Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๘)_๒


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๘)_๒

อาจารย์สมควร   พรอยู่ศรี :   โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา พระนครศรีอยุธยา
         กราบเรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่เข้ามาร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 4,000 กว่าคน มีบุคลากรทั้งหมด 306 ชีวิต ผมจะเล่าประสบการณ์การเรียนการสอน ในฐานะเป็นครูผู้สอนก็จะยกตัวอย่างวิชาที่สอนในเรื่องของการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จังหวัดของเราเป็นจังหวัดที่มีแหล่งเรียนรู้มากมาย เป็นเมืองมรดกโลก เพราะฉะนั้นเราเอาตรงนี้มาเป็นจุดยืนของเรา
         การเรียนการสอนปกติแล้วเราจะมีทีม teaching ของแต่ละชั้น ชั้น ป.4 ก็จะมีทีม teaching ของ ป.4   ป.5  ก็จะมีทีม teaching ของ ป.5   ป.6 ก็เช่นกัน  การดำเนินการครั้งแรกที่เราทำคือ เราจะเน้นชั้น ป.6 เรามีทีม teaching เพื่อนำทีม  ซึ่งคุยกันก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดีและก็มีความสุขในการเรียน เราคุยกันว่าจะบูรณาการสาระเน้นให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วก็ออกแบบการเรียนรู้ว่า จะออกแบบลักษณะแบบไหน ทุกคนในทีม teaching ก็จะแสดงศักยภาพออกมาว่าคนนั้นคิดอย่างนั้น  คนนี้คิดอย่างนี้  มารวมกันก่อน  เพราะต่างคนก็ต่างคิดไม่เหมือนกัน  แล้วก็มาดูว่าความคิดของแต่ละคนก็ดีทั้งนั้น  เราก็มาดูว่าอันไหนที่เราสามารถปฏิบัติได้จริงจะมาคุยกันและออกแบบกัน พอดีว่าเรามีศูนย์การเรียนรู้ของเรา  มีกลุ่มอาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์  ศิลปะ  คณิตศาสตร์  เราก็ออกแบบเป็นตัวการเรียนรู้  ให้ครูในแต่สาขาออกแบบเขียนการเรียนรู้แบบบูรณาการได้มา 4 ตัวความรู้ โดยตั้งเป็นฐาน  จัดนักเรียนออกเป็นกลุ่ม
         เราจะคุยกับนักเรียนก่อนว่า เมื่อจะออกไปเรียนบทบาทของนักเรียนจะเป็นอย่างไร  และนักเรียนจะออกไปเป็นทีมเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน  เรานำนักเรียนไปเรียนกันทีละ 3 ห้องเรียน โดยจัดแบ่งจำนวนคนให้เท่าๆ กัน  คือคละกันหมด  ตัวที่ 1 เลือกประมาณ  20  คน ใน 20  คนนี้ก็จะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย  5  กลุ่ม  แต่ละกลุ่มก็ประจำตามฐานที่เราตั้งวัตถุประสงค์ไว้ในส่วนของการเรียนรู้  นักเรียนก็จะไปศึกษา  ช่วยกันทำงาน ปรึกษากันเป็นทีมของเขา  เมื่อเสร็จตรงนั้นแล้ว นักเรียนกลุ่มฐานที่ 1 ก็จะได้นำเสนอความรู้ที่เขาได้ เพราะต่างคนก็ได้ไม่เหมือนกัน  เสนอแนวคิดหรือความรู้ที่ได้ share กันในกลุ่ม อันนี้คือ ตัวที่ 1
         ตัวที่ 2  เราจะไม่มีการหมุนฐาน เราจะเรียนไปเลย  ตัวที่  2  เราจะแยกออกเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง  ฐานนี้เรามองดูว่า ในส่วนของเรามีเพื่อนๆ มากมาย  ทำยังไงถึงจะนำเพื่อนมาช่วยประดิษฐ์  เป็นอะไรก็ได้  ให้นักเรียนออกแบบ  มีการออกแบบ  มีการประดิษฐ์  ซึ่งจะมีเรื่องของสมุนไพร  ซึ่งมีหลากหลาย  เพื่อให้นักเรียนศึกษาต่อ เมื่อศึกษาเสร็จแต่ละกลุ่มก็จะนำชื่อสมุนไพรมาทำเมนูอาหาร เราอยากทำเมนูอาหารเป็นอย่างนี้  แล้วก็ให้นักเรียนปฏิบัติต่อไป  บางคนก็ทำเป็นสมุนไพรชุบแป้งทอด บางคนก็ทำเป็นรูปของน้ำผลไม้ อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเกี่ยวกับบริเวณสถานที่มีต้นไม้  นักเรียนก็จะทำเป็นฐานต้นไม้พูดได้  นักเรียนจะแบ่งกลุ่มของตัวเอง  แต่ละกลุ่มจะสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ  เขาจะคิดเอง  ทำเอง แต่งบทสนทนากันเอง จะมีการแสดงให้ชม  ให้ฟังกันในกลุ่ม  เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดแล้ว  จะให้นักเรียนเข้าห้องประชุมใหญ่  ตัวแทนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงานให้กลุ่มทั้งหมดฟัง คือทั้ง 3 ห้องเรียนได้ฟัง ได้ share ความรู้กัน ทำให้เรารู้ว่าเด็กของเรามีศักยภาพ  เด็กของเราเก่ง  มีความภูมิใจทำให้เด็กกล้าแสดงออกมาก  โรงเรียนของเรามีทั้งหมด 11 ห้องเรียน  จะฝึกเหมือนกัน  คือ  ไปเรียนทีละ  3  ห้อง  ซึ่งทั้งหมดนี้เราใช้ฐานกระบวนการเรียนรู้ทุกรูปแบบทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  ซึ่งเราใช้ชื่อของโรงเรียนตั้งชื่อเป็นฐานของการเรียนรู้ทั้งหมด

อาจารย์จีรัฐกาล  พงศ์ภคเธียร:  โรงเรียนสัตยาสัย  ลพบุรี 
          สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน โรงเรียนสัตยาสัยตั้งอยู่ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี  เป็นโรงเรียนประจำที่สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 โรงเรียนสัตยาสัยจะเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทำให้ส่วนดีๆ  ให้ตัวเด็กเกิดการพัฒนา โดยครูจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ครูทำได้เด็กก็จะทำตาม ประกอบกับครูต้องมีความรักความเมตตาความปรารถนาดีให้กับเด็ก  เพราะเวลาที่เด็กเขารู้ว่าเรารักเขา จะแสดงกิริยาท่าทางออกมา จะสื่ออารมณ์จากจิตใจของเด็กได้  เหมือนกับเรารักใครสักคนก็ต้องอย่าทำให้เขาเสียใจ  ทำให้เขามีความสุข การจัดการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมอะไร ต้องคำนึงถึงว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะทำให้เด็กดีขึ้น ตั้งใจ หรือว่ามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง  เราก็จัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงวัยของเขา  เพื่อให้เขารู้สึกสนุกสนานในสิ่งที่เราจัดไว้ให้ เคยสอนวิชาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นวิชาหลักของโรงเรียนที่จะให้นักเรียนเป็นวิชาแรก  ตอนนี้เอาเด็ก ม.4-5  มารวมกัน  เพราะว่าเราเพิ่งเปิดสอนมาเป็นปีแรก  เด็กยังน้อยเลยเอามาเรียนรวมกัน และเป็นช่วงเปิดเทอมใหม่เด็กเข้ามาอยู่ใหม่ซึ่งยังไม่เข้าใจและรู้จักกันเท่าไร เรายังนึกว่าควรจะให้เด็กๆ  รู้จักกันไว้ให้ดีว่าแต่ละคนมีสิ่งดีอะไรในตัวบ้าง  ความสามารถอะไรในตัวเราก็เลยจัดกิจกรรมที่อยู่ร่วมกัน คือ แบ่งปันความสามารถพิเศษหรือความถนัดเฉพาะตัวของตัวเองมาให้กับเพื่อนๆ ได้รู้  ทุก ๆ วันเด็กจะผลัดกันนำเอากิจกรรมความสามารถพิเศษมาแสดงให้เพื่อนๆ  ได้ดูกัน อย่างเช่น บางคนเล่นเปียโนเก่ง  เขาก็จะเล่นเปียโนให้เพื่อนๆ ฟัง  บางคนเขาชอบศิลปะหรือวาดการ์ตูนเก่ง  เขาก็จะมาวาดรูปการ์ตูนให้เพื่อนดูพร้อมกับสอนเพื่อนและแจกกระดาษให้วาดตาม หรือบางคนสนใจเกี่ยวกับเครื่องเปียโน  เขาก็จะมาอธิบายเกี่ยวกับเครื่องเปียโนรุ่นต่าง ๆ  ให้เพื่อน ๆ  ฟัง  ซึ่งสังเกตดูว่าเวลาเขาออกมาพูดอะไรให้ฟัง  มาแสดง  เขาจะสนใจมากและตั้งอกตั้งใจฟัง  รวมทั้งร่วมกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี  หลังจากนั้นก็สังเกตว่าเด็กชั้น ม.4-5  ซึ่งเรียนรวมกัน  พบว่า  มีความรักใคร่สนิทสนมกันมาก มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางทีรุ่นน้องก็ขอให้รุ่นพี่ช่วยติววิชาให้  หรือบางทีรุ่นพี่ก็ให้รุ่นน้องสอนเปียโนให้  ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง  ซึ่งเราแทบจะไม่ต้องทำอะไรมากมาย หลังจากนั้นก็พบว่าหลังจากทำกิจกรรมแล้วก็พบว่าทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น  จากที่เคยเป็นเด็กเงียบๆ กลายเป็นเด็กกล้าแสดงออกคอยช่วยเหลือคนอื่นได้ดีขึ้น  หลังจากที่หลายๆ คนที่มาแสดงความสามารถหรือว่าความสนใจของตัวเอง ก็พบว่าสามารถต่อยอดไปจนถึงเข้าระดับอุดมศึกษา  หรือว่าเด็กที่สอนวาดการ์ตูนก็สามารถสอบเข้าคณะมัณฑนศิลป์ของมหาวิทยาลัยดังๆ ได้ ทำให้เราได้เห็นว่ากิจกรรมตรงนี้มันทำให้เกิดอะไรหลายๆ  อย่างในตัวเด็กคนนั้นเอง

อาจารย์ทองดี  แย้มสรวล:  โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง  จังหวัดปทุมธานี 
         ขอบพระคุณมากครับ ผมเองเป็นครูต้นแบบสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  สอนวิชาฟิสิกส์  ประสบการณ์การสอนก็  20  ปีแล้ว  ตัวผมเองสอนอยู่ในโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง  ปทุมธานี  โรงเรียนนี้มีจุดเด่นพิเศษก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม  เป็นโรงเรียนที่ติดอยู่กับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  เชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีทัศนียภาพสวยงามมาก  แต่ไม่มีแนวคิดในเรื่องของการใช้เวลากับสิ่งแวดล้อม ตัวผมเองก็มาจับในเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ  กับนักเรียน  แต่แน่นอนไม่ได้อยู่ในห้องเรียน  เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร  ที่ผมทำมา 15 ปีแล้ว  จากประสบการณ์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา  จริงๆ  แล้วต้องการปลูกฝังนักเรียนเพื่อให้เขาเกิดความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยยกตัวอย่างของเราเองเพื่อที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดจิตสำนึก  ต่อมาก็ได้จัดกิจกรรมต่างๆ  มากมาย 
         ผมขออนุญาตยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้มีโอกาสทำ เช่น โครงการเรารักเจ้าพระยา อาสาสมัครพิทักษ์เจ้าพระยา อนุรักษ์ป่าไม้ สำรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ยุวเนตรนารีอาสา  เด็กไทยทำดี รายงานภาวะสิ่งแวดล้อม หรือโครงการน้ำใสทั่วไทยถวายพระราชินี  เราทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ โครงการต่างๆ  ก็จะมีกิจกรรมค่อนข้างที่จะเยอะอยู่ทีเดียว  เป็นลักษณะกิจกรรมย่อยๆ  กิจกรรมในวันแรกๆ จะทำเป็นลักษณะกิจกรรมชุมชนซึ่งปกติจะอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราเป็นชุมชนอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม  ผมสอนฟิสิกส์แต่ว่ามาทำกิจกรรมในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นก็หัดทำกิจกรรมกับนักเรียนไม่กี่คนแต่ด้วยเห็นว่าก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้กับตัวนักเรียนเอง ที่สำคัญก็คือกระบวนการเรียนรู้ในการทำงาน  และเป็นกระบวนการที่ทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระดับเดียวกันหรือระดับที่เป็นลูกน้อง  หรือเป็นรุ่นที่พูดง่ายๆ ว่ามีการทำงานร่วมกันจากจุดตรงนี้
         จากการทำงานร่วมกันเมื่อทำไปเรื่อยๆ จะมีเพื่อนคุยเข้ามาร่วมงานมากขึ้น เราก็เริ่มที่จะทำงานร่วมกับชุมชน  จากโรงเรียนสู่ชุมชน  เมื่อเราทำงานนานขึ้นมีประสบการณ์มากขึ้น  เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น  เราก็เริ่มมีเครือข่าย  เราเคยจะนำเครือข่าย  เช่นที่ลุ่มน้ำพอง ที่นั่นจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปสู่ลุ่มน้ำพอง  ซึ่งผู้ใหญ่ก็ได้เปิดโอกาสให้เราทำเครือข่าย  รวมทั้งได้ทำเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ  กับคลองแสนแสบ  หรือคลองดำเนินสะดวก  เมื่อมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงนี้ระหว่างครูกับชุมชน ต่างความคิด ต่างถิ่น โดยนำเอาความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน  และเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน  ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นจุดที่เราเองพยายามทำตรงนี้  พยายามทำให้เกิดการเรียนรู้กับหลาย ๆ  กลุ่ม 
         ในเวลาที่จำกัดก็อยากสรุปรูปแบบการเรียนรู้ของผมที่ได้ทำมา 6  รูปแบบจากการทำกิจกรรมมาประมาณ  15  ปี  ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม  คือ  หนึ่ง  เรามีการเรียนรู้ในสภาพจริงและเป็นการเรียนรู้นอกสถานที่  ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดหลักซึ่งเด็กเองจะได้รู้และชอบที่จะเรียนรู้ในลักษณะที่อิสระจริงๆ  สอง  เด็กเองได้เรียนรู้ในลักษณะเป็นการเสาะหา  แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ได้ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองในลักษณะที่เราบอกว่าเป็นลักษณะอควาเรียม  นอกจากนั้น  การเรียนรู้มีลักษณะการเรียนรู้ในประเด็นที่สาม  การเรียนรู้แบบร่วมไม้ร่วมมือ  เขาจะเรียนรู้แบบการเรียนรู้ร่วมกันและก็เป็นการถ่ายทอดความรู้ของกลุ่มจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ทำมาหลายรุ่นมาก การเรียนรู้นี้จะแฝงไปด้วยประเด็นที่สี่ การเรียนรู้อย่างมีความสนุกสนานตามกระบวน การต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมส์หรือเป็นการเล่าเรื่องและก็การทำกิจกรรมรวมกัน  การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในประเด็นที่ห้า เป็นรูปแบบก็คือเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากๆ คือการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และคิดอย่างมีสติปัญญา  เช่น  เมื่อนักเรียนสำรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา  ข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลมวลดัชนีชี้วัดว่าคุณภาพน้ำ ณ เวลานี้เป็นอย่างไร  และก็ไปทำการคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรต่อเนื่องอะไรดี  เช่น กิจกรรมขยะแลกของใช้  กิจกรรมหลายๆ อย่าง แล้วแต่นักเรียนคิดอะไรขึ้นมา  สุดท้ายการเรียนรู้ที่ใช้ทักษะกระบวนการและใช้ความรู้ในหลายๆ วิชา หลายๆ กลุ่มสาระการเรียนรู้เข้ามาทับในภาพรวมของการเรียนรู้ทั้งหมดทุกวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากตัวเอง ตัวครู ตอนนี้ก็มีคุณครูเข้ามาช่วยทำงานตรงนี้มากยิ่งขึ้น จากเดิมแค่คนสองคนตรงนี้ก็มีคุณครูเข้ามาช่วยและก็เกิดการเรียนรู้  และต่อยอดกันไปจำนวนมาก

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15660เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท