ตลาดนัดชุมชนนักปฏิบัติครั้งที่ 1 ตอน แรงบันดาลใจในการก่อร่างสร้างชุมชนนักปฏิบัติ


ทุกฝ่ายในวลัยลักษณ์มีความสำคัญเหมือนกันเพียงแต่เราจะทำให้ตัวเรามีความสำคัญหรือไม่มากกว่า และความสำคัญที่ว่านั่น ก็คือ ผลงาน ครับ ดังนั้นการไปสู่วิสัยทัศน์ของวลัยลักษณ์ จึงจะต้องเกิดจากการมีผลงานที่ดีตามภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบชของทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครับ

ผมได้รับเชิญจากงาน OD ของวลัยลักษณ์เรา ให้เข้าร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราชาวชุมชนต่าง ๆ ของวลัยลักษณ์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ในวันที่ 23 ก.พ.49 เวลา 9.00-12.00 น.ที่อาจารวิจัยและบริการวิชาการ เท่าที่ผมได้รับทราบในเบื้องต้นของการจัดตลาดนัดครั้งนี้ ก็ถือเป็นการรวมกลุ่มชุมชนคนทำงานจริงครั้งที่ 1 ของวลัยลักษณ์ เพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในภาคเริ่มต้นกันว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจของการก่อร่างสร้างชุมชนขึ้นมา หลังจากนี้ก็จะมีการจัดตลาดนัดในลักษณะเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะมีตลาดนัดที่แต่ละชุมชนจะได้มีการแสดงผลงานและความสำเร็จในการทำงานร่วมกันในลักษณะชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันประจำปี ซึ่งงาน OD ก็ได้วางแผนงานทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ผมจึงอยากจะถือก็โอกาสนี้เชิญชวนพวกเราชาววลัยลักษณ์ ที่เป็นผู้ปฏิบัติตัวจริง เสียงจริงในแต่ละชุมชน หรือที่กำลังสนใจจะเข้าชุมชนหรือจะตั้งชุมชนใหม่ก็เชิญนะครับ  ผมเชื่อเหลือเกินว่างานดีบรรยากาศจะดีมาก ๆ ที่เดียว

ในส่วนผมเองหากจะให้พูดถึงว่าทำไมต้องมีชุมชน และชุมชนจะมีประโยชน์อะไร ก็อยากจะขอพูดถึงอีกสักครั้ง ในบางส่วนอาจจะซ้ำกับข้อความที่ผมได้เคยบันทึกไว้แล้วใน Blog ก่อนหน้านี้ ผมขอเริ่มต้นว่า การที่พวกเราซึ่งเป็นชาววลัยลักษณ์เลือดแสดม่วง พวกเราทุกคนภูมิใจในความเป็นวลัยลักษณ์ ภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานในสถาบันแห่งนี้ ภูมิใจที่ได้มีโอกาสและส่วนร่วมในการสร้างและทำให้สถานบันแห่งนี้มีความเจริญก้าวหน้า และในที่สุดพวกเราทุกคนก็อยากจะเห็นวลัยลักษ์เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น และเป็นเลิศสู่สากล ตามวิสัยทัศน์ของวลัยลักษณ์ที่พวกเราได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อพวกเราร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์นี้ ใครเล่าที่จะช่วยทำให้วลัยลักษณ์ของพวกเราเป็นอย่างที่พวกเราต้องการ แน่นอนย่อมไม่ใช่บุคคลบุคคลหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะผู้บริหาร ไม่ใช่เฉพาะสายวิชาการ และก็ไม่ใช่เฉพาะสายปฏิบัติการฯ แต่มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเราชาววลัยลักษณ์ทุกคนที่ต้องช่วยกันภายใต้ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ผมมักจะได้รับคำถามจากเพื่อน ๆ ร่วมงานสายปฏิบัติการ ซึ่งถือว่าเป็นสายสนับสนุนในมหาวิทยาลัยเสมอว่า พวกเราจะสามารถช่วยกันทำให้วลัยลักษณ์บรรลุวิสัยทัศน์ได้อย่างไร น่าจะเป็นหน้าที่ของสายวิชาการ หรือของผู้บริหารมากกว่า ซึ่งคำถามนี้ผมขอไม่ตอบว่าถูกหรือผิด แต่ผมอยากจะยกตัวอย่างว่า  หากเราต้องการส่งยานอวกาศขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อสำรวจจักรวาล เรามีระบบคอมพิวเตอร์สมองกลที่จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดเส้นทางโคจรและศึกษาในสิ่งต่าง ๆที่มนุษย์อยากรู้ แต่หากขาดระบบเชื้อเพลิงและพลังงานที่จะขับเคลื่อนและส่งยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้ ยานนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร ถึงตอนนี้ผมจึงอยากจะบอกว่า ทุกฝ่ายในวลัยลักษณ์มีความสำคัญเหมือนกัน เพียงแต่เราจะทำให้ตัวเรามีความสำคัญหรือไม่มากกว่า  และความสำคัญที่ว่านั่น ก็คือ  ผลงาน ครับ ดังนั้นการไปสู่วิสัยทัศน์ของวลัยลักษณ์จึงจะต้องเกิดจากการมีผลงานที่ดีตามภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบของทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครับ

การเกิดชุมชนนักปฏิบัติขึ้น ถือเป็นการรวมกลุ่มของคนที่ทำงานในลักษณะเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ซึ่งหมายความรวมถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสายวิชาการ หรือสายปฏิบัติการฯ  มาร่วมกันคิด มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมาร่วมกันพัฒนาการทำงาน ให้งานที่เราทำอยู่เป็นงานที่มีคุณภาพ มีการพัฒนา ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้ปฏิบัติงาน ที่จะมีความสามารถมากขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น ทำงานได้มีคุณภาพมากขึ้น และในที่สุดวลัยลักษณ์ของเราก็จะดียิ่งขึ้น ดังนั้นการเกิดชุมชนนักปฏิบัติจึงถือว่า เป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรนั่นเอง และที่สำคัญอีกอยางหนึ่งสำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมชุมชนซึ่งจะมีคาถาที่ต้องท่องให้ซาบซึ้งในหัวใจก็คือ Care and Share จึงจะทำให้พวกเรามีความสุขในการเข้าร่วมชุมชน อย่าลืมนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 15993เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2006 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท