อโนรธา : ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างอาณาจักรเมียนมาและหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธศาสนา


เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโนรธาผู้เป็นปฐมกษัตริย์ในประวัติศาสตร์พม่ามีกล่าวถึงทั้งในจารึก พงศาวดารพม่า และตำนาน
สารัตภะจากตำราเรียนพม่า :
อโนรธาปฐมกษัตริย์ผู้สร้างอาณาจักรเมียนมาและหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธศาสนา
เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโนรธาผู้เป็นปฐมกษัตริย์ในประวัติศาสตร์พม่ามีกล่าวถึงทั้งในจารึก พงศาวดารพม่า และตำนาน สำหรับในพงศาวดารนั้นมีเรื่องราวบางส่วนเขียนเป็นปรัมปรา โดยให้ภาพของพระเจ้าอโนรธาเยี่ยงบุคคลในตำนาน  อาทิ การช่วงชิงบัลลังก์ด้วยการกระทำอัศวยุทธ์จนชนะเพราะพระอินทร์อุปถัมภ์ การสังหารทารกและหญิงมีครรภ์เพื่อกำจัดผู้มีบุญที่จะมาแย่งราชบัลลังก์ ปาฏิหาริย์ในการแสวงหาพระเขี้ยวแก้วยังเมืองจีนและลังกาทวีป การทำลายอำนาจวิเศษที่ปกป้องเมืองสะเทิม และการจบชีวิตของพระเจ้าอโนรธาเพียงเพราะถูกกระบือขวิด เป็นอาทิ แต่ด้วยพม่าถือว่าพระเจ้าอโนรธาคือผู้เปิดหน้าประวัติศาสตร์พม่า ดังนั้นเนื้อหาที่ปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ชาติจึงละส่วนที่เป็นปรัมปราออกไป คงไว้แต่เกร็ดทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับตีความด้วยศรัทธา เพื่อเทิดเกียรติวีรกรรมและยกย่องความสามารถของพระองค์
สำหรับเรื่องราวของพระเจ้าอโนรธาที่ปรากฏในแบบเรียนระดับพื้นฐานของพม่าระบุถึงพระองค์ในฐานะผู้สร้างอาณาจักรเมียนมาให้ยิ่งใหญ่ในยุคแรก วีรกรรมสำคัญของพระเจ้าอโนรธา คือ การสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักร และการส่งเสริมพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เนื้อหายกย่องพระเจ้าอโนรธาเยี่ยงวีรกษัตริย์มีกล่าวไว้ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์ สำหรับเกรด ๕ หน้า ๗-๘ ดังนี้
“พระเจ้าอโนรธาครองราชบัลลังก์พุกามในปี ค.ศ. ๑๐๔๔ ในเวลาที่ขึ้นครองราชย์นั้น อาณาบริเวณของพุกามกินพื้นที่เพียงแถบเมืองพุกามและประเทศเมียนมาตอนกลางเท่านั้น ต่อมาพระเจ้าอโนรธาได้ก่อตั้งราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งมั่นคงโดยรวมเอาเมืองประเทศราชเล็กๆที่แยกกันเป็นส่วนเสี้ยวในประเทศเมียนมาอยู่ ณ เพลานั้น และเพื่อให้เขตพุกามรวมตัวกันได้อย่างมั่นคงในเบื้องแรก พระองค์จึงเริ่มดำเนินการให้มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง มีการกั้นเหมืองฝายตามคูคลองในพื้นที่เจ้าก์แซอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่นั้นได้มีการขุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ๗  แห่งโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปางลองและแม่น้ำซอจี แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้น ๑๑ แห่ง
นอกจากนี้ ยังจัดการดูแลสระ คลอง และลำชลประทานในพื้นที่ต่างๆ อาทิ  ต่องตวีงจี ยะมีตีง มีงบู และมิตถิลา มีการขยายการเพาะปลูกด้วยการปรับปรุงสระมิตถิลาแล้วทดน้ำเข้าไป ด้วยเหตุนี้ เขตเจ้าก์แซ เขตมีงบู และเขตมิตถิลาจึงกลายเป็นอู่ข้าวตุนเสบียงสำหรับอาณาจักรพุกาม พอมีเสบียงกรังบริบูรณ์เศรษฐกิจของชาติก็เติบโต จากนั้นความรู้ด้านหัตถกรรม วิจิตรศิลป์ และวัฒนธรรมก็เติบโตดุจเดียวกับความเจริญทางเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจมั่นคงจึงได้เริ่มดำเนินการด้านความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักร โดยยกทัพไปตีสะเทิมซึ่งที่เป็นเขตของชาวมอญได้สำเร็จ เมื่อชนะเมืองสะเทิมจึงได้นำพระไตรปิฎกพร้อมด้วยพระสงฆ์ผู้รอบรู้ตำราและช่างฝีมือชาวมอญมายังพุกาม หลังจากนั้นจึงได้รวบรวมอาณาจักรเมียนมาทางตอนล่างไว้ด้วยการสงครามและวิธีทางการเมือง นอกจากนี้ พระเจ้าอโนรธายังตียะไข่ได้ด้วย เกียรติศักดิ์ของพระเจ้าอโนรธาได้ขจรไปทั่วอาณาจักรเมียนมาและยังเลยไปถึงอาณาจักรเชียงใหม่และอาณาจักรโยดะยา
จากการที่ชนะสะเทิมได้ในสมัยพระเจ้าอโนรธาแล้วนั้น จึงเป็นเหตุให้สามารถดำเนินการปกครองอย่างเป็นระบบ และสร้างเอกภาพโดยรวมให้กับอาณาจักรเมียนมา
อโนรธาธิราชเจ้ามิสบพระทัยในความเชื่อถืออันผิดๆของเหล่าอะเยจี ดังนั้นจึงทรงดำเนินการให้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความรุ่งเรือง ทรงสร้างวัด กู่ และเจดีย์ขึ้นทั่วไปในทุกแห่งที่เสด็จไปเยือน ในบรรดาเจดีย์ที่โดดเด่นได้แก่เจดีย์ชเวซีโข่งที่พุกามและเจดีย์ชเวยีงที่มิตถิลา อโนรธาธิราชเจ้ายังได้ทรงสร้างพระพิมพ์ที่มีพระนามของพระองค์ถวายไว้ในองค์พระเจดีย์ด้วยพระองค์เอง พระพิมพ์เหล่านั้นพบได้ทั่วอาณาจักรเมียนมา
อโนรธาธิราชเจ้าทรงตั้งเมืองปราการ ๔๓ แห่งเพื่อป้องกันภัยจากน่านเจ้าที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรเมียนมา นอกจากนั้นยังทรงจัดการให้มีทหารอย่างเพียงพอด้วยการตั้งเป็นเมืองสิบ เมืองร้อย และเมืองพันขึ้นภายในอาณาจักร อีกทั้งทรงจัดกองทัพให้เป็นสัดส่วนตามกำลังของเมืองและหมู่บ้านที่อยู่ในพระราชอำนาจ
อโนรธาธิราชเจ้าทรงคัดสรรและยกย่องผู้ที่มีความสามารถในอาณา-จักร ทั้งนี้เพื่อให้อาณาจักรมีความเป็นปึกแผ่น ดังนั้นจึงได้เกิดมีวีรบุรุษที่เก่งกล้าอย่างเต็มเปี่ยม ในบรรดาวีรบุรุษที่โดดเด่น ได้แก่ จันสิตตา
งะถ่วยยู งะโลงและแผ่ และญองอูพี
ด้วยเหตุนี้ ภายใต้การนำของของอโนรธาธิราชเจ้า ชาวพุกามจึงสามารถตั้งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง ก็ด้วยเพราะความสมานฉันท์”
ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์ สำหรับเกรด ๕ ดังกล่าวนั้น สะท้อนภาพความเป็นวีรบุรุษของพระเจ้าอโนรธาในด้านวิสัยทัศน์ทางการปกครอง พระองค์ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยการรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยและยกทัพไปตีเมืองสะเทิมของมอญ แล้วตีได้ยะไข่, พัฒนาความอยู่ดีกินดีด้วยเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับพัฒนาอู่ข้าวอูน้ำในเขตเจ้าก์แซ มีงบู และมิตถิลา,  รักษาความสงบสุขด้วยการปราบเหล่าอะเยจี ส่งเสริมพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และสร้างพุทธเจดีย์, อีกทั้งสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้วยการสร้างระบบป้องกันภัยจากภายนอกและชุบเลี้ยงขุนศึก แบบเรียนยังสะท้อนให้เห็นว่าพุกามในสมัยพระเจ้าอโนรธานั้นปรากฏขึ้นด้วยการมีผู้นำที่เก่งกล้าและมีราษฎรที่พร้อมใจ
นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของราษฎรจากการพึ่งพิงลัทธิอะเยจีให้หันมานับถือพุทธศาสนานั้น ยังมีกล่าวเป็นพิเศษในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา สำหรับเกรด ๓ หน้า ๕ - ๖ โดยให้ภาพพระเจ้าอโนรธาเป็นนักปฏิวัติความเชื่อและองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนา ไว้ดังนี้
“อโนรธาเป็นราชโอรสแห่งกษัตริย์พุกาม นามว่า กวมส่องจ่องผยู หลังจากที่อโนรธามีชัยต่อเจ้าสุกกะเตเชษฐาต่างมารดาผู้แย่งบัลลังก์จากพระบิดาได้แล้ว พระองค์จึงมอบบัลลังก์นั้นคืนพระบิดาซึ่งทรงผนวชอยู่ เมื่อพระบิดามิทรงรับ อโนรธาจึงเสวยราชบัลลังก์
ตอนที่พระเจ้าอโนรธายังมิได้ขึ้นครองบัลลังก์นั้น ในเมืองพุกามยังมีความเชื่อถืออันผิดๆ อาทิ นัต นาค และอะเยจี โดยเฉพาะความเชื่อถือแบบพวกอะเยจีก็กำลังครอบงำแผ่นดินพุกามอยู่ขณะนั้น  เมื่อพระเจ้า
อโนรธาขึ้นครองบัลลังก์พระองค์มิทรงพอพระทัยต่อลัทธิความเชื่อเช่นนั้น และทรงปรารถนาในศาสนาอันชอบ ในเพลาเดียวกันนั้น ชินอรหันต์ได้เดินทางจาริกจากเมืองสะเทิมมาแผ่พระศาสนายังเมืองพุกาม พอพระเจ้า
อโนรธาได้โอกาสนอบนบต่อชินอรหันต์ พระองค์ก็ทรงมีศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงขอร้องให้ชินอรหันต์เผยแผ่พระศาสนาในพุกาม และด้วยความช่วยเหลือของชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อของเหล่าอะเยจีลงได้ พวกอะเยจีถูกจับสึก แล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อถือแบบอะเยจีจึงค่อยๆหมดไปจากพุกาม พระเจ้าอโนรธาทำให้ชนทั่วแผ่นดินพุกามหันมานับถือพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอันชอบ
นอกจากนี้ พระเจ้าอโนรธายังได้ยกทัพไปตีได้เมืองสะเทิม พร้อมกับอันเชิญพระไตรปิฎกและพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระคำภีร์มาสู่พุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคำภีร์ได้ช่วยชินอรหันต์เป็นอย่างมากเพื่อให้พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอันชอบเป็นที่แพร่หลาย พระเจ้าอโนรธามิเพียงสร้างพระเจดีย์ในพุกามแต่ยังทรงสร้างเจดีย์ในทุกที่ที่เสด็จไปถึง ในบรรดาเจดีย์เหล่านี้ เจดีย์ที่โดดเด่นที่สุดคือ พระเจดีย์ชเวซีโข่ง
ในการที่จะให้พุทธศาสนาแพร่หลาย พระเจ้าอโนรธายังทรงให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกกันในวัด  พุทธศาสนาที่พระเจ้าอโนรธาได้ทรงอุปถัมภ์นั้นยังมั่นคงมาได้จวบจนปัจจุบัน”
ในการนำพุทธศาสนาจากแผ่นดินของชาวมอญสู่พุกามนั้น พม่ายกย่องชินอรหันต์ภิกษุมอญเป็นดุจผู้ส่องไฟนำทาง และพระเจ้าอโนรธาเป็นดุจผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธศาสนาบนแผ่นดินเมียนมา ส่วนเหล่าอะเยจีนั้นถูกตีตราให้เป็นพวกมิจฉาทิฐิ โดยประณามว่าเป็นกลุ่มนักบวชที่แผ่อิทธิพลเหนือชาวบ้านด้วยการเอานรกมาขู่ ยกสวรรค์มาอ้าง และหากินกับลาภสักการะ การนำพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอันเป็นศาสนาอันชอบมาสู่อาณาจักรของชาวเมียนมานั้น จึงถือเป็นการทำลายอำนาจมืดจากความเชื่อผิดๆ ภาพของพระเจ้าอโนรธาในแบบเรียนจึงเป็นภาพของนักปฏิวัติทางความคิดเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมของชาวพุทธ
แบบเรียนพม่านับว่าได้สะท้อนภาพของพระเจ้าอโนรธาให้เป็นแบบอย่างของผู้นำในการสร้างชาติด้วยพลังแห่งเอกภาพและการพัฒนา ดูจะสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของกองทัพพม่านับแต่สมัยสังคมนิยมสืบจนปัจจุบัน อาทิ การยกย่องบทบาทของทหารในฐานะผู้นำในการสร้างชาติเอกราชเยี่ยงวีรชน การปราบปรามภัยภายใน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การพัฒนาเส้นทางการคมนาคม การส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนา และการบูรณะเจดีย์ทั่วประเทศ เป็นต้น พระเจ้าอโนรธาจึงได้รับการขัดเกลาทางประวัติศาสตร์ให้มีภาพลักษณ์ของวีรกษัตริย์ชาวพุทธ เป็นผู้สร้างประเทศ และเป็นนักปฏิรูปสังคมที่ชาญฉลาด
วิรัช  นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15571เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท