Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๙)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๙)_๑

ห้องเรียน KM (2)

อาจารย์กนกพร   ต่วนภู่ษา: โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม  สมุทรสงคราม   
         สวัสดีค่ะท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ดิฉันอาจารย์กนกพร ต่วนภู่ษา สอนอยู่โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม วิธีการบูรณาการของโรงเรียนเรานี้มีอยู่เด่นๆ สองประการก็คือ  เราบูรณาการหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา  บูรณาการเข้ามาในหลักวิชาต่าง ๆ  แตกต่างกันตามกลุ่มเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ และอย่างที่สองก็คือ พฤติกรรมในโรงเรียน เด็กๆ  และสิ่งแวดล้อมของเราค่อนข้างที่จะมี frame  ต้องนำเอาวิถีชีวิตในทางพระพุทธศาสนาเข้าไปสอดแทรก  เด็กๆ  สมัยนี้วิ่งตามเข้าหาวัตถุอย่างรวดเร็ว เราจะดึงให้เขาวิ่งให้ช้าลงหน่อย และให้กำลังใจให้กับเด็กที่มีปัญหาทางสังคม  ในครอบครัวของเขาให้เขามีกำลังใจในการดำเนินชีวิต  การทำงานที่ผ่านมาเราทำอย่างไม่ได้มีหลักการ และก็ไม่ได้ทำตามขั้นตอน และไม่ได้อ้างอิงนำมาใช้ เราทำตามสัญชาตญาณของเราเอง ทำตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทำตามสภาพแวดล้อมหรือบริบท คิดเองตามสภาพปัญหา เราไม่ได้สนใจว่าผู้บริหารจะนำเอาวิธีใดบริหารจัดการทำงานในโรงเรียน เรามีอะไรเราก็จะแก้ปัญหาร่วมกัน ครูอยู่ในโรงเรียนเวลาเราทำงานตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมักจะมีปัญหา  แต่เราก็เริ่มต้นที่ปัญหา  สิ่งแรกก็คือหันมามองตนเองใหม่ว่าตนเองมีจุดเด่นอะไร มีจุดด้อยอะไร เราทำงานหลักอะไร เราเข้าร่วมเข้าคิวทำอะไร  ทำงานร่วมกันจริง ๆ  ฉะนั้นเวลาทำงานร่วมกันไม่มีใครโดดเด่น แล้วก็ไม่มีใครสำคัญที่สุด ทุกคนมีความเท่าเทียมเสมอกัน สรุปว่าเด็กชอบ
วิธีบูรณาการของเรานั้นประสบความสำเร็จอย่างไร  เราประสบความสำเร็จอยู่ 2 ประการ  ก็คือ  ประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินการกับประสบความสำเร็จในด้านกลุ่มเป้าหมาย เราไม่ใช้คำว่าประสบความสำเร็จ ถ้าใช้คำว่าประสบความสำเร็จก็จบ เราจะใช้คำว่า บรรลุที่เราหวังว่าเราบรรลุ  ประการแรก  กลุ่มเป้าหมายนึกอย่างไร  กลุ่มเป้าหมายของเราก็คือ  กลุ่มที่ 1  เรื่องของกระบวนการ  เราบรรลุผลเรื่องของกลุ่มกระบวนการ ก็คือว่ากระบวนการทำงานของเราในโรงเรียนนี้มันมีปัญหาที่ทุกคนรู้ว่าปัญหาตัวเองคืออะไร  ถนัดอะไร จุดเล็กจุดน้อย  เด่นๆ  คืออะไร  ทุกคนร่วมมือกัน  ร่วมมือกันแก้ ผนวกกับผู้นำของเรา ผู้บริหารที่อำนวยความสะดวกแบ่งปันความรู้  พบปะพูดคุยกัน  มันเป็นสิ่งที่หล่อลื่นด้วยความกลมกลืนในหน่วยงาน ในองค์กรทำงานต่างๆ ได้อย่างลงตัว  ตรงนี้สำคัญที่สุด  จากความขัดแย้งต่างๆ  ค่อยๆ  น้อยลงและหมดไป  เราถือว่ากระบวนการของเราประสบผลและบรรลุผล  จะสำเร็จหรือไม่ต้องดูเวลาเป็นตัวกำหนด  ส่วนประการที่สองเป็นเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย  กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียน  นักเรียนที่พูดหยาบคาย  นักเรียนที่พูดก้าวร้าว  นักเรียนที่ขาดกริยามารยาท  นักเรียนที่เกๆ  เราใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสอดแทรกในการบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ เราจัดทำเป็นหลักการเรียนรู้ผนวกกับเทคนิคและลีลาการสอนของครู โดยที่มีความ สามารถที่แตกต่างกัน  เขาสามารถที่จะซึมซับหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา บูรณาการตามสาระต่างๆ ตามฐานการเรียนรู้ เด็กๆ เหล่านี้ค่อยๆ ซึมซับ ผลที่เราพบเขาไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยทันที  เขาค่อยๆ  เปลี่ยนแปลง เขาค่อยๆ ลด  ค่อยๆ  ละ  และค่อยๆ  เลิกไป  เราก็พบว่าหนึ่งปีหนึ่งครั้งที่เราดำเนินการเด็ก ๆ  เขารู้ว่าอะไรควรทำ  อะไรไม่ควรทำ  อะไรคือกาลเทศะ  และอะไรคือมารยาททางสังคม  เราจะสรุปและให้กำลังใจกับครูทุกคนว่าเราหายเหนื่อยแล้วเราก็มีความสุข  ฉะนั้นนวัตกรรมที่เราร่วมกันสร้าง  ปรับพฤติกรรมของตัวเองก็คือ แผนจัดการเรียนรู้วิถีพุทธบูรณาการ เราบรรลุวัตถุประสงค์ตรงนี้  แต่ว่าเราก็ต้องมีการปรับมีการพัฒนา ตราบใดที่เทคโนโลยีต่างๆ วิ่งนำหน้าเรา สุดท้ายก็อยากจะนอนใจการทำงานของครูทุกๆ ท่าน  การทำงานถ้าเราทำในสิ่งที่ถนัดที่สุด  ถ้าเราไม่ลงมือทำเราก็ไม่รู้ว่าเราถนัดอะไร  เมื่อเราทำในสิ่งที่ถนัดแล้วผลที่เกิดตามมาก็คือความสุข

อาจารย์ชัยวัฒน์  เชื้อมั่ง: โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม
         สวัสดีครับ ผมชัยวัฒน์ เชื้อมั่ง ตำแหน่งครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของรัฐ เนื่องจากว่าตัวผมเองเป็นครูทำการสอนมาประมาณ 23 ปี จากการสอนที่โรงเรียนในต่างจังหวัด เราก็เข้ามาสอนที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ และในที่สุดก็มาสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนของรัฐ พอมาสอนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป เนื่องจากเราเคยสอนที่โรงเรียนต่างจังหวัด ครูต้องสอนทุกแง่ทุกมุม ต้องให้ concept  ยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  เพราะว่านักเรียนไม่มีสื่อการสอน  ไม่มีเอกสาร  ไม่มีหนังสือ  สุดท้ายที่เข้ามากรุงเทพฯ ก็สอนที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ  เทคนิคการสอนของผมก็อย่างคล้ายๆ กัน  พยายามสอนทุกแง่ทุกมุมเพื่อที่จะให้เด็กมีความรู้  เอาความรู้ไปหาเลือกเรียนแนวทางการเรียนต่อ  สิ่งเหล่านี้ติดตัวผมมาตลอด 
         พอมาสอนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของรัฐ ปรากฏว่านักเรียนที่สอบเข้าเป็นหมื่นคน แต่โรงเรียนเรารับได้ส่วนหนึ่งคือ 240 คน  ก็ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนที่มีความ สามารถพิเศษ สามารถเรียนรู้ได้เร็ว  และก็สิ่งแวดล้อมก็ดี  อยู่ในโรงเรียนทั้งหมด เขาตรงต่อเวลา ตื่นเช้าต้องออกกำลังกาย ทานอาหารและก็เข้าเรียน กลางคืนก็มีกิจกรรมทำ สิ่งเหล่านี้ก็คือกิจวัตรประจำวันของนักเรียน  พูดถึงครู  ผมก็ยังติดนิสัยเดิมก็คือครูสอนทุกแง่ทุกมุม  ครูมีเอกสารประกอบการสอนที่ครูได้กลั่นกรองมาแล้ว  20 กว่าปี เพื่อให้นักเรียนในปีแรกได้รับ  นักเรียนชื่นชมครูเพื่อให้ครูสอนดี  เหมือนไปโรงเรียนกวดวิชา  สอนทุกแง่ทุกมุม ยกตัวอย่างให้นักเรียนทำการทดลอง มีการทำโครงงาน เมื่อสอนแบบนี้อยู่หนึ่งปีสองปี  นักเรียนเริ่มจบไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วก็กลับมาคุยกับครู  บอกว่าอาจารย์เขาสอนดีเกิน  ผมว่าอาจารย์เขาสอนเยอะไป ผมก็เลยมาคิดกับเพื่อนครูด้วยกันบอกว่า ถ้าการสอนนักเรียนที่มีความสามารถสูงคือไม่ต้องสอนเยอะ  พอหลังจากนั้นเข้าปีที่สาม สี่  เข้าปีที่ห้าครูส่วนมากในโรงเรียนจะเป็นครูชี้แนะให้โอกาส  เราก็สร้างสื่อความรู้ต่างๆ  เก็บไว้ในแหล่งความรู้ของโรงเรียน  เราเรียกว่าศูนย์วิทยความรู้บริการ  เก็บไว้ในเครือข่าย internet ทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็น powerpoint ของคุณครู  สื่อการสอนประเภทมัลติมีเดียเก็บไว้ในห้องสมุด  นักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนล่วงหน้าโดยที่ครูเปลี่ยนจุดในเรื่องของการสอน  เปลี่ยนในเรื่องของการเน้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์ต่อวิชาชีพครู  เราก็จะเน้นว่าให้นักเรียนเริ่มทำการทดลองมากๆ  เนื่องจากการเรียนรู้จากแหล่งเอกสาร ตำราเรียนดูจะเข้าใจ  แต่ประสบการณ์  ทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆ  นักเรียนต้องลงมือปฏิบัติ  ให้โอกาสเขามาก ๆ  ที่สำคัญก็คือ  นักเรียนต้องทำโครงงานวิทยาศาสตร์  จึงเป็นเพียงการจบหลักสูตรของโรงเรียน  เราเริ่มตั้งแต่นักเรียนชั้น ม.4 ม.5 และถึงการสอบกัน ก็คือ ม.6  เราสอบแบบมหาวิทยาลัย คือเริ่มตั้งแต่การเขียนโครงงาน มีการตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นครูในโรงเรียน เรียนเชิญคณะครูอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้คุมสอบ ทำให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นอยากให้ตัวเองหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น 
         จากสิ่งเหล่านี้ผมสรุปได้ว่า หนึ่ง คือ  ครูต้องสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ครูก็ต้องตรงต่อเวลา ที่สำคัญก็คือ ครูเป็นตัวอย่างที่ดีและให้โอกาสนักเรียนได้แสดงออกตามศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ เราสังเกตว่านักเรียนที่สอบเข้ามาได้นอกจากมีความสามารถในเชิงวิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์แล้ว  เราก็เปิดโอกาสให้เขาแสดงออกในเรื่องของวิธีอื่นๆ  เช่น  การร้องเพลง การเต้นรำ การแสดงออก  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีในตัวตนของเขาออกมา โรงเรียนชื่อว่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์ แต่โรงเรียนไม่ได้สอนวิทยาศาสตร์อย่างเดียว  โรงเรียนสอนวิชาศิลปะ  เราก็เอาวิชาศิลปะมาจริงๆ เชิญคณะครูจากโรงเรียนดุริยางคศิลป์  ครูที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาทำการสอนที่โรงเรียน  มีหลักสูตรต่างๆ  มีการออกกำลังกาย  การอ่านหนังสือ  การศึกษานอกสถานที่ ปัจจุบันครูได้สร้างสื่อการเรียนใช้ทุกรายวิชา  เพราะว่าผู้อำนวยการท่านบอกว่าครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดี  โรงเรียนวิทยาศาสตร์ถือโครงงานเป็นหลัก เพราะเป็นครูก็ต้องมีงานวิจัยของครู  นอกจากงานวิจัยแล้วก็มีสื่อ  เพื่อนครูคนใดสนใจสื่อระดับมัธยมศึกษา  ก็เชิญได้ที่โรงเรียน

อาจารย์รัตนา  สถิตานนท์ : โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย  กรุงเทพฯ 
         สวัสดีค่ะ  ก่อนจะเล่าเรื่อง ขอแนะนำตัวสักเล็กน้อย  สอนภาษาไทย  โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย  เป็นโรงเรียนเล็กๆ อยู่แถวบางรัก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสหนึ่งคือการทำวิจัยพัฒนา เพราะว่าเป็นยุคปฏิรูปการศึกษา หัวข้อที่ทดลองวิจัยเป็นเรื่องการทดลองกับนักเรียน คือ เรื่องของการจัดการบูรณาการ ก็ลองผิดลองถูก แต่เมื่อมาศึกษาเรื่องของการบูรณาการเป็นการบูรณาการของครู

          บูรณาการก็คือการเชื่อมโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้  มาใส่ในวิชาที่เราสอน ซึ่งภาษาไทยทำได้ง่ายเพราะว่าเป็นวิชาที่เป็นทักษะเพื่อการศึกษา อยากจะเขียนอะไร  คือเรื่องนั้นล่ะเอามาบูรณาการ  ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  เพราะว่านักเรียนได้ความรู้หลากหลาย  ได้ไปทัศนศึกษา  ได้แสดงบทบาทสมมติ  เล่นละคร  ทำโครงการ  ซึ่งครูทุกคนได้บูรณาการ  อย่างเอาวิชานั้นไปแทรก  วิชานี้ไปแทรก  กลุ่มวิทยาศาสตร์สอนแต่งกลอน  กลุ่มศิลปะสอนร้องเพลง  ครูภาษาไทยสอนวาดรูป  ปรากฏว่าเริ่มมีการค้นคว้าเนื้อหางอกเต็มไปหมดและนักเรียนทำงานจนหัวโต เริ่มสังเกตว่ามันไม่ใช่แล้ว ถ้าบูรณาการแบบนี้ทั้งโรงเรียนล่ะก็ผู้ที่รับกรรมคือนักเรียน ฉะนั้นเราก็พัฒนาถึงขั้นที่สองในการบูรณาการภาคสาระ  ให้ครูมาประชุมกัน  เอาเนื้อหามารวมกัน  ก็ยังไปด้วยกันไม่ค่อยได้  โดยเฉพาะกลุ่มต่างๆ  ที่มาจากต่างโรงเรียน มาโรงเรียนละ  2  คน แต่เครือข่ายไม่ได้ ในโรงเรียนพอจะเป็นไปได้เพราะว่ามีเป้าหมายร่วมกัน ทุกคนก็พยายามบูรณาการให้ไปด้วยกันได้ แต่พอต่างคนต่างไป โรงเรียนนี้ช่วย โรงเรียนนั้นช่วย หาเพื่อนใหม่ไม่ค่อยบูรณาการ ทำสาระไม่ค่อยสำเร็จ  ก็มาคิดว่าผิดตรงไหน  เพราะว่าหลักสูตรให้นำแต่สาระต่างคนต่างมา คือหน้าที่อะไรให้ครูมาบูรณาการ คิดไปคิดมาในที่สุดก็ถึงบางอ้อ  เพราะเรามาผิดทาง  การบูรณาการจริงๆ ไม่ได้บูรณการที่เนื้อหาหลักสูตรเน้นเรื่องของมาตรฐาน  เป็นเรื่องของการเรียนรู้  การเรียนรู้คือสิ่งที่ตกตะกอน จากการที่เราเรียนแล้วลืม สิ่งที่เหลืออยู่กับตัวนั่นแหละคือ  ความรู้  ภาษาไทย ไม่ใช่รามเกียรติ์ ไม่ใช่อิเหนา  แต่ภาษาไทยคือทักษะการพูดและการฟัง วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่อง cell เรื่องเนื้อเยื่อ แต่ว่าเป็นเรื่องของกระบวนการคิด ทดลอง พิสูจน์และค้นคว้า ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ เกิดความคิดว่าลองบูรณาการผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เอาเป้าหมายผู้เรียนเป็นสำคัญแล้วเน้นทดลอง ครูไม่ได้ยุ่ง ให้เอาผลการเรียนรู้ทั้งหมดให้นักเรียนดูว่า ถ้านักเรียนจะเรียน 7-8 สาระ แล้วนักเรียนจะทำอย่างไร เน้นทดลองให้นักเรียนทำ mapping แผนผังความคิด นักเรียนคิดได้ดีกว่าครูมาก  เกิดขึ้นมาเป็นหัวข้อโครงงาน  ขอความร่วมมือจากครูทุกคนช่วยดูและให้นักเรียนปรึกษาครูว่า ภาษาไทย  วิทยาศาสตร์ บูรณาการแบบนี้  นักเรียนแต่ละคนจะมีหัวข้อที่หลากหลายและลงมือทำผลงาน ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จอย่างดี เวลานี้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนและครูเป็นผู้ที่ช่วยเหลือ  และนี่คือความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15661เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท