การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก


CITY EDU / บทความการศึกษา / การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก

ธนสาร  บัลลังก์ปัทมา        

พิมพ์ครั้งแรก thecityjournal 17-31 ธันวาคม 2550

                  การผลการประเมินภายนอกของ สำนักประเมินมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) ในรอบแรก ผลการประเมินจะพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทเกือบครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ซึ่งคงจะไปโทษผู้บริหารหรือครูในโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กปัญหาหลักของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ การขาดงบประมาณที่คำนวณตามรายหัวของเด็ก และการขาดบุคลากร ส่งผลให้การดำเนินงานด้านวิชาการที่ถือเป็นหัวใจหลักของโรงเรียนเกิดปัญหาตามมา ซึ่งทางออกทางหนึ่งที่นอกเหนือจากการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก คือ การถ่ายโอนการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่นดำเนินการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่สำหรับจัดการศึกษาให้ลูกหลานในท้องถิ่น และเป็นแนวทางการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่จะมีการถ่ายโอนไปในภายหลัง ทั้งนี้เพราะการถ่ายโอนการศึกษานั้น ควรเริ่มจากการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กและการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กก่อน หลังมีความพร้อมจึงจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งครู ผู้ปกครอง ชุมชน                ปัญหาในการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก มีงานวิจัยที่น่าสนใจของคุณชาลินี  กำลังงาม นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงานการเงินในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2                  ปัญหาการปฏิบัติงานการเงินในโรงเรียนขนาดเล็ก มีปัญหาการปฏิบัติงานการเงินในโรงเรียนอยู่ในระดับปานกลาง    โดยด้านที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ การเก็บรักษาเงิน  โดยสาเหตุมาจากการขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านการเงินโดยเฉพาะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่การเงินโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นครูผู้สอน ที่มีงานหลักคือการสอน                    แนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงานการเงินในโรงเรียนขนาดเล็ก คือ   ฝ่ายการเงินเขตพื้นที่ ควรแจกเอกสารหรือคู่มือให้ครบถ้วน เข้าใจง่ายและชัดเจนเป็นปัจจุบัน  และโรงเรียนควรใช้เอกสารเป็นแหล่งศึกษารายละเอียด   รวมถึงควรจัดการประชุมชี้แจงหรืออบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน   เพื่อให้โรงเรียนสามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบอย่างสมบูรณ์ และควรมีบุคลากรการเงินเฉพาะทาง รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานการเงิน                    แนวทางที่กล่าวมานี้โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่ง สามารถนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงานการเงินในโรงเรียนโดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงานการเงินในโรงเรียนขนาดเล็กได้ โดยปรับปรุงให้เหมาะกับท้องถิ่นและบริบทต่าง ๆ

                    นอกจากงานบริหารงบประมาณแล้ว ด้านการบริหารงานวิชาการในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรในท้องถิ่น เช่น ครูพระสอนศีลธรรม วิทยากรพ่อแม่มาสอนความรู้ในวิชาการงานและอาชีพ  การเชิญวิทยากรท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น การซ่อมจักรยานยนต์ การตัดผม ฯลฯ เพื่อลดภาระของครู นอกจากนี้โรงเรียนต้องประสานความร่วมมือกับองค์กรในชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ พัสดุครุภัณฑ์ และการจ้างครู เพื่อให้การจัดการศึกษาดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                    ด้านบุคลากร ครูส่วนใหญ่มักเป็นครูที่บรรจุใหม่ เมื่อบรรจุได้สักพักจึงทำเรื่องย้ายไปในที่เจริญกว่า ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการจัดการเรียนการสอน ผู้บริหารจึงต้องแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ประการสำคัญเมื่อการบริหารงานโรงเรียนเริ่มเข้าที่จะเป็นช่วงเดียวกับที่ผู้บริหารได้ย้ายไปโรงเรียนอื่น  ดังนั้นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้บริหารและครูในโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อดึงครูให้อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก มีความภาคภูมิใจในโรงเรียน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กจะเสียเปรียบโรงเรียนขนาดใหญ่แทบทุกด้านทั้งเม็ดเงินที่ใช้ในการพิจารณาความดีความชอบ ครูที่มีเงินเดือนมากย่อมีเม็ดเงินมากกว่าครูบรรจุใหม่

                    การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กอีกทางหนึ่ง คือ การส่งศึกษานิเทศก์ไปให้ความรู้ เป็นพี่เลี้ยงครู แนะนำ แก้ปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียน

                การแก้ปัญหาการดำเนินงานในโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียน หากโรงเรียนขนาดเล็กมีระบบการบริหารงานที่ดี มีผู้บริหารและครูมืออาชีพที่มีความรักความภูมิใจในท้องถิ่น ย่อมส่งผลดีต่อการบริหารงานโรงเรียน เพื่อผลปลายทาง คือ คุณภาพผู้เรียน เพราะการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรที่สำคัญในการบริหารงาน ได้แก่   คน   เงิน  วัสดุอุปกรณ์ และวิธีการจัดการและระบบบริหารที่ดีและมีประสิทธิภาพ (4 M)

                การแก้ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาที่สำคัญ กระรวงศึกษาธิการจึงควรพัฒนาผู้บริหารและครูในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยอบรมครูทั้งโรงเรียนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง(Change Agent) เหมือนกับการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจสำหรับโรงเรียนที่มีผลการประเมินภายนอกระดับดีมาก แตกต่างกันเพียงการอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดในรูปแบบการการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอ  และจัดหาโรงเรียนพี่เลี้ยงเพื่อคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำในการพัฒนาบุคลากรโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงเพิ่มอัตราส่วนความดีความชอบให้ครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนขนาดเล็กให้มากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่/////////

หมายเลขบันทึก: 158748เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากกำลังจะทำผลงานเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก จะหาอ่านแบบเล่มเต็มได้ที่ไหนบ้าง อยากให้แนะนำหนังสือ /งานวิจัย/แหล่งหาหนังสือ เกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท