เจ้าชาวกวมอับสา : วีรบุรุษผู้รักชาติแห่งหงสาวดี


แบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา สำหรับเกรด ๓ หน้า ๑-๒ กล่าวถึงเจ้าชายกวมอับสา วีรบุรุษผู้รักชาติแห่งเมืองหงสาวดี
สารัตถะจากตำราเรียนพม่า :
เจ้าชายกวมอับสา วีรบุรุษผู้รักชาติแห่งหงสาวดี
แบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา สำหรับเกรด ๓ หน้า ๑-๒ กล่าวถึงเจ้าชายกวมอับสา วีรบุรุษผู้รักชาติแห่งเมืองหงสาวดี เรื่องของเจ้าชายกวมอับสานั้นเป็นตำนานราชวงศ์ของฝ่ายมอญยุคต้นๆ และตำนานนี้ก็ปรากฏอยู่ในพงศาวดารของพม่าด้วยเช่นกัน เนื้อเรื่องในตำนานเป็นเรื่องของเจ้าชายที่มีเชื้อสายกษัตริย์หงสาวดีนามว่า กวมอับสา แต่ด้วยต้องราชภัยจึงถูกนำตัวไปทิ้งตั้งแต่ยังเป็นทารก เจ้าชายมีชีวิตรอดมาได้ก็ด้วยการอุปการะของหญิงชาวนา พอเติบใหญ่เจ้าชายเป็นผู้ที่มีความสามารถยิ่งนัก ภายหลังจึงได้อาสาเจ้าเมืองหงสาวดีผู้เป็นพระเจ้าอา ปราบนักรบต่างถิ่นที่มาท้าชิงเมือง ในที่สุดเจ้าชายกวมอับสาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชเมืองหงสาวดี เรื่องราวโดยละเอียดของเจ้าชายกวมอับสาตามที่ปรากฏในแบบเรียนพม่ามีดังนี้
ณ เมืองหงสาวดี(s"lk;9uexPN) สมัยเมื่อเจ้าสามล(l,],'Nt)ขึ้นครองบัลลังก์นั้น  มีเจ้าวิมล(;b,],'Nt)พระอนุชาเป็นอุปราช ในคราหนึ่ง ขณะที่เจ้าสามลเสด็จประพาสอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จมาถึงไร่แห่งหนึ่ง ครั้นได้เห็นบุตรสาวแสนสวยของชาวไร่ พระองค์ก็ทรงขอนางจากชาวไร่นั้นเพื่อจะยกขึ้นเป็นมเหสี บุตรสาวของชาวไร่เกิดความอายต่อพระองค์ จึงได้หลบไปซ่อนตัวอยู่ในเถาฟักทอง เนื่องจากเจ้าสามลได้หานางพบขณะซ่อนตัวอยู่ในเถาฟักทองนั้น จึงมักเรียกนางว่า พระนางฟักทอง(gU­zU6",pN)
เจ้าสามลได้นำพระนางฟักทองกลับไปยังหงสาวดีแล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี ต่อมามเหสีองค์นี้ได้ให้กำเนิดพระกุมารองค์หนึ่ง แต่พอพระกุมารมีชันษาได้เพียง ๖ เดือน ท้าวสามลก็เสด็จสวรรคต จากนั้นเจ้าวิมลพระอนุชาจึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์หงสาวดี พร้อมกับแต่งตั้งให้พระนางฟักทองเป็นมเหสี แต่ด้วยเจ้าวิมลทรงกังวลว่าเรื่องในราชสำนักจะยุ่งเหยิง พระองค์จึงรับสั่งให้นำพระกุมารผู้เป็นหลานนั้นไปทิ้งเสียที่ชานเมือง
เหล่าอำมาตย์ได้นำพระกุมารน้อยนั้นไปยังบ้านกวมอับสา(d:,NvxNlkt) ซึ่งอยู่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปองลอง(gxj'Ntg]k'Nte,0N) และใกล้ๆกับหมู่บ้านนั้นมีคอกควายของแม่เฒ่ากะเหรี่ยง นามว่า นังกะลาย(ooNtd]6b'Nt) เมื่อถึงเวลาดึก พวกอำมาตย์จึงได้ทิ้งพระกุมารน้อยไว้ในคอกควายนั้น
รุ่งขึ้นวันต่อมา นังกะลายได้เข้าไปต้อนควายออกจากคอก พลันก็พบพระกุมารน้อยนอนอยู่ที่ปากคอกนั้น พอเห็นพระกุมาร นางก็เกิดรักและเวทนา จึงเลี้ยงกุมารน้อยไว้เป็นลูก
พอพระกุมารโตขึ้น จึงคิดว่านังกะลายเป็นมารดาแท้ๆของตน ดังนั้นจึงปรนนิบัติต่อนางเป็นอย่างดี พอพระกุมารเติบใหญ่ ก็มีวรกายอันสมบูรณ์และเปี่ยมดัวยพลัง ในขณะที่เลี้ยงควายนั้นก็จักคอยกำจัดสัตว์ที่เข้ามารบกวนฝูงควาย พระองค์มีความชำนาญทั้งการใช้ดาบ หอก และธนู
ในคราหนึ่ง ชาวต่างแดนได้เดินทางด้วยเรือสำเภาเข้ามาจอด ณ ท่าเมืองหงสาวดี เรือสำเภานี้มีนักรบร่างสูงใหญ่ถึง ๗ ศอกเป็นผู้นำ ฝ่ายพวกต่างแดนนั้นประกาศว่าหากไม่มีใครสามารถฆ่านักรบร่างยักษ์ของพวกเขาได้แล้ว หงสาวดีก็จะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพวกเขาทันที แล้วนักรบร่างยักษ์ก็ขึ้นนั่งที่หัวเรืออวดตนให้คนทั้งเมืองเห็น พอชาวเมืองหงสาวดีได้เห็นต่างก็ครั่นคร้ามยิ่งนัก เจ้าวิมลจึงทรงสั่งให้หาผู้ทรงพลังที่จะต่อกรกับนักรบผู้นั้น
ในเวลานั้น เหล่าอำมาตย์ได้พบกับเจ้าชายน้อยผู้เลี้ยงควายในหมู่บ้านกวมอับสาซึ่งเพียบพร้อมด้วยพละกำลัง เจ้าชายน้อยได้อาสาต่อสู้กับนักรบร่างยักษ์นั้น โดยไม่ขอรับรางวัลแต่อย่างใด เพราะพระองค์เพียงต้องการปกป้องดูแลเมืองหงสาวดีไว้เท่านั้น หลังจากนั้นจึงไปขออนุญาตนังกะลายผู้เป็นมารดา ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองหงสาวดี
เมื่อถึงวันนัดหมายที่จะประลองกัน เจ้าวิมลและพระนางฟักทองพร้อมด้วยเหล่าอำมาตย์ได้มาถึงยังท่าน้ำเมืองหงสาวดี พอเริ่มประลองนักสู้ต่างแดนได้หยิบหอกด้ามใหญ่โตขึ้นมา แล้วก็พุ่งหอกนั้นเข้าใส่เจ้าชายน้อยในทันที แต่เจ้าชายน้อยกลับหลบได้อย่างฉับไว แล้วก็พุ่งหอกสวนกลับไปยังนักรบร่างยักษ์นั้น นักรบต่างแดนไม่สามารถหลบหอกของเจ้าชายน้อยได้ทันจึงลมลงสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง ในเวลานั้นพวกต่างแดนจึงได้เร่งล่องสำเภาหนีออกจากหงสาวดีไปในบัดนั้น
ด้วยเจ้าวิมลและพระนางฟักทองประสงค์จะมอบรางวัลให้กับเจ้าชายน้อย จึงทรงเรียกเจ้าชายน้อยให้มาเข้าเฝ้า พอท้าววิมลเห็นเจ้าชายน้อยอย่างใกล้ชิด พลันก็สังเกตได้ว่ารูปร่างหน้าตาของเจ้าชายน้อยนั้นช่างละม้ายกับเจ้าสามลผู้เป็นพระเชษฐายิ่งนัก จึงได้เรียกนังกะลายมาสอบถาม และได้ทรงทราบว่าเป็นราชบุตรของเจ้าสามล  เจ้าวิมลจึงได้มอบตำแหน่งอุปราชให้กับพระนัดดาของพระองค์ และยังได้มอบรางวัลให้กับนังกะลายอย่างมากมาย เจ้าชายน้อยจึงถูกขานพระนามว่าเจ้าชายกวมอับสา(d:,NvxNlkt) ตามชื่อบ้านกวมอับสานั้นแล
ตำนานเจ้าชายกวมอับสา (พม่าอ่านว่า กูนอะตา) ผู้เป็นวีรบุรษแห่งหงสาวดีนี้ ถูกนำมาบรรจุไว้ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับตำนานกังราชาจี-กังราชาแหง่แห่งตะกอง(ดู “รู้จักพม่า” ฉบับ ๑๕) และปยูซอทีแห่งพุกาม(ดู “รู้จักพม่า” ฉบับ ๑๖) ตำนานทั้ง ๓ เรื่องถูกนำมาใช้อธิบายกำเนิดของอาณาจักรในยุคแรก คือก่อนที่พระเจ้าอโนรธาจะสร้างอาณาจักรเมียนมาในยุคประวัติศาสตร์ เหตุที่ตำนานทั้ง ๓ เรื่องได้รับความสำคัญนั้น น่าจะเป็นเพราะเรื่องราววีรกรรมของกษัตริย์ในตำนานดังกล่าวสามารถบ่งชี้ความเป็นชาติ การสร้างความเป็นปึกแผ่น และการรักษาอธิปไตยของเมียนมาได้เป็นอย่างดี โดยให้ภาพของวีรบุรุษในฐานะผู้นำที่คอยค้ำจุนประเทศ ส่วนชนพื้นเมืองในตำนาน ก็คือประชาชนในความหมายทางชาติรัฐ ที่ต่างมีบทบาทในการฟูมฟักวีรบุรุษของชาติ วีรบุรุษในตำนานจึงสอดคล้องกับแนวทางการยกย่องนักรบวีรชนในสมัยที่นายพลเนวินนำกองทัพขึ้นมากุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จจวบจนถึงปัจจุบัน
พม่าถือว่าวีรบุรุษจากตำนานทั้ง ๓ นั้นมีลักษณะของผู้นำที่ดี คือ เป็นคนเก่ง กล้าหาญ และเสียสละ สามารถสร้างอาณาจักร ดูแลอาณาจักร(การปราบภัยภายในและภายนอก) สร้างสันติสุข และบำรุงพุทธศาสนา จากเรื่องกังราชาจี-กังราชาแหง่แห่งตะกองยังบ่งบอกว่าผู้นำพม่ามีชาติกำเนิดสูงด้วยสืบเชื้อสายร่วมกับพุทธศาสดา นั่นคือเป็นชาวพุทธ จึงมีความชอบธรรมทางการเมืองเหนือชนพื้นเมืองอันมีชาวปยู กังยัง แต๊ะ ยะไข่ และมอญ เป็นอาทิ และจากเรื่องปยูซอทีแห่งพุกามแสดงให้เห็นว่าเจ้าชายแห่งตะกองมาช่วยพุกามรวบรวมอาณาจักรด้วยการปราบภัยในแผ่นดินในรูปของภัยธรรมชาติและศัตรูภายในจนแผ่นดินบังเกิดสันติสุข ส่วนเรื่องเจ้าชายกวมอับสานั้นบ่งบอกถึงความรักชาติของวีรชนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติให้พ้นจากภัยภายนอก 
ส่วนประเด็นของชนชาติ ตำนานทั้ง ๓ เรื่องอาจทำให้เข้าใจไปว่าชาติตระกูลที่พม่าให้การยกย่องในฐานะผู้นำน่าจะเป็นศากยวงศ์และมอญ แต่ที่จริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะพม่าไม่ได้ย้ำเน้นความเหนือกว่าในด้านชนชาติไว้ในแบบเรียนโดยชัด แต่กลับให้ความสำคัญต่อผู้นำที่เป็นนักรบที่ประกอบภารกิจเพื่อประเทศชาติ ดังนั้นในโลกทัศน์ของพม่า ชาติกำเนิดสูงของผู้นำจึงน่าจะหมายถึงผู้สืบเชื้อสายหรือผู้สืบทอดวีรกรรมเยี่ยงวีรบุรุษหรือยอดนักรบมากกว่าชนชาติใดชนชาติหนึ่ง  นับว่าแบบเรียนพม่าได้สะท้อนความเป็นวีรบุรุษนิยมมากกว่าความเป็นเผ่าพันธุ์นิยม โดยเฉพาะประเด็นวีรบุรุษในยุคก่อนอาณาจักรพุกาม
วิรัช  นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15570เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท