ราชกุมาร : เจ้าชายยอดกตัญญูจากปฐมศิลาจารึกภาษาพม่า


จารึกราชกุมาร เป็นศิลาจารึกภาษาพม่าหลักแรก สร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๑๑๒ แต่งโดยเจ้าชายราชกุมาร ผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าจันสิตตากับพระนางสัมภูละ
สารัตถะจากตำราเรียน :
ราชกุมาร : เจ้าชายยอดกตัญญูจากปฐมศิลาจารึกภาษาพม่า
จารึกราชกุมาร เป็นศิลาจารึกภาษาพม่าหลักแรก สร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๑๑๒ แต่งโดยเจ้าชายราชกุมาร ผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าจันสิตตากับพระนางสัมภูละ จารึกหลักนี้เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งทางประวัติศาสตร์ สังคม วรรณกรรม และภาษาพม่ายุคโบราณ พม่าใช้หลักฐานชิ้นนี้ยืนยันปีขึ้นครองราชย์ของต้นราชวงศ์อโนรธาที่ปกครองอาณาจักรพุกาม, ใช้ยืนยันถึงศรัทธาและค่านิยมของราชนิกุลแห่งราชสำนักพุกามต่อพุทธศาสนา, ใช้ยืนยันความเก่าแก่ทางวรรณกรรมประเภทร้อยแก้วของพม่า, ช่วยให้สามารถไขปริศนาภาษาของชนพื้นเมืองชาวปยูที่สาบสูญ เพราะจารึกมยะเซดีหลักนี้เป็นจารึก ๔ ภาษา คือ มอญ พม่า บาลี และปยู อีกทั้งยังสะท้อนถึงความหลากหลายทางชนชาติของชาวพุกามที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนร่วมทางวัฒนธรรมอีกด้วย
ตามเรื่องราวจากพงศาวดารพม่า กล่าวถึงเจ้าชายราชกุมารว่าเป็นโอรสของพระเจ้าจันสิตตาอันเกิดจากนางสัมภูละผู้เคยอุปการะพระองค์คราเมื่อครั้งหนีราชภัย พอเมื่อจันสิตตาขึ้นครองราชย์ พระนางสัมภูละจึงได้พาโอรสวัย ๗ ชันษามามาถวายต่อพระองค์ แต่ก็ล่าช้า เพราะพระเจ้าจันสิตตาทรงมอบตำแหน่งอุปราชให้กับพระราชนัดดาไปแล้ว ราชกุมารจึงได้รับแต่งตั้งเพียงในตำแหน่งเจ้าเมืองเท่านั้น จากนั้นพงศาวดารก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของราชบุตรองค์นี้อีก ส่วนจารึกซึ่งปรากฏนามว่าราชกุมารเป็นผู้แต่งขึ้นในปลายรัชสมัยพระเจ้าจันสิตตานั้น ได้เผยเจตนาและฐานะของเจ้าชายราชกุมารให้เห็นอีกครั้ง
เนื้อความในจารึกนั้นเป็นคำกัลปนาของราชกุมารที่อุทิศต่อพระเจ้าจันสิตตา มีความยาว ๓๙ บรรทัด เริ่มด้วย สีริ นโมพุทธายะ ศาสนศักราช ๑๖๒๘ ราชกุมารเป็นโอรสของสีริตริภุวนาทิตย-ธมมราช(จันสิตตา)แห่งอริมัททนาปุระ(พุกาม) กับพระนางตริโลก-วฏ"สกาเทวี(สัมภูละ) จันสิตตาได้มอบข้าทาส ๓ หมู่บ้านให้นาง พอพระนางสิ้นชีวิต จันสิตตาจึงได้มอบทรัพย์สินและข้าทาส ๓ หมู่บ้านนั้นให้กับราชกุมาร เมื่อจันสิตตาครองราชย์มาได้ ๒๘ ปี ก็ประชวรหนัก ราชกุมารระลึกถึงพระคุณของผู้ให้กำเนิด จึงหล่อพระพุทธรูปทองบริสุทธิ์เพื่ออุทิศต่อพระบิดา พร้อมถวายข้าทาส ๓ หมู่บ้านนั้นแด่พระพุทธรูป พระบิดาได้กล่าวสรรเสริญในบุญกิริยานั้นแล้วกรวดน้ำถวายต่อหน้าหมู่สงฆ์ ๗ รูป จากนั้นจึงได้สร้างเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้น จบท้ายด้วยคำอธิษฐานเพื่อให้ผู้สร้างบรรลุสัพพัญญุตญาณ พร้อมสาปแช่งผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานหรือญาติมิตร หากมาข่มเหงรังแกข้าทาสซึ่งตนถวายต่อพระพุทธรูปนั้นแล้วไซร้  ขออย่าให้ได้พบพานพระอริเมตตยยะ
ข้อความในจารึก ๔ ภาษานี้เขียนไว้ ๔ ด้าน ด้านละภาษา แต่ละด้านมีเนื้อความตรงกัน ปราชญ์พม่านิยมตีเจตนาของจารึกนี้ว่าเป็นการแสดงออกถึงน้ำพระทัยอันประเสริฐของเจ้าชายราชกุมาร ที่รู้บุญคุณผู้ให้กำเนิด อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยเมตตา จึงไม่มีความปรารถนาในราชบัลลังก์จากผู้เป็นหลาน ทั้งที่มีโอกาสที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ได้ก็ตาม น้ำพระทัยจึงต่างจากราชนิกุลอีกหลายองค์ในประวัติศาสตร์พม่าที่มุ่งทำลายล้างกันเพื่อหวังในอำนาจ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของชนชั้นผู้นำที่มองเห็นประโยชน์ของประเทศเหนือกว่าประโยชน์ตน และยังถือเป็นความงดงามทางประวัติศาสตร์ที่พม่ายกมาเป็นแบบเรียนเพื่อสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและตระหนักในเมตตาธรรม
ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๕ หน้า ๑๑-๑๒ ได้กล่าวถึงเจ้าชายราชกุมารผู้สร้างศิลาจารึกหลักแรกของพม่าไว้ดังนี้
“จารึกราชกุมารปรากฏอยู่ ณ เจดีย์แห่งหนึ่งที่บ้านมยีงกะบา(e,'Ntdxj)ในเมืองพุกาม เหตุที่จารึกนี้มีชื่อว่าจารึกราชกุมารก็ด้วยเพราะเป็นพระราชกุศลของราชกุมาร(ik=d6,kiN)ผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าจันสิตตา
จารึกราชกุมารหลักนี้เป็นคำจารึกที่ราชกุมารกัลปนาแทนคุณบิดา ด้วยรำลึกถึงพระกรุณาของพระเจ้าจันสิตตา
พระเจ้าจันสิตตาเป็นยอดนักรบผู้ลือนามมาแต่รัชสมัยของพระเจ้าอโนรธาแห่งแผ่นดินพุกาม แต่ด้วยต้องโทสะของพระเจ้าอโนรธา จันสิตตาจึงต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ ณ บ้านจ่องผยู(gEdk'Nez&) ในเพลานั้นจึงได้อยู่กินกับนางสัมภูละ(l,4&])ผู้เป็นหลานสาวของสมณะรูปหนึ่ง
พอจันสิตตาได้เป็นกษัตริย์ นางสัมภูละจึงพาราชกุมารมาพบพระองค์ การมาของนางสัมภูละนั้นแม้จะเป็นการดี แต่ก็กลับช้ากาล เนื่องเพราะพระเจ้าจันสิตตาได้มอบตำแหน่งรัชทายาทให้กับอลองซีตู(vg]k'Nt0PNl^) ผู้เป็นพระนัดดาไปเสียแล้ว จนพระเจ้าจันสิตตาถึงกับมีพระดำรัสต่อเหล่าเสนามาตย์ว่า “หลานกลายเป็นกก ลูกกลับเป็นปลาย” (ge,tdktvi'Nt lktdktvzykt) ภายหลัง แม้พระเจ้าจันสิตตาจะทรงรักใคร่ราชกุมาร แต่ก็มิอาจทรงยกตำแหน่งอุปราชให้ได้ กระนั้นก็ทรงมอบพระนาม เชยยะเขตตรา(g=pyg-99ik)ให้กับราชกุมาร พร้อมกับทรงตั้งให้ปกครองเมืองธัญวดี(TP;9u)และเขตต่องซีง ๗ แขวง(g9k'N0fN-6Oa0N-U6b'N)
ราชกุมารยอมรับอย่างเต็มใจในตำแหน่งเจ้าเมืองที่พระบิดาทรงประทานให้ พระเจ้าจันสิตตายังทรงยกพระนางสัมภูละขึ้นเป็นมเหสี พร้อมทรงมอบพระนามแก่นางว่าพระนางอูเส้าก์ปาง(FtgCkdNxoNt) อีกทั้งยังได้ทรงมอบทรัพย์สมบัติอันสูงค่าและหมู่บ้านอีก ๓ แห่งให้แก่พระนาง พอพระนางสัมภูละสิ้นชีวิต จึงได้มอบทรัพย์สินของพระนางให้ราชกุมารไว้ในครอบครองสืบมา
ต่อมาไม่นาน พระบิดาจันสิตตาก็ประชวร ในเวลาใกล้จะสิ้นพระชนม์นั้น ราชกุมารได้สร้างพระพุทธรูปทองคำ ไว้ ณ บ้านมยีงกะบาด้วยทรัพย์สินที่พระบิดาเคยมอบให้เพื่ออุทิศแด่พระองค์ อีกทั้งยังได้ถวายข้าทาส ๓ หมู่บ้านจากที่ได้รับจากพระมารดาแด่พระพุทธรูปนั้น แล้วกราบทูลต่อพระบิดาเพื่อให้พระองค์ทรงมีโอกาสอนุโมทนาในบุญกุศลทั้งปวง พระองค์ท่านทรงชื่นชมโสมนัส พร้อมกล่าวสาธุ ๓ ครั้ง แล้วจึงตรวจน้ำถวายต่อหน้าหมู่พระสังฆาธิการ มินานต่อมาพระเจ้าจันสิตตาก็สิ้นพระชนม์
ในครั้งนั้น ราชกุมารยังได้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ณ บ้านมยีงกะบาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ตนได้สร้างถวาย พร้อมกับถวายข้าทาส ๓ หมู่บ้านเพื่อคอยดูแลพระเจดีย์องค์นั้น ราชกุมารยังได้สร้างศิลาจารึกเพื่อกัลปนาย้อนรำลึกพระกรุณาธิคุณของพระบิดา อีกทั้งยังได้จารึกถึง ๔ ภาษา คือเป็นภาษามอญ เมียนมา บาลี และปยู เพื่อประกาศให้ปวงประชารู้ถึงบุญกิริยานั้นจนทั่ว  ศิลาจารึกนั้นก็คือจารึกราชกุมาร (ik=d6,kiNgdykdN0k) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า จารึกมยะเซดี (e,g09ugdykdN0k) ศิลาจารึกหลักนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งต่อวรรณคดีเมียนมาและประวัติศาสตร์เมียนมา”
เรื่องราวของเจ้าชายราชกุมารตามที่ปรากฏในแบบเรียนพม่านั้น กล่าวถึงคุณค่าของจารึกราชกุมารในฐานะหลักฐานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์พุกามในปลายสมัยของพระเจ้าจันสิตตา และเป็นแบบอย่างของงานประพันธ์ประเภทร้อยแก้วของพม่าในยุคแรก เนื้อหาของจารึกสะท้อนความเมตตาของพระเจ้าจันสิตตาต่อราชบุตรอันกำเนิดจากพระนางสัมภูละผู้เคยอุปถัมภ์พระองค์เมื่อต้องหลบลี้ราชภัยของพระเจ้าอโนรธา และเน้นให้เห็นความกตัญญูของเจ้าชายราชกุมารที่มีต่อพระเจ้าจันสิตตา ทั้งที่มิได้รับมอบตำแหน่งอุปราช แต่ก็พอใจในฐานะของตน เจตนาของแบบเรียนจึงเพื่อยกย่องเจ้าชายราชกุมารให้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนพม่า โดยเฉพาะในด้านความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ส่วนความพอใจในตำแหน่งที่เจ้าชายราชกุมารได้รับนั้นยังเป็นตัวอย่างให้เด็กรู้จักเคารพในคำสั่งและการตัดสินใจของผู้ใหญ่ คือให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย อีกทั้งไม่เร้าร้อนในโอกาสวาสนาที่สูญเสียไป ครูที่สอนประวัติศาสตร์พม่าจะต้องขยายความเพื่อให้ภาพของเจ้าชายราชกุมารงดงามเยี่ยงนี้ต่อเยาวชน
ปัจจุบันเรื่องราวของเจ้าชายราชกุมารยังได้รับความสนใจมากขึ้นถึงขนาดมีการแต่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องความปรองดองในชาติ เพราะเรื่องราวของพระเจ้าจันสิตตาและเจ้าชายราชกุมารนั้นต่างมีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่เด่นๆอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะมีการยกย่องให้พระเจ้าจันสิตตาเป็นแบบอย่างของผู้ถือสัจจะ ส่วนเจ้าชายราชกุมารนั้นเป็นแบบอย่างของผู้เปี่ยมเมตตาธรรม กล่าวคือจันสิตตามีสัจจะต่อพระเจ้าซอลูเพราะไม่ยอมฉวยโอกาสขึ้นครองบัลลังก์ทั้งที่เหล่าอำมาตย์ต่างสนับสนุนพระองค์ และยังทรงมีสัจจะต่อสายเลือดของพระเจ้าอโนรธา โดยทรงมอบธิดาให้สมรสกับโอรสของพระเจ้าซอลูซึ่งเป็นราชบุตรของอโนรธา จากนั้นยังได้มอบตำแหน่งอุปราชให้กับบุตรที่เกิดจากคนทั้งสอง นอกจากนี้ยังทรงอดกลั้นที่จะไม่มอบตำแหน่งอุปราชคืนให้กับเจ้าชายราชกุมารผู้เป็นโอรสแท้ๆของพระองค์ สำหรับเจ้าชายราชกุมารนั้น ถูกมองว่าทรงมีความเคารพต่อพระเจ้าจันสิตตาและมีเมตตาต่อพระนัดดา เพราะไม่เรียกร้องที่จะขอตำแหน่งอุปราชตามสิทธิที่อาจอ้างได้เมื่อสิ้นพระเจ้าจันสิตตา อีกทั้งยังสนองคุณพระบิดาอย่างยิ่งยวดดังความที่ปรากฏในจารึกราชกุมารที่ทรงสร้างขึ้น ดังนั้นเรื่องราวของพระเจ้าจันสิตตาและเจ้าชายราชกุมารจึงเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของผู้นำ และเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ตาม คือผู้นำควรถือสัจจะเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ส่วนผู้น้อยนั้นควรตระหนักในความเมตตาของผู้ใหญ่ และมีอุเบกขาต่ออำนาจวาสนา อีกทั้งความผูกพันในความเป็นชาติต้องอยู่เหนือกว่าความผูกพันแบบญาติ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเอื้อต่อการสร้างสันติภาพและความปรองดองไว้ได้ นั่นคือเจตนาทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังแบบเรียนเรื่องราชกุมาร
อันที่จริงการตีความขยายมุมมองจากจารึกราชกุมารให้เกิดเป็นคุณค่าต่อประเทศชาติและเยาวชนนั้น เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของการสอนประวัติศาสตร์ของพม่า ซึ่งก็สอดคล้องด้วยดีกับการตีความประวัติศาสตร์พม่าในส่วนอื่นๆ กล่าวคือในการสอนประวัติ-ศาสตร์จะต้องเน้นให้เห็นแบบอย่างแก่ประชาชน และให้ตระหนักเป็นบทเรียนต่อประเทศ ดังนั้นการวิจารณ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างอิสระจนถึงแก่นหรือให้ใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นชาติจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับพม่า โดยเฉพาะกับสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าในปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายรณรงค์อุดมการณ์ชาตินิยม และความปรองดองภายในประเทศอย่างจริงจัง
วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15573เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท