Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๙)_๒


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๙)_๒

อาจารย์ศิริพงษ์  สิมสีดา:  โรงเรียนบ้านกระทุ่ม  บุรีรัมย์ 
         ขอบพระคุณมากครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน รู้สึกว่าบรรยากาศเครียดมาก  ฟังเรื่องของครูบ้านนอกบ้าง  ผมไม่ได้จบวิทยาศาสตร์แต่หลงใหลในวิทยาศาสตร์มาก  เด็กๆ ของผมนั้น มี 20 -30 คน ผมไม่อยากเริ่มที่ปัญหา ผมเริ่มสอนวิทยาศาสตร์ด้วยการลุย เมื่อถึงชั่วโมงวิทยาศาสตร์ผมให้เด็กเอาสมุด ดินสอ แว่นขยาย  กระดาษลิทมัส (litmus)  แล้วลงมือเลย  ขั้นแรกเริ่มตามโรงเรียน  ผมมีความเชื่อว่าเด็กทุกวันนี้เรื่องกระบวนการคิดหาได้ยาก  ผมให้โจทย์ว่าให้นักเรียนสำรวจที่โรงเรียน เจออะไรแล้วสะดุดใจ  แล้วให้ตั้งคำถามมา  บางคนเดินผ่านกองขยะ  บางคนเดินผ่านห้องน้ำ แต่ละคนตั้งคำถามได้มากมาย   เรื่องเดียวตั้งคำถามเป็นสิบ อีกกลุ่มไปเจอมูลกระบือ พูดแล้วไม่ตรงใจขออนุญาตพูดครับคือขี้ควาย คำถามมาเยอะมาก แล้วนำ มาคุยกันในวง  เป็นวงคุยกันแห่งความเสรีภาพ  จะไม่มีครูถือไม้เรียว  ผมนั่งผสมกับเด็กทุกคนแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่   โจทย์เกิดขึ้นมากมาย  มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าเดินไปเจอถุงพลาสติกที่ไปเพาะชำ เด็กว่าแต่ไม่ใช่ปัญหา แต่กังวลใจว่าสกปรก ดูไม่สวย เวลาภารโรงนำไปเผากลิ่นเหม็นมาก เป็นพิษหรือไม่สามารถจัดการได้หรือไม่ บางคนเดินผ่านห้องน้ำกลิ่นเหม็นมากไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร 
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจเรื่องถุงพลาสติกนั้นเด็กว่าจะทำอย่างไร  มีเด็กคนหนึ่งยกมือบอกว่าให้เอามูลสดธรรมชาติที่เป็นขี้ควายมาใช้ โดยที่บ้านพ่อเอาไปผสมน้ำทำเล้ายุ้งฉาง เวลานวดข้าวเอามาทาบนผืนดินนวดข้าวได้  เด็กอีกคนที่เตะบอลเก่งบอกว่าเอากองขี้ควายแห้ง   เตะบอลทั้งวันขี้ควายยังไม่แตก คำถามจึงเกิดขึ้นอีกว่าขึ้นรูปได้อย่างไร  เพราะว่าขี้ควายเป็นปุ๋ย  เด็กอีกคนบอกว่าเอาขวดพลาสติกไว้ด้านในแล้วดึงออก นำมาเพาะต้นไม้  เพาะเมล็ด ครูถามต่อว่าแล้วดีอย่างไร  เด็กนักเรียนบอกว่า ผมขี้เกียจไม่ต้องใส่ปุ๋ย พอโตเอาไปปลูกได้เลย และยังไม่เป็นมลพิษด้วย จึงคิดต่อว่าทำอย่างไรจึงจะแข็งแรง เด็กนักเรียนบอกว่าต้องผสมดินเหนียว  ครูบอกว่าดินธรรมดา  ดังนั้น จึงทดลองกันโดยเอาไปตั้งชั้นที่สองของตึกแล้วเขี่ยตกลงมา ทำให้นักเรียนอนุบาลสนใจ แล้วก็ประสบผลสำเร็จ  โครงงานนี้ชนะเลิศระดับกลุ่ม  ไม่ผ่านระดับเขต  บางคนบอกว่าส่งระดับประเทศดีกว่า การทำเช่นนี้จะแข่งกับบริษัทได้หรือไม่  อย่างน้อยทำให้เด็กรู้ว่าปัญหาชุมชนเราเอง เราต้องหาวิธีเอง  หลังจากนั้นเด็กอยากรู้ว่ากองขี้ควายมีอะไร   เด็กจึงไปสำรวจและตั้งชื่อ สิ่งนี้เป็นการสกัดความรู้และเด็กขุดลงไปดูพบว่า มีแมลงจำนวนมากแต่ละชนิดจะมาไม่พร้อมกันแต่ละตัวจะมีความเป็นอยู่ที่ลึกต่างกัน ตัวที่เล็กๆ จะอยู่ข้างบน เด็กๆ บอกว่ากองขี้ควายไม่ใช่บ้านแต่เป็นโรงแรม  ครูจึงถามว่าเป็นโรงแรมอย่างไร  เด็กบอกว่าแมลงอยู่เดี๋ยวเดียวเมื่อออกลูกก็พาลูกไปกองขี้ควายใหม่  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กสกัดความรู้ออกมา หลังจากนั้นเด็กก็คิดว่าขี้ควายนั้นเกี่ยวข้องอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร แล้วเอากระดาษลิทมัสมาวัดว่าเป็นกรดด่างอย่างไร ครูถามว่าทำไมกองขี้ควายแมลงจึงมาอยู่ เด็กตอบครูว่าเพราะมันอุ่นฤดูร้อนมันเย็นเพราะเด็กเหล่านั้นเอามือซุกในกองขี้ควาย นี่คือกระบวนการจัดการเรียนรู้ เด็กจะมีอิสระในการคิดและพูด เมื่อเข้ามาจะมีที่ยืนไม่มีครูถือไม้เรียว 
         สรุปการจัดการความรู้ขั้นตอนง่ายๆ ทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ อย่างที่ 1 ต้องสร้างความตระหนักร่วมกันว่า สิ่งที่เห็นในชุมชนว่ามีอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ  อย่างที่ 2 ต้องสร้างสภาวะให้เกิดการเรียนรู้และทุกคนต้องมีความสำคัญเท่ากันไม่มีว่าใครเป็นครู เป็นศิษย์ ในห้องเรียนจะไม่มีเด็กโง่   ผมไม่เคยบอกว่าใครโง่ ทุกคนเก่งหมด ทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีและมีส่วนร่วม  อย่างที่ 3 การสร้างความรู้  บางอย่างได้เรียนรู้กับเด็ก เด็กบางคนไม่เคยรู้ เรียกให้ครูมาดู  อย่างที่ 4  ต้องเก็บเกี่ยวความรู้ ด้วยบันทึก หรือแผ่นภาพความคิด นักเรียนจะมีนิทานแต่ละเรื่อง นิทานเรื่องกองขี้ควายจะสนุกมาก อย่างที่ 5 การนำความรู้ไปใช้  และต้องนำไปใช้ให้เหมาะกับกิจกรรม กระบวนการจัดการความรู้ทำให้เด็กรักครูมาก บางครั้งเด็กผู้หญิงมากอดคอและปรึกษาครูในเรื่องที่ไม่สามารถพูดได้และสุดท้ายหวังว่ากระบวนการจัดการความรู้ทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น ขอบคุณมากครับ

อาจารย์กานดา  ช่วงชัย:  โรงเรียนแม่จันวิทยาคม  เชียงราย
          กราบเรียนเครือข่ายการเรียนรู้ทุกท่าน วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้มาแลกเปลี่ยนถือว่าเป็นประสบการณ์เหนือสุดที่มาเล่าให้ฟัง อยากเรียกทุกท่านว่าคุณครู  เราอาจเป็นครูของลูกศิษย์ คุณครูของลูก หรือคุณครูผู้ร่วมงานที่อยู่กับเรา เพราะต้องการให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 
ขอย้อนอดีตนิดหนึ่งคือหลังจากที่จบวิชาเรียนครูมาเรียบร้อยแล้ว เมื่อเป็นครูได้ระยะหนึ่ง ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าครูวิทยาศาสตร์อย่างเราไปถึงเป้าหมายหรือยัง เกิดจากปัญหาจริง เพราะสอนไปก็ยังไม่เห็นว่าจะเห็นนักเรียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่กระบวนการหรือวิธี การจะจัดการให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้คงไม่ไปโทษระบบการศึกษาว่าสั่งสมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้เราหรือไม่  เราอาจจะเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่เป้าหมายของเราแต่เรากลับมองว่าทฤษฎีหรือ องค์ความรู้ที่ครูให้มาเรานั้น เราไปลองกับตัวเองเพื่อหาหาเป้าหมายจริงทางวิทยาศาสตร์ และเราต้องกลับไปเรียนใหม่  เป็นการไปเรียนในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ต่างๆ กับคนอื่น  คนแรกที่เราสกัดองค์ความรู้และเอาประสบการณ์เทียบเคียงและเฝ้ามองคือพ่อ พ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำบ้าน แม้แต่ การลองปลูกต้นไม้  รู้สึกทึ่งและเก็บประสบการณ์นั้นมาเรื่อยๆ เราเป็นลูกก็เข้าสู่กระบวนการของครอบครัวอยู่บ่อยๆ รู้สึกสนุก เรามองการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้  แต่เมื่อเข้าไปเรียนชั้นวิทยาศาสตร์ทำไมเด็กจึงไม่สนุก จึงปรับใหม่เราอาจมีเทคนิคไม่ดีจึงเปลี่ยนใหม่  ลองเอาตนเองเป็นนักเรียน   สนใจเรื่องอะไรหรือบทเรียนที่จะสอนเป็นอย่างไรจะเรียนรู้เรื่องนั้น  ในตำราเขียนไว้ว่าดินมีกี่ชั้นอย่างไรบ้าง แต่ลงไปไม่เป็น เอ บี ซี ดี ตามหนังสือ  ลงไปสำรวจใหม่แต่เราไม่ได้ลงไปคนเดียวให้เด็กๆ ลงไปด้วย  ด้วยการจัดกิจกรรม  เมื่อเรียนรู้เราไม่ได้ปล่อยให้เด็กเรียนรู้เอง เด็กจะเป็นเพื่อน  การบันทึกและเรียนรู้ ดินชั้นนี้สีดำ สีน้ำตาล แล้วเราก็มาคุยกันปรากฏว่าวิชาที่เรียนยังตอบปัญหาไม่ได้ จำเป็นต้องไปหาเครือข่ายอีก  ครั้งแรกมองตนเองว่าเราเป็นอะไร เราไม่กล้าหรือกลัว สรุปกลัวนักวิชาการ กลัว ดร. ว่าจะคุยไม่รู้เรื่อง โชคดีอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง ราชภัฏเชียงราย  เมื่อเข้าไปแล้วอาจารย์ทุกท่านคุยกับเราเรื่องเดียวกันได้ เข้าใจกันได้ ลงไปใช้ห้องปฏิบัติการ ห้อง lab แล้วเราก็สร้างเครือข่าย  แล้วพยายามให้เด็กเรียนรู้กับเราทุกครั้ง  อย่างน้อยเด็กไม่ได้ทั้งหมดแต่อาจได้บ้าง  เสร็จแล้วเราจะมาออกแบบการเรียนรู้  เด็กที่ตามเราไปกลายเป็นครูที่ช่วยเราได้อีก จะมีผู้ช่วยในการจัดกิจกรรมได้สนุกสนานทำให้มีการแลกเปลี่ยนมากขึ้น เราคิดว่าทำงานสำเร็จ ขยายเครือข่ายออกไปกับครูในโรงเรียน มีกิจกรรมบูรณาการแม่น้ำจันแบบองค์รวม ข้าวเหนียวแม่จัน OTOP แม่จัน   ทั้งหลายทั้งมวลที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายเราพยายามทำเป็นบทเรียน

อาจารย์สิทธิพล  พหลทัพ:  โรงเรียนกุดสะเทียนวิทยาคาร  หนองบัวลำภู 
         กราบเรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมสิทธิพล พหลทัพ จากโรงเรียนกุดสะเทียนวิทยาคาร หนองบัวลำภู ฟังชื่อแล้วไกลพอสมควร ค่อนข้างห่างไกล เป็นโรงเรียนมัธยม อยู่ในชนบท 
จากประสบการณ์ผม แรงบันดาลใจสิ่งหนึ่งที่ทำให้นำกิจกรรมหลายอย่างมาใช้ในห้องเรียน คือเสียงออดที่โรงเรียน อาจารย์เคยจินตนาการหรือไม่ ปกติเมื่อได้ยินเสียงออดแล้วเด็กจะโห่ร้องด้วยความดีใจ เป็นการแสดงความสำเร็จของท่านอาจารย์หรือการปลดปล่อยบางอย่าง ด้วยวิธีนี้ทำให้ผมเปรียบเทียบกับวิชาพลศึกษาไล่เด็กไปทานข้าวเด็กยังไม่ไปอยากเล่นต่อ  นั่นแสดงว่าถ้าเราทำให้บทบาทเด็กมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดีขึ้น  ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือการจัดการความรู้   ผมนำวิธีนี้มาใช้นำมาดัดแปลงในห้องเรียน โดยให้เด็กที่ผลการเรียนค่อนข้างต่ำเป็นพระเอก แล้วนำเด็กที่ผลการเรียนดีเป็นผู้ช่วย กิจกรรมที่ยอดฮิต คือ กิจกรรมธารปัญญา เป็นกิจกรรมกลุ่ม เมื่อให้แบ่งกลุ่ม เด็กที่เก่งจะอยู่กับเด็กที่เก่ง คนที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันอยู่ด้วยกัน เด็กที่ไม่เก่งถูกทอดทิ้ง ต้องเป็นผู้กำกับโดยสร้างสถานการณ์ โดยการตั้งโจทย์ว่า  ใครที่สามารถช่วยให้คนที่ไม่เก่งมีคะแนนสูงได้ ทุกคนจะมีคะแนนสูง  เมื่อให้แบ่งกลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนต่ำจะเป็นตัวเงินตัวทอง การทำงานในกลุ่มกิจกรรมที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยน ให้ตั้งโจทย์ง่าย ให้เข้าห้องสมุด หาจาก internet และประสบการณ์  ไปหาความรู้เอง ทำรายงานซึ่งไม่เกิดผล  ผมให้ทำฟิวเจอร์บอร์ดและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนได้อะไร ให้กลุ่มนี้ไปแลกกันดู แล้วให้พูดว่าเป็นอย่างไร มีการถกเถียงกัน เป็นการเรียนรู้โดยที่ไม่รู้ตัว  มีปัญหาว่าบางคนอยู่มัธยมอ่านหนังสือไม่ออก เข้ามาได้อย่างไรไม่ต้องพูดถึง เราจัดให้เขามีบทบาทมากขึ้น   ขั้นตอนแรกคือต้องรู้ว่าเด็กอยู่ในระดับใด เด็กต้องรู้ตนเองว่าอยู่ในระดับใด รู้ว่าเก่งอะไร บางคนอ่านไม่ออกแต่ว่าร้องเพลงเก่ง วาดรูปเก่ง  เวลาพูดจะดี เวลาให้นำเสนอแทบไม่น่าเชื่อ  รู้จักตนเอง รู้จักกลุ่ม กลุ่มที่มาร่วมเป็นอย่างไร เขาอยู่บทบาทอย่างไรในกลุ่ม กิจกรรมหัวใจสำคัญคือการทำงานเป็นทีม ให้รู้จักการให้ คนที่เก่งจะช่วยคนไม่เก่ง  เด็กจะมีเวลาด้วยกัน  24 ชั่วโมงเพราะอยู่ห้องเดียวกัน มีเวลาอยู่ด้วยกัน โทรศัพท์หากันได้ แต่ที่โรงเรียนเด็กมีเวลาที่โรงเรียนไม่กี่ชั่วโมง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้ที่เขาได้มาจากการทำงานเป็นทีม  มีกิจกรรมชื่อ amazing  กุดสะเทียนวิทย์  เป็นวันที่เด็กทำผลงานที่ได้จากกลุ่มมาโชว์   ผมเห็นงานที่เด็ก ม. 1 นำเสนอการส่องกล้องจุลทรรศน์ให้พี่ ม.6 ฟัง เห็นภาพแล้วเป็นบรรยากาศที่น่าชื่นชมมาก   กิจกรรมทำทั้งโรงเรียนเพื่อบอกว่าเรามีกิจกรรมที่หลากหลายที่เราไม่รู้ บทบาทของครูเปรียบเทียบกับผู้กำกับหนัง การแสดงของเด็กนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการถ่ายทอดให้เด็กมีบทบาทมากขึ้นเขาจะแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว  แต่ถ้าหากกำจัดความคิดความอ่านว่าต้องทำอย่างนั้น   อาจเป็นดังเช่นเสียงออดที่เป็นคำตอบ


มีต่อ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15662เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท