สะสางงานเก่า…คุยกับธนาคารออมสิน


ปัญหาของการทำงานกับชุมชน คือ กลุ่มขาดวินัย ผู้นำอิงการเมืองมากเกินไป

      เมื่อวานซืน (15 กุมภาพันธ์ 2548) เวลาประมาณ 10.15 – 11.45น. ผู้วิจัยได้เดินทางไปที่ธนาคารออมสินสำนักงานเขตลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ของอาคารสำนักงานธนาคารออมสิน สาขาสบตุ๋ย (ใกล้ที่พักผู้วิจัยนิดเดียว) เพื่อเข้าพบท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสินสำนักงาน เขตลำปาง (ขอสารภาพว่าจำชื่อของท่านไม่ได้จริงๆค่ะ) ท่านให้การต้อนรับผู้วิจัยเป็นอย่างดี คุยไปคุยมาเลยได้ทราบว่าท่านเพิ่งย้ายมาเป็นผู้อำนวยการของลำปางได้แค่ 3 อาทิตย์ (มิน่าล่ะ ผู้วิจัยเอ่ยถึงชื่อใคร ทั้งๆที่เป็นคนที่เป็นที่รู้จักของจังหวัด แต่ดูเหมือนว่าท่านจะไม่รู้จัก) ท่านเป็นคนใจดีมาก จากเวลาที่คุยกัน 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่คุยกันเรื่องงานสักครึ่งหนึ่งของเวลาเข้าพบมั๊งคะ ที่เหลือคุยกันเรื่องสัพเพเหระ ช่วงท้ายของการพูดคุยมีผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสบตุ๋ย มาร่วมวงคุยด้วย

      จากการพูดคุยกันทำให้ทราบว่าในจังหวัดลำปาง มีสาขาของธนาคารออมสินทั้งสิ้น 9 สาขา (อย่างนี้แสดงว่าบางอำเภอก็ไม่มีสาขาของธนาคารออมสินตั้งอยู่ เพราะ จังหวัดลำปางมีทั้งสิ้น 13 อำเภอ) ท่านได้สรุปข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้เห็นภาพของธนาคารออมสินไว้ดังนี้

       ในส่วนของ วิสัยทัศน์ ธนาคารออมสินได้ตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่า เป็นสถาบันการเงินที่มั่นคงของประเทศ จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันธนาคารออมสินเปิดให้บริการกับสังคมไทยมาแล้วเป็นเวลา 94 ปี มี 589 สาขา เป็นสถาบันเพื่อการออม การลงทุน การสร้างเศรษฐกิจชุมชน ให้บริการกับประชาชนทั่วประเทศ

        จากวิสัยทัศน์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นภารกิจที่สำคัญของธนาคารออมสินในด้านต่างๆ ได้แก่

       1.การออม ธนาคารออมสินมุ่งเน้นให้เกิดการออมกับประชาชนในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา ขณะนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ธนาคารออมสินสังกัดกระทรวงการคลัง) ในการดำเนินการเรื่องธนาคารโรงเรียน ปัจจุบันในจังหวัดลำปางมีโรงเรียนอยู่หลายแห่งที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เช่น LCCT , โรงเรียนลำปางกัลยาณี เป็นต้น สำหรับการดำเนินการธนาคารโรงเรียนนั้น โรงเรียนที่ต้องการได้เข้าร่วมโครงการนี้จะต้อง (1) แสดงความยินยอมเข้าร่วมโครงการ (2) มีสถานที่ (ห้อง) เฉพาะสำหรับการจัดการ (ต้องติดแอร์ด้วย) โดยธนาคารออมสินจะบริจาคคอมพิวเตอร์ รวมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆให้กับโรงเรียนด้วย (แม้จะเลิกดำเนินการในภายหลังก็ตาม) ในส่วนของการบริหารจัดการนั้นทางธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่มาอบรม ให้ความรู้กับนักเรียนที่ต้องการเข้ามาทำงานในส่วนนี้ ดังนั้น ในการบริหารจัดการจึงอยู่ที่ในโรงเรียน โดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่ธนาคารออมสิน เมื่อเก็บเงินออมในแต่ละวันแล้ว ตัวแทนจะต้องนำมาฝากที่ธนาคารออมสินทุกวัน

 

        2.การลงทุน ในส่วนนี้มีทั้งการลงทุนเพื่อสังคมและการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

       3.การสร้างเศรษฐกิจชุมชน ในส่วนนี้ทางธนาคารออมสินดำเนินการในหลากหลายวิธี เช่น การออกบริการไปรับฝากเงินนอกสถานที่ สำหรับพ่อค้า แม่ค้า รวมทั้งบุคคลที่ไม่มีเวลาไปธนาคาร เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการพระราชดำริ มีการฝึกให้ประชาชนรู้จักการออมเงิน (แต่เดิมโครงการนี้สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล ต่อมาได้โอนให้กับธนาคารออมสินตั้งแต่ปี พ.ศ.2538) รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องกองทุนหมู่บ้าน , ธนาคารหมู่บ้าน , SML เป็นต้น

        ในส่วนของ การบริหารจัดการ ธนาคารออมสินใช้หลัก 5 ก คือ

        1.การสร้างกิจกรรม ส่งเสริมให้ชาวบ้านเก็บออมเงิน ใช้เงินเป็นตัวชี้วัด

       2.การรวมกลุ่ม ส่งเสริมให้ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ โดยในการรวมกลุ่มนั้นต้องมีสมาชิกตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป (ต้องอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันด้วยค่ะ นี่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ และผู้วิจัยเห็นว่าเป็นความแตกต่างของกฎ กติกา ของหน่วยงานต่างๆ)

      3.การลงทุน เนื่องจากในปัจจุบันเป็นโลกของการแข่งขัน ธนาคารออมสินก็เช่นเดียวกัน แม้ธนาคารออมสินจะเป็นธนาคารของรัฐก็ตาม ในส่วนของการลงทุนนั้นธนาคารออมสินมีการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆด้วย เช่น การปล่อยกู้ ด้วยเงื่อนไขพิเศษ เป็นต้น

       4.การจัดการ ในการบริหารจัดการกลุ่มนั้น ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้ออกระเบียบ ข้อบังคับ และบริหารจัดการกันเอง ธนาคารออมสินจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสริมในกระบวนการต่างๆเท่านั้น เช่น กลุ่มต้องการทำของชำร่วยออกจำหน่าย แต่ไม่มีความรู้ในเรื่องการทำ การจัดการ ธนาคารออมสินก็จะจัดหาวิทยากรไปให้ความรู้ โดยที่กลุ่มไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

        5.การกู้ ในส่วนของการกู้ยืมเงินนั้น ถ้าหากมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้นในหมู่บ้านแล้ว หากกลุ่มมีเงินไม่พอในการลงทุน สามารถเขียนโครงการมาเพื่อกู้เงินจากธนาคารออมสินได้ แต่ก่อนที่จะให้กู้ ธนาคารจะต้องทำการตรวจสอบก่อน ซึ่งขั้นตอนในการตรวจสอบนั้น ทางธนาคารจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน , ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน , สำนักงานเกษตร , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น การที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานเหล่านี้นั้น เนื่องจาก บางกลุ่มจะมีหน่วยงานเหล่านี้เข้าไปทำงานด้วย ส่งผลให้หน่วยงานเหล่านี้ทราบว่าสถานะของกลุ่มเป็นอย่างไร ดังนั้น ในการที่จะเขียนโครงการขึ้นมาขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร ออมสิน ถ้าหากกลุ่มใดทำงานร่วมกับหน่วยงานเหล่านี้อยู่แล้ว ก่อนที่จะยื่นโครงการมาที่ธนาคาร ทางกลุ่มจะต้องให้หน่วยงานที่ทำงานร่วมกันเซ็นต์ชื่อรับรองมาก่อน แต่ถ้าหากว่ากลุ่มที่ไม่มีหน่วยงานใดสนับสนุนก็สามารถยื่นเรื่องมาที่ธนาคารออมสินได้เลย ทางธนาคารจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบเอง

        ปิดท้ายก่อนจบการสนทนา ท่านผู้อำนวยการได้กล่าวว่า ปัญหาของการทำงานกับชุมชน (เท่าที่ท่านประสบมา) คือ กลุ่มขาดวินัย ผู้นำอิงการเมืองมากเกินไป โดยเฉพาะในปัจจุบันจะเห็นชัดมาก การที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานลดการให้การสนับสนุนกลุ่มต่างๆลงก็เนื่องมาจากสาเหตุนี้ด้วย ท่านยังกล่าวในประเด็นนี้ต่อว่ากลุ่มหนึ่งๆน่าจะมีสมาชิกไม่เกิน 50 คน เนื่องจากมีสมาชิกมากก็มากคน มากความ สำหรับหลักในการทำงานกับชุมชนนั้นมีมากมาย แต่ในส่วนของการเชื่อมประสานนั้น ท่านผู้อำนวยการกล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารออมสินจะทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยธนาคารออมสินจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ (เนื่องจากธนาคารออมสินเป็นผู้ออกเงิน) ให้มาทำงานร่วมกัน เพราะ ผลงานที่ออกมาก็เป็น ผลงานร่วมกัน หากทางเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางอยากเข้ามาทำงานร่วมกับธนาคารออมสินก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย เข้ามาคุยกันก่อนว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร ในส่วนของกลุ่มที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯก็เช่นกัน หากต้องการความรู้ กู้ยืมเงินก็สามารถติดต่อที่ธนาคารออมสินในแต่ละพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงได้ ทางธนาคารยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15942เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2006 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท