ผู้หญิงสองคน : ทัศนะพม่าต่อผู้หญิงที่มีสามีต่างชาติต่างศาสนา


ชาวพม่ากับความกลัวโลกภายนอก และการต่อต้าน วัฒนธรรมต่างชาตินั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มักสะท้อนให้ได้เห็นอยู่บ่อยๆทางสื่อต่างๆของรัฐบาลทหารและสิ่งพิมพ์ทั่วไป
ผู้หญิงสองคน : ทัศนะพม่าต่อผู้หญิงที่มีสามีต่างชาติต่างศาสนา

 

ชาวพม่ากับความกลัวโลกภายนอก และการต่อต้าน วัฒนธรรมต่างชาตินั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มักสะท้อนให้ได้เห็นอยู่บ่อยๆทางสื่อต่างๆของรัฐบาลทหารและสิ่งพิมพ์ทั่วไป และไม่ว่าจะเป็นในทัศนะของนักเขียนฝ่ายรัฐบาล หรือแม้แต่นักเขียนอิสระก็ตาม ต่างได้เสนอมุมมองแสดงความห่วงใยต่อการที่ชาวพม่ารุ่นใหม่เริ่มละทิ้งจารีตประเพณีไปติดบ่วงในวิถีวัตถุนิยมและเสรีนิยมกันมากขึ้น ดังปรากฏเป็นความเปลี่ยนแปลงทางรสนิยมที่ผิดแผกไปจากเดิม อาทิ การแต่งกาย ความบันเทิง ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว ประเด็นเหล่านี้ต่างถูกยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เสมอ และอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายชาตินิยมพม่าค่อนข้างจะกังวลกันมาก และมองว่ากำลังเป็นปัญหาทางสังคมในปัจจุบันก็คือ การที่ผู้หญิงพม่ามีสามีเป็นชาวตะวันตกหรือคนต่างศาสนา

 

ในประเทศสหภาพพม่ามีการเผยแพร่เอกสารต่อต้านการแต่งงานกับชนต่างชาติเป็นระยะ ทั้งในวงกว้างและในวงจำกัด ในรูปของหนังสือ บทความ และนิยาย สำหรับงานเขียนประเภทนิยายนั้นนับว่าน่าสนใจ เพราะเสนอได้ทั้งส่วนที่เป็นการรับรู้และอารมณ์ทางสังคมที่มีต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว อีกทั้งยังแสดงเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อเตือนสติผู้คนและเรียกร้องให้มีการใคร่ครวญ โดยหวนคำนึงถึงศักดิ์ศรีของชาวพม่าด้วยกัน ในบทความนี้จะเสนอนิยายประเภทเรื่องสั้นจากพม่า ๒ เรื่องที่เขียนขึ้นในยุคปัจจุบัน นิยายทั้งสองเรื่องได้สะท้อนความรุนแรงทางทัศนะอย่างพม่าต่อคนต่างชาติต่างศาสนาไว้ได้อย่างเปิดเผย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจพม่าในมิติทางสังคมอันเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ได้อีกทางหนึ่ง

 

ขอเริ่มที่นิยายขนาดสั้น เรื่อง "สัจจะสายเลือดพุกาม" (x68"gl:tl0k) แต่งโดย ตั๊กกะโต หม่องตุ๊หล่าย นักเขียนนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ซ้ำเมื่อปลายปี ค.ศ. ๒๐๐๐ เนื้อเรื่องมีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ในสมัยพุกาม พระเจ้าจันสิตตา (dyoN00Nlkt) เป็นวีรกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าทรงรักในเผ่าพันธุ์ยิ่งนัก พระองค์มีพระธิดาผู้ทรงพระสิริโฉมยิ่ง นามว่า ฉ่วยเอ่งตี่ (gUvb,NlPN) หรือ เจ้าเรือนคำ และโดยมิคาดคิดนางได้ตกหลุมรักเจ้าชายจากเมืองปฏิกขรา (xbdikt) แห่งแดนภารตะ ซึ่งล่องเรือมาค้าขายที่พุกาม ทันทีที่พระเจ้าจันสิตตาทรงทราบเช่นนั้น และเกรงว่าฝ่ายเจ้าเมืองปฏิกขราจะมาสู่ขอจนเป็นเหตุให้ต้องหมางใจกัน พระองค์จึงมิได้รอช้า ทรงรีบจัดแจงหาเจ้าชายที่มีสายเลือดพุกามให้กับพระนางทันที ซึ่งก็มิใช่ใครอื่น คือเจ้าชายขาเป๋นามว่า ซอยูน (g0kp:,Nt) เจ้าชายซอยูนเป็นโอรสของพระเจ้าซอลู ผู้เคยเป็นอริกับพระเจ้าจันสิตตามาก่อน ผู้เขียนยกย่องพระเจ้าจันสิตตาว่า แม้พระองค์จะเคยถูกพระเจ้าซอลูมองว่าเป็นศัตรู และเจ้าชายซอยูนเองก็มิได้สมประกอบก็ตาม แต่เพื่อศักดิ์ศรีของชนร่วมชาติแล้ว พระเจ้าจันสิตตาก็พร้อมที่จะละทิฐิตน ด้วยมิทรงยอมเกี่ยวดองกับคนต่างเชื้อสาย การณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้เจ้าชายปฏิกขราถึงกับตรอมใจตาย หลังจากที่พระนางฉ่วยเอ่งตี่ได้อภิเสกสมรสกับเจ้าชายซอยูน ก็ได้ให้กำเนิดราชบุตร ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พุกามพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าอลองซีตู ผู้เขียนยังได้ย้ำว่าพระองค์นั้นมิใช่ใครอื่น หากคือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงประกอบมหากุศลจากการสร้างพุทธเจดีย์สัพพัญญู พระเจดีย์อันยิ่งใหญ่เป็นที่สุดแห่งราชธานีพุกามดังปรากฏจนบัดนี้ ผู้เขียนยังกล่าวอีกว่า หากพระนางฉ่วยเอ่งตี่ตกไปเป็นชายาของเจ้าชายจากเมืองปฏิกขราเสียแล้ว ปัญหาใหญ่คงไม่มีเพียงแค่เรื่องรัชทายาทที่จะมิใช่สายเลือดบริสุทธิ์ของราชวงศ์พุกาม หากจะกระทบไปถึงอนาคตของราชธานีพุกาม ตลอดจนพุทธศาสนาอีกด้วย ซ้ำเกรงว่านานไปพุกามอาจถูกผนวกเข้ากับปฏิกขรา กลายเป็นแผ่นดินของพวกแขกภารตะในที่สุด

 

จากปูมตำนานที่กล่าวไว้ในนิยายเรื่อง "สัจจะสายเลือดพุกาม" นี้ ตั๊กกะโต หม่องตุ๊หล่าย ได้กำหนดให้ตัวละครชายเป็น ฝ่ายเล่าภูมิหลังของพุกามช่วงนั้น เพื่อให้ตัวละครฝ่ายหญิงนาม ดอขี่งมะมะ ที่จากบ้านเกิดไปมีสามีเป็นชาวตะวันตกได้รับฟัง ฝ่ายชายนั้นเป็นคู่รักเก่าของดอขี่งมะมะตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งสองบังเอิญได้มาพบกันที่พุกามอีกครั้งหลังจากที่ห่างเหินกันไปนานนับสิบปี ดอขี่งมะมะนั้นเป็นชาวเมืองพุกามมาแต่กำเนิด และเป็นผู้มีการศึกษาสูง แต่ด้วยจำต้องติดตามบิดามารดาไปอยู่ยังต่างประเทศ จึงได้แต่งงานอยู่กินกับสามีฝรั่งจนมีลูกด้วยกัน เมื่อบิดามารดาทั้งสองของเธอสิ้นชีวิตลง เธอไม่อาจทนความว้าเหว่ในสิ่งแวดล้อมต่างแดนได้ จึงหวนคืนสู่พุกามบ้านเกิดโดยลำพัง ดอขี่งมะมะดูจะเสียใจกับชะตาชีวิตของตน ยิ่งได้ฟังเรื่องพระนางฉ่วยเอ่งตี่จากคำของคนรักเก่า เธอก็ยิ่งเจ็บปวด ด้วยคงจะคิดได้ว่าพ่อแม่ของเธอมิได้ยึดแบบอย่างความรักในสายเลือดพม่าเฉกเช่นพระเจ้าจันสิตตา และท้ายที่สุด นางจึงตั้งสัจจะว่าจะอุทิศความรู้และชีวิตชดเชยให้กับแผ่นดินเกิดของเธอตลอดไป

 

นิยายเรื่องนี้จบลงได้อย่างสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่เน้นความผูกพันในถิ่นเกิด และเห็นได้ว่า ตั๊กกะโต หม่องตุ๊หล่าย ได้กำหนดเนื้อเรื่องในนิยายให้ขัดแย้งกับเกร็ดประวัติศาสตร์พม่าที่เกี่ยวกับพระนางฉ่วยเอ่งตี่ ทั้งนี้คงเพื่อเตือนสติและเสียดสีผู้หญิงพม่าที่ขาดสัจจะในเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะต่อผู้หญิงพม่าบางส่วนที่จากบ้านเกิดไปมีสามีต่างชาติแล้วหวนกลับมา ซึ่งก็คงไม่พ้น นางอองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่ารวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ ยังอยู่ที่การดึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตอนที่พระนางฉ่วยเอ่งตี่ถูกพรากรักให้มาอภิเษกสมรสกับเจ้าชายร่วมเชื้อสายเพื่อรักษาวงศ์พุกามนั้น ช่วยยืนยันถึงความเป็นชาติพันธุ์นิยมของพม่า ที่ใช้ปลูกฝังชาวพม่าให้รักษาเผ่าพันธุ์และศาสนาเหนือประโยชน์ตน

 

นอกจากพม่าจะต่อต้านการแต่งงานกับชนต่างชาติแล้ว พม่ายังยากที่จะปรองดองกับคนต่างศาสนาอีกด้วย ประเด็นนี้สามารถมองผ่านเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่เขียนโดย มะซันดา นักเขียนอิสระผู้หนึ่ง นิยายมีชื่อเรื่องว่า "ผู้หญิงสองคน" ( e,oN,kv,y7btl,utOa0NgpkdNiabg]lPN) ตีพิมพิ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๗ มะซันดาเป็นนักเขียนที่ถนัดในแนวสะท้อนชีวิตและโลกทัศน์แบบพม่า และนำเสนอได้อย่างน่าวิเคราะห์ สำหรับเรื่อง "ผู้หญิงสองคน" นี้ ได้เสนอข้อมูลหลายอย่างที่เป็นสำนึกด้านลึกของชาวพม่าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความรู้สึกของคนพม่าแท้ๆที่มีต่อชาวพม่าลูกผสมและคนต่างศาสนา ถ้อยคำเสียดสีที่ปรากฏในนิยายเรื่องนี้มีอยู่ตลอดเรื่องและกล่าวไว้อย่างโจ่งแจ้ง งานของมะซันดาเรื่องนี้จึงช่วยเผยให้เห็นความกลัวของชาวพม่าต่อคนต่างชาติต่างศาสนาออกมาให้รับรู้มะซันดาได้สะท้อนทัศนะขัดแย้งระหว่างผู้หญิงพม่า ๒ สายเลือด สายเลือดแรกเป็นผู้หญิงพม่าเลือดผสมปนทั้งแขกและจีนนามว่านางนีงนีงเหว่ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้หญิงพม่าสายเลือดบริสุทธิ์ โดยมีนางเอ้ขี่งเป็นแบบอย่าง

 

นางนีงนีงเหว่ เป็นแม่หม้ายวัยกลางคน พ่อของนางเป็นชาวพม่าที่มีเลือดผสมแขก ส่วนแม่ของนางเป็นลูกครึ่งพม่าผสมจีน ดังนั้น นางนีงนีงเหว่จึงมีเลือดผสมของแขก ๑/๔ ผสมจีน ๑/๔ และมีสายเลือดพม่า ๒/๔ แม้นางนีงนีงเหว่จะมีเชื้อสายพม่าถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่นางก็หาได้ยกย่องเทิดทูนในความเป็นพม่าส่วนหนึ่งไม่ เนื่องเพราะแม่ของนางได้เคยพูดเหยียดหยันชาวพม่าไว้ว่า "คนพม่านั้นไม่รู้จักเสาะแสวง" พ่อของนางก็เคยพูดว่า "คนพม่าสะสมไม่เป็น" ป้าของนางเองก็ค่อนแคะพม่าไว้ว่า "คนพม่าไม่รู้จักเก็บเกี่ยวผลประโยชน์" ลุงของนางเองก็ยังได้กล่าวเยินยอพม่าไว้มากว่า "คนพม่าไม่มีแก่นสาร ไร้ระเบียบ และยังชอบทำตัวเรื่อยเปื่อย" นับว่ามะซันดาได้วาดภาพของคนพม่าแท้ๆ ออกจากทัศนะของคนพม่าเลือดผสมได้อย่างถึงแก่น จนเห็นโลกทัศน์ต่อพม่าของนาง นีงนีงเหว่ ซึ่งมิได้มีสายเลือดพม่าบริสุทธิ์

 

แต่ในทางกลับกัน มะซันดาได้ให้ภาพของนางนีงนีงเหว่ไว้อีกด้านจนดูขัดแย้ง แม้นางนีงนีงเหว่จะเป็นลูกผสมระหว่างพม่า แขก และจีน อีกทั้งกลับดูถูกความเป็นพม่าไว้มากก็ตาม แต่นางนีงนีงเหว่กลับชื่นชอบอาหารพม่า โดยเฉพาะรสของกะปิปลาร้าและน้ำปลาพม่า ยิ่งกว่านั้น นางยังเลือกแต่งงานกับอูบะอ่อง หนุ่มเมืองชเวโบที่บรรพบุรุษเป็นพม่าขนานแท้ มิได้เจือปนทางสายเลือดอย่างนาง อูบะอ่องมีอายุอ่อนกว่านางนีงนีงเหว่ ๓ ปี ผู้เขียนกำหนดถิ่นเกิดให้กับอูบะอ่องที่เมืองชเวโบ คงด้วยเพราะเมืองนี้เป็นถิ่นกำเนิดของพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์ต้นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ส่วนการที่นางนีงนีงเหว่มีสามีอายุน้อยกว่านั้น ถือเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของชาวพม่า และภรรยาก็มักจะเรียกสามีของตนว่า หม่อง (g,k'N) เช่นเดียวกับที่พี่สาวใช้เรียกน้องชาย ดังนั้นการมีสามีอ่อนวัยกว่าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักในสังคมพม่า นับว่านางนีงนีงเหว่ก็ประพฤติคล้อยตามรสนิยมแบบพม่าโดยมิรู้ตัว

 

เหตุที่นางนีงนีงเหว่ปลงใจเลือกชีวิตร่วมกับอูบะอ่องนั้น ผู้แต่งกล่าวกระทบกระเทียบนางไว้ว่า ในวัยหนุ่มนั้น อูบะอ่องเป็นหนุ่มที่ดูมีอนาคตสดใส เพราะในยุคที่ประเทศสหภาพพม่าเพิ่งได้รับเอกราชนั้น หน้าที่การงานของอูบะอ่องมีแนวโน้มว่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงทางการเมืองได้อย่างมั่นใจ อย่างน้อยก็อาจช่วยให้นางนีงนีงเหว่ได้เลื่อนฐานะทางสังคมตามสามี จนอาจได้เป็นภริยาของรัฐมนตรีไม่ในระดับใดก็ระดับหนึ่ง เหตุนี้จึงไม่จำเป็นที่นางนีงนีงเหว่จะต้องมาเสียเวลาลำดับญาติของสามีว่าจะมีเชื้อสายแขก จีน หรือพม่าสักกี่ส่วน นับว่านางนีงนีงเหว่ ถูกวาดภาพให้เป็นผู้ที่รู้จักที่จะแสวงหาประโยชน์จากแผ่นดินพม่าแบบชนิดเกลียดตัวกินไข่ปานนั้น

 

ที่จริงอนาคตของอูบะอ่องก็มีแน้วโน้มว่าจะเป็นไปได้อย่างที่นางหวัง แต่ต่อมาอูบะอ่องกลับเบนเข็มชีวิตจากงานทางการเมือง หันมาดำเนินชีวิตในการประกอบธุรกิจการค้าด้วยสายตาอันกว้างไกล เขาตั้งโรงสีข้าวและดำเนินกิจการผลิตน้ำมันพืช ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมหุ้นกับภาครัฐ นางนีงนีงเหว่จึงหมดหวังที่จะได้นั่งเคียงข้างรัฐมนตรีในฐานะของภริยา แต่ก็กลับต้องมาตกอยู่ในฐานะภรรยาของพ่อค้า หันมานั่งอยู่บนกองเงินกองทองแทน หากเส้นทางชีวิตของสามีดำเนินไปได้เช่นนี้อีกระยะ นางก็คงมีหวังที่จะเป็นได้ถึงภริยาของมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของประเทศสหภาพพม่าทีเดียว

 

มะซันดากำหนดบทให้นางนีงนีงเหว่หลงใหลอยู่ในกองเงินกองทองอย่างไม่ต้องมีความกังวลในชีวิต แต่ไม่นานนักฉากชีวิตสุขสำราญของนางนีงนีงเหว่ก็พลันเปลี่ยนไป มะซันดาได้ตีกระหน่ำความฝันของนางนีงนีงเหว่ให้ต้องพลิกผัน เมื่ออยู่ดีๆ อูบะอ่องสามีของนางก็มีอันต้องตายจากด้วยโรคความดันในวัยเพียง ๔๐ หากยังทิ้งลูกสาวไว้ ๒ คน ให้นางได้กอดรัดและฟูมฟายต่อหน้าศพของสามี การตัดสินใจของนางนีงนีงเหว่ที่เลือกอูบะอ่องมาเป็นสามีจึงถูกเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ก็กลับผิดคาดไปถึงครึ่ง

 

เมื่อสามีตาย นางนีงนีงเหว่มีอายุได้ ๔๓ ปี การตกพุ่มหม้ายในวัยนี้ แถมลูกติดอีกสอง จึงเป็นเรื่องยากที่นางจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับชายอีกคน ประกอบกับสังคมพม่าไม่ยอมรับผู้หญิงที่แต่งงานใหม่เพราะสามีตาย และด้วยนางไม่อาจยึดอาชีพเดิมต่อจากสามี จึงต้องหันมาเซ้งตึกที่ถนนปางโซดาง กลางเมืองย่างกุ้ง นางเปิดร้านจำหน่ายสินค้า ด้านหนึ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองพม่า ลูกค้าที่จะสนใจซื้อสินค้าประเภทนี้ย่อมไม่ใช่ชาวพม่า หากแต่เป็นชาวต่างประเทศ ส่วนอีกฟากหนึ่งของร้าน นางจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาติไม่นิยม แต่กลับเป็นที่นิยมของผู้หญิงพม่า นางรับซื้อเครื่องสำอางในราคาต่ำจากชาวต่างประเทศที่เป็นลูกค้าประจำ เครื่องสำอางที่วางขายในร้านของนางไม่มีเครื่องสำอางพม่าหรือแม้แต่จากไทย ลูกค้าของนางจึงมีแต่คนพม่ามีฐานะและชาว ต่างชาติเท่านั้น

 

ฝ่ายลูกสาว ๒ คนของนางนีงนีงเหว่นั้น คนโตมีชื่อว่า นีงปะปะ นางได้ส่งลูกสาวคนโตเรียนจนจบมหาวิทยาลัย และออกมาช่วยงานในร้านแทนลูกจ้างของนาง นางหวังว่านีงปะปะจะได้แต่งงานกับผู้มีฐานะ แต่ที่สุดลูกสาวก็ไปตกหลุมรักหนุ่มพม่าลูกเรือที่มาส่งสินค้าให้กับร้านของนาง นางจำยอมเพราะไม่อาจขัดขวางได้

 

ส่วนลูกสาวอีกคนชื่อวีงปะปะนั้นเป็นสาวสวย มีฝรั่งชื่อไมเคิลมาติดพัน วันหนึ่งนายไมเคิลขอมาเยี่ยมบ้าน นางนีงนีงเหว่ ดีอกดีใจจนนั่งไม่ติด แต่ก็กลับเป็นกังวล เพราะตัวนางเองไม่เคยเชิญแขกมาเลี้ยงที่บ้านสักครั้ง การทำความสะอาดบ้าน และสั่งอาหารจากร้านแล้วอวดว่าเป็นฝีมือลูกสาวนั้นเป็นเรื่องไม่ยากเย็นนัก แต่นายไมเคิลนั้นพูดภาษาพม่าไม่เป็น และนางก็พูดภาษาอังกฤษได้เพียงงูๆปลาๆ จึงไม่รู้จะบอกนายไมเคิลได้อย่างไรว่าลูกสาวตนเก่งงานบ้านการเรือน นางเกรงว่าจะไม่อาจอวดสรรพคุณของลูกสาวได้ครบถ้วนให้หนุ่มไมเคิลได้ยินผ่านสองหู สู่สมอง แล้วตกถึงก้นบึ้งของหัวใจ ไมเคิลเพิ่งมาอยู่ในพม่าได้เพียง ๔ เดือน แต่ก็ยังพอมีเวลาอีก ๔ เดือน ซึ่งนานพอที่ลูกสาวของนางจะผูกมัดหัวใจไมเคิลให้ดิ้นไม่หลุด นางนีงนีงเหว่คิดเลยเถิดไปถึงขนาดที่จะย้ายตามลูกสาวไปอยู่กับนายไมเคิลที่ต่างประเทศ แต่นางก็ไม่ประมาท และคิดว่าหากหนทางไม่ราบรื่น ก็ยังพอมีโอกาสหาสินค้าที่มีกำไรงามกลับมาขายที่ร้านของนาง นั่นคือความช่างคิดคำนวณของนีงนีงเหว่ สตรีพม่าลูกผสมแขกกับจีน ตามที่มะซันดาพรรณนาให้เห็น

 

ในอีกมุมหนึ่ง มะซันดาได้กำหนดตัวละครขึ้นอีกคู่หนึ่งที่มีเชื้อสายพม่า คือ นางเอ้ขี่ง และลูกสาวของนาง ชื่อ ตีงตีงถ่วย ทั้งสองเป็นคนใช้ในบ้านของนางนีงนีงเหว่ คนใช้สองแม่ลูกกำลังช่วยกันถูพื้นบ้านเพื่อเตรียมต้อนรับนายไมเคิล นางเอ้ขี่งมีสีหน้าหงุดหงิด ในขณะที่ลูกสาวก็คอยพูดจาเอาใจผู้เป็นแม่ นางเอ้ขี่งโกรธลูกสาวมานานถึง ๓ วันแล้ว แม้ลูกสาวจะพยายามเข้าหาและทำตัวใกล้ชิดนางเอ้ขี่งสักเพียงใด แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนอารมณ์ของนางเอ้ขี่งมาให้อภัยในความผิดที่ตนได้ทำไว้ จนคนใช้อีกคนหนึ่งเกิดความสงสัยจึงได้เอ่ยถาม แต่นางเอ้ขี่งก็ไม่กล้าที่จะบอกใครถึงสาเหตุที่นางมึนตึงกับลูกสาว

 

เรื่องมีว่า เมื่อ ๓ วันก่อน นางเอ้ขี่ง จับได้ว่าลูกสาวของนางได้รับจดหมายบอกรักจากหนุ่มผู้หนึ่ง นางเอ้ขี่งแย่งจดหมายจากลูกมาอ่าน นางตำหนิลูกสาวว่ามีวัยเพียง ๑๖ ยังไม่อันควรที่จะมีคู่รัก แม้ลูกจะบอกว่าฝ่ายชายแอบนำจดหมายมาสอดในกระเป๋าของตนก็ตาม แต่นางก็ยังไม่หายขุ่นเคือง เพราะข้อความในจดหมายเป็นปมปัญหาที่ทำให้นางเอ้ขี่งยากที่จะละโทสะ ในจดหมายมีความว่า

 

"น้องสาว หากแต่งงานกับพี่ชายแล้ว พี่จะให้น้องเรียนต่อจนจบ น้องก็รู้ว่าพ่อแม่ของพี่รวยเพียงใด น้องจะมีความสุขอยู่บนกองเงินกองทอง อีกอย่างหนึ่ง น้องต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาของพี่"

 

ข้อความในจดหมายที่ลูกสาวถูกชักชวนให้เปลี่ยนศาสนานั้น สร้างความรู้สึกเจ็บแค้นให้กับนางเอ้ขี่งอย่างมาก พอนายไมเคิลเดินทางมาถึงบ้านของนางนีงนีงเหว่ และได้ยินเสียงของนายไมเคิลและวีงปะปะเท่านั้น นางเอ้ขี่งก็รีบฉวยมือตีงตีงถ่วยพาเดินออกไป พลางก็ดุลูกสาวว่า

 

"นี่เอ็ง.. คนต่างชาติต่างศาสนา แม้จะพาเอ็งไปอยู่บนสรวงสวรรค์ได้ก็ตาม ข้าก็ไม่มีวันเห็นดีด้วย ถ้าเอ็งเลือกมาเป็นผัว ก็ฆ่าข้าเสียก่อน ถ้าข้าไม่ตาย ก็จะตามไปฆ่าเอ็ง และข้าก็จะฆ่าตัวตายตาม เอ็งจำไว้ ถ้าไม่รักษาเผ่าพันธุ์ของตัวและศาสนาของตน แล้วใครจะมารักษาและเทิดทูนเล่า" แม้ในเรื่องจะมิได้กล่าวชัด แต่ผู้อ่านก็ย่อมรู้ว่า คนต่างศาสนานั้นคือแขกมุสลิมในพม่า

 

จากเรื่องราวในนิยายเรื่อง "สัจจะสายเลือดพุกาม" และ "ผู้หญิงสองคน" นั้น คงมิใช่เป็นเรื่องแต่งเพียงเพื่อให้ผู้อ่านได้รสชาติทางวรรณกรรม หากเป็นนิยายที่ต้องการปลูกฝังจิตสำนึกในความรักชาติและศาสนา ในเรื่องสัจจะสายเลือดพุกามนั้น ผู้อ่านจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างพระเจ้าจันสิตตาผู้พรากพระธิดาจากเจ้าชายต่างเผ่า กับบิดามารดาของดอขี่งมะมะที่หาสามีฝรั่งให้กับลูก ส่วนในเรื่องผู้หญิงสองคนนั้น เป็นความแตกต่างระหว่างนางเอ้ขี่งที่เกลียดชังคนนอกศาสนากับนางนีงนีงเหว่ที่หลงใหลต่างชาติจนอยากให้ลูกสาวแต่งงานด้วย นิยายทั้งสองเรื่องต่างจับประเด็นเดียวกัน คือ ระหว่างการมีจิตสำนึกในเผ่าพันธุ์กับการขาดจิตสำนึกดังกล่าว และเสนอความแตกต่างทางความคิดระหว่างผู้หญิงสองฝ่ายที่ต่างกันในด้านความผูกพันต่อเผ่าพันธุ์ ศาสนา และประเทศชาติ

 

อันที่จริง จิตสำนึกของความรักในเผ่าพันธุ์และการรักษาศาสนาของชาวพม่า โดยต่อต้านคนต่างชาติต่างศาสนานั้นมิได้มีปรากฏเพียงในนิยาย หากยังพบว่ามีอยู่จริงในสังคมพม่าในสภาพเสมือนคลื่นใต้น้ำ ทั้งนี้เพราะสหภาพพม่ามีประชากรหลายชาติพันธุ์และนับถือหลายศาสนา อีกทั้งกระแสการต่อต้านตะวันตกโดยฝ่ายรัฐบาล และการไม่ยอมรับกันระหว่างคนต่างศาสนาและต่างเชื้อชาตินั้นได้กระตุ้นความไม่พอใจของชาวพม่าที่มีต่อผู้หญิงพม่าที่แต่งงานกับฝรั่งและชาวมุสลิม ดังเคยมีนักเขียนแนวสมัยนิยมผู้หนึ่ง เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้กล่าวชื่นชมในความน่ารักอ่อนโยนของผู้หญิงพม่านางหนึ่ง ที่สามารถมัดใจฝรั่งจนได้แต่งงานและมีลูกด้วยกัน ในบทความมีภาพประกอบของสามีภรรยาคู่นี้ลงไว้หลายรูป แม้ผู้เขียนจะได้พรรณนาไว้มากว่าฝรั่งผู้นั้นเทิดทูนวัฒนธรรมพม่ามากเพียงใดก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์รูปหนึ่งเขียนบทความโต้ตอบอย่างรุนแรงต่อการนำเสนอเรื่องดังกล่าว อ้างว่าเป็นการยั่วยุให้ผู้หญิงพม่าเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานกับฝรั่ง และจากการที่พม่าต่อต้านเรื่องนี้กันจริงจังมาตลอด ผู้หญิงพม่าที่แต่งงานกับฝรั่งแล้วพามาอยู่กินกันในประเทศพม่าจึงไม่ค่อยมีให้พบเห็นได้ง่ายนัก

 

ในส่วนทัศนะของชาวพม่าที่มีต่อชาวมุสลิมนั้น ชาวพุทธพม่าดูจะไม่ค่อยชอบมุสลิมนัก และมองว่าแขกมุสลิมมักรุกทางศาสนาด้วยการแต่งงานกับชาวพุทธ อย่างไรก็ตาม พม่ามีโวหารไว้พูดข่มพวกแขกหรือกะลาว่า "หากสู้แขกไม่ไหว ให้ถามพวกยะไข่" ยะไข่เป็นชนร่วมเชื้อสายกับพม่าและเป็นเมืองพุทธที่มีพื้นที่ใกล้ชิดกับมุสลิม กล่าวกันว่าชาวยะไข่นั้นไม่ค่อยจะยอมอ่อนข้อให้ผู้อื่น และร้ายจนพวกแขกก็ไม่กล้ามาตอแยด้วย บ้างว่ายะไข่มักรู้เห็นเป็นใจกับแขกด้วยซ้ำ และด้วยความมีนิสัยรอบจัดของพวกยะไข่ พม่าจึงแต่งโวหารไว้ว่ากระทบพวกยะไข่ว่า "หากเจองูกับยะไข่ ให้ตียะไข่ก่อนตีงู" เห็นได้ว่าแม้ชาวพม่าจะพึ่งยะไข่ให้เป็นกันชนกับพวกแขกก็ตาม แต่พม่าก็รังเกียจยะไข่ยิ่งกว่างู พม่ากับยะไข่จึงเข้ากันได้ไม่สนิทใจ ชาวพม่าบางคนยังให้ทัศนะว่า ผู้หญิงยะไข่มักไม่อยากแต่งงานกับ ผู้ชายพม่าแท้ๆ ส่วนพม่าเองก็ไม่ชอบยะไข่เพราะมองว่ายะไข่มักมีนิสัยใจคอไปทางแขกมากกว่าพม่า

 

เพียงแค่พิจารณาระหว่างพม่า ยะไข่ และมุสลิม ก็พอจะบอกได้ว่าสังคมพม่ามีรอยร้าวจากความขัดแย้งทั้งในทางศาสนาและ เผ่าพันธุ์ ส่วนการต่อต้านชาติตะวันตกก็มีมานานและยังผูกปมไว้แน่น และถึงแม้ว่าการแต่งงานกับคนต่างศาสนา ต่างเผ่า หรือต่างชาติ จะเป็นเรื่องธรรมดาก็ตาม แต่ในจิตสำนึกของชาวพม่าแล้ว เรื่องทำนองนี้ ยังถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้ได้คิดค้านและต่อต้านกันอยู่ไม่ขาด จนน่าจะถือได้ว่าความกลัวสูญชาติ สูญเผ่าพันธุ์ และสูญเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้นเป็นมรดกทางความรู้สึกนึกคิดของชาวพม่า ที่จะยังคงสร้างความหวาดระแวงต่อกันได้อย่างไม่รู้สิ้น อีกทั้งผู้หญิงพม่ายังคงถูกจัดให้เป็นสมบัติของชนชาติและเป็นเบ้าหลอมทางสายเลือดที่ต้องหวงแหน จึงเชื่อว่านิยายในทำนองเดียวกับเรื่อง "สัจจะสายเลือดพุกาม" และ "ผู้หญิงสองคน" จะยังมีให้อ่านได้อยู่เรื่อยๆในสังคมพม่า

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15576เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 04:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท