อลองซีตู : ผู้สร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์แห่งอำนาจและบุญบารมี


กษัตริย์พม่าที่จะได้รับการกล่าวถึงคุณความดีเป็นพิเศษนั้น มักจะต้องเป็นยอดนักรบและนักปกครองที่ช่วยฟูมฟักราชอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น สำหรับในสมัยพุกามนั้นมักเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆเพียง ๓ พระองค์ ได้แก่
สารัตถะจากตำราเรียนพม่า :
อลองซีตู : ผู้สร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์แห่งอำนาจและบุญบารมี
กษัตริย์พม่าที่จะได้รับการกล่าวถึงคุณความดีเป็นพิเศษนั้น มักจะต้องเป็นยอดนักรบและนักปกครองที่ช่วยฟูมฟักราชอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น สำหรับในสมัยพุกามนั้นมักเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆเพียง ๓ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าอโนรธาในฐานะผู้สร้างอาณาจักรพุกาม พระเจ้าจันสิตตาในฐานะผู้ค้ำจุนอาณาจักร และพระเจ้าอลองซีตู หรือ อลอง-สี่ตู่(vg]k'Nt0PNl^) ในฐานะผู้ใฝ่พระทัยต่ออาณาจักร
ในกรณีของพระเจ้าอลองซีตูนั้น แม้จะถูกตำหนิว่าพระองค์มีความลำพองตนและขัดสภาวธรรม ที่ทรงฝืนความชรา ซ้ำไม่ยอมตั้งรัชทายาท จนเกิดการช่วงชิงราชบัลลังก์ก็ตาม แต่แบบเรียนพม่าได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระองค์ไว้เป็นพิเศษ  เนื่องเพราะพระองค์ทรงสนพระทัยการเสด็จประพาสหัวเมือง อีกทั้งยังทรงสร้างพุทธเจดีย์ไว้ในหลายที่ที่เสด็จไปถึง ด้วยเหตุนี้ เรื่องของพระเจ้าอลองซีตูจึงมีพื้นที่แทรกอยู่ในแบบเรียนของพม่า ก็ด้วยทรงเป็นเจดียทายกที่ยิ่งใหญ่
อันที่จริงเรื่องของอลองซีตูที่ว่าด้วยการท่องอาณาจักรเพื่อสร้างเจดีย์ทั่วแผ่นดินนั้น มีเรื่องเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านไว้อย่างพิสดารว่า เจ้ามณีซีตู (,Ib0PNl^) ซึ่งคืออลองซีตูในพงศาวดาร เป็นพระราชาที่ทรงอิทธิฤทธิ์ยิ่งนัก จนแม้พระอินทร์ต้องยำเกรง ในเวลาที่พระองค์จะเสด็จประพาสไปทางใดนั้น จะทรงชี้นิ้วพระหัตถ์ไปยังทิศทางที่จะเสด็จไป(บ้างว่าใช้เส้นหวายชี้ทาง) ฉับพลันนั้นด้านทิศที่พระองค์ชี้ก็จะกลายเป็นสายน้ำทอดยาวไกลสุดตา และเมื่อพระองค์เสด็จถึงที่หมายก็จะทรงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อการบูชา นิทานเล่าว่าพระองค์เสด็จไปได้ทั่วแคว้นและทรงสร้างเจดีย์ในทุกที่ จนแม้บนดอยก็ยังมีเจดีย์ปรากฏอยู่ อำนาจวิเศษของพระองค์ทำให้สายน้ำเนรมิตอาจทอดไหลถึงยอดดอยได้ และเมื่อพระองค์เสด็จหวนคืนสายน้ำนั้นก็จะอันตรธานไป นิทานเรื่องนี้เยาวชนพม่ามักได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่แรกที่ผู้ใหญ่พาไปไหว้เจดีย์ในก่อนวัยเรียนด้วยซ้ำ นับเป็นนิทานที่สร้างจินตนาการได้อย่างตื่นตาตื่นใจและชวนชื่นชมในพระบารมี โดยเฉพาะต่อพระราชอำนาจของเจ้ามณีซีตูหรืออลองซีตู และพระราช-กุศลจากการที่ทรงสร้างเจดีย์ไว้ทั่วแผ่นดิน
ตามพงศาวดารพม่า ได้กล่าวถึงพระเจ้าอลองซีตูไว้ว่า ทรงเป็นหลานของพระเจ้าจันสิตตา และเป็นเหลนของพระเจ้าอโนรธา  โดยฝ่ายพระบิดาของพระองค์เป็นโอรสเจ้าซอลูผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าอโนรธา ส่วนฝ่ายพระมารดานั้นเป็นธิดาของพระเจ้าจันสิตตา พระเจ้าอลองซีตูได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทนับแต่วันประสูติ ก็ด้วยความปีติของพระเจ้าตาที่ได้หลานแท้ๆที่มีเชื้อสายของพระเจ้าอโนรธาไว้สืบราชบัลลังก์  ตำนานยังกล่าวว่าแรกที่อลองซีตูประสูตินั้น ทรงร้องไห้งอแงไม่หยุดหย่อน โหรหลวงทำนายว่าพระองค์เพียงปรารถนาจะทราบว่าอาณาเขตของราชอาณาจักรของพระองค์นั้นกว้างใหญ่สักเพียงใร พอทูลให้ทรงทราบพระองค์ก็หยุดร้องทันที ตำนานยังกล่าวว่าพระองค์ร้องนานเสียจนสะดือโปน จึงเรียกว่า เจ้าสะดือจุ่น (-ydNg9kNiaPN) นี่คงสะท้อนความใส่ใจอย่างจริงจังในพระราชอาณาเขต ส่วนเจดีย์อันเป็นอนุสรณ์เหล่านั้นก็คงบ่งบอกถึงพระราชอำนาจและประกาศกุศลบารมีของพระองค์ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง
พออลองซีตูขึ้นครองบัลลังก์ในวัย ๒๓ ชันษา (บ้างว่า ๑๘ ชันษา) พระองค์โปรดการเสด็จประพาสเป็นพิเศษนอกเหนือจากการเดินทางเพื่อทำศึก ในทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไปถึงก็จะทรงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ ดินแดนที่พระองค์เสด็จนั้นมีทั้งแดนใกล้และแดนไกล และทรงปลูกสร้างศาสนสถานไว้มากจนไม่อาจนับได้ถ้วนทั่ว และจากการที่พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองอยู่บ่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในราชสำนัก เหตุเพราะพระองค์ไม่ใส่ใจที่จะแต่งตั้งรัชทายาท และยังบาดหมางกับราชบุตรของพระองค์เอง คือ มีงฉิ่งซอ(,'Ntia'Ng0k) จนถึงขั้นเนรเทศ อีกทั้งพระองค์ยังลำพองตนว่าเก่งกล้า แม้ยามชราก็ยังทรงแสดงศักดาปาฏิหารย์เหนือเหล่าขุนศึก สุดท้ายราชบุตรนรตูหรือนรสู(oil^)ผู้หวังในราชบังลังก์ได้กระทำปิตุฆาตและสังหารมีงฉิ่งซอผู้มีศักดิ์เป็นพระเชษฐามิให้มีโอกาสในบัลลังก์ ความใส่ใจเฉพาะการเสด็จหัวเมืองและสร้างเจดีย์ของพระเจ้าอลองซีตูจนละเลยปัญหาภายในราชสำนักนั้น ทำให้อลองซีตูมีข้อด้อยในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของพระองค์กลับโดดเด่นในนิทานและตำนานว่าเป็นผู้ปรารถนาเห็นความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในแผ่นดินเมียนมา ดังที่แบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์พม่าสำหรับชั้น ๓ หน้า ๑๑–๑๒ กล่าวยกย่องพระเจ้าอลองซีตูไว้ดังนี้
 พระเจ้าอลองซีตูเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระปรีชาและน้ำพระทัย พระองค์ทรงเสด็จทางชลมารคด้วยแพและเรือพระที่นั่งไปยังต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง เพื่อปฏิบัติศาสนกิจและแสวงหาปัญญา
คราเมื่อพระเจ้าอลองซีตูเสด็จประพาสไปยังเกาะสิงหลนั้น ทรงรับมอบรูปปั้นพระอรหันต์ซึ่งกษัตริย์สิงหลต่างบูชาสืบมา พอกลับมาถึงพุกามได้ไม่นานพระองค์ก็ทรงเสด็จไปยังเกาะมลายู ณ เกาะนั้นพระองค์ได้สลักพระพุทธรูปขึ้น ๕ องค์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวประทับ ณ หัวแพพระที่นั่งแล้วเสด็จนิวัตสู่พุกาม จากนั้นทุกคราที่เสด็จประพาส พระองค์จะอัญเชิญพระพุทธรูป ๕ องค์ประทับ ณ หัวแพพระที่นั่งไปด้วยเสมอ ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จมาถึงเทือกเขาตะปเย-โหญ่(lgexP6b)ทรงหยุดแพพัก ณ เชิงเขานั้น แล้วทรงสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นที่บูชาพระพุทธรูป ๕ องค์ และจากการที่ได้ประทับ ณ หัวแพพระที่นั่ง จึงเรียกพระเจดีย์นี้ว่า พระเจดีย์ผ่องด่ออู(gzk'Ng9kNFt46ikt-พระหัวแพ) นอกจากนี้พระเจ้าอลองซีตูยังทรงเสด็จด้วยแพพระที่นั่งไปทั่วพระราชอาณาจักร พร้อมกับทรงสร้างเจดีย์ผ่องด่ออูในทุกแห่งที่เสด็จไปถึง
จากการที่พระเจ้าอลองซีตูทรงปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง จึงทรงสร้างสถูปเจดีย์ วัด และพุทธรูป นอกเหนือจากพระเจดีย์ผ่องด่ออูแล้ว พระองค์ยังทรงสร้างเจดีย์ที่โดดเด่นอีกหลายองค์ อาทิ พระเจดีย์สัพพัญญู(lr¾L646ikt)และพระเจดีย์ชเวคูจี(gU­8^Wdut46ikt)ที่พุกาม ตลอดจนพระเจดีย์อญาสีหดอ(vPklusg9k46ikt)ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านมแล(,]PNU:k)ด้านเหนือของเมืองเจ้าก์มยอง(gEdkdNge,k'Nt1,bh) พระองค์ยังทรงหล่อระฆังทองเหลืองหนักหนึ่งหมื่นวีส(xbÊk) ๒ ลูกเพื่อถวายพระเจดีย์สัพพัญญูและพระเจดีย์ชเวคูจี นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสร้างศาลาที่พัก(=ixN) ศาลาราย(9oNgCk'Nt) และอุโบสถ(lb,Ngdyk'Nt)ไว้อย่างเหลือคณานับ
พม่าเชื่อว่าเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านและตำนานจากพงศาวดารเรื่องนี้มีเค้าความจริง  ด้วยมีเจดีย์ซึ่งมีนามว่า ผ่องด่ออู เป็นประจักษ์พยาน ดังพบว่ามีเจดีย์ชื่อเดียวกันนี้อยู่หลายแห่งในประเทศพม่า ที่เด่นเป็นพิเศษคือ เจดีย์ผ่องด่ออูที่เมืองทวาย(5kt;pN)ซึ่งอยู่ทางใต้ เจดีย์ผ่องด่ออูที่เมืองมิตถิลา(,b9u¶]k)ซึ่งอยู่ใจกลางประเทศ และเจดีย์ผ่องด่ออูที่ทะเลสาบอีงเล(v'Ntg]t)ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกในรัฐฉาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพิเคราะห์อีกทาง การมีเจดีย์ปรากฏนามซ้ำๆในหลายที่นั้น อาจเป็นด้วยผู้คนมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน จึงได้สร้างเจดีย์ที่ตนศรัทราอยู่เดิมไว้ในถิ่นใหม่เพื่อการรำลึกและสักการะ ดังนั้นความเชื่อจากตำนานจึงอาจบดบังความเป็นจริงทางสังคม จนเห็นแต่มายาภาพของผู้นำแบบอุดมคติอยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม การนำเรื่องบุญกิริยาของพระเจ้าอลองซีตูมาบรรจุในแบบเรียนนั้นนับว่าน่าสนใจ ด้วยมีเป้าหมายปลูกฝังเยาวชนให้ยกย่องผู้นำ จากการที่เด็กๆพม่ามักได้ยินนิทานเรื่องนี้จากผู้ใหญ่มาก่อน พอได้อ่านเรื่องจากแบบเรียน ก็ย่อมเสริมศรัทราต่อการประกอบกุศลของผู้นำที่แสดงอำนาจได้เยี่ยงพระอินทร์ ดังนั้นเจดีย์จึงกลายเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจบารมีของผู้นำ นอกจากนี้ เจดีย์ยังอาจเป็นภาพลักษณ์หรือภารกิจของผู้สร้าง อาทิ เจดีย์ผ่องด่ออูของอลองซีตูถือเป็นอนุสรณ์ของการเสด็จประพาสหัวเมือง เจดีย์ธัมมะ-ยังจีของนรสูเป็นอนุสรณ์ของความโหดร้าย จนในยุคหลังก็ยังนิยมสร้างเจดีย์ประจำสมัย อาทิ เจดีย์กะบาเอ้(d,Àkgvtg09u)ของอูนุเป็นอนุสรณ์แห่งสันติภาพและการชำระพระไตรปิฎกครั้นกึ่งพุทธกาล ส่วนมหาวิชยเจดีย์(,sk;b=pg09u)ของอูเนวินถูกมองว่าเป็นเจดีย์แห่งชัยชนะ แต่ถูกมองว่าเป็นเจดีย์ล้างบาปในมุมมองของผู้ไม่ชอบระบอบเนวิน และเจดีย์ซแวด่อมยัตเซดีด่อ (0:pNg9kNe,9Ng09ug9kN)ของพลเอกตันส่วยแห่งรัฐบาลทหารปัจจุบันนั้น อาจถือเป็นอนุสรณ์แห่งสันติสุขและสมานฉันท์ เป็นต้น
ปัจจุบัน รัฐบาลทหารพม่าพยายามควบคุมทุกพื้นที่ชายขอบให้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์ และมีความพยายามที่จะพัฒนาท้องถิ่นต่างๆด้วยการสร้างถนน สะพาน และอ่างเก็บน้ำ ในการนี้ รัฐบาลยังได้อาศัยองค์เจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและสันติภาพไปด้วย ดังนั้นในทุกพื้นที่ที่รัฐเข้าไปพัฒนาจึงมีการสร้างเจดีย์ใหม่หรือบูรณะเจดีย์เก่าอยู่เสมอ
การสร้างและบูรณะเจดีย์ไปทั่วประเทศโดยรัฐบาลทหารในยุคปัจจุบันนั้น ก็คงด้วยความตั้งใจที่จะอาศัยขนบประเพณีโบราณเพื่อแสดงอำนาจรัฐและสันติสุข พร้อมไปกับการประกาศบุญบารมีของผู้นำที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น ภาพของถนนหนทางและสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งรัฐบาลมักกล่าวว่าดุจเนรมิตอย่างที่ไม่เคยปรากฏในอดีตนั้น จึงมักมีการสร้างหรือบูรณะเจดีย์เป็นหลักหมายรวมอยู่ด้วย ดูจะสอดคล้องกับเรื่องราวในนิทานเจดีย์ผ่อง-ด่ออูที่พระเจ้าอลองซีตูทรงเนรมิตสายน้ำนำทาง เพื่อเสด็จสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งอำนาจและบุญบารมี 
วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15574เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท