ไปเสวนาที่สวนโมกข์


ความสุขที่แท้คือเหนือสุข เหนือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์

ไปเสวนาที่สวนโมกข์
           ผมไปร่วมเสวนา ในงาน สวนโมกข์เสวนา พุทธทาส ๑๐๐ ปี    ที่สวนโมกข์เมื่อวันที่ ๒๓ กค. ๔๘    เอกสารประกอบการนำเสวนาได้เคยลงไว้แล้ว      เราเสวนากันที่ลานหินโค้ง     มีท่านอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล หรือสวนโมกข์ เป็นประธาน     หัวข้อที่ผมระบุคือความอยู่เย็นเป็นสุขของคนธรรมดา หรือฆราวาส     ต้องการชี้ให้เห็นว่าต้องรู้จัก “มีชีวิตอยู่เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู”     คืออยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยเชื้อกิเลสตัณหา โดยไม่โดนแผดเผา   ตามภาพปริศนาธรรมในโรงมหรสพทางวิญญาณ ในสวนโมกข์   และวิธีหนึ่งคือการรวมตัวกันปฏิบัติหน้าที่ให้มีคุณภาพที่สุด    ใช้การปฏิบัติหน้าที่นั้นเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ     ให้เกิดความเพลิดเพลินร่วมกัน    ภาคภูมิใจร่วมกัน    ร่วมกันสร้างประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวมจนมีปิติสุขและความภูมิใจร่วมกัน
           ผมอาจจะเชยที่ตั้งเรื่องความสุข เป็นประเด็นเสวนา     แต่ก็ทำให้มีคนขึ้นมาร่วมให้ความเห็นหลายคน     ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นคุณยายเจียม     ที่ลุกขึ้นมาพูดว่าความสุขแท้ไม่มี     มีแต่ความสุขเทียม    ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในความสุข    ซึ่งตรงกับในหนังสือ ปณิธาน ๓ ประการ ของท่านอาจารย์พุทธทาส หน้า ๙๑ ที่กล่าวว่า “ไม่สุขไม่ทุกข์ดีกว่า”   
คือสูงสุดต้องเหนือทุกข์เหนือสุข   เหนือดีเหนือชั่ว
           นอกจากได้ไปทำความคุ้นเคยกับทีมงานของหมอบัญชาหลายคน ได้แก่  อ. ทวีศักดิ์ สุขรัตน์  แห่งชุมชนบ้านหนองสวน   อ. กาญจนดิษฐ์   จ. สุราษฎร์ธานี,  อ. ปราโมทย์ แห่งวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ,  คุณสุมาลี ๒ สุมาลี แห่งนครศรีธรรมราช,  อ. นิวัฒน์ แห่ง รร. พุนพินวิทยาคม,  และท่านอื่นๆ อีกหลายท่านแล้ว     ผมดีใจที่สุดที่ได้กราบท่านอาจารย์โพธิ์     และได้ทราบความเป็นไปของสวนโมกข์ ว่ากิจการยิ่งก้าวหน้ากว้างขวางยิ่งกว่าสมันท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่เสียอีก    และท่านอาจารย์โพธิ์ ยังได้ก่อตั้ง ตโปทาวัน สำหรับเป็นที่ปฏิบัติธรรมในป่า    ตั้งอยู่ที่ บ้านคลองมุย  ต. ตะกุกเหนือ  กิ่ง อ. วิภาวดี  จ. สุราษฎร์ธานี   ในพื้นที่ป่าสงวน โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 
           เนื่องจากท่านอาจารย์โพธิ์เป็นคนเกาะสมุย    และมีคนนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ     มีคนเอาที่ดินที่เกาะสมุยมาถวายถึง ๒๐ ไร่    จึงเกิด ทีปภาวันธรรมสถาน ขึ้นที่ ต. มะเร็ด  อ. เกาะสมุย  จ. สุราษฎร์ธานี  ดำเนินการในลักษณะชมรม สำหรับอบรมธรรมะแก่คนไทยและชาวต่างประเทศ  หลักสูตร ๕ วัน    ผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร ๐๑ ๘๙๒ ๓๔๕๗   กำหนดพิธีเปิดทีปภาวันอย่างเป็นทางการวันที่ ๑๖ พย. ๔๘
           ตอนนี้ทางสวนโมกข์กั้นประตูไม่ให้รถเข้าไปในสวนโมกข์    ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นถนัดตา    ท่านอาจารย์โพธิ์เล่าว่าท่านสั่งห้ามขาดไม่ให้พระเณรใช้โทรศัพท์มือถือ   ท่านที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ให้ไปใช้ที่ธรรมทานมูลนิธิ  ซึ่งอยู่ด้านนอก    และจัดให้มีพระที่วางใจได้คอยสอดส่องดูแลไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์ดูวิดีโอที่ไม่เหมาะสม     ดูท่านอาจารย์โพธิ์จะเอาใจใส่เคร่งครัดในการดูแลไม่ให้ “พิษงู” แผ่สร้านเข้ามาในสวนโมกข์   สถานศักดิ์สิทธิ์เพื่อการหลุดพ้น 
            ผมจึงมีความสุขมากที่ได้รับทราบความก้าวหน้าของกิจกรรมด้านการเผยแผ่ธรรมะแนวสวนโมกข์แพร่กระจายออกไป    เพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้ได้พบความสุขเย็นแบบพุทธในสถานการณ์โลกที่ร้อนระอุด้วยความเกลียดชังอยู่ในขณะนี้
           เมื่อเสวนาจบ อาจารย์โพธิ์มอบหนังสือให้ ๒ เล่ม    เล่มหนึ่งชื่อ พุทธวิธีชนะความทุกข์    อีกเล่มหนึ่งชื่อปณิธาน ๓ ประการ     เป็นหนังสือปกแข็งอย่างดีทั้งคู่     เล่มแรกในหน้าคำอนุโมทนาเขียนด้วยลายมือท่านอาจารย์พุทธทาส    มีวรรคหนึ่งว่าดังนี้   “เรากำลังทำกันได้เพียง ‘รู้’ ธรรมะ แต่ ‘ไม่มี’ ธรรมะ”   อ่านถึงตรงนี้ผมก็ตาลุกโพลง    นี่คือสภาพของ KM ในประเทศไทยนี่นา     เราสนใจที่จะ ‘รู้’ KM   แต่ไม่ ‘ปฏิบัติ’ KM 

             

 บรรยากาศลานหินโค้งและผู้ร่วมเสวนา                 ท่านอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ)

 

 


วิจารณ์ พานิช
๒๓ กค. ๔๘
ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี


หมายเลขบันทึก: 1569เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2005 05:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

     กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ .. เข้ามาอ่านด้วยความรู้สึกที่ดีมาก .. ผมรักสวนโมกข์ และท่านอาจารย์โพธิ์ .. เคยบวชเรียนและจำพรรษาที่นั่นเมื่อ ปี 2531 เพื่อนๆขอให้ช่วยเป็นประธานรุ่นพระนวกะในปีนั้น มีความประทับใจมากมาย ได้เอาเหงื่อล้างอัตตากันไม่น้อย  ขุด-ขนดิน ปรับระดับพื้นที่สวนโมกข์นานาชาติ ฯลฯ  วันหนึ่งขณะที่เดินอยู่กับท่านอาจารย์โพธิ์ มีนกป่าตัวเล็กบินเล่นและส่งเสียงร้องอยู่ในพุ่มไม้ใกล้กุฏิท่านอาจารย์  ท่านชี้ไปที่นกแล้วบอกว่าเห็นไหม มันบินไปไหนๆได้สบายเพราะมันไม่แบกอะไรไปเลย .. สั้นๆแต่ประทับใจ .. ลาสิกขาบท ออกมาทำงานก็ยังนึกเรื่องนี้ถึงอยู่บ่อยๆ จึงเขียนบทกลอนไปวางให้อ่านกันใน Pantip.com นานมาแล้วครับ ..

                          เจ้านกน้อย ทำไม บินไกลนัก

                    ไม่รู้จัก เหนื่อยล้า หรือไฉน

                    ทุกทุกวัน เราเห็น จนเจนใจ

                    เจ้าบินได้ อย่างไร แสนเสรี

                            มองดูเถิด เห็นอะไร ในเรื่องนก

                    เจ้าวิหค แบกอะไร ไปไหมนี่

                    แล้วเราล่ะ แบกอะไร ทุกนาที

                    แบกอย่างนี้ ไม่ฉลาด ปราชญ์ให้ปลง

                            ปลงออกไป ใช่ฝืนใจ ฝืนความคิด

                    ปลงด้วยจิต เห็นพิษภัย เลิกไหลหลง

                    ยิ้มรับสู้ ทุกสิ่งไป ใจมั่นคง

                    เป็นอานิสงส์ เรื่องวิหค นกโบยบิน.

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท