เชื่อหรือไม่! โรงพยาบาลมีเชื้อโรคมากกว่าที่คุณคิด?


“จับตา...ระบบปลอดเชื้อในโรงพยาบาล”

เชื่อหรือไม่! โรงพยาบาลมีเชื้อโรคมากกว่าที่คุณคิด?

(อ้างจาก แถลงข่าวของสภาวิศวกร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2547)

เห็นจั่วหัวข่าวข้างต้น อย่าเพิ่งตกใจ พาลกันไม่ยอมไปโรงหมอ จนต้องร้อนถึง แพทยสภา ออกโรงกันมาชื้แจง เพราะเรื่องที่ทางสภาวิศวกรได้ทำการแถลงข่าวสื่อมวลชนครั้งที่ 5/2547  ในหัวข้อ “จับตา...ระบบปลอดเชื้อในโรงพยาบาล” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีเนื้อหาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์แต่อย่างใด

                ด้วยในปัจจุบันมีปัญหาการติดเชื้อทางอากาศในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ระหว่างผู้ป่วยสู่เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยสู่ผู้ป่วย และ ผู้ป่วยสู่ผู้มาเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อวัณโรค ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมากเนื่องจากการมีผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากและมีแรงงานต่างชาตินอกระบบจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้อเกิดใหม่ เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ซึ่งยังคงไม่สามารถตัดประเด็นการแพร่เชื้อทางอากาศได้ จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยต่อเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วย ตลอดจนผู้มาเยี่ยม เป็นอย่างมาก และมีรายงานการติดเชื้อทางอากาศในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุหลักของการติดเชื้อทางอากาศในโรงพยาบาลเกิดขึ้นเนื่องจาก ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลได้มีการติดตั้งระบบปรับอากาศเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับการออกแบบ ติดตั้ง และใช้งานอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมปรับอากาศ จึงทำให้ระบบปรับอากาศในโรงพยาบาลในประเทศไทยมีมาตรฐานต่ำกว่ามาตรฐานสากลและมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องที่ต้องมีการควบคุมการติดเชื้ออย่างเข้มงวด เช่น ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ห้องคลอด ห้องเด็กอ่อน ห้องแยกผู้ป่วยปลอดเชื้อ และห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ

นอกจากนี้ พื้นที่อื่นๆที่มีการปรับอากาศในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยอยู่จำนวนมาก เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกฉุกเฉิน หรือ หอพักผู้ป่วยรวม ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคทางอากาศ ยังไม่ได้รับการออกแบบตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานสมาคมวิศวกรปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (ASHRAE) หรือมาตรฐานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (ว.ส.ท.) นอกจากนี้ระบบปรับอากาศของโรงพยาบาลจำนวนมากยังขาดการบำรุงรักษาที่ดีจึงทำให้ระบบปรับอากาศไม่สามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบอีกด้วย

สำหรับห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ (Airborne Infection Isolation Room) ซึ่งเป็นห้องที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วย วัณโรค โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส ตลอดจนโรคร้ายแรงอื่นๆที่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ แต่โรงพยาบาลในประเทศไทยมีห้องแยกฯที่ได้มาตรฐานไม่เพียงพอ และมีอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น การรักษาผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศจึงต้องรักษาอยู่ในห้องธรรมดาที่ไม่ได้มาตรฐาน และอาจนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อทั่วทั้งอาคารโรคพยาบาลได้

เพื่อพัฒนามาตรฐานระบบปรับอากาศของโรงพยาบาล ให้มีความปลอดภัยต่อสาธารณชนตามมาตรฐานสากล สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (ว.ส.ท.) และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะดังนี้

 1.       สำหรับระดับนโยบาย

·        รัฐบาลควรกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีมาตรการควบคุมการติดเชื้อทางอากาศให้ได้มาตรฐานของหน่วยงานสาธารณสุขสากล เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันกันติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เพื่อคุ้มครองสาธารณชนที่เข้าไปใช้บริการ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

·        กำหนดให้ระบบรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ทำการตรวจสอบมาตรฐานของระบบปรับอากาศที่ใช้ในโรงพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ว.ส.ท.

2.       สำหรับระดับโรงพยาบาล

·        ฝึกอบรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมการติดเชื้อ ให้มีความรู้เกี่ยวกับระบบปรับอากาศและระบบควบคุมการติดเชื้อทางอากาศ

·        ฝึกอบรมวิศวกรหรือช่างประจำโรงพยาบาล ให้มีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมปรับอากาศสำหรับโรงพยาบาลอย่างถูกต้อง

·        คณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อของโรงพยาบาล ควรมีความเข้าใจงานระบบปรับอากาศและกลไกการแพร่เชื้อผ่านระบบปรับอากาศเป็นอย่างดี หรือมีวิศวกรที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมปรับอากาศสำหรับโรงพยาบาลเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย

·        ในการว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบ หรือว่าจ้างติดตั้งระบบปรับอากาศในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการควบคุมการติดเชื้ออย่างเข้มงวด ควรกำหนดให้มีวิศวกรเครื่องกล ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับสามัญหรือวุฒิวิศวกร จากสภาวิศวกร เป็นผู้รับรองการออกแบบและการติดตั้ง

3.       สำหรับวิศวกร

·        การออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศสำหรับโรงพยาบาล ให้ออกแบบตามมาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศของ ว.ส.ท. โดยเคร่งครัด

·        ในกรณีที่อยู่นอกของเขตของมาตรฐาน ว.ส.ท. ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือข้อแนะนำของสมาคมวิศวกรปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (ASHRAE) เช่น 2003 ASHRAE Application Handbook, Chapter 7 Healthcare Facilities

·        ศึกษาข้อกำหนดและคำแนะนำที่ออกโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอ

·        กรมควบคุมโรค : http://www-ddc.moph.go.th/index.html

·        องค์การอนามัยโลก : http://www.who.int

ศูนย์ควบคุมและป้องกันการติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา : http://www.cdc.gov

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15894เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2006 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท