ความในใจของ ศ. ระพี สาคริก


ความในใจของ ศ. ระพี  สาคริก


          ศ. ระพี  สาคริก   เป็น “ราษฎรอาวุโส” คนหนึ่ง   ที่ผู้คนเคารพศรัทธาใน “สุทธิ  ปัญญา  เมตตา  ขันตี” ของท่าน   ท่านเมตตาผม   และส่งข้อเขียนความในใจของท่านมาให้ผมเสมอ   เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.48   ท่านก็ส่งมาให้อีกปึกใหญ่


          เรื่องต่อไปนี้มองให้ลึกแล้ว   จะเป็นพลังในการพากเพียรดำเนินการจัดการความรู้ของพวกเรา


จากศรัทธาถึงอำนาจ


ระพี  สาคริก


            ก่อนอื่นเรื่อง จากศรัทธาถึงอำนาจ   ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตเขียนจากความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ชีวิต   โดยที่เชื่อว่า   สิ่งนี้คือความจริงทั้งหมด   หาใช่อ่านจากหนังสือตำราหรือจำขี้ปากคนอื่นมาพูด   โดยที่รู้สึกว่าสถานการณ์ในสังคมไทยช่วงนี้กำลังวิกฤติหนัก


            เนื่องจากกระแสความทันสมัยทางวัตถุไหลบ่าเข้ามาทำลายรากฐานจิตใจคนท้องถิ่น   ทำให้ทั้งสองด้านแทนที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเหมาะสมเปลี่ยนมาสู่น้ำหนักที่มีด้านเดียวอย่างที่กล่าวกันว่า   ช่วงนี้ผู้ที่ขึ้นไปมีหน้าที่รับผิดชอบยิ่งสูง   ส่วนใหญ่ยิ่งบ้าอำนาจ   หากมองในภาพรวมทำให้คนไทยซึ่งมีเชื้อสายเดียวกันมาช้านานจำต้องหวนกลับมาทำร้ายกันเอง


            ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในข้อเขียนต่าง ๆ โดยย้ำแล้วย้ำอีกว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างควรมองเห็นสองด้าน   อีกทั้งสามารถหยั่งรู้ได้ว่า   ด้านไหนคือพื้นฐานของอีกด้านหนึ่ง   หากการบริหารและการจัดการ   ซึ่งทุกวันนี้คนชอบเอามาอ้างแบบสมัยนิยม   มีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจของผู้บริหารส่วนใหญ่   สังคมจะมีความสงบสุขมากกว่านี้   อีกทั้งเชื่อว่าหากนำปฏิบัติให้มองเห็นความจริงเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนย่อมแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสังคมได้ทั้งหมด   และไม่ควรจะส่งผลเสียหายให้กับชีวิตคนกลุ่มไหนทั้งนั้น


            จากศรัทธาถึงอำนาจ   จริง ๆ แล้ว   ทั้งสองประเด็นหาใช่เป็นคนละเรื่องกันไม่   หากมองให้รู้ได้ถึงรากฐานย่อมตระหนักชัดว่ามีศูนย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน   และสิ่งนั้นก็คือ  จิตใจของแต่ละคน   ถ้าเรานำปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่าง   โดยเฉพาะกับเพื่อนมนุษย์จากใจจริง   ตัวเราเองย่อมได้ความรู้ที่เป็นความจริง   อีกทั้งผลที่สนองตอบก็คือความสุขที่เราควรได้รับอย่างยั่งยืนอีกด้วย   สังคมที่มีผู้บริหารส่วนใหญ่นำปฏิบัติได้   ย่อมมีความสุขมากกว่านี้   แม้คนกลุ่มใดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่   ตลอดจนชุมชนใดก็ตามหากมีผู้ปฏิบัติได้   ย่อมเป็นเกราะคุ้มกันภาวะล่มสลายให้เชื่อมั่นได้


            จากประสบการณ์เท่าที่ผู้เขียนสนใจเรียนรู้มาตลอดชีวิตจนถึงช่วงนี้   ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่า   รากฐานจิตใจคนท้องถิ่นถูกอิทธิพลจากความทันสมัยของรูปวัตถุที่มอมเมาด้วยความสะดวกสบาย   หรืออีกนัยหนึ่ง   จากรสชาติซึ่งทำให้เสพติด   จนกระทั่งเปลี่ยนนิสัยคนให้เป็นคนเห็นแก่ตัว   ขาดความเมตตากรุณาและเห็นใจผู้อื่น   เปลี่ยนมาเป็นการบ้าอำนาจ


            ดังจะพิสูจน์ความจริงให้เห็นได้ชัดเจนว่า   ยุคปัจจุบันผู้ที่เข้าไปสู่หน้าที่บริหารและจัดการ   หากตนเองและพรรคพวกจะได้ประโยชน์ในสิ่งที่มุ่งหวังฝังอยู่ในใจ   มักแสดงออกสองด้านด้วยกัน   ด้านหนึ่งอ้างกฎหมายมาใช้บังคับ   กับอีกด้านคิดออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา   ประกอบกับคนทั่วไปส่วนใหญ่มักสะท้อนแนวโน้มที่อยากขึ้นไปมีอำนาจควบคุมบังคับผู้อื่น   แม้จะคิดว่าตนหวังดีต่อสังคม


            แต่แล้วสิ่งที่สะท้อนออกมาก็สารภาพความจริงว่าเกิด   ความขัดแย้ง  จนกระทั่งยุติได้ยากยิ่งขึ้นหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า   การทะเลาะเบาะแว้งกันมากยิ่งขึ้น   สิ่งเหล่านี้คือภาพที่ไม่จำเป็นต้องนำเหตุผลอื่นใดมาอ้างเพื่อแก้ตัวเพราะเนื้อหาสาระและสิ่งที่พบเห็นมันเป็นความจริงอยู่ในตัวแล้วทั้งหมด


            เมื่อสภาพสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาเน้นอำนาจด้านเดียวเด่นชัดยิ่งขึ้น   ย่อมทำให้ทุกวันนี้จิตใจผู้ที่มีความเที่ยงธรรมสามารถรู้สึกได้ยากยิ่งขึ้นว่า   ยังมีกระแสศรัทธาสะท้อนออกมาให้เชื่อมั่นได้   บางครั้งเมื่อกล่าวถึงคำว่า ศรัทธา   คนส่วนใหญ่ยิ่งไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระดับสูงขึ้น   มักมีคำถามสะท้อนออกมาเสมือนไม่รู้ความจริงหรือเข้าใจถึงประเด็นนี้


            ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่งไว้นานแล้วโดยให้ชื่อว่า “การมีอำนาจโดยไม่ต้องใช้อำนาจ   คือการใช้อำนาจที่ถูกด้านแล้ว”   ซึ่งเรื่องนั้นเคยนำลงพิมพ์ในสื่อมาแล้ว


            หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า   เหตุใดผู้เขียนถึงได้นำมากล่าวย้ำว่า   ตนสนใจเขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้   อาจทำให้รู้สึกว่า   การเขียนนั้นได้อะไร?   คงต้องมองสองด้านอีกเช่นกันว่า   ผู้เขียนจะได้อะไร   ซึ่งแน่นอนที่สุดด้านนี้น่าจะหมายถึง   คุณค่าแก่จิตใจตนเอง   ส่วนอีกด้านหนึ่งได้แก่ผู้อ่าน   หากมองผิดด้านเพราะไม่รู้จักตนเองคงคิดว่าผู้เขียนต้องการอวดตัวเองหรือต้องการความโด่งดัง   หรือไม่ก็ต้องการหาเงินมาซื้อวัตถุที่ให้ความสบายแก่ตน


            หากผู้เขียนรักที่จะเขียนโดยที่เขียนอย่างมีความสุข   ย่อมทำให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนที่จะเขียนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย   ซึ่งสิ่งนี้ควรจะได้แก่   การซื่อสัตย์ต่อตนเองในการปฏิบัติและการค้นหาความจริงจากใจออกมาเขียน   หรือที่กล่าวต่อไปอีกว่า   ยิ่งให้ยิ่งได้รับเพิ่มมากขึ้น   สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด   หากใครมีรากฐานจิตใจอิสระ   สามารถมองเห็นได้รอบด้าน   ควรจะรู้ได้ว่าตนเองควรนำจิตใจและวิถีชีวิตมุ่งไปสู่ด้านไหน


            คำว่า ศรัทธา หากสนใจที่จะค้นหาความจริงเพื่อการเรียนรู้อีกทั้งนำไปสู่ความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง   ควรเป็นความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติซึ่งเกิดจากใจอันบริสุทธิ์ของตนเอง   ย่อมสร้างความรู้สึกที่เกิดจากใจของเพื่อนมนุษย์ได้ทุกชาติทุกภาษาและทุกศาสนาร่วมด้วย


            หากสิ่งนี้มีอยู่ในรากฐานจิตใจบุคคลใด   ย่อมประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นขั้นตอน   โดยที่แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง   อีกทั้งไม่มีการพูดไว้เป็นการล่วงหน้าว่า   ตนจะต้องทำให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จเมื่อนั้นเมื่อนี้  เพราะนั่นคือความจริงที่อ่านได้ว่า   จิตใจของผู้แสดงออกมีความโลภ   โกรธ   หลง   ยึดติดอยู่ในจิตใจไม่ว่าจะหนาหรือบางแค่ไหน


            ศรัทธาที่บริสุทธิ์  ไม่ควรมีสิ่งปนเปื้อนเข้าไปแอบแฝงอยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง   แม้การคิดหรือกล่าวออกมาว่า   ฉันจะต้องสร้างศรัทธา   หรือไม่ก็แสดงออกให้อ่านถึงความจริงได้ว่ามีการยัดเยียดให้คนอื่นสร้างศรัทธา   ย่อมบอกได้ว่าในที่สุดจะต้องประสบกับความล้มเหลวไม่ว่าเร็วหรือช้า


            การโฆษณาหรือแสดงออกด้วยวิธีการอย่างใดก็ตาม   โดยมีจิตใจไม่บริสุทธิ์หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า   มีสิ่งปนเปื้อนเข้าไปอยู่ในใจตนเองแม้แต่น้อยนิด   ย่อมทำลายศรัทธาของตนซึ่งควรมีอยู่ในใจและสานถึงจิตใจเพื่อนมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ   ความจริงจึงได้ชี้ไว้ว่า   ความหมายของศรัทธา  ย่อมหยั่งรู้ได้เฉพาะตัว   อีกทั้งไม่ยึดติดอยู่กับรสชาติจากผลซึ่งตนปฏิบัติ   หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวว่า   เมื่อมีศรัทธาจากด้านหนึ่ง   ควรมีการปล่อยวางอยู่ในใจตนเองร่วมด้วย   หมายความว่า   เมื่อได้รับสิ่งหนึ่งที่อาจส่งผลให้เกิดรสชาติย่อมมีเกราะคุ้มกันอยู่ในอีกด้านหนึ่งด้วย  จึงจะช่วยให้วิถีชีวิตดำเนินไปอย่างอยู่รอดปลอดภัย


            ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องนี้มายาวนานพอสมควรแล้ว   จึงใคร่ขออนุญาตยกตัวอย่างซึ่งตนประสบมากับชีวิตตนเอง  ก่อนที่จะได้มีงานประชุมกล้วยไม้โลกมาจัดในประเทศไทยเมื่อ  พ.ศ.2521   ซึ่งนับได้ว่าเป็นการประชุมระดับโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นภายในประเทศนี้


            ความจริงผู้เขียนไม่เคยคิดหวังในใจแม้แต่น้อยว่าจะทำงานเพื่อให้ได้สิ่งนี้มา   แม้แต่ได้ทราบข่าวการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 2 นครโฮโนลูลู  หมู่เกาะฮาวายในปี พ.ศ.2500   ขณะนั้นตนยังเพิ่งเริ่มชีวิตการค้นคว้าวิจัยเรื่องกล้วยไม้อยู่ในสวนหลังบ้านขนาดเล็ก ๆ หลังจากได้รับทราบข่าวแล้วยังนึกว่า   มันเป็นเรื่องใหญ่มากและสูงเกินไปสำหรับคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะเอื้อมไปถึงได้


            ตนจึงยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสนองคุณแผ่นดินอย่างมีความสุขต่อมา   โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาปรากฏแก่สังคมมีการพูดกันปากต่อปาก   จนกระทั่งเงื่อนปมเล็ก ๆ ดังกล่าวมีกระแสที่กระจายออกไปถึงหูคนที่นั่นอย่างเป็นธรรมชาติ


            อนึ่ง   ในช่วงนั้นการบริหารและจัดการที่เป็นทางการของไทยยังคงเห็นว่ากล้วยไม้เป็นเรื่องไร้สาระ   โดยที่เข้าใจว่าหากใครนำมาปลูกน่าจะมีผลทำลายเศรษฐกิจของสังคม


            แต่ผู้เขียนต่อสู้กับใจตนเองมาตลอดโดยไม่รู้สึกน้อยอกน้อยใจ   หรือนำจิตใจไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งอื่น   หากทำด้วยความมุ่งมั่นอย่างมีความสุข   นอกจากนั้น  ถ้ามีผู้ใดสนใจเข้ามาหาก็จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างจากใจตนเอง   แม้แต่ในด้านเทคโนโลยี   ความรัก   ความสนใจทำให้ดิ้นรนขวนขวาย   แม้ไม่มีทุนรอนแต่ก็เก็บสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งสังคมเห็นว่าไร้ประโยชน์มาดัดแปลงจับโน่นต่อนี่   โดยไม่รู้สึกดูถูกสิ่งที่ตกหล่นอยู่บนพื้นดินแม้แต่ในกองขยะ   จนกระทั่งใช้เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยี   ซึ่งนำมาร่วมพัฒนาโครงการกล้วยไม้   จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปกว้างขวางมากขึ้น


            ในปี พ.ศ.2506   นับเป็นปีแรกที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาวายได้แสดงน้ำใจนำผู้เขียนขึ้นเวทีการประชุมกล้วยไม้โลกเป็นครั้งแรก   อีกทั้งยังเข้าไปเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการสายวิชาการ   โดยไม่ได้คิดฝันอะไรมาก่อน


            จากนั้นมา   การประชุมกล้วยไม้โลกซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปีโดยที่หมุนวนไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก   ซึ่งมีความพร้อมสืบต่อกันมา   ผู้เขียนก็ได้เชิญมาเป็นวิทยากรและร่วมประชุมกรรมการในสายวิชาการมาตลอด   นอกจากนั้นยังมีนิสัยที่ไม่นิ่งดูดาย   หากมีกิจกรรมอะไรก็ตามที่พอจะช่วยได้   ก็แสดงน้ำใจเข้าไปช่วยทุกเรื่อง


            อยู่มาวันหนึ่งในปี พ.ศ.2510   ขณะที่ตนได้รับเชิญไปบรรยายในที่ประชุมต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาติดต่อกันร่วม 35 มลรัฐ   แทบจะตลอด 2 ฝั่งของประเทศ   ค่ำวันหนึ่งขณะที่อยู่ในมลรัฐ ฟรอริด้า   ประธานกรรมการกล้วยไม้โลกซึ่งเป็นสุภาพสตรีได้ขับรถมารับเพื่อไปบรรยายที่สมาคมแห่งรัฐฯ


            ระหว่างทาง   เธอได้เอ่ยถามขึ้นว่า  “ระพี   ฉันเห็นเธอช่วยทำงานทุกสิ่งทุกอย่างมาตลอดเวลา   เธอไม่คิดจะนำงานประชุมกล้วยไม้โลกไปจัดที่เมืองไทยบ้าง?”
            ผู้เขียนจึงย้อนถามเธอกลับไปว่า   ท่านคิดว่าการที่ฉันมาทำงานให้   เพราะต้องการงานี้ไปจัดในประเทศไทยแค่นั้นหรือ?   ผู้เขียนคิดว่าเธอคงเข้าใจความหมายที่ฉันตอบปฏิเสธถูกจุด   แต่นั่นหาได้หมายความว่าเธอจะมีความรู้สึกเป็นอย่างอื่น   นอกจากความศรัทธาที่เกิดขึ้นในใจ
            เนื่องจากเขาหยั่งรู้ได้ว่า   ฉันพูดออกมาจากใจ   โดยที่รู้ความจริงว่าบุคคลใดทุ่มเทให้กับงานด้วยความจริงใจ   ย่อมมีความรักความอดทนและมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้งานเป็นผลสำเร็จได้   ทั้ง ๆ ที่ปีนั้นมีประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรปส่งหนังสือเชิญเป็นทางการร่วมด้วยถึง 3 ประเทศและประเทศในเขตร้อนของทวีปอเมริกาอีก 1 ประเทศ   แต่ปรากฏว่า   ทุกประเทศถอนการเชิญเพื่อเปิดทางให้ประเทศไทย


            จากเรื่องราวที่เล่ามาแล้วทั้งหมดช่วยให้ประเทศไทยได้รับงานดังกล่าวมาอย่างภาคภูมิและสมศักดิ์ศรี   ยิ่งกว่านั้นยังมีเรื่องราวต่อมาอีกว่า   งานครั้งนั้นไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว   หากได้น้ำใจจากธนาคารใหญ่ ๆ หลายแห่งร่วมทั้งหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน   ทั้ง ๆ ที่มีประเทศซึ่งเข้าร่วมประชุมกว่า 55 ประเทศและมีผู้มาร่วมประชุมในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน   อีกทั้งบางรายได้เข้าอยู่เมืองไทยก่อนและหลังการประชุมประมาณ 1 เดือน   นอกจากนั้น   กล่าวอย่างเชื่อมั่นได้ว่า   คนที่สนใจกล้วยไม้จากทั่วโลกมีแทบทุกอาชีพที่เข้ามาใช้โอกาสติดต่อธุรกิจส่วนตัวในเรื่องสายตรงของเขาด้วย   ร่วมทั้งผู้จัดการใหญ่ของบริษัท เชลล์ จากกรุงลอนดอน   นอกจากนั้น  หลังเสร็จงานแล้วยังมีเงินเหลือมอบให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ใช้จ่ายเป็นทุนในงานวัยและส่งเสริมเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาวงการกล้วยไม้อีกก้อนหนึ่ง   และแบ่งปันอีกส่วนหนึ่งไปบำรุงกองทุนกล้วยไม้ของโลกอีกส่วนหนึ่งด้วย   ทั้ง ๆ ที่ช่วงเตรียมงานเราก็ไม่ได้ขอสนับสนุนจากกองทุนกล้วยไม้โลก


            ความจริงยังมีเรื่องที่อาจหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาอีกมากมายหลายอย่าง   ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า   ถ้ามีศรัทธาเป็นพื้นฐานการทำงานย่อมสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปลายเหตุสุด ๆ โดยที่ทุกคนในชาติย่อมมีส่วนร่วมในการรับผลอย่างทั่วถึง


            สิ่งที่กล่าวมาแล้วไม่เฉพาะระดับชาติเท่านั้น   แม้คนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม   ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ทุกรูปแบบ   นับตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นมาจนกระทั่งถึงหน่วยงานย่อยและหน่วยงานใหญ่   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้เรามักนิยมใช้คำว่า ชุมชนเข้มแข็ง   หากผู้นำซึ่งควรจะมีจิตวิญญาณอยู่ในทุกคน   สานเหตุผลไปถึงผู้นำชุมชนขาดสิ่งที่กล่าวมาแล้วอยู่ในจิตวิญญาณ   กลุ่มคนกลุ่มนั้นย่อมขาดความยั่งยืน   หากใครนำคำนี้มากล่าวอ้างย่อมรู้เท่าทันได้ว่า   เป็นการอ้างเพื่อหวังประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า


            สรุปแล้ว   คงต้องกล่าวให้ลึกลงไปถึงจุดที่เป็นรากเหง้าว่า   หากบุคคลใดขาดความศรัทธาที่ควรมีต่อความจริงซึ่งอยู่ในใจตนเอง   ย่อมหวังได้ยากว่าจะเกิดความรู้ความเข้าใจ   และให้ความซาบซึ้งต่อความรู้สึกศรัทธาอันควรได้รับจากใจเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม   ซึ่งตนมีโอกาสสัมผัสในการดำเนินชีวิตประจำวัน
                                                                                      17  มิถุนายน 2548
                   
          นี่คือ “เรื่องเล่า” ที่ทรงพลังนะครับ
 
                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   23 มิ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1586เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2005 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท