ตอกเล็บเลือกนักรบ : จากจินตนิยายสู่แบบเรียนสำหรับเด็ก


บุเรงนองเป็นกษัตริย์ผู้โดดเด่นพระองค์หนึ่งแห่งสมัยตองอู พระองค์ถือเป็นวีรกษัตริย์ที่เด็ดเดี่ยวและเก่งกล้า และทรงใฝ่พระทัยในการฟูมฟักเหล่านักรบที่กล้าหาญ
ตอกเล็บเลือกนักรบ : จากจินตนิยายสู่แบบเรียนสำหรับเด็ก

 

บุเรงนองเป็นกษัตริย์ผู้โดดเด่นพระองค์หนึ่งแห่งสมัยตองอู พระองค์ถือเป็นวีรกษัตริย์ที่เด็ดเดี่ยวและเก่งกล้า และทรงใฝ่พระทัยในการฟูมฟักเหล่านักรบที่กล้าหาญ วิธีคัดเลือกยอดนักรบของพระเจ้าบุเรงนองนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พระองค์จะทดสอบความเด็ดเดี่ยวของเหล่านักรบของพระองค์ด้วยการใช้เข็มปักที่หว่างเล็บ แล้วเงื้อฆ้อนทุบลงยังเข็มนั้น ผู้ใดไม่ผงะมือหนี ผู้นั้นจึงจะได้รับเลือกให้เป็นยอดนักรบในกองทัพพม่า กองทัพของบุเรงนองนับเป็นกองทัพพม่าที่เกรียงไกรในภูมิภาคเอเชีย ในสมัยของพระเจ้าบุเรงนองนั้น ประเทศพม่ามีความเป็นปึกแผ่นและแข็งแกร่งด้านพลรบ

 

เนื้อความข้างต้นแปลมาจากแบบเรียนเสริมทักษะการอ่านภาษาพม่า สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๒ หน้าที่ ๓๔ และชั้นประถมปีที่ ๕ หน้าที่ ๒๙ แบบเรียนนี้จัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรและผลิตตำราสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของพม่า เป็นแบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศพม่า ตั้งแต่สมัยสังคมนิยมจวบจนปัจจุบัน

 

ฉากการเลือกยอดนักรบด้วยวิธีตอกเล็บอันน่าหวาดเสียวและภาพประกอบเช่นนี้ ไม่น่าเชื่อว่าทางกระทรวงศึกษาธิการของพม่าจะนำมาเป็นแบบฝึกทักษะการอ่านสำหรับเด็กวัยเยาว์ในระดับประถมต้น และเชื่อว่าแม้แต่ผู้ใหญ่เองที่อ่านเรื่องนี้ก็คงไม่วายที่จะต้องพลอยหวาดเสียวไม่น้อย ส่วนเหตุที่ทางการพม่ายกเอาเกร็ดเรื่องบุเรงนองในตอนนี้มาเสนอไว้ในแบบเรียนนั้น คงไม่พ้นที่ต้องการให้เยาวชนพม่ารู้สึก ชื่นชมในความเข้มแข็งของนักรบพม่าในอดีต และคงคาดหวังให้ยุวชนถือเป็นเยี่ยงอย่างของความเด็ดเดี่ยว นับว่าทางการพม่าคงเล็งเห็นคุณค่าของเรื่องนี้ว่าเหมาะที่จะปลูกฝังความกล้าหาญแก่ยุวชน จนลืมที่จะได้พิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาก่อนที่จะบรรจุไว้ในแบบเรียน

 

ที่ผ่านมา ไม่มีชาวพม่าคนใดกล้าที่จะวิจารณ์ถึงเรื่องนี้กันอย่างเป็นทางการ จนเมื่อ ซอลู นักวิชาการชาวพม่าผู้หนึ่งจับเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นวิพากษ์ พร้อมกับสาวลึกไปถึงที่มาของเนื้อหาดังกล่าว บทวิจารณ์ของซอลูได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารแชยี ฉบับที่ ๓๐ ของเดือนกรกฎาคม ๑๙๙๗ ซอลูอ้างถึงแรงจูงใจที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาวิพากษ์ว่า เป็นเพราะลูกศิษย์ชาวต่างชาติของเขาเกิดข้อสงสัยว่าประเทศพม่าในสมัย บุเรงนองนั้น สร้างกองทัพกันด้วยวิธีเช่นนี้มาตลอดหรืออย่างไร ทำไมจึงใช้วิธีคัดเลือกนักรบที่น่าสะพึงและเหลือเชื่อเช่นนั้น

 

ซอลูได้สืบค้นเรื่องนี้ในพงศาวดารของพม่าหลายฉบับ ไม่พบว่ามีเรื่องการเลือกนักรบของบุเรงนองด้วยการตอกเล็บปรากฏเป็นหลักฐาน หากแต่พบเรื่องราวทำนองนี้ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ตะเบงชเวตี้ ที่แต่งโดย แลตีบัณฑิตะ อูหม่องจี นิยายเกี่ยวกับพระเจ้าตะเบงซะเวตี้ หรือ ตะบีงฉ่วยที (9x'NgU5ut)เรื่องนี้ ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่กลางสมัยอาณานิคม คือในราวปี ค.ศ. ๑๙๒๕ อูหม่องจีนั้นเป็นนักเขียนหลายแนว เขาเขียนบทกวี บทความทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ เรื่องสั้น นวนิยาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอูหม่องจียังเป็นนักประพันธ์นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นคนหนึ่งของพม่า สำหรับเรื่องตะเบงชเวตี้นั้น อูหม่องจีเผยว่าเขียนขึ้นเพื่อให้ชาวพม่าหันมาสนใจเรื่องราวในพงศาวดารพม่า พร้อมกับสัมผัสรสทางวรรณกรรม แต่ถ้าดูบรรยากาศการเมืองในยุคนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการต่อต้านการศึกษาที่ผูกขาดโดยเจ้าอาณานิคม และเริ่มมีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆทางการปกครองจากอังกฤษ จนมีการแตกแยกในกลุ่มผู้นำทางความคิดของพม่าสมัยนั้น จึงเชื่อว่าอูหม่องจีน่าจะมีแนวคิดทางการเมืองของตนเป็นแรงบันดาลใจ จึงได้แต่งนิยายเพื่อหมายกระตุ้นความรักชาติและต่อต้านเจ้าอาณาคมอยู่ในที เพราะเนื้อหาของนิยายมุ่งไปที่จุดจบของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ อันเนื่องเพราะพระองค์หันไปไว้วางใจชนต่างชาติต่างภาษาจนเกิดผลร้ายต่อราชธานีหงสาวดี ผู้แต่งออกจะตั้งใจวางบทให้ตัวเอกในเรื่องนี้เป็นบุเรงนอง ซึ่งเป็นขุนพลคู่ใจของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ บุเรงนองถูกนำเสนอในนิยายเรื่องนี้อย่างวีรบุรุษที่เข้ามาช่วยประคับประคองราชบัลลังก์หงสาวดีให้พ้นจากเงื้อมมือของอริราชศัตรู อย่างไรก็ตามแม้อูหม่องจีจะอ้างว่าเขียนนิยายโดยอิงความจากพงศาวดารก็ตาม แต่ซอลูพบว่ามีตอนสำคัญหลายตอนที่น่าจะเป็นจิตนาการล้วนๆของผู้ประพันธ์เอง

 

ซอลูได้ยกความบางส่วนในนิยายเรื่องนี้มาพิจารณาถึง ๓ ตอน ได้แก่ ตอนบุเรงนองกำใบดวงชะตาเพื่อพิสูจน์บารมีของตนต่อหน้ากษัตริย์หลังจากที่ถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์ลับกับพระธิดา ตอนที่สองเป็นตอนตอกเล็บเพื่อเลือกนักรบที่จะนำทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ไปทำพิธีเจาะพระกัณณ์ที่ลานพระเจดีย์มุเตาเขตมอญในเมืองหงสาวดี และตอนที่สามเป็นตอนที่บุเรงนองควบม้าเข้ายึดเมืองหงสาวดีอย่างเด็ดเดี่ยว ฉากในเรื่องทั้ง ๓ ตอนนี้ ซอลูกล่าวว่าไม่พบว่ามีกล่าวในพงศาวดารพม่า จะมีก็เพียงตอนที่ ๓ ซึ่งเป็นวีรกรรมของนักรบคนอื่น หากแต่ว่าผู้แต่งได้นำมาสวมบทให้กับบุเรงนอง ภาพของบุเรงนองจึงโดดเด่นด้วยฝีมือของอูหม่องจี ดูสมเป็นวีรกษัตริย์ยอดนักรบของพม่า

 

ในตอนที่บุเรงนองกำใบดวงชะตาพิสูจน์บารมีของตนนั้น เกิดขึ้นด้วยเพราะตะเบงชเวตี้หาโอกาสให้บุเรงนองผู้เป็นพระสหาย ซึ่งมีนามขณะนั้นว่า ฉิ่งแยทุต(ia'Nic5:9N) ได้มีสัมพันธ์สนิทกับพระพี่นางคือพระนางตะขี่งจี(l-'NWdut) เมื่อเรื่องล่วงรู้ถึงมีงจีโหย่(,'NtWdutL6b) พระราชาผู้เป็นเจ้าเหนือหัวแห่งตองอู บุเรงนองจึงรีบเข้าปรึกษากับพระอาจารย์แห่งวัดโลกุตตะรา พระอาจารย์ได้แนะนำให้ฉี่งแยทุตนำใบดวงชะตาของตนไปถวายต่อกษัตริย์ ซึ่งฉิ่งแยทุตก็หาญกล้าพอที่จะกระทำเช่นนั้น พอพระเจ้ามีงจีโหย่ได้พิจารณาดวงชะตาของฉิ่งแยทุต พระองค์ทรงเห็นว่าฉิ่งแยทุตจะเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยค้ำจุนแผ่นดินพม่า จึงพระราชทานอภัยโทษแก่ฉิ่งแยทุต แล้วยังรับสั่งให้ฉิ่งแยทุตดูแลตะเบงชเวตี้อย่างใกล้ชิดดุจดั่งทั้งน้องและนายตน นั่นหมายถึงให้ฉิ่งแยทุตทั้งรักและภักดีต่อตะเบงชเวตี้ ผู้ซึ่งจะต้องครองราชบังลังก์ต่อไป คำว่า บุเรงนอง (46i'NHgok'N) ซึ่งเป็นนามของฉิ่งแยทุตในภายหลังนั้น หมายถึง "เชษฐาแห่งราชา" คือยกย่องให้บุเรงนองเป็นพี่ชายของตะเบงชเวตี้นั่นเอง ซอลูกล่าวว่าฉากนี้เป็นจิตนาการของอูหม่องจีที่ทั้งเร้าความตื้นเต้นและสร้างความน่าชื่นชมต่อความกล้าหาญของฉิ่งแยทุต ถือเป็นความสามารถของผู้ประพันธ์ในการผูกเรื่องราวได้อย่างน่าติดตาม และเป็นฉากที่ส่งบทให้บุเรงนองปรากฏเป็นตัวเอกของเรื่องได้อย่างเหมาะสม

 

ในอีกฉากหนึ่ง เป็นตอนที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้กรีธาทัพหมายตีเมืองหงสาวดี เจ้าเมืองหงสาวดีไม่กล้าสู้ศึก จึงหลบหนีไปยังเมืองแปร แต่ตะเมงมรู(l,boN,i^)ยอดขุนศึกพร้อมด้วยเหล่าทหารกล้าแห่งหงสาวดีจำนวนหนึ่งไม่ยอมทิ้งเมือง และยังร่วมคิดการณ์ต่อสู้กับกองทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ซึ่งมีฉิ่งแยทุตหรือบุเรงนองนำทัพอยู่ด้วย ตะเมงมรูประกาศว่าจะรั้งเมืองเพื่อรอตัดหัวฉิ่งแยทุตให้จงได้ ฉิ่งแยทุตก็รับคำท้าด้วยการสั่งให้กองทัพช้างบุกพังประตูตีเมืองหงสาวดีให้แตกหัก แล้วฉิ่งแยทุตก็ควบม้านำทัพบุกเข้าเมืองหงสาวดีทันที ตะเมงมรูซึ่งซุ่มรออยู่ก็พุ่งหอกใส่ฉิ่งแยทุต ปักเข้าที่สะโพก แต่ฉิ่งแยทุตกลับไม่ครั่นคร้าม เพียงฉวยดาบตัดด้ามหอกทิ้ง และปล่อยตัวหอกคาไว้กับตัวดั่งนั้น พลันก็ควบม้ามุ่งหน้ารี่บุกเข้าวังหลวง และเมื่อถึงยังแท่นบังลังก์กลางวังหงสาวดี ฉิ่งแยทุตก็โผนผละจากหลังม้า เดินอ้าวก้าวขึ้นเหยียบราชบรรลังก์อย่างองอาจ พร้อมประกาศชัยเหนือเมืองหงสาวดีต่อหน้าเหล่าทหาร ที่ต่างตะลึงงันอยู่เบื้องล่าง นั่นคือภาพอันงดงามเด็ดเดี่ยวของฉิ่งแยทุต ที่พรั่งพรูออกมาจากจิตนาการของอูหม่องจี แต่เนื้อความตอนนี้มีปรากฏในพงศาวดารพม่าเพียงสั้นว่า "เมื่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงทราบว่า ตูฉิ่งตะกายุตปิ (หนี)ขึ้นไปยังเมืองแปร พระองค์ก็ยกทัพเข้าเมืองหงสาวดีโดยพลันและยืดเมืองไว้" ซอลูสืบค้นได้ว่า อูหม่องจีน่าจะพรรณาฉากนี้ โดยอิงมาจากวีรกรรมของตะโตมีงซอ(l96bt,'Ntg0k)เจ้าเมืองอังวะที่นำทัพเข้าตีเมืองมัยซัง(,6b'Nt0") ในคราวที่พระมหาอุปราชายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ในปี ค.ศ. ๑๕๖๕ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงหลัง แต่อูหม่องจีกลับนำวีรกรรมนี้มาเสริมแต่งให้กับบุเรงนอง ในคราวที่ยกทัพตีหงสาวดีได้ในปี ๑๕๓๘ นับได้ว่าอูหม่องจีทึกทักหมายสร้างภาพวีรบุรุษให้กับบุเรงนองด้วยจงใจ

 

ส่วนในฉากการตอกเล็บเพื่อเลือกยอดนักรบจากนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ที่แต่งโดยอูหม่องจีนั้น เรื่องมีว่าพระเจ้าตะเบงชเวตี้มีพระราชประสงค์ที่จะทำพิธีเจาะพระกัณณ์ ณ พระเจดีย์มุเตาซึ่งอยู่ในเขตชาวมอญ บุเรงนองจึงได้กราบทูลที่จะขอคัดเลือกทหารกล้าจำนวน ๕๐๐ นาย เพื่อตามเสด็จอารักขาพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ในการคัดสรรยอดนักรบนั้น บุเรงนองได้ขอทดสอบความกล้าของทหารอาสาด้วยการให้นำเข็มมาเสียบที่หว่างเล็บนิ้วหัวแม่มือ จากนั้นให้ตั้งนิ้วบนแท่นไม้ เพื่อใช้ฆ้อนทุบลงบนเข็มจนกว่าตัวเข็มจะมิดปลายนิ้ว ผู้ใดที่ไม่ผงะและไม่แสดงอาการสะทกสะท้าน ผู้นั้นจึงจะได้รับเลือกเป็นทหารองครักษ์ในกองทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ อูหม่องจีได้ให้บุเรงนองแสดงบทหาญกล้านั้นเช่นกัน ด้วยการพิสูจน์ตนเป็นคนแรกต่อหน้าเหล่านักรบ การพิสูจน์ดำเนินไป มีทั้งผู้ทดสอบผ่านและผู้แพ้ในการทดสอบ จนมีข้าทาสคนหนึ่งของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ นามว่า บะละแยถี่ง (r]ic5'N) ได้เข้าพิสูจน์ตน แต่บะละแยถี่งกลับไม่สามารถผ่านการทดสอบนั้น และด้วยความรู้สึกอับอาย บะละแยถี่งจึงใช้ดาบคว้านท้องตนเอง แต่พระเจ้าตะเบงชเวตี้กลับทรงตรัสว่า การปลิดชีวิตตนอย่างบะละแยถี่งเป็นเพียงความกล้าที่จะเผชิญกับความตายเยี่ยงคนเขลา พระองค์ไม่ถือว่าการกระทำของบะละแยถิ่งเป็นแบบอย่างของความกล้าเยี่ยงนักรบ นักรบที่ผ่านการเลือกสรรด้วยการตอกเล็บ จึงเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ นับได้ว่าอูหม่องจีบรรยายฉากนี้ด้วยความเชื่อมั่นเกินควร จนออกจะไปในทางยั่วยุให้ผู้อ่านคล้อยเห็นความคึกลำพองของเหล่านักรบอาสาเหล่านั้นเป็นความงดงามเยี่ยงผู้กล้า หรืออาจลืมไปว่าความเด็ดเดี่ยวที่ยกย่องนั้นเป็นความสามารถผิดมนุษย์

 

วีรกรรมอันฮึกหาญของบุเรงนอง โดยเฉพาะฉากตอกเล็บที่บุเรงนองเองก็เข้าร่วมพิสูจน์ความกล้าด้วยนั้น ซอลูกล่าวว่าไม่มีหลักฐานปรากฏชัด จึงน่าจะเป็นเพียงเรื่องจากจินตนาการของอูหม่องจี แต่ซอลูก็มิได้กล่าวตำหนิอูหม่องจีที่เสริมแต่งนิยายเกินหลักฐาน เพราะผู้แต่งนิยายย่อมต้องผูกเรื่องเพื่อดึงอารมณ์ของผู้อ่านให้ตรึงใจในตัวละครของตน แต่ความผิดพลาดนั้น อยู่ที่ผู้คัดสรรเนื้อหาเพื่อทำแบบเรียนสำหรับเด็ก ซึ่งอาจด้วยความประทับใจในความใจเด็ดของบุเรงนองจากนิยาย โดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือแม้แต่พิจารณาความสมจริงของเรื่อง ประเด็นนี้จึงพอบอกได้ว่าพม่าชื่นชมวีรบุรุษของตนอย่างสูงยิ่ง และใส่ใจเฉพาะการปลูกฝังความรักชาติโดยไม่ได้ฉุกคิดถึงผลลบอีกด้าน ซ้ำอาจไม่ทันได้พิจารณาความเป็นปกติวิสัยของเด็กวัยเยาว์ที่ยังด้อยด้วยวุฒิภาวะและขาดวิจารณญาณที่ดีพอ การปล่อยให้เรื่องของบุเรงนองที่ใช้วิธีการตอกเล็บเพื่อเกณฑ์ผู้กล้าสำหรับกองทัพพม่า ให้ได้ผ่านสายตาและการรับรู้ของเยาวชนพม่ามานานนั้นย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งอาจก่อความหวาดหวั่นที่บาดลึกฝังใจ หรืออาจบ่มเพาะความแข็งกร้าวที่เย็นชาต่อเมตตาธรรม เนื้อเรื่องในแบบเรียนดังกล่าวจึงเป็นดุจดาบสองคมที่กระทรวงศึกษาธิการของพม่าน่าจะได้หันมาทบทวนอย่างจริงจัง

 

แต่หากมองเจตนาของทางการพม่าแล้ว จินตนาการอันเกี่ยวเนื่องกับบุเรงนองในนิยายอิงประวัติศาสตร์ของอูหม่องจีนั้น คงมีพลังพอที่ทางพม่าเชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้กับการสร้างพลังใจที่เป็นจิตสำนึกแห่งชาติแก่เยาวชน เพราะภาพลักษณ์ของบุเรงนองเป็นภาพของนักรบที่เกรียงไกร และเป็นผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดินพม่า ดังมีกล่าวสรรเสริญวีรกรรมของบุเรงนองไว้ สืบได้จากพงศาวดารจนถึงนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ จนมาเป็นแบบเรียนสำหรับเด็ก และในปัจจุบันรัฐบาลพม่ายังได้พัฒนาแนวคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติขึ้น ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์บุเรงนองขึ้นหลายแห่ง คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าพม่ายังพยายามนำวีรกรรมของบุเรงนองมาพัฒนารูปแบบใหม่ๆเพื่อตอกย้ำความรักชาติและความยิ่งใหญ่ของกองทัพพม่าในอดีต อีกทั้งเพื่อต่อต้านการคุกคามจากต่างชาติ การยกเอาบุเรงนองขึ้นเป็นวีรบุรุษแห่งชาติผู้หนึ่งที่ดำเนินสืบมานั้น น่าจะเป็นเพราะได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากจินตนิยายเรื่องตะเบงชเวตี้โดยอูหม่องจีนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ในการสร้างชาตินั้น หากพม่ามุ่งเพียงการปลูกฝังความรักชาติ โดยการสร้างความเข็มแข็งทางจิตใจให้กับเยาวชนของชาติ โดยไม่แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากจิตนาการหรือความเหลือเชื่อ หรือเพิกเฉยต่อความสมจริงและความเหมาะสมของเนื้อหาด้วยแล้ว กรณีวีรกรรมเทียมของบุเรงนอง ซึ่งซอลูยกขึ้นมากล่าวท้วงติงเป็นตัวอย่างนั้น อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการสถาปนาวีรบุรุษของชาติ จึงนับว่าซอลูมีความกล้าที่ได้นำเสนอเรื่องนี้ได้เหมาะสมกับยุคสมัย และก็น่ายกย่องในความใจกว้างของทางการพม่าที่ยอมให้ตีพิมพ์บทความดังกล่าว อย่างน้อยอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการที่จะได้มีการวิพากษ์หลักสูตรการศึกษาระดับพื้นฐานของพม่า ที่เน้นความเป็นชาตินิยมจนเกินไป

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15575เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท