาอีก 1 ท่านได้หรือไม่ ขอเรียนเชิญครับ

รศ. ดร. บุปผา อนันต์สุชาติกุล :  ผู้ร่วมประชุม
         ดิฉันมาจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เท่าที่ฟังมาเมื่อเช้า รู้สึกว่าชื่นใจที่ครูปฏิรูปตนเอง ครูส่วนใหญ่ที่พูดมาทั้งหมดก็ดี แต่การศึกษาส่วนใหญ่ปฏิรูปครั้งนี้มาจากแรงผลักดันเท่านั้น น่าสนใจในเรื่องของการปฏิรูปทั้งโรงเรียน ท่านเจอบทบาทของคุณเอื้อ และคุณอำนวยอย่างไรบ้าง มีโรงเรียนเจออุปสรรคปัญหาขัดขวางหรือไม่ และท่านหาทางออกอย่างไร

ดร. ปฐมพงษ์ ศุภเลิศ :  ผู้ดำเนินรายการ
         ขอบคุณท่านครับ  คิดว่าท่านใดจะกรุณาตอบบ้างครับ  เรียนเชิญท่านอาจารย์ทองดี

อาจารย์ทองดี  แย้มสรวล : 
         ตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ. 2542 คิดว่าครูเองก็พยายามเคลื่อนไหว  จากประสบการณ์ที่มี ยอมรับว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ครูมีความตั้งใจสูง พูดง่ายๆ ว่ายังทำกันไม่เป็น การปฏิรูปตรงนี้เข้ามาค่อนข้างช้าในความคิดของครูทั่วไป หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา อยู่ที่การปรับเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ผ่านมาเป็นการบอก โอนถ่ายความรู้จากตัวเอง พูดง่ายๆ ครูเป็นศูนย์กลางแห่งความเรียนรู้ซึ่งพอเรามาปฏิรูปแล้วมันไม่ใช่ เราอยากเห็นว่าครูเป็นผู้อำนวยการให้เด็กเกิดการกระบวนการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ครูไม่คุ้นเคย และเมื่อไม่คุ้นเคยครูก็ต้องเกิดการเรียนรู้ การทำงานก็คงยังไม่เต็มระบบ ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ตัวเอง ซึ่งตัวผมไม่ใช่ทำตั้งแต่ปี 2542 แต่ทำมานานแล้ว ลองใช้กระบวนการเรียนรู้กับเด็ก จัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อให้เด็กเขาหาการเรียนรู้ของตัวเอง ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนของการจัดการศึกษา ขอยกตัวอย่างที่คิดว่าเป็นปัญหาที่ผู้เล่าจะบอกซ้ำซากก็คือ ภาระของครูมีมาก มีการทำงานหลายอย่าง เช่น งานตามนโยบาย งานตามกระแส งานท้องถิ่น ซึ่งมารุมเร้าครู ทำให้ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพตามเจตนารมณ์ที่อยากจะสร้างได้ เพราะต้องสูญเสียเวลาไปหลายๆ เรื่อง ซึ่งจุดนี้ยังมีปัญหาอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในที่นี้พูดกันเยอะ คือการบูรณาการ การบูรณาการเป็นเป้าหมายตัวหนึ่งของหลักสูตรที่เราอยากเห็น    บูรณาการแบบลักษณะข้ามกลุ่มสาระ แต่บางครั้งเราเองก็ไม่ได้ตีโจทย์ตรงนั้นแตก ว่าบูรณาการทำอย่างไร บูรณาการแบบหลักสูตรเป็นอย่างไร บูรณาการแบบโครง/หัวเรื่องเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันเยอะ แล้วก็ตอนทำก็ยังไม่เป็นระบบ บางทีในเรื่องของนโยบายตั้งแต่ระดับประเทศลงไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาจนถึงในระดับของโรงเรียน ในลักษณะของวิสัยทัศน์ ตัวสรุปตัวละแบบกัน โดยเฉพาะตัวครูค่อนข้างที่จะสับสน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย การแก้ไขยอมรับว่าแนวทางการแก้ไขนั้น ผมมีโอกาสนั่งอยู่ในองค์กรเครือข่าย เราเรียกว่าระบบเครือข่ายครู เป็นเครือข่ายครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายครูมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แล้วครูที่เป็นผู้นำของกลุ่มก็ไม่ได้หมายความว่าดีหรือรู้ทุกเรื่อง ต้องยอมรับในความสามารถของครูแต่ละคน แล้วนำตรงนี้ไปถ่ายทอดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แล้วนำไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับโรงเรียนของแต่ละคน

ดร. ปฐมพงษ์  ศุภเลิศ : 
        อาจารย์ได้กรุณาตอบในส่วนที่เป็นภาครัฐ ลองฟังภาคเอกชนบ้าง โรงเรียนเพลินพัฒนา

อาจารย์วิมลศิริ  ศุษิลวรณ์:   
         ดิฉันมาจากโรงเรียนเพลินพัฒนา ในฐานะที่เป็นโรงเรียนเอกชนและก็ก่อตั้งขึ้นมาภายหลังกลุ่มปฏิรูป ปีนี้เป็นปีที่  3  ที่เริ่มดำเนินการ ดังนั้นจึงมีโอกาสได้ศึกษาแนวนโยบาย การทำให้โรงเรียนเป็นกระบวนการเรียนรู้ตั้งแรกตั้ง  เริ่มตั้งแต่ปรัชญาคือว่าโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวัฒนธรรม ตัวนี้จะนำไปสู่วิสัยทัศน์และแนวทางการปฏิบัติอยู่หลายประการที่ผู้บริหารได้วางไว้ตั้งแต่ต้นว่าการเรียนการสอน คือกระบวนการเรียนรู้ การทำงานบุคลากรก็เป็นการเรียนรู้ วิถีในโรงเรียนก็ต้องเป็นการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในวิถีชีวิต ในพิธีกรรมทั้งหลาย จะมีการบันทึก สรุป ประมวล ซึ่งจะจัดการกับสิ่งที่เราได้มา เป็นการตกผลึก และก็จะสร้างให้เกิดการยกระดับความรู้ทุกครั้งที่ทำงาน อีกประการที่สำคัญคือการออกแบบโครงสร้าง ให้ทุกคนทำงานไปบนเครื่องมือตัวหนึ่ง  เราใช้ intranet เป็นตัวช่วยที่ทำให้การระดมสมองเป็นไปได้ในงาน หากว่าใครทำแผนอะไร จะเข้าไปในเครื่องและบันทึกทั้งหมดลงไป ใครก็สามารถเข้ามาดูข้อมูลที่เกิดขึ้น เมื่อมีฐานความรู้ชนิดนี้ ไปทำงานต่อยอดความรู้ที่สะสมไว้สมองการที่ intranet  ก็จะเพิ่มขึ้นทีละนิด  อันนี้เป็นตัวอย่างตั้งแต่ปรัชญาถึงการปฏิบัติ การทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายว่าทำอย่างไรโรงเรียนของเราจะเป็นโรงเรียน แห่งการเรียนรู้  ประเด็นที่สำคัญคือคุณครูทำงานกลุ่มเหมือนกับที่เราให้นักเรียนทำ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นครูผู้บริหารหรือเด็ก เราจะเติบโตไปในวิถีเดียวกัน ขอบคุณค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16097เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท