ร่มและฉัตร


ในภาษาพม่าคำเรียก ร่ม และ ฉัตร ใช้รากคำเดียวกันว่า ที
ร่มและฉัตร
ในภาษาพม่าคำเรียก ร่ม และ ฉัตร ใช้รากคำเดียวกันว่า ที ( 5ut X คำนี้จึงหมายถึงร่มกันแดดกันฝนธรรมดาก็ได้  หรือหมายถึงเครื่องสูงที่ใช้บอกฐานะหรือบรรดาศักดิ์  และยังหมายถึงเครื่องประดับที่อยู่บนส่วนยอดของพระเจดีย์ได้ด้วย
ในอดีตพม่ามีกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง  และสิ่งที่แสดงเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็คือที-ผยู่(5utez& X แปลว่า “ ร่มขาว” สำหรับขุนนางก็จะมีฉัตรแสดงบรรดาศักดิ์  อาทิ ขุนนางชั้นสูงจะมีฉัตรแดงเป็นเกียรติยศ เป็นต้น  พม่าถือว่าเสวตฉัตรเป็นสิ่งคู่กับองค์พระมหากษัตริย์   ราชบัลลังก์ที่ไร้ฉัตรจึงหมายถึงการหมดสิ้นแห่งอำนาจและบารมี  ดังตอนที่ราชวงศ์ของพม่าล่มสลายด้วยการยึดครองของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ . ๑๘๘๕  นั้น พม่าถึงกับเปรียบการสิ้นสุดของระบบกษัตริย์ครั้งนั้นว่า  ฉัตรหัก หรือ ทีโจ ( 5utdy7bt X อย่างไรก็ตาม  แม้พม่าจะไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกแล้ว  แต่พม่ายังคงมีการใช้ฉัตรขาวเป็นเครื่องบ่งบอกบรรดาศักดิ์ของพระสงฆ์
สำหรับฉัตรที่ประดับยอดพระเจดีย์แบบพม่านั้น  เรียกว่า  พระฉัตร หรือ ทีด่อ ( 5utg9kN X เจดีย์แบบพม่าจะต้องมีฉัตร  และในการสร้างเจดีย์จะมีการทำพิธีอัญเชิญพระฉัตร ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญและจะต้องกระทำเป็นลำดับสุดท้าย  ดังเมื่อเดือนเมษายนของปี พ.ศ.๒๕๔๒ รัฐบาลพม่าได้จัดงานขึ้นฉัตรใหม่สำหรับเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นงานยกฉัตรที่ยิ่งใหญ่  ด้วยว่างเว้นมานานนับแต่สมัยพระเจ้ามินดง  รัฐบาลพม่าจัดงานนี้อย่างเอิกเกริก  โดยใช้เวลาเตรียมงานหลายเดือนและใช้เวลาเพื่ออัญเชิญพระฉัตรถึง ๓ วัน และยังจัดงานฉลองพระฉัตรอีกนับ ๑;  วัน  นับเป็นงานหลวงที่สามารถเรียกศรัทธาจากชาวพุทธพม่าทั่วประเทศได้มาก  ในพิธีมีผู้คนมาร่วมบริจาคแก้วแหวนเงินทองสำหรับประดับพระฉัตรกันมากมาย  จนของบริจาคมากล้นเหลือ เลยต้องนำไปจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เสียส่วนหนึ่ง
พม่าถือว่าฉัตรที่ยอดพระเจดีย์เป็นดุจร่มที่กางกั้นเจดีย์ให้บังเกิดความร่มเย็น  ชาวพม่ายังเชื่ออีกว่า การบูชาด้วยฉัตรเป็นการทำบุญที่ได้กุศลมากกว่าการทำบุญอื่นใด  จึงเชื่อว่าหากมีวาสนาได้ถวายพระฉัตรแด่องค์พระเจดีย์  ชีวิตก็จะมีแต่ความร่มเย็นและประสบแต่ความสำเร็จ   ทุกวันนี้ชาวพม่ายังนิยมถวายฉัตรแด่องค์เจดีย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งมิใช่เป็นฉัตรเงินหรือฉัตรทองแท้ๆ ฉัตรแบบนี้จะทำด้วยกระดาษสีเงิน  สีทอง  สีขาว  สีเหลือง  หรือสีเขียว ซึ่งมีจำหน่ายที่ร้านค้าแถวองค์เจดีย์  สีของฉัตรต่างมีความหมาย  หากเป็นสีทองหรือสีเงินจะแสดงถึงความมั่งมี  แต่ถ้าเป็นสีขาวจะแสดงถึงความสงบสุข  เป็นต้น  ชาวพุทธพม่านิยมบูชาพระเจดีย์ด้วยฉัตรประเภทนี้  เพื่อแก้เคล็ดหรือสะเดาะเคราะห์  ดังกรณีที่ประสบเคราะห์ร้าย  ชาวพุทธพม่ามักจะต้องถวายฉัตรกระดาษแด่พระเจดีย์และในการตั้งเครื่องหมู่บูชาพระเจดีย์  ซึ่งพม่าเรียกว่า กเดาะ-บแว ( doNg9kHx:c X มักจะต้องปักฉัตรไว้ในสำรับบูชานั้นด้วย  เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้พรที่ขอเกิดผลสัมฤทธิ์  ( ตามคติของพม่านั้น  เครื่องบูชาที่มีฉัตรประดับจะถือว่าป็นเครื่องบูชาในฝ่ายศาสนา  ต่างจากการบูชาเทพนัต ซึ่งชาวพม่าไม่นิยมใช้ฉัตรมาประกอบเครื่องบูชา ) การถวายฉัตรที่ทำด้วยกระดาษนี้  จึงต่างไปจากการถวายพระฉัตรสำหรับยอดพระเจดีย์ที่ทำเพื่อสืบพระศาสนาหรือเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่การถวายฉัตรกระดาษสี  จะเป็นเพื่อการขอความคุ้มครองและเพื่อความสงบสุขในชีวิตสำหรับผู้ถวาย
ฉัตรจึงถูกใช้ในหลายหน้าที่  เป็นทั้งเครื่องแสดงฐานะของกษัตริย์   เครื่องบ่งบอกยศศักดิ์ของขุนนางชั้นสูงเครื่องแสดงเกียรติยศสำหรับพระสงฆ์  และเป็นเครื่องประดับยอดพระเจดีย์  ตลอดจนนิยมใช้ฉัตรประกอบเครื่องบูชาสำหรับพิธีสะเดาะเคราะห์และขอพร  การที่พม่าพัฒนาการถวายฉัตรแด่องค์พระเจดีย์มาจนถึงขั้นนี้  อาจเป็นเพราะฉัตรเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจและบุญบารมี  อันจะนำมาซึ่งความมั่งมีและความร่มเย็นในชีวิต  ซึ่งเป็นโลกียสุขที่ปุถุชนต่างปรารถนา
คราวนี้ลองหันมาดูร่มธรรมดาที่ใช้กันแดดกันฝนกันบ้าง  คนพม่ามักจะพกร่มโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ร่มจึงเป็นสินค้าที่ขายได้ดี  อันที่จริงชาวพม่าต่างนิยมใช้ร่มที่ทำด้วยกระดาษหรือผ้าดิบกันมาแต่อดีต  ร่มพม่าที่ขึ้นชื่อที่สุดเป็นร่มที่มาจากเมืองพระสิมหรือที่พม่าเรียกว่าเมืองปะเต่ง  ร่มพระสิมมีรูปลักษณ์  สีสัน  และลวดลายออกจะคล้ายกับร่มที่บ่อสร้างของเชียงใหม่   และนิยมซื้อกันเป็นที่ระลึกหรือของฝาก  และใช้เป็นเครื่องประดับมากกว่าที่จะใช้กันแดดกันฝนกันจริงๆ
พอถึงยุคปัจจุบัน  ร่มที่นิยมกันมากกลายเป็นร่มผ้า  ซึ่งจะมีสีสันและลวดลายหลากหลาย  ร่มรุ่นใหม่นี้มักผลิตในนามบริษัทต่างประเทศ  อาทิ  จีน  ฮ่องกง  ญี่ปุ่น  และไทย มีทั้งการนำเข้าและตั้งเป็นโรงงานผลิตในพม่า  ร่มที่นิยมกันมากเป็นร่มพับ  เพราะสะดวกต่อการพกพา  ตลาดร่มในพม่าขณะนี้  จึงมีการแข่งขันกันสูง  มีการโฆษณาทางสื่อหลายชนิด รวมทั้งทางโทรทัศน์ และยังมีการนำดาราชื่อดังมาแสดงเป็นแบบอีกด้วย
พม่าใช้ร่มกันมากขึ้นในปัจจุบัน  เพราะพกพาได้สะดวก  และสามารถกันได้ทั้งแดดและฝน  ไม่เพียงแค่นี้ หากเดินในสวนสาธารณะหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในเมืองย่างกุ้ง  มักจะพบหนุ่มสาวมานั่งกางร่มอิงแอบกันเป็นคู่ๆอยู่แถวใต้ร่มไม้  ปรากฏการณ์ที่หนุ่มสาวพม่ามานั่งกางร่มทั้งที่แดดไม่ร้อนและฝนไม่ตกในสวนสาธารณะได้กลายเป็นภาพชินตา  แม้จะดูขัดต่อจารีตนิยมของพม่า  แต่ร่มก็ถูกนำมาใช้เพื่อบังสายตาผู้คนมิให้เห็นโจ่งแจ้งจนเกินงาม
นับว่าชาวพม่าเป็นนักประยุกต์นิยม  สามารถประยุกต์ฉัตรซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจ  เกียรติยศ  และความร่มเย็น  มาเป็นเครื่องประกอบบูชาเพื่อการสะเดาะเคราะห์และขอพรอย่างเข้าที  และยังประยุกต์การใช้ร่มซึ่งใช้กันแดดกันฝนมาใช้กำบังสายตาผู้คน  เพื่อระงับความอายได้อย่างไม่ใยดีต่อจารีตประเพณี
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15592เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท