วัยกลางคน ผู้หญิง เมนโนพลอส และวัยทอง


อาการและอาการแสดงเหล่านั้น เกิดกับผู้หญิง ซึ่งให้ประจวบเหมาะว่าเป็นช่วงระยะเวลาของการหมดประจำเดือนหรือเมนโนพลอส การทำความเข้าใจเรื่องของวัยกลางคน โดยอิงอาการและอาการแสดง จึงมักถูกเบี่ยงประเด็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุเสื่อมทางการเจริญพันธุ์ และดูเหมือนว่าจะกลายเป็นจุดขายของบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

คำว่าวัยกลางคน หานิยามชัดๆ ไม่ค่อยได้หรืออีกทีก็คือยังตกลงกันไม่เด็ดขาด อาจจะเพราะว่า คำว่ากลางแสดงว่าต้องรู้จุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย

แต่ชีวิตคนรู้แต่จุดเริ่มหรือวันเกิด ส่วนจุดสุดท้ายก็ไม่ทราบหรอกว่าจะเมื่อไหร่ นั่นก็เลยทำให้การนิยามคำว่า "กลางคน" ควรเป็นเท่าไหร่ และใช้อะไรเป็นเกณฑ์ค่อนข้างจะกว้างๆ ไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน

ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิง ความหมายของคำว่าวัยกลางคนจะค่อนข้างซับซ้อนเพราะมีหลายแนวคิดในการกำหนดข้อบ่งชี้

บางแนวคิดใช้ช่วงอายุ เช่นอายุระหว่าง 35-65 ปี โดยมองว่า เป็นวัยที่คาบเกี่ยวระหว่างผู้ใหญ่ตอนต้นกับผู้สูงอายุ

บางคนกำหนดโดยเชื่อมโยงกับวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เช่นใช้อายุเมื่อสิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์คือ 45 ปี เป็นจุดเริ่มต้นของวัยกลางคน

บางแนวคิดใช้เรื่องบทบาทหน้าที่มากำหนดวัย เช่นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทเข้าสู่การเป็นแม่ยาย หรือแม่สามี หรือเป็นย่าเป็นยาย เมื่อไหร่ที่เริ่มรับบทบาทใหม่ก็เริ่มจะคิดว่าเข้าสู่วัยกลางคน

บางแนวคิดก็ใช้การเปลี่ยนแปลงสรีระที่ปรากฏให้เห็นชัด เช่นเริ่มมีผมหงอก ผิวเหี่ยวย่น แห้งที่ริ้วรอย เริ่มมีไขมันพอกตามร่างกาย หรือว่าเต้านมหย่อนคล้อย

การที่มีหลายแนวคิดแต่ค่อนข้างโน้มเอียงไปตามการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยชราไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมด้านร่างกาย การเพิ่มบทบาททางสังคม หรือการถดถอยเสียหน้าที่การเจริญพันธุ์ อย่างนี้ ย่อมมีอิทธิพลกับความรู้สึกของบุคคลต่อการเข้าสู่วัยกลางคน พฤติกรรมของบุคคล ที่อาจโน้มเอียงไปได้ทั้งการยอมรับ การไม่ยอมรับ การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับวัย การแสวงหาความช่วยเหลือ ความรู้สึกสูญเสียความสดชื่นของวัยเยาว์ ซึ่งการจะมีความรู้สึก หรือมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากน้อย ย่อมขึ้นกับสภาพของสังคมที่บุคคลหรือผู้หญิงนั้นๆ อยู่

ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เช่นสังคมทางเอเชียส่วนใหญ่ การเข้าสู่วัยกลางคนอาจทำให้เกิดความพอใจและการยอมรับกับวัยที่เพิ่มขึ้น การได้รับการชดเชยด้านการสนับสนุนทางสังคมทำให้บุคคลสามารถปรับตัวยอมรับได้กับการเปลี่ยนแปลงทางสรัระและสุขภาพที่ถดถอยตามวัย

ในขณะที่สังคมที่นิยมวัตถุ ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของเงิน ก็อาจทำให้ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคนเกิดความคับข้องใจเมื่อเผชิญกับความเสื่อมทางสรีระและการไม่สามารถประสบความสำเร็จในเชิงเทคโนโลยี่ทันสมัย และอาจเกิดความเครียดกับการต้องปรับตัวให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อรายได้ที่มั่นคงโดยไม่ได้รับความสำคัญในเรื่องประสบการณ์และการมีวัยที่เพิ่มขึ้น ความคับข้องใจและความเครียดเหล่านั้นก็อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการของความเครียด เช่นมีอาการทางกล้ามเนื้อ ทางฮอร์โมน ภาวะภูมิแพ้และรวมถึงอาการหงุดหงิดต่างๆ ที่ตามมา

แต่เมื่ออาการและอาการแสดงเหล่านั้น เกิดกับผู้หญิง ซึ่งให้ประจวบเหมาะว่าเป็นช่วงระยะเวลาของการหมดประจำเดือนหรือเมนโนพลอส การทำความเข้าใจเรื่องของวัยกลางคน โดยอิงอาการและอาการแสดง จึงมักถูกเบี่ยงประเด็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุเสื่อมทางการเจริญพันธุ์ และดูเหมือนว่าจะกลายเป็นจุดขายของบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

จุดขายของบริการสุขภาพของวัยกลางคนโดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เป็นอยู่ในทางการแพทย์จึงมักจะมุ่งเน้นแต่เรื่องของการเจริญพันธุ์ แม้จะมีการใช้คำปลอบประโลมใจว่าเป็น "วัยทอง" เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นวัยที่ผู้หญิงได้สะสมประสบการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นช่วงอันตรายของการตั้งครรภ์ คลอดมาแล้ว จนน่าจะ "เสวยสุข" กับความสำเร็จต่างๆ ได้ ก็ตาม

ด้วยเพราะคำว่า "วัยทอง" ถูกนำมาผูกมัดกับการหมดประจำเดือนตามแนวคิดของบริการการแพทย์ สัญญลักษณ์ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจึงแนบแน่นติดมากับคำว่า "วัยทอง" เช่น อารมณ์ไม่ดี หดหู่ ซึมเศร้า แม้จะมีการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในการศึกษาติดตามระยะยาว การศึกษาข้ามวัฒนธรรม ที่แสดงให้เห็นว่า อาการหดหู่ซึมเศร้า และอาการของการหมดประจำเดือนจะสัมพันธ์กับความเครียดมากกว่าอายุที่เพิ่มขึ้นก็ตาม ก็ยังดูเหมือนว่า ตราประทับที่ผนวก ผู้หญิงวัยกลางคน ภาวะเมนโนพลอส วัยทอง และอาการ "ขึ้นๆลงๆ ทางจิตใจ" ไว้เป็นกลุ่มเดียวกันอย่างแนบแน่นนั้น ยังฝังอยู่ในความคิดของสังคมเหมือนการติดตั้งโปรแกรมที่ไม่สามารถลบทิ้งได้

จึงอาจพบว่าธุรกิจสุขภาพในสังคมที่ชื่นชมความเป็นหนุ่มสาวและกีดกันผู้อายุ มักจะส่งเสริมการใช้ฮอร์โมนเพื่อ "ให้สามารถลดอาการไม่สุขสบายและสามาถทำงานได้" สนับสนุนการผ่าตัดเสริมสวย และรวมทั้งการใช้อาหารเสริมต่างๆ เพื่อ "ชะลอความแก่" และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ จึงแพร่หลาย หากสามารถ "ลดวัย"

สังคมไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่ให้ความสำคัญของวัยสูงอายุเข้าสู่สังคมวัตถุนิยมอย่างรวดเร็ว การแข่งขัน การสร้างจุดขาย ดูเหมือนจะเข้ามามีบทบาทกับการกีดกันทางเพศ กีดกันทางวัย มากยิ่งขึ้น ข้อมูลด่วน อาหารด่วน ชีวิตที่เร่งด่วน แทบจะทำให้คนมีเวลาน้อยลงที่จะคิด แต่ต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ย่อยและผนวกการชี้นำไว้ให้ เพื่อที่จะได้รับรู้ข้อมูลเร็วขึ้น และมากขึ้น โดยสนใจสืบค้นน้อยลงถึง ที่มาของข้อมูลว่า มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

เช่นเดี่ยวกับคำว่า "วัยทอง" ที่ถูกผนวกการชี้นำว่า จะต้องปรากฏกลุ่มอาการหงุดหงิด แปรปรวน ซึ่งหากถามกลุ่มผู้อยู่วัยกลางคนและวัยหมดประจำเดือน หลายงานวิจัยบ่งชัดว่า ผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีกลุ่มอาการดังกล่าว และไม่ได้สนใจต่อการหมดประจำเดือนมากกว่ากับเรื่องสุขภาพและการเป็นอยู่ประจำวัน

ถึงตรงนี้อาจต้องตั้งคำถามว่า แนวคิดการผนวกผู้หญิงวัยกลางคน เมนโนพลอส วัยทองกับ กลุ่มอาการ "ขึ้นๆลงๆของอารมณ์" เช่นนั้นมีที่มาได้อย่างไร ใครชี้นำ และมีข้อมูลสนับสนุนน่าเชื่อถืออย่างไร

หมายเลขบันทึก: 15630เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

“วัยทอง” ใครว่าเรื่องของผู้หญิง 

     ...ตอนอายุประมาณสี่สิบเก้าปี สิ่งที่เรียกว่า “วัยทอง” นั้นจะเกิดกับผู้ชายด้วยเช่นกัน ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงเท่านั้น วัยทองของผู้ชายถึงจะสังเกตได้ยากแต่มันก็อยู่ตรงนั้นเช่นกัน – ในปัจจุบันการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ยืนยันในเรื่องนี้ แต่สำหรับตันตระแล้ว สิ่งเหล่านี้รู้กันมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว . . . เพราะโดยพื้นฐานแล้วกระบวนการเคมีในผู้ชาย และกระบวนการเคมีในผู้หญิงไม่ได้แตกต่างอะไรมากนัก ถึงแม้จะแตกต่างกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก

     ผู้หญิงเจริญวัยในทางเพศเต็มที่ตอนอายุราวๆ สิบสอง สิบสาม หรือสิบสี่ปี ผู้ชายก็เจริญวัยในทางเพศเต็มที่ในเวลาใกล้เคียงกัน มันคงจะไม่ยุติธรรมที่ผู้หญิงมีวัยทองตอนอายุราวๆ สี่สิบเก้าปี แต่ผู้ชายกลับไม่มีวัยทอง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่าพระเจ้านั้นเข้าข้างผู้ชาย! มันไม่ยุติธรรม และไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

     มีบางอย่างที่แตกต่างในผู้ชาย – นั่นคือสาเหตุที่เราตรวจจับมันไม่ได้จนถึงปัจจุบัน – แต่ทว่าในหลายปีที่ผ่านมานี้ได้มีการทำวิจัยมากมาย และได้ข้อสรุปที่ว่าผู้ชายก็มีวัยทองด้วยเช่นกัน ผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุกๆ ยี่สิบแปดวัน ผู้ชายก็มีประจำเดือนด้วยเช่นกัน เป็นเวลาสามหรือสี่วันที่ผู้หญิงจะตกอยู่ในสภาวะที่ซึมเศร้า เป็นสภาวะที่เป็นลบ – ผู้ชายก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน แต่เนื่องจากผู้หญิงมีระดูที่เห็นได้ชัดเจน จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจนัก – เมื่อผู้หญิงรู้ว่าประจำเดือนของหล่อนจะมา อาจจะมีอาการซึมเศร้า และมีความรู้สึกทางด้านลบ อาจจะรู้สึกเศร้าสร้อยอยู่ภายใน

     การปลดปล่อยของผู้ชายเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ก็มีพลังบางอย่างที่ปล่อยออกมาในแต่ละเดือน – เป็นเวลาสามหรือสี่วันที่ผู้ชายอาจจะตกอยู่ในความซึมเศร้า ความรู้สึกทางด้านลบ หากท่านจดบันทึกไว้ทุกเดือน ท่านจะพบว่าทุกๆ ยี่สิบแปดวัน ท่านจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นลบสามหรือสี่วัน – แล้วอาการซึมเศร้านั้นก็หายไปโดยที่ไม่มีเหตุผลใดๆ เลย เพียงแค่จดบันทึกลงไปในสมุดไดอารี่เล่มเล็กๆ แล้วท่านก็จะเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจน มันจะเกิดขึ้นชัดตอนที่ท่านอายุประมาณสี่สิบเก้าปี – ไม่มีอะไรที่จะต้องไปกังวลเกี่ยวกับมัน มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ...

    เป็นบางส่วนจากหนังสือชื่อ "Maturity" ที่ผมกำลังแปลอยู่ ...ยังไม่มีชื่อภาษาไทย! ถ้าพิมพ์เสร็จเมื่อไรแล้วจะแจ้งให้ทราบครับ

ไม่ได้ตั้งใจจะเป็น "ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม" แต่ลืมใส่ชื่อครับ

เหตุใดต้องมีอาการซึมเศร้าและความรู้สึกในด้านลบในช่วงเช่นนั้นของ วัยทอง

เพราะการกังวลใช่หรือไม่

 

อาการลิงโลด หรือ บ้าระห่ำ ของชายวัยทองในทุกๆเดือน

หมายถึง ประจำเดือนของชาย..มา... ใช่หรือไม่

 

เอ่อ..เพิ่งทราบว่าผู้ชายก็มีรอบระยะนั้นของเดือนค่ะ ส่วนอะไรเป็นตัวบ่งชี้ จะเป็นเรื่องความบ้าระห่ำไหม ไม่ทราบเลยค่ะ แต่ว่าความบ้าระห่ำ จะเกิดเป็นระยะๆ ทุกเดือนเลยอย่างนั้น (เชียวหรือคะ)

 

 

กลางคน  คือ  สายตาเริ่มเสีย  เป็นตอนอายุ 35 ปีค่ะ

ผมหงอก  เป็นปีนี้ค่ะ  48 ปี

แต่ยังไม่ได้เป็นแม่ยาย

ผิวหนังยังไม่เหี่ยวย่นค่ะ

ยังไม่หงุดหงิด  เพราะมี GotoKnow เอาใจค่ะ

ได้ความรู้เยอะเลย  แสดงว่า  วัยกลางคนต่างกันเพราะคนเราต่างกัน

เข้าใจเอาเองนะคะ  ขอบคุณค่ะ

ครูอ้อย

ขอบคุณค่ะ อาจารย์สิริพร

เรื่องวัยกลางคนของผู้หญิงไทย หรือแม้แต่ผู้หญิงเอเชีย มีงานวิจัยค่อนข้างมาก แต่ส่วนมากมุ่งเน้นที่ภาวะหมดประจำเดือนและการใช้ยาฮอร์โมนต่างๆ เพื่อลดอาการไม่สุขสบาย...กำลังเขียนผลการศึกษาเรื่องนี้ค่ะ

บทความ "ภาวะสุขภาพของผู้หญิงวัยกลางคน: มุมมองแบบองค์รวม" ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือฉบับก่อนค่ะ กำลังขอทางสมาคม ทำเว็บและลิงค์วารสารลงอินเตอร์เนตค่ะเผื่อสำหรับท่านที่สนใจค่ะ

 

 

ดีมากเลยค่ะ  กำลังสงสัยตัวเองเหมือนกันค่ะ  ในแต่วันนั้นมีหลายอารมณ์เหลือเกินค่ะ  แต่ควบคุมได้ ไม่มีปัญหา  ขอบคุณมากค่ะ

ครูอ้อยคะ ทางวารสารตอบรับความคิดทำลิงค์วารสารแล้วค่ะ เชิญอ่านค่ะ ภาวะสุขภาพของผู้หญิงวัยกลางคน:มุมมองแบบองค์รวม (Helth of Midlife Women: Holistic Perspective)

เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ท่านอาจารย์ประพนธ์คะ อ่านงาน Maturity แล้วค่ะ อ่านแล้วทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น ขอบคุณค่ะ

คุณลุง ล.บ คะ ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนค่ะ

ตัวเองอายุ44ปีแต่ก็รู้สึกว่าจะเข้าวัยทองแล้วเช่นกันค่ะมีอาการแบบที่เข้าวัยทองเลยค่ะ

อาจารย์จันทรรัตน์คะ ....        ดิฉันรบกวนเรียนถามนะคะ  ถ้าโดยปกติเราเป็นคนอารมณ์ดี  แต่ตอนอยู่ในช่วงเมนโนพอส นิสัยเราจะเปลี่ยนไปมากไหมคะ 

ถ้าอาจารย์ไม่ได้แวะกลับมาบันทึกนี้  ...ไม่เป็นไรนะคะ :)

ถ้าโดยปกติเราเป็นคนอารมณ์ดี  แต่ตอนอยู่ในช่วงเมนโนพอส นิสัยเราจะเปลี่ยนไปมากไหมคะ 

คำถามของอาจารย์ดอกไม้ทะเล  สั้น แต่....ขอตอบยาวนิดหนึ่งนะคะ

ถ้าปกติอารมณ์ดี เมื่ออยู่ในช่วงเมนโนพลอสแล้ว....สิ่งแวดล้อมก็ไม่เปลี่ยน หน้าที่การงานบทบาทไม่เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่เกิดจากฮอร์โมน..ไม่น่าจะทำให้คนๆนั้นเปลี่ยนนิสัยได้นะคะ

แต่..พบว่า ....อารมณ์อาจเปลี่ยนได้ในสองลักษณะ คือ อารมณ์เย็นขึ้น เพราะผ่านประสบการณ์ต่างๆในชีวิตมามากขึ้น เจอเหตุการณ์มาหลากหลายมากขึ้น กับอีกแบบคือ หงุดหงิดรำคาญที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ความเร็วความว่องไวช้าลงขณะที่การงานมันต้องเร่งๆๆๆ  พอบวกกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจากฮอร์โมนที่มีร้อนวูบวาบ เหงื่อออกเวลาที่ควรหนาว หนาวเวลาที่ชาวบ้านเขาร้อน ..นอนไม่หลับลุกมาเหงื่อตกกลางดึก....แบบนี้ ยิ่งจะอารมณ์ไม่ค่อยมั่นคงค่ะ

ประสบการณ์เมนโนพลอสเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว แต่ละคนอาจมีส่วนใหญ่ๆ คล้ายกัน แต่ความจริงไม่เหมือนกันซะทีเดียวค่ะ

ผู้หญิงที่มักพบคือ

เมื่อยังไม่หมดประจำเดือน จะเฝ้ารอดูอาการของตัวเอง...จะเป็นไหมหน้อ จะเป็นอย่างไรหน้อ ...อ่านหนังสือแล้วนะ เตรียมตัวเองแล้วนะ

เมื่ออยู่ในระยะ ประจำเดือนมามั่งไม่มามั่ง ก็จะคอยมองคนอื่นเป็นไงนะ สังเกตเห็นความผิดปกติของเราไหมนะ ไปตรวจดีไหมนะ หาอะไรมากินดีนะ ใครว่าอะไรดีก็จะหามาทำ

กับอีกแบบคือ ภาระมากๆๆ มากจนบางทีลืมไปเลยว่าตัวเองมีประจำเดือนของเดือนนั้นหรือยัง....ยกเว้นคนมีสามีที่อาจจะพอมีคนคอยกระตุ้นเตือน...

หรืออีกแบบคือ เจอการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนแล้วก็เฝ้าระวังสังเกตสังกา คอยพกผ้าอนามัยไปด้วยทุกที่ เพราะไม่รู้ว่า วันไหนเมนส์จะโผล่มาบ้าง.

ถ้าเอามาเกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะบุคคล อาการของเมนโนพลอสในแต่ะละคนก็ต่างกัน ....คนโสดก็จะมีประสบการณ์ที่ต่างจากคนมีสามี คนมีครอบครัว คนมีภาระต้องดูแลคนอื่น จะมีประสบกาณ์ต่างจากคนที่ไม่มีภาระ คนอ้วนก็ต่างจากคนผอมค่ะ

อารมณ์ของคนวัยเมนโนพลอสก็เลยไปเกี่ยวข้องกับบริบทของคนๆ นั้นมากกว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพียงอย่างเดียวค่ะ

ถ้าเคยอารมณ์ดี....แสดงว่า อย่างน้อยคงเป็นคนที่เผชิญกับเรื่องราวของชีวิตอย่างมีสติ มีความคิดเชิงบวกในระดับหนึ่ง....ดังนั้นถ้าเข้าสู่วัยเมนโนพลอส...ก็ไม่น่าจะเสียศูนย์ไปมากนักหรอกค่ะ...

เมนโนพลอสโดยทั่วไปคือเรื่องส่วนตัว คนสมัยก่อนจะไม่คุยประสบการณ์ให้ใครฟัง แต่ในปัจจุบันระหว่าง ผู้หญิงๆ เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนที่สนิท การบอกให้กันและกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนบางทีก็ได้รับความเข้าใจที่ดี ค่ะ แม้แต่กับสามีนะคะ บอกกันสักนิด...ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ว่า มีอะไรบ้าง..บางเรื่องของชีวิตคู่ก็จะผ่านพ้นไปอย่างเข้าใจกันและกันมากขึ้น

หวังว่าที่คุยกันอย่างนี้จะให้ประโยชน์ได้บ้างนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์จันทรรัตน์

ความรู้นี้มีค่าต่อการดำเนินชีวิตมากค่ะ  โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีคุณแม่อยู่ช่วงวัยนี้  ดิฉันเคยเจอประสบการณ์นี้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว  ต้องทำความเข้าใจกันนาน  พอเข้าช่วงคุณพ่อบ้าง ก็ดีขึ้น เพราะเข้าใจอาการธรรมชาติแบบนี้แล้ว

ดิฉันนึกถึงนักศึกษาทุกคน  บางคนเขามีความทุกข์ในครอบครัวอันละเอียดอ่อนซับซ้อน    แต่เขาไม่ได้สื่อสาร  เรา(คือดิฉัน)สอนอยู่หน้าชั้น  เราก็ไม่ได้เชื่อมต่อกับความเป็นมนุษย์ในตัวเขา  เรายืนสอนแต่วิชาของเรา  จนหมดคาบหมดเทอม  แล้วก็จากกันไป  ดิฉันเสียดายเหลือเกินที่เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.....    

ดิฉันอยากให้ตัวเองคงสติไว้ได้แม้จะมีช่วงที่ภาวะร่างกายไม่สมดุล  แล้วก็อยากมีปัญญา ที่จะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่านี้

ดิฉันอยากเป็น(จำเป็นต้องเพียรพยายามเป็น)ครูที่มีวุฒิภาวะ   เนื่องจากดิฉันตั้งใจที่จะสอนและฝึกเด็กๆเรื่องนี้  ยากแสนยากเพียงใดก็ต้องเพียรฝึกนิสัยตนเองไปทุกวัน

  อยากร่วมสนทนากับอาจารย์ยาวๆค่ะ  อาจารย์เล่าให้ฟังโดยละเอียดอย่างนี้  ทำให้ดิฉันนึกอะไรออกขึ้นมาอีกเยอะแยะเลย  แต่ต้องเรียบเรียงให้เป็นลำดับสักนิด     ขอบพระคุณอาจารย์มากๆอีกครั้งนะคะ :)

 

ขอบคุณมากๆ ค่ะอาจารย์จันทรรัตน์ สำหรับบันทึกเรื่องวัยทอง กำลังหาอ่านอยู่พอดี เพราะเริ่มสงสัยว่า ตัวเองจะเข้าสู่วัยทอง (อายุ49) มีอาการเหมือนครูอ้อยเลย วันหนึ่งมีหลายอารมณ์ แต่ควบคุมได้เช่นกันค่ะ 

อาจารย์สบายดีนะคะ ไม่ได้คุยกันซะนานเลย ^___^

สวัสดีค่ะ อาจารย์ สุกฤตา อาจารย์ดอกไม้ทะเล และ อาจารย์ lioness

อาการเมนโนพลอส ส่วนมากควบคุมได้ค่ะ โดยเฉพาะคนไทย คนเอเชีย

จากที่กำลังทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานการวิจัยข้ามทวีป ...คร่าวๆ ค่ะว่า ...คนจีน คนไทย มักจะมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดข้อเช่นกำมือแล้วเจ็บ ลงน้ำหนักเท้าตอนเช้าๆ แล้วเจ็บ บางคนเจ็บลิ้นเจ็บปาก ที่เรียกว่าพุพองร้อนใน

ส่วนอาการร้อนวูบวาบมีน้อย(หมายถึงเปอร์เซนต์ของจำนวนคนที่มีเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในวัยเดียวกันค่ะ)  ...ขณะที่คนตะวันตกจะมีมาก ...แต่ที่น่าแปลกใจคือ คนเอเชียในชาติที่เจริญอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง อาการจะไม่ค่อยต่างจากคนตะวันตกค่ะ คือมีร้อนวูบวาบ นอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิด...ต่อไปผู้หยิงไทยในเมืองใหญ่ๆ อาจจะคล้ายๆกันก็ได้ค่ะ

อาการร้อนวูบวาบจะคล้ายๆ เวลาร้อนอกร้อนใจ จะทำอะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ ความรู้สึกร้อนจะเริ่มจากภายใน บางคนร้อนขึ้นหัวขึ้นหู แล้วมีเหงื่อเม็ดโป้งๆ ออกมาตามหน้าตา และร้อนหลัง ...ถ้ารู้ตัวพยายามสงบระงับได้ ก็ไม่ต้องพึ่งฮอร์โมนค่ะ แต่ถ้าทำให้เกิดความไม่สุขสบาย ไม่ว่าจะลองวิธีลดเครียดอย่างไงแล้วก็ตาม ก็อาจใช้ฮอร์โมนได้แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางค่ะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ

ขอปรึกษาค่ะ ปีนี้อายุ 45 ปี ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่กินยาคุมไดแอนมา6-7 ปี เพราะรักษาสิว ก็หายดี ผิวพรรณนุ่มนวลมาก หน้าอกอวบอิ่ม ไม่เคยปวดประจำเดือน ไม่เคยตรวจมดลูกเพราะอายหมอ ปีนี้ประจำเดือนมาน้อยมาก แบบแห้งๆ มี 2 วันก็หมด ปัจจุบันหยุดกินยาคุมได้ 4 เดือนแล้ว ทำให้ผิวแห้ง ไม่นุ่มเหมือนเดิม หน้าอกเริ่มคล้อยเหี่ยวลง เป็นอาการคนวัยทองหรือเปล่าคะ

และตอนนี้มีฝรั่งมาขอแต่งงาน จะมีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่ค่ะ

สนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท