สกศ.ชู9รูปแบบการสอน เพิ่มผลสัมฤทธิ์นักเรียน


เพิ่มผลสัมฤทธิ์นักเรียน

นายอำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำองค์ความรู้รูปแบบการสอนที่เกิดจากการปฏิบัติของครูต้นแบบมาวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีความชัดเจนเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งในช่วงปีการศึกษา 2549-2550 สกศ.ได้คัดเลือกรูปแบบการเรียนรู้ 9 รูปแบบนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบละ 10 โรงเรียน รวม 90 แห่งใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ปรากฏผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้เปรียบเทียบผลการเรียนก่อนและหลังเรียน พบว่า นักเรียนทั้ง 3,450 คน จาก 90 โรงเรียน มีผลการเรียนรู้ในภาพรวมสูงขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำความรู้ไปใช้ และการคิดวิเคราะห์

เมื่อจำแนกผลการทดลองในแต่ละรูปแบบดังนี้ รูปแบบการเรียนรู้แบบพัฒนาการกระบวนการคิดด้วยการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ นักเรียนมีผลคะแนนการเรียนรู้ด้านการคิดในภาพรวมสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนรู้เฉลี่ยร้อยละ 27.85, รูปแบบการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีพัฒนาการการเรียนสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 21.28, รูปแบบการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน เด็กมีพัฒนาการสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24.69, รูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ นักเรียนมีผลการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 26.7, รูปแบบการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มีความแตกต่างของผลการเรียนสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 27.04, รูปแบบการเรียนรู้แบบโครงการ สรุปผลการเรียนภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 26.20, รูปแบบการเรียนรู้แบบประสบการณ์และที่เน้นการปฏิบัติ มีผลการเรียนภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 34.69, รูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา มีค่าคะแนนรวมเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 27.13 และรูปแบบการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ นักเรียนมีผลการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 22.81 ทั้งนี้ ทุกรูปแบบการเรียนรู้ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลการเรียนสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 27

"ผลการทดลองนำร่องรูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 9 รูปแบบ ยังส่งผลทำให้ครูผู้สอนปรับเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมากขึ้น พยายามจัดการเรียนรู้ที่เน้นการฝึกทักษะการคิด การปฏิบัติจริง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังเกิดมิติการทำงานแบบกัลยาณมิตรระหว่างเพื่อนครู มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงเชื่อมชุมชนให้ร่วมจัดการเรียนรู้เพื่อบุตรหลานมากขึ้น"

เลขาธิการ สกศ.เปิดเผยด้วยว่า สกศ.จะเผยแพร่เอกสารรูปแบบการเรียนรู้ พร้อมวีดิทัศน์ไปยังครูต้นแบบ 586 คน และสถานศึกษานำร่องในโครงการ พร้อมทั้งเสนอผลการวิจัยให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่จัดการเรียนการสอนได้นำไปขยายผลในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่แก่ครูในพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้

ที่มา http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edu08230151&day=2008-01-23&sectionid=0107

 

หมายเลขบันทึก: 160890เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท