การเลี้ยงตัวเองได้ของศูนย์วิจัยในมหาวิทยาลัย


การเลี้ยงตัวเองได้ของศูนย์วิจัยในมหาวิทยาลัย

         ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการของศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มข. เมื่อวันที่ ๑๗ กพ. ๔๙ มีการหารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ในปี ๒๕๕๑ หลังจากมหาวิทยาลัยให้งบประมาณสนับสนุน (ส่วนน้อย) มาครบ ๕ ปี     คือทางมหาวิทยาลัยมีข้อกำหนดว่าจะให้การสนับสนุน (ในกรณีศูนย์นี้ ปีละ ๔ ล้านบาท) เพียง ๕ ปี     แล้วจะไม่สนับสนุนอีกต่อไป 

         คือเลี้ยงดูในช่วงแรก ให้เติบโตเลี้ยงตัวเองได้     ซึ่งฟังดูมีเหตุผลดี
         แต่คำว่า “เลี้ยงตัวเองได้” มีหลายความหมาย     มีหลายระดับ    จึงน่าจะได้ร่วมกันทำความเข้าใจระหว่างผู้บริหารงานวิจัยระดับประเทศ (สกอ.?) ระดับมหาวิทยาลัย  ระดับคณะ  และระดับศูนย์วิจัย   ให้ได้ความหมายที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในประเทศไทย
การที่ศูนย์วิจัยจะเลี้ยงตัวเองได้แค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของทีมในศูนย์วิจัยทั้งหมด    แต่ยังขึ้นอยู่กับแหล่งทุนภายนอก ที่มีการจัดการเพื่อส่งเสริมให้ทีมวิจัยที่เข้มแข็งสามารถเลี้ยงตัวได้  และดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง หากมีผลงานดี    ซึ่งขณะนี้ในเมืองไทยยังไม่มี    สกว. พยายามทำมาได้ในขั้นตอนแรก    แต่ทุนและ overhead ที่ให้ ยังไม่สูงพอ    ดังนั้น จะเห็นว่าพัฒนาการด้านการจัดสรรทุนวิจัยของรัฐในประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปถึงขนาดที่จะมีศูนย์วิจัยที่เลี้ยงตัวเองได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์วิจัยพื้นฐาน ที่มุ่งสร้างบัณฑิตปริญญาเอก และ publication ระดับนานาชาติเป็นหลัก 
          ถ้ามหาวิทยาลัยยึดถือความหมายในระดับที่รุนแรงที่สุด คือต้องเลี้ยงตัวเองทั้งหมด    ไม่มีเงินช่วยเหลือบางส่วนจากมหาวิทยาลัยเลย    ศูนย์นี้ก็จะต้องปิดตัวลง และอาจารย์ผู้ใหญ่ที่รวมตัวกันทำงานจากหลายภาควิชา ได้แก่ รศ. นพ. วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์,  รศ. ดร. พวงรัตน์ ยงวณิชย์,  รศ. ดร. บรรจบ ศรีภา,  รศ. ดร. โสพิศ วงศ์คำ,  รศ. นพ. ชวลิต ไพโรจน์กุล,  รศ. ดร. วีรพล คู่คงวิรยพันธุ์, รศ. ดร. ไพบูลย์ สิทธิถาวร,  เป็นต้น  ก็จะต้องแยกย้ายกันไปทำงานวิจัยแบบตัวใครตัวมัน    แรงขับเคลื่อนเชิงทวีคูณ (synergy) ก็จะไม่มี    ผลงานวิจัยในระดับ 10 international paper ต่อปี ก็อาจเหลือครึ่งเดียว หรือไม่ถึงครึ่ง    นักศึกษาปริญญาเอกระดับคุณภาพสูงอย่างนักศึกษา คปก. (โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก) ก็คงจะลดลงไป    ผลงานเชิงคุณภาพของ มข. คงจะลดลงไปด้วย  
         ผมมองว่าศูนย์วิจัยนี้ได้หาเงินเลี้ยงตัวเองอยู่แล้ว    แต่เนื่องจากทีมนักวิจัยเหล่านี้ไม่มีความรู้ด้านการบริหาร จึงนำเสนอฐานะด้านการเงินที่ใช้ในการผลิตผลงานให้แก่มหาวิทยาลัยไม่เป็น    จริงๆ แล้วต้องเอาเงิน grant ทั้งหมด รวมทั้งทุน คปก. เอามารวมกัน    รวมกับอีก ๔ ล้านที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้    เป็นเงินดำเนินการทั้งหมด สำหรับผลิตผลงานวิจัย (publication) และบัณฑิตปริญญาเอก ระดับคุณภาพนานาชาติ    แล้วจะเห็นว่าศูนย์นี้ได้ทำหน้าที่หาเงินจากภายนอกมาผลิตผลงานให้มหาวิทยาลัย มากกว่าใช้เงินของมหาวิทยาลัยหลายเท่า   
         ถ้ามหาวิทยาลัยใช้เงินวิจัยจากงาบประมาณแผ่นดิน และจากเงินรายได้ สนับสนุนศูนย์วิจัยที่มีความสามารถในการหาทุนจากแหล่งทุนภายนอก    และสามารถผลิต international publication ระดับ high impact factor และผลิตบัณฑิตปริญญาเอกระดับคุณภาพสูงได้เช่นนี้สัก ๒๐ ศูนย์ ranking ของ มข. ในการจัด university ranking ที่ สกอ. กำลังจัด ก็คงจะสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก
         หัวใจของเรื่องจึงอยู่ที่นโยบายสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัย จะเน้นถมบ่อ หรือถมเนิน  

วิจารณ์ พานิช
๑๘ กพ. ๔๙        

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16095เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท