กุศลคือทุน :กลไกแห่งความสำเร็จของชาวพม่า


ชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับไทยเรา แต่ถ้าเทียบวิถีชีวิตระหว่างชาวไทยกับชาวพม่าในยุคสมัยนี้
กุศลคือทุน : กลไกแห่งความสำเร็จของพม่า
ชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับไทยเรา แต่ถ้าเทียบวิถีชีวิตระหว่างชาวไทยกับชาวพม่าในยุคสมัยนี้ คนพม่าดูจะมีความเหนือกว่าในด้านศรัทธาและความใกล้ชิดต่อศาสนา จนอาจกล่าวได้ว่าวิถีพุทธกับวิถีชีวิตของชาวพม่าเป็นสิ่งเดียวกัน ดังพบว่า คนพม่าทุกวัยไม่ว่าเด็กเล็ก คนหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างนิยมสวดมนต์และนั่งสมาธิ ในเวลาว่างจะไปยังพระเจดีย์เพื่อสรงน้ำพระและทำบุญ  ชาวพุทธทุกบ้านต้องมีหิ้งพระ และมีการถวายอาหารและผลไม้แด่พระประจำบ้านอยู่เป็นประจำ ทั้งยังนิยมสวดมนต์ไหว้พระทั้งในเวลาก่อนนอนและตื่นนอน ที่หิ้งพระจะมีกังสดาลแขวนไว้เพื่อใช้ตีแผ่ส่วนกุศล แทบทุกบ้านมักจะมีหนังสือสวดมนต์ คนขับรถแท็กซี่บางคนจะพกหนังสือสวดมนต์ติดไว้กับรถ รถโดยสารประจำทางบางคันจะเปิดเทปธรรมะก่อนที่จะออกเดินทาง สื่อของรัฐไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุ หรือโทรทัศน์ต่างเอาใจใส่ต่อกิจที่เนื่องกับศาสนา ดังมีรายการต่าง ๆ  อาทิ รายการสวดพระปริตรในทุกเช้า รายการธรรมเทศนา รายการเพลงพุทธศาสนา รายการนิทานธรรมะ และข่าวกิจกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ทางสิ่งพิมพ์ต่างๆทั้งของรัฐและเอกชนมักจะมีเรื่องราวทางพุทธศาสนาแทรกอยู่ตลอดเวลา หนังสือและตำราเกี่ยวกับพุทธศาสนามีวางจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จึงนับว่าพุทธศาสนาได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนในสังคมพม่าอย่างกว้างขวาง
ในความเป็นสังคมพุทธนั้น สังคมพม่ามักมีกิจกรรมตามพุทธประเพณีอยู่ตลอด จึงทำให้ผู้คนไม่ห่างเหินจากศาสนาจนนาน อาทิ ถวายอาหารและปัจจัยแด่สงฆ์ ชี และโยคี จัดงานบวชให้กับบุตรธิดา  มีการสร้างและบูรณะศาสนสถานกันอยู่เนืองๆ อีกทั้งยังมีการสืบทอดประเพณีสิบสองเดือนของชาวพุทธไว้อย่างครบครัน นอกจากนี้ชาวพม่ายังมีค่านิยมในการประกอบกิจทางศาสนานานา อาทิ บริจาคทรัพย์ ฟังธรรม บวชเรียน สักการะพระพุทธรูปและพระเจดีย์ แผ่เมตตา สวดมนต์ บริกรรมนับสร้อยประคำ และนั่งสมาธิเจริญภาวนา ชาวพม่าถือว่าบุญกริยาเช่นนี้ถือเป็นกิจที่จะต้องยึดเป็นพุทธานุสติโดยสม่ำเสมอ ด้วยเชื่อว่าผลแห่งการทำบุญและปฏิบัติบูชาตามกล่าวจะค่อย ๆ งอกงามเป็นกุศล อันจะเกื้อให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข จิตใจสงบแจ่มใส ปัญญาแหลมคม สุขภาพดี ความคิดดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นที่รักของทั้งคนและเทพ และจักมีผู้คอยให้การเกื้อกูลอยู่เสมอ อีกทั้งยังเชื่อว่ากุศลจะเป็นทุนหนุนให้การขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์สัมฤทธิ์ตามที่จิตปรารถนา เหตุนี้คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าชาวพุทธพม่าจะยึดพุทธศาสนาไว้เป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ ทั้งทางโลกียสุขและโลกุตรสุข พุทธศาสนาจึงสอดคล้องกับความต้องการของชีวิตอย่างปุถุชน ซึ่งเป็นไปตามแนวศรัทธาที่สืบทอดกันมานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
การที่จะทำความเข้าใจในเบื้องลึกแห่งศรัทธาต่อพุทธศาสนาของชาวพม่านั้น จึงอาจมองได้จากค่านิยมในการสั่งสมบุญกุศล ที่ถูกวิจารณ์ว่ามักโยงใยไว้กับความปรารถนาทางโลกเป็นหลักใหญ่ การสร้างสมกุศลวิธีหนึ่งที่นิยมกันมาก ด้วยถือเป็นบุญกริยาสำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธพม่า คือ การเดินทางแสวงบุญ พม่าเรียกการแสวงบุญนี้ ว่า พยาพู (46iktz^t) คำว่า พยา (46ikt) หมายถึง “พระเจดีย์หรือพระพุทธรูป” ส่วน พู (z^t) แปลว่า “ไหว้,นมัสการ”  คำว่า พยาพู จึงแปลง่ายๆได้ว่า “ไหว้พระ” ชาวพม่าเชื่อว่าการบำเพ็ญบุญด้วยการเดินทางไปนมัสการพระพุทธรูปและพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น ไม่เพียงได้กุศลมาก หากยังถือเป็นกำไรชีวิตสำหรับผู้แสวงบุญอีกด้วย กำไรชีวิตที่ว่านั้นได้หมายรวมเอาการขอพรเป็นเป้าประสงค์อันสำคัญ
ในบรรดาศาสนสถานของประเทศพม่า ซึ่งจำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ โบราณสถาน ปูชนียสถาน สถานปฏิบัติธรรม และสถานศึกษาพระธรรมวินัยนั้น ชาวพม่าจะนิยมเดินทางไปแสวงบุญยังศาสนสถานที่เป็นปูชนียสถานเป็นส่วนมาก พม่ามีปูชนียสถานมากมาย และมีปูชนียสถานที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีหลายแห่ง อาทิ เจดีย์ชเวดากองที่ย่างกุ้ง เจดีย์ชเวมอด่อ(พระธาตุมุเตา)ที่เมืองพะโค เจดีย์ไจ้ก์ทีโย(พระธาตุอินทร์แขวน)ที่รัฐมอญ
เจดีย์ชเวซังด่อที่เมืองแปร เจดีย์มยะตะลวนและชเวแซะด่อ(พระพุทธบาท)ที่เมืองมะเกว เจดีย์ชเวซีโก่งและเขาโปปาที่พุกาม พระมหามัยมุนีที่มัณฑะเล เป็นต้น เส้นทางที่นิยมในการเดินทางไปแสวงบุญ เช่น ย่างกุ้ง-พุกาม-มัณฑะเล,ย่างกุ้ง-พะโค และย่างกุ้ง-เมาะลำไย
ชาวพม่าส่วนมากนิยมเดินทางแสวงบุญกันในฤดูหนาว รองลงไปเป็นฤดูร้อน และมักงดการเดินทางกันในฤดูฝน และนิยมเดินทางเป็นหมู่คณะ โดยเหมารถตู้ รถบัส รถกระบะ หรืออาจไปด้วยรถส่วนตัว หากเหมารถจะตกวันละราวหนึ่งหมื่นจั๊ต ซึ่งนับว่าแพง หากต้องการประหยัดก็จะเดินทางไปด้วยรถที่จัดสำหรับการแสวงบุญโดยเฉพาะ แต่ในการบริการลักษณะนี้นั้น ทางบริษัทนำเที่ยวจะกำหนดเส้นทางและช่วงเวลาไว้ตายตัว ดังนั้นการไปแสวงบุญเป็นหมู่คณะโดยเหมารถไปเองจึงเป็นที่นิยมเพราะสะดวกและเพลิดเพลินมากกว่า สามารถใช้เวลาไหว้พระได้เต็มที่ โดยไม่ต้องรีบร้อน
ในการเดินทางไปแสวงบุญ มักมีการกำหนดเส้นทางให้สามารถแวะไหว้พระสำคัญให้ได้มากที่สุด อาจใช้เวลาเดินทาง ๕ - ๑๐ วัน ชาวพม่าส่วนมากจะพักค้างคืนตามวัดต่างๆ บางวัดมีการจัดที่รับรองไว้สำหรับคณะแสวงบุญ ส่วนค่าที่พักนั้นค่อนข้างประหยัด เพราะสามารถบริจาคเงินทำบุญให้กับวัดตามแต่กำลังทรัพย์ ส่วนชาวต่างชาติจำเป็นต้องพักตามโรงแรม และต้องจ่ายค่าที่พักเป็นเงินดอลลาร์ หรือ เงิน FEC (ดอลลาร์พม่า) เว้นแต่จะปฏิบัติตัวกลมกลืนไปกับชาวพม่า ก็อาจพักตามวัด ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
ในขณะเดินทางไปตามเส้นทางแสวงบุญ  มักจะพบปะรำบอกบุญตั้งอยู่ริมทางเป็นระยะ มีการโบกดักทางเพื่อเรี่ยไรเงินจากผู้สัญจรไปมา ผู้โดยสารที่เดินทางไปแสวงบุญมักจะต้องเตรียมเงินปลีก ใบละ ๑ จั๊ต ๕ จั๊ต หรือ ๑๐ จั๊ต เพื่อโปรยให้กับปะรำบอกบุญริมทาง (โดยไม่จำเป็นต้องหยุดรถ)  บางทีอาจพบเด็กๆวิ่งไล่กวดรถเพื่อขอเงิน ชาวพม่าบางคนมักไม่โปรยทานให้กับเด็กเหล่านั้น เพราะเชื่อว่าได้กุศลน้อยกว่าการทำบุญให้กับวัดโดยตรง การมุ่งในกุศลด้วยศรัทธาจริตและหวังผลตอบแทนจากการประกอบกรรมดีเช่นนี้นั้น ดูจะเป็นปกติในสังคมพม่า
ชาวพม่าเชื่อว่าพระพุทธรูปและพระเจดีย์แต่ละองค์จะมีความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนานา เช่น เชื่อว่าหากเดินทางไปไหว้พระเจดีย์ไจ้ก์ทีโยหรือพระธาตุอินทร์แขวนที่รัฐมอญจนครบ ๓ ครั้ง จะช่วยให้มั่งมีศรีสุข แต่เล่ากันว่าเส้นทางนี้เคยเป็นเส้นทางค้ายาเสพติด หากขนได้ถึง ๓ เที่ยว ก็คงร่ำรวยได้ทันตา ; หากไปไหว้พระมารอ่องมุนีที่เมืองซโลน จะไม่ต้องพลัดพลากจากถิ่นกำเนิด หรือไม่ต้องห่างจากครอบครัว หากของหายหรือเงินหายก็จะได้คืนโดยง่าย ตามประวัติ พระมารอ่องมุนีเป็นพระพุทธรูปที่อังกฤษเคยนำไปไว้ที่อินเดียและจำต้องส่งกลับคืนมาที่พม่าในภายหลัง ประวัติมีกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ออกจะพิสดาร แต่ชาวพม่าที่จะเดินทางไปเป็นลูกเรือในต่างประเทศจะไม่กล้าไปไหว้พระองค์นี้เพราะกลัวถูกส่งตัวกลับบ้านเร็ว; ถ้าอยากให้ก้าวหน้าในตำแหน่งการงานหรือธุรกิจการค้ารุ่งเรือง ก็ต้องไปไหว้พระชเวโบงป้วงที่ย่างกุ้ง; หากไปไหว้พระชเวแมะหม่าง(พระสวมแว่น)ที่เมืองแปร ความคิดอ่านจะดี และท่องจำเก่ง; หากอยากมีบ้านมีรถ คนพม่าจะไปขอพรจากโพโพจี(พ่อปู่)ที่วัดโพตะทองในย่างกุ้ง; หากไปไหว้พระที่วัดสัมพุทเธที่เมืองโมงยวา จะคลาดแคล้วจากอุบัติเหตุทางรถ ; หากต้องการได้รับการอภัยโทษ ก็ควรไปไหว้พระอะมแยะด่อปะเหย่ที่พุกาม ; หากไปไหว้พระกะเด๊าะปะเลงที่พุกาม ความผิดที่มีต่อบิดามารดาจะได้รับการอภัย ; หากต้องการให้ได้รับความเป็นธรรมในคดีความ ให้ไปไหว้พระไจ้ก์มะยอ ที่รัฐมอญ; ส่วนชาวพม่าที่อยากไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น จะนิยมไปขอพรจากพระกัมมาปุระที่พระเจดีย์มอด่อในเมืองพะโค เนื่องเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ชาวญี่ปุ่นนำมาถวายวัด; แต่ถ้าปรารถนาจะมาเมืองไทย มักนิยมไปไหว้พระแก้วมรกตจำลองที่พระเจดีย์ไจ้ก์กะลวนป่วนที่เมืองธนุผยู่ เป็นต้น ความเชื่อต่อความศักดิ์สิทธิ์นานาของพระพุทธรูปและพระเจดีย์นั้น  จึงเป็นที่มาของความนิยมในการเดินทางเพื่อแสวงบุญ   ดังนั้นนักแสวงบุญที่ประสงค์จะเดินทางไปไหว้พระไหว้เจดีย์ในประเทศพม่า จึงมักต้องมีความรู้เหล่านี้ หากไปขอพรในสิ่งที่พระท่านไม่ชำนาญ ก็จะกลายเป็นเพียงนักแสวงบุญที่ขาดความรอบรู้ นอกจากนี้ ชาวพม่ายังมีความเชื่อว่าการแสวงบุญภายในวันเดียวและไหว้พระให้ได้ครบตามกำหนด จะช่วยให้ได้กุศลมาก และพรที่ขอก็จะสัมฤทธิ์ผล ดังเช่น การเดินทางไหว้พระเจ้า ๙ องค์ภายในวันเดียว เป็นต้น เหตุที่นิยมกันนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะเชื่อตามคำแนะนำของหมอดู ส่วนมากจะทำกันเช่นนี้ก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ คนที่มีความปรารถนามากหรือมีความกังวลมาก และมีศรัทธาสูง ก็คงต้องปฏิบัติกันไปตามนั้น
ชาวพม่าทั่วไปต่างมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะต้องหาโอกาสเดินทางแสวงบุญ เคยมีเรื่องเล่าว่า หญิงชราผู้หนึ่งอายุกว่า ๙๐ ปี เป็นชาวอำเภอกะวะ ในจังหวัดพะโค เมื่อวัยสาว เธอว่าตนเคยสิ้นใจไปหนหนึ่ง แล้วนอนแน่นิ่งอยู่หลายวัน แต่ญาติไม่ทันได้จัดงานศพ ด้วยร่างของเธอไม่ได้เน่าเปื่อยอย่างคนตายปกติ เมื่อฟื้นขึ้น เธอเล่าว่ามีพ่อปู่ห่มผ้าขาวพาเธอไปไหว้พระเจดีย์หลายแห่ง ต่างเป็นเจดีย์ที่เธอรู้จักเพียงชื่อ และไม่เคยเดินทางไปสักการะด้วยตนเองมาก่อน เธอมีปีติอย่างที่สุด และเชื่อว่าเป็นการแสวงบุญอย่างแท้จริงของเธอ เธอยังเชื่ออีกว่าพ่อปู่ผู้นั้นเป็นปฐมังโพโพอ่อง นักบุญที่ไม่มีวันตายของพม่า การฟื้นจากความตายและคำอ้างของเธอที่ได้ไปไหว้พุทธเจดีย์เป็นตุเป็นตะนั้น บอกถึงความศรัทธาอย่างสุดซึ้งที่เธอมีต่อพุทธเจดีย์ และเมื่อราวกลางปี ๒๕๔๑ เงินจั๊ตของพม่ามีค่าตกลงมาอย่างมาก อัตราที่เคยแลกได้ราว ๓๐๐ จั๊ตต่อ ๑ เหรียญสหรัฐ มีค่าตกลงไปถึงกว่า ๔๐๐ จั๊ต รัฐบาลจึงออกคำสั่งปิดร้านแลกเงินตราต่างประเทศ ร้านที่เคยได้รับอนุญาตจึงต้องหยุดกิจการไปอย่างไม่มีกำหนด ในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีร้านแลกเงินร้านหนึ่งได้เขียนป้ายติดไว้ที่หน้าร้านว่า “เจ้าของร้านไปแสวงบุญ”  จึงประจักษ์ชัดว่าการแสวงบุญนั้น มีความหมายต่อชาวพม่ามากเพียงใด
จะเห็นว่าชาวพุทธพม่านิยมเดินทางแสวงบุญกันมากก็ด้วยมีความปรารถนาในบุญกุศล สำหรับชาวพุทธพม่าแล้วสิ่งที่มีค่าควรต่อการทำบุญสร้างกุศลนั้น ก็คือ พระพุทธรูปและพระเจดีย์สำคัญ เพราะเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นกองบุญที่ยิ่งใหญ่เสมอด้วยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเชื่ออีกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์จะสามารถประสาทพรให้ได้เฉพาะสิ่งเฉพาะเรื่อง ความเชื่อดังนี้จึงดูจะคล้อยตามความเชื่อในเรื่องผีนัต(o9N)ของชาวพม่า ที่เชื่อกันว่าผีนัตแต่ละองค์จะมีความจัดเจนในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญยังถือเป็นการสั่งสมกุศลที่ยิ่งใหญ่ และยังเป็นโอกาสดีที่จะได้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดเส้นทางที่ท่องไปนั้น
โดยทั่วไปแล้ว ชาวพม่ามักจะขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเป็นปกตินิสัย จนดูประหนึ่งว่าการขอพรเป็นกิจจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาชีวิต มักต้องยึดเอาการขอพรเป็นหนทางหนึ่ง พม่าเรียกการขอพรว่า ซุตอง (C6g9k'Nt) คำว่า ซุ (C6) แปลว่า “พร” หรือ “รางวัล” ส่วน ตอง (g9k'Nt) แปลว่า “ขอ”  คนพม่านับแต่วัยเยาว์จะได้รับการปลูกฝังให้กราบไหว้และขอพรจากองค์พุทธเจดีย์และพระพุทธรูป และสอนให้รู้จักรับพรจากปูชนียบุคคล อันได้แก่ พระสงฆ์ พ่อแม่ และครูบาอาจารย์ โดยต้องกระทำด้วยใจกายที่นอบน้อม อีกทั้งชาวพม่าอีกไม่น้อยยังยำเกรงต่อองค์เทพ วิญญาณ และผู้วิเศษ ที่พม่าเรียกรวมๆว่า นัต  และนิยมขอพรต่อสิ่งเหล่านี้ตามโอกาส ทั้งนี้เป็นเพราะชาวพม่ามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่เป็นองค์แทนวิสุทธิเทพ(พระพุทธเจ้า พระอรหันต์) อุปัตติเทพ(เทวดา) และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์(ภูตผี) ต่างมีอิทธิฤทธิ์ที่จะช่วยคุ้มครอง ป้องกันภัย และประทานลาภให้ได้ พม่าจึงมีการนับถือและขอพรจากพระพุทธรูป พระเจดีย์ ตลอดจนเทพนัต และภูติผี
การกล่าวขอพรเป็นภาษาพม่า จะกล่าวเริ่มที่คำที่เป็นพรต่างๆ แล้วตามด้วยถ้อยคำว่า  บ่าเส่  (xjg0) ซึ่งเทียบกับไทยว่า “ขอให้” เช่น ขอให้มีความสุข พม่าจะพูดว่า ชางต่าบ่าเส่ (-y,Ntlkxjg0) คำว่า ชางต่า (-y,Ntlk) แปลว่า “มั่งมี,สุขสบาย,สงบสุข” พรที่ชาวพม่านิยมขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีมากมาย หากไม่รู้จะขออะไร พรที่ขอมักจะเป็นเรื่องดังต่อไปนี้
ขอให้มีความสุข           -y,Ntlkxjg0         อ่านว่า ชางต่าบ่าเส่
ขอให้มีสุขภาพดี           dyoNt,kxjg0         อ่านว่า จางหม่าบ่าเส่
ขอให้พ้นภยันตราย       g4tioNd'Ntxjg0    อ่านว่า เบยางกีงบ่าเส่
ขอให้อายุยืนยาว           vldNiaPNxjg0     อ่านว่า อะแต๊ะเชบ่าเส่
ขอให้ประสบผลสำเร็จ gvk'Ne,'Nxjg0      อ่านว่า อ่องเหมี่ยงบ่าเส่
หากประสงค์ที่จะได้พรอย่างเฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการที่หมายมั่นไว้ ก็ต้องแล้วแต่จะขอกันไป พรที่ชาวพม่านิยมขอและมักจะเขียนติดไว้ตามที่เสี่ยงทายในศาสนสถานเกือบทุกแห่งมีอาทิ
ขอให้ถูกหวย                5ugxjdNNxjg0                   อ่านว่า ถี่เป้าบ่าเส่
ขอให้สอบไล่ได้            0kg,tx:cgvk'Nxjg0             อ่านว่า ซาเมบ่วยอ่องบ่าเส่
ขอให้ได้เลื่อนตำแหน่ง ik5^t96bte,a'NHxjg0                            อ่านว่า ยาทูโตเมี่ยงบ่าเส่
ขอให้เป็นเศรษฐี           l^g{tez0Nxjg0                                 อ่านว่า ตะเทพิ๊จบ่าเส่
ขอให้ได้ไปต่างประเทศ O6b'N'"e-ktO6b'N'"gikdNxjg0       อ่านว่า ไหน่หงั่งชาไหน่หงั่งเย่าบ่าเส่
สำหรับคำอธิษฐานที่มักจะกล่าวร่วมในการขอพรอื่นๆและเป็นพรที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ แต่อาจดูห่างไกลจากวิถีชีวิตของปุถุชนโดยทั่วไป ก็คือ
ขอให้เข้าถึงนิพพาน      obr¾koNgikdNxjg0                     อ่านว่า เนะบานเย่าบ่าเส่
หากพิจารณาจากการแสวงบุญที่เน้นการขอพรของชาวพม่านั้น กล่าวได้ว่าชาวพุทธพม่าก็ดูคล้ายกับชาวพุทธทั่ว ๆ ไป นั่นคือในด้านหนึ่งเราอาจจะได้พบกับชาวพม่าที่มีความรู้และศรัทธาในหลักธรรมอย่างแท้จริง ส่วนอีกด้านหนึ่งเรามักจะได้พบชาวพม่า ที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจพุทธคุณ ชาวพุทธพม่าจำนวนไม่น้อยจะยึดคำสวดมนต์เป็นดุจคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ มีความนิยมบริกรรมบทสวดขณะที่นับลูกประคำเพื่อบูชาและวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีพระเจดีย์เป็นอาทิ และสังเกตได้ว่าชาวพม่าทำบุญโดยมีเป้าหมายเพื่อความสุขในโลกนี้เป็นหลักแรก รองลงไปอาจเป็นไปเพื่อความสุขในโลกหน้า แต่คงเป็นส่วนน้อยที่จะหวังบรรลุนิพพานอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความดีงามของพุทธศาสนาคงจะซึมแทรกอยู่ในพิธีกรรมและวัตรปฏิบัติเหล่านั้น และแม้พุทธศาสนาจะสอนให้พึ่งตนเองแทนที่จะพึ่งอำนาจวิเศษใดๆ แต่การขอพรก็กลายเป็นวิถีชีวิตหนึ่งของชาวพุทธพม่า ที่สืบทอดปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนมาแต่โบราณ จึงพอจะกล่าวได้ว่าชาวพม่าที่เชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจไม่หวังพึ่งการแสวงหาทางออกให้กับชีวิตด้วยปัญญาเพียงหนทางเดียว เพราะคงจะพอใจกับความสุขลึกๆจากการสร้างกุศลและขอพร ในโลกทัศน์ของชาวพุทธพม่า การสั่งสมกุศลและความสัมฤทธิ์ในพรจึงดูจะมีความสอดคล้องกันอย่างเป็นมรรคเป็นผล บุญกุศลจึงมีความหมายเป็นสิ่งที่สามารถแทนได้กับความปรารถนาทางโลก กุศลในนัยเช่นนี้จึงอาจเปรียบได้กับเงินทุนที่ฝากไว้กับธนาคาร ในขณะที่พรที่ได้รับจากการอธิษฐานออกจะคล้ายกับดอกเบี้ยที่งอกออกจากทุนที่สะสมไว้นั้น นั่นหมายความว่าหากไม่สั่งสมกุศลหรือประกอบกรรมดีไว้ก่อนบ้างเลย โอกาสที่จะได้รับพรใดๆก็ย่อมเป็นไปโดยยาก ความเชื่อในอนิสงส์แห่งกุศลจึงเอื้อประโยชน์ต่อปัจเจกชนและสังคมพม่าได้โดยอ้อม
ความเชื่อที่ว่ากุศลคือกองทุนเพื่อสร้างความสุขและความสำเร็จนั้น นับว่ามีส่วนอย่างมากต่อการเข้าพึ่งศาสนาของชาวพม่า ชาวพม่าส่วนใหญ่จึงสนใจในการปฏิบัติบูชา บริจาคทรัพย์บำรุงศาสนา  และเดินทางแสวงบุญ หากตั้งคำถามกับคนพม่าว่า ถ้าหาเงินได้สักก้อนหนึ่งจะทำอย่างไรกับเงินนั้น ชาวพุทธพม่ามักจะตอบเหมือนๆกันว่า แรกสุดจะต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งสำหรับทำบุญ นอกนั้นจะแบ่งให้พ่อแม่ จุนเจือคนที่ใกล้ชิด หรือซื้อของที่อยากได้ ความคิดในการออมเงินหรือนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มพูนเป็นรายได้จะเป็นความคิดที่มาทีหลังหรืออาจไม่ค่อยได้คิดกันนัก หรือ ถ้าหากมีคนนำอาหารดีๆหรือผลไม้มาให้เป็นของฝาก ชาวพุทธพม่าส่วนมากจะนำไปถวายพระพุทธรูปในบ้านก่อนที่จะนำมารับประทาน หลายคนตั้งความหวังไว้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะใช้ชีวิตอุทิศให้กับการปฏิบัติธรรม พุทธศาสนาจึงฝังอยู่ในใจของชาวพม่า และมักต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดเสมอ
ความสำเร็จในชีวิตโดยยึดมั่นในแนวทางพุทธศาสนาที่เน้นการสร้างสมกุศล ย่อมต้องมีตัวอย่างให้พบเห็นและกล่าวถึงอยู่เสมอ ดังเรื่องราวคหบดีผู้ตั้งมั่นปฏิบัติพุทธานุสติพร้อมไปกับการทำงานโดยชอบเป็นนิตย์ มักถูกนำมายกเป็นอุทาหรณ์ อาทิ อูหม่องหม่อง ผู้มีฉายาว่า ลูเปี่ยงด่อปัตตะมยา เป็นผู้มั่งมีที่ประสบความสำเร็จในอาชีพขายยาพื้นบ้าน เขาเดินทางเร่ขายยาเลี้ยงชีพมาแต่วัยเยาว์ ยามเหน็ดเหนื่อยในขณะเร่ขายยา อูหม่องหม่องมักหลบร้อนเข้านั่งพักที่ใต้ร่มไม้พร้อมกับสวดมนต์ จากการปฏิบัติเช่นนี้ เชื่อว่าได้เป็นปัจจัยให้อูหม่องหม่องกลายเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง สามารถสร้างวัด สร้างเจดีย์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างคหบดีทั้งหลาย
ด้วยความเชื่อที่ว่ากุศลจากการทำบุญและปฏิบัติธรรมจะนำมาซึ่งทรัพย์ และทรัพย์จะพาเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ในที่สุดนั้น กุศลจึงกลายเป็นกลไกหนึ่งแห่งความสำเร็จในการสร้างฐานะไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ กุศลในโลกทัศน์ของชาวพุทธพม่าจึงมีความหมายมากไปกว่าความดีที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากการครอบงำของกิเลส หรือ เครื่องที่ทำให้ใจเศร้าหมอง สำหรับชาวพุทธพม่าแล้ว กุศลจึงไม่ใช่พลังลึกลับ ไม่ใช่อำนาจที่เลื่อนลอย และไม่ใช่สิ่งงมงาย กุศลจะต้องอยู่เบื้องหลังของการนำพาชีวิตพร้อมๆไปกับโชคชะตาและกำลังความสามารถของตน และด้วยเหตุที่มีความคาดหวังจากการทำกุศลกันไปต่างๆนานา กุศลจึงถูกโยงให้สัมพันธ์กับการอธิษฐานพรโดยเฉพาะจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ผลดีจากความเชื่อในกุศลดังนี้อาจก่อให้เกิดเป็นภาวะ “อิ่มบุญ” ที่เป็นปีติเฉพาะหน้าและบังเกิดทุกคราที่ได้ทำบุญขอพร แต่ผลร้ายที่สุดของความเชื่อตามกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะ “หิวบุญ” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ในยามมองภาพที่ชาวพม่าเข้านอบน้อมกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรตามศาสนสถานต่างๆ จึงอาจได้พบภาพของชีวิตที่โหยหาในสิ่งที่ปรารถนา มีทั้งด้วยอาการอันปีติ และท่าทีที่อิดโรย
พม่านั้นปิดตัวเองมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการเปิดประเทศรับกระแสโลกภายนอกย่อมต้องมีผลต่อวิถีชีวิตและแนวคิดดั้งเดิมของชาวพม่าไม่น้อย ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อกุศลที่ผูกพันต่อชีวิต กับกลไกแห่งความสำเร็จอย่างโลกสมัยใหม่ อาจก่อพลังขัดแย้งขับเคี่ยวอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของชาวพม่า และหากพม่าไม่เร่งสร้างกระแสเพื่อปฏิรูปแนวคิดต่อพุทธศาสนาอย่างถูกทาง พุทธศาสนาในพม่าที่เน้นการสร้างกุศลเพื่อขอพรอาจผิดเพี้ยนไปจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจนแยกไม่ออกจากไสย์หรือฝ่ายลัทธิ เหมือนกับสภาพที่ส่อเค้าให้พบเห็นอยู่ในขณะนี้
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15553เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท