การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา


การกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ดี แสเดงให้เห็นวิสัยทัศน์ แต่กระทรวงต้องให้อัตราข้าราชการครูให้เพียงพอ

บทความการศึกษา / การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา

              ธนสาร     บัลลังก์ปัทมา                       

             /พิมพ์ครั้งแรก The City Journal 1-16 ตุลาคม 2550 

                โดยที่มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. พ.ศ. 2545 บัญญัติให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ต้องออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังคณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550 โดยมีการจัดอบรมครูไปเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาในหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจสำหรับครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา ขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทของสถานศึกษาโดยระยะแรกได้แบ่งสถานศึกษาที่รองรับการกระจายอำนาจเป็น 2 ประเภท

                สถานศึกษาประเภทที่ 1 จำนวน 609 แห่ง ได้แก่สถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป หรือโรงเรียนและศูนย์การศึกษาพิเศษและมีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาได้มาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) โดยหมายถึง สถานศึกษาได้มาตรฐานตามเกณฑ์การประเมินจาก สมศ. รอบแรก อยู่ในระดับดี มีค่าเฉลี่ยนของผลการประเมินทั้ง 14 มาตรฐาน มากกว่า 2.50 และไม่มีมาตรฐานใดอยู่ในระดับปรับปรุง หรือได้มาตรฐานรอบที่ 2 (พ.ศ. 2549-2553) ระดับดี หมายถึง มีค่าเฉลี่ยผลประเมินทั้ง 14 มาตรฐานมากกว่าหรือกับ 2.75 ขึ้นไป และได้มาตรฐานระดับดี 11 มาตรฐานขึ้นไป ไม่มีมาตรฐานใดอยู่ในระดับปรับปรุง ส่วนสถานศึกษาประเภทที่ 2 ได้แก่สถานศึกษาที่ไม่เข้าข่ายการเป็นสถานศึกษาประเภทที่ 1

                จากที่กล่าวมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้จัดพิมพ์แนวทางการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาให้คณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 ขึ้น โดยในส่วนของสถานศึกษานั้น มีเป้าหมาย(Goal) .ให้สถานศึกษาประเภทที่ 1 มีความเข้มแข็ง มีอิสระและคล่องตัวในการบริหารและจัดการศึกษา ตามกรอบภารกิจการกระจายอำนาจทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไปที่ได้รับมอบการกระจายอำนาจได้ด้วยตนเอง มีรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) มุ่งเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีระบบประกันคุณภาพภายในที่พร้อมรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกและการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน ในส่วนของสถานศึกษาประเภทที่ 2 ต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมและความเหมาะสมในการบริหารและการจัดการศึกษาตามกรอบภารกิจการกระจายอำนาจทั้ง 4 ด้าน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอาจเข้าไปช่วยเหลือหรือทำการแทนในบางเรื่องหรือประกาศจัดตั้งเป็นเครือข่ายสถานศึกษา

                นักศึกษาปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ศูนย์ศาลายา ได้จัดเสวนาย่อยเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาตามกฎกระทรวง โดยมี อาจารย์ ดร.เก็จกนก  เอื้อวงศ์ เป็นที่ปรึกษา ผลจากการเสวนาย่อยครั้งนี้ สรุปได้ว่าการกระจายอำนาจทั้ง 4 ด้านนั้น ด้านวิชาการ เป็นด้านที่โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถทำได้อย่างดี

เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาวิชาชีพ จะมีปัญหาเฉพาะเรื่องการส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ ที่ครูมองว่าจะเป็นการจัดอบรมให้ความรู้ ซึ่งแนวทางแก้ไข คือ อาจใช้การส่งเสริมผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์หรือในรูปวารสาร จุลสารวิชาการ, ด้านการบริหารทั่วไป เป็นด้านที่โรงเรียนสามารถปฎิบัติดีรองจากด้านวิชาการ โดยปัญหาในด้านนี้ คือ การวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายและแผน ที่ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถและมีเวลาและด้านการประสานการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยที่ครูกลัวว่าจะเพิ่มภาระงาน รวมถึงยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย, ส่วนด้านการบริหารงานบุคคล แม้จะเป็นภาระงานที่โรงเรียนทุกแห่งดำเนินการอยู่แล้ว  แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตรากำลัง คือ การจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แม้โรงเรียนจะทำได้แต่ถ้าขาดงบประมาณก็คงดำเนินการไม่ได้ รวมถึงอาจได้ครูไม่ตรงตามความต้องการ และด้านการสรรหาและบรรจุหากดำเนินการผ่านโรงเรียนอาจจะเกิดระบบเส้นสายขึ้นได้ ส่วนด้านที่ครูมองว่ามีปัญหาและอุปสรรคมากที่สุดคือ ด้านงบประมาณ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินและระเบียบ ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทาง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง รวมถึงการกำหนดรูปแบบรายการครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้

                การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษานับเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เห็นถึงความมีวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่ในกระทรวง ที่ช่วยให้สถานศึกษา มีอิสระในการบริหารจัดการ  สามารถยืนบนขาของตัวเอง  แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ ผลพวงจากการกระจายอำนาจจะส่งผลให้สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือโรงเรียนดัง สามารถกำหนดค่าบำรุงการศึกษาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้ สิ่งสำคัญเมื่อกระจายอำนาจแล้ว กระทรวงต้องให้อัตรากำลังเพื่อบรรจุบุคลากรทางการศึกษาเฉพาะทาง เพราะหากไม่มีอัตรากำลังให้โรงเรียนแล้ว คงกลายเป็นฝันค้างที่ไม่มีทางเป็นจริงแน่ทีเดียว

******************

 

หมายเลขบันทึก: 159152เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2008 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยทุกประการ

เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลยครับ ขอให้สรุปเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามาลงให้มาก ๆ ด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาและประชาชนโดยทั่วไป

สวัสดีตอนเช้า

การกระจายอำนาจทางการศึกษาเป็นผลดีมากต่อการพัฒนาประเทศ เพราะว่า การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนา เพราะคนทั่วไปมองเห็นว่า เมื่อคนเรารู้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง รู้เกี่ยวกัยวทรัพยากรที่อยู่ในท้องถิ่น รู้จักการใช้ทรัพยากร และหวงแหน ก็จะเกิดประโยชน์มาก อีกท้องยังสามารถนำทรัพยากรที่อยู่ในท้องถิ่นมาใช้ได้ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางธรรมชาติ

ดังนั้น จึงเน้นเรื่องการพัฒนาทางการศึกษา ให้ทุกคนรู้โดยใช้จิตรสำนึกในท้องถิ่น ต้องรู้จัก "รักบ้านเกิด" จึงจะเกิดการพัฒนา เมื่อท้องถิ่นพีฒนา ประเทศย่อมพัฒนา ทั้งในทางการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การเมืองย่อมเกิดผล

ให้ข้อคิดไว้ จาก เด็กอุบล .........เด้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท