ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจด้านการเกษตรของสหภาพพม่า


บนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ระหว่างละติจูด 9 องศาเหนือ 30 ลิปดา ถึง 28 องศา 31 ลิปดา และลองติจูด 92 องศาตะวันออก 10 ลิปดา ถึง 101 องศา 11 ลิปดา มีพื้นที่ 216,228 ตารางไมล์
ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจด้านการเกษตรของสหภาพพม่า
ประเทศพม่าตั้งอยู่ด้านตะวันตกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน บนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ระหว่างละติจูด 9 องศาเหนือ 30 ลิปดา ถึง 28 องศา 31 ลิปดา และลองติจูด 92 องศาตะวันออก 10 ลิปดา ถึง 101 องศา 11 ลิปดา มีพื้นที่  216,228 ตารางไมล์ มีความกว้างของพื้นที่เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่จากด้านเหนือสู่ด้านใต้กว้างกว่าพื้นที่ด้านตะวันออกสู่ด้านตะวันตก เขตน่านน้ำของประเทศพม่าอยู่ห่างจากชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล  กำหนดตั้งประภาคารทั้งหมด 22 แห่ง มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ด้านตะวันตกติดกับประเทศบังกลาเทศและอินเดีย ด้านเหนือและด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับ ประเทศจีน ด้านตะวันตกติดกับประเทศลาวและไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 5 แล้ว ประเทศพม่ามีประชากรน้อยเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศลาว
ประเทศพม่าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 รัฐ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงรอบนอกที่ชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ อาศัยอยู่ คือ รัฐกะฉิ่น กะยา กะเหรี่ยง ฉิ่น มอญ ยะไข่ และฉาน(ไทยใหญ่) และอีก 7 มณฑล เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก ได้แก่ มณฑลสะกาย มัณฑะเล มะเกว พะโค อิระวดี ย่างกุ้ง และตะนาวศรี
ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีภูเขาหนาแน่นทางตอนเหนือ มีที่ราบอยู่บริเวณภาคกลางเป็นที่ราบลูกฟูก ที่ราบที่กว้างใหญ่ที่สุดคือที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ทั้งภูเขาและแม่น้ำโดยส่วนใหญ่จะทอดตัวลงมาจากด้านเหนือลงสู่ด้านใต้ เพราะพื้นที่ทางตอนเหนือนั้น เป็นพื้นที่สูงค่อย ๆ ลาดลงมาสู่ตอนใต้  ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะของพื้นผิวดินออกเป็น 4 ลักษณะ ตามความแตกต่างของสภาพพื้นผิวและอายุทางธรณีวิทยาได้ ดังนี้ คือ 1.ที่ราบสูงด้านตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีอายุของเปลือกโลกมากที่สุด ประกอบด้วย พื้นที่ภูเขาสูงในรัฐกะฉิ่น ที่ราบสูงฉาน หนองน้ำจืดอินเล ที่ราบลุ่มตามลำน้ำสาละวิน รัฐมอญ และมณฑลตะนาวศรี  2.เทือกเขาด้านตะวันตก เป็นทิวเขาที่ติดต่อมาจากเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดีย ทอดตัวคล้ายแนวคันศรในแนวเหนือใต้ ประกอบด้วย เทือกเขาสูงในมณฑลสะกาย รัฐฉิ่น ทิวเขายะไข่ รวมถึงเกาะโกโก้ด้วย 3.ที่ราบลุ่มภาคกลาง ตั้งอยู่ระหว่างที่ราบสูงด้านตะวันออกและเทือกเขาด้านตะวันตก ทางตอนบนเป็นที่สูง มีทิวเขาสลับกัน ประกอบด้วย ทิวเขาพะโค ภูเขาโปปา ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี แม่น้ำชิดวิน  แม่น้ำสะโตง และบริเวณดินดอนปากแม่น้ำอิระวดี  4.แนวชายฝั่งยะไข่ ตั้งอยู่ระหว่างทิวเขาพะโคและอ่าวเบงกอล ตอนกลางเป็นที่ราบสูง ตอนเหนือกว้างแล้วค่อย ๆ แคบลงสู่ตอนใต้ ประกอบด้วย แนวชายฝั่งในรัฐยะไข่ทั้งหมด
ในประเทศพม่ามีแม่น้ำมากมายหลายสาย ซึ่งไหลจากตอนเหนือลงสู่ตอนใต้ แม่น้ำที่สำคัญมี 4 สาย ได้แก่ 1.แม่น้ำอิระวดี เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุด มีต้นกำเนิดในรัฐกะฉิ่นจากแม่น้ำ 2 สายคือ แม่น้ำเมขะ และแม่น้ำมะลิขะ ซึ่งไหลมาบรรจบกันที่เมืองมิจจีนา จากนั้นไหลผ่านมณฑลมัณฑะเล มะเกว พะโค แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่มณฑลอิระวดี  เป็นแม่น้ำที่มีการใช้ประโยชน์มากที่สุด และมีความสำคัญต่อชาวพม่ามากที่สุด โดยชาวพม่าเชื่อกันว่า แผ่นดินพม่าเกิดขึ้นได้เพราะแม่น้ำอิระวดี เนื่องจากทุก ๆ ปี จะเกิดการทับทมของตะกอนดิน เสมือนมีแผ่นดินงอกออกมาถึงปีละ 200 ฟุต       2.แม่น้ำชิดวิน เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำอิระวดี มีต้นกำเนิดอยู่ในรัฐกะฉิ่น ไหลผ่านมณฑลสะกาย แล้วลงสู่แม่น้ำอิระวดี ระหว่างเมืองมีนฉ่านและเมืองปโขะกู่ 3.แม่น้ำสะโตง เป็นแม่น้ำสายที่สั้นที่สุด มีต้นน้ำอยู่บริเวณปลายที่ราบสูงฉานและทิวเขาพะโค ปัจจุบันมีลักษณะตื้นเขิน เนื่องจากเกิดการไหลลงมาทับถมของตะกอนดินจากลำคลองต่าง ๆ ก่อนถึงปากน้ำมีการขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำพะโคแล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่มณฑลพะโค  4.แม่น้ำสาละวิน มีต้นน้ำมาจากด้านตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านประเทศจีนเป็นระยะทางครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด ผ่านที่ราบสูงฉาน รัฐกะยา กะเหรี่ยง แล้วไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะที่รัฐมอญ ตลอดเส้นทางมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ยกเว้นบริเวณใกล้ปากน้ำ 
ประเทศพม่ามีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน โดยใน 1 ปีมี 3 ฤดู คือ 1.ฤดูร้อน เริ่มจากเดือนมี.ค. - พ.ค. 2.ฤดูฝน จากเดือนพ.ค. - ต.ค. 3.ฤดูหนาว จากเดือนพ.ย. - ก.พ. โดยในแต่ละเดือนมีการจัดงานบุญ เรียกว่า “ประเพณีสิบสองเดือน” จะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เพราะประชาชนประมาณ 90%นับถือศาสนาพุทธ เดือนพม่าเริ่มจาก 1.ดะกู(เม.ย.) งานฉลองสงกรานต์ 2.กะโส่ง(พ.ค.) งานรดน้ำต้นโพธิ์ 3.นะโย่ง(มิ.ย.) งานสอบพระธรรม(ย้ายไปจัดเดือน 1) 4.หว่าโส่(ก.ค.) งานบวชและเข้าพรรษา 5.หว่าข่อง(ส.ค.) งานบูชานัต 6.ต่อดะลีง(ก.ย.) งานแข่งเรือ(ยกเลิก) 7.ดะดีงจู๊ต(ต.ค.) งานจุดประทีปและออกพรรษา 8.ดะส่องโมง(พ.ย.) งานทอดกฐินและตามประทีป  9.นะด่อ(ธ.ค.) งานเทิดเกียรติกวี 10.ปยาโต(ม.ค.) งานอัศวยุทธ(ยกเลิก) 11.ดะโบ๊ะดแว(ก.พ.) งานกวนข้าวทิพย์และหลัวไฟพระเจ้า 12.ดะบอง(มี.ค.) งานก่อเจดีย์ทราย
ประเทศพม่ามีประชากรประมาณ 52 ล้านคน ซึ่งในสมัยการปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ยังไม่มีการสำรวจแต่สามารถประเมินได้จากอัตราการเก็บภาษี คือ ประมาณ 4 ล้านคน ต่อมาในสมัยที่อังกฤษเข้ายึดครองจึงมีการสำรวจอย่างเป็นระบบเฉพาะพม่าตอนล่างอีกครั้งหนึ่ง ประมาณ 2.7 ล้านคน ในปีค.ศ.1891 มีการสำรวจทั้งประเทศเป็นครั้งแรกประมาณ 7.7 ล้านคน และทำการสำรวจครั้งต่อไปทุก ๆ 10 ปี พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ลักษณะการกระจายตัวของประชากรในแต่ละพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจัยด้านลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นดินในพื้นที่ภูเขาสูง ทำการเพาะปลูกได้น้อย ประชากรเบาบาง ได้แก่ รัฐกะฉิ่นตอนเหนือ มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางที่สุด ส่วนในพื้นที่ราบทำการเกษตรได้มาก การติดต่อคมนาคมขนส่งสะดวก ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ได้แก่ มณฑลย่างกุ้ง อิระวดี สะกาย มัณฑะเล มะเกว รัฐยะไข่ตอนเหนือ รัฐมอญ และระหว่างที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสะโตงและสาละวิน เป็นต้น เป็นแหล่งปลูกข้าวมากที่สุดของประเทศ
ประชากรประมาณ 80% อาศัยอยู่ในชนบท ส่วนที่เหลืออีก 20% อาศัยอยู่ในตัวเมือง โดยที่ชาวพม่ามีจำนวนประชากรมากที่สุด รองลงมาคือ ฉาน(ไทยใหญ่) ยะไข่ มอญ กะเหรี่ยง กะฉิ่น ฉิ่นและกะยา ตามลำดับ นอกจากนี้แล้วยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกจำนวน 135 ชนเผ่า พม่าถือว่าทุกเผ่าพันธุ์ต่างมีสายเลือดเดียวกันและต่างถือเป็นพันธมิตรร่วมแผ่นดินเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “อยู่ร่วมดิน กินร่วมน้ำ”
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก บนเนื้อที่ประมาณ 25 ล้านเอเคอร์ การเพาะปลูกทำได้หลายวิธี คือ 1.การทำไร่ดอย ในพื้นที่ภูเขาสูง ทำการเคลื่อนย้ายทุกปี หรือหลายปีต่อครั้ง ไม่มีการไถพรวน เมื่อฝนตกใช้วิธีหยอดหลุมปลูก พืชที่ปลูกได้แก่ ข้าวไร่ ลูกเดือย ข้าวฝ่าง ข้าวโพด มัน งา ถั่ว และผักชนิดต่าง ๆ ผสมปนเปกันไป 2.การทำนา ทำในพื้นที่ราบ มีฝนตกชุก สมัยก่อนทำได้ครั้งเดียว ปัจจุบันสามารถทดน้ำจากแหล่งต่าง ๆ มาทำซ้ำได้อีก พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว ปอ ถั่ว และงา เป็นต้น 3.การทดน้ำ มีการสร้างเขื่อน ฝาย เพื่อเก็บกักน้ำแล้วทดเข้าพื้นที่ ในบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะในตอนกลางของประเทศ พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว งา ถั่ว ฝ้าย ข้าวสาลี ปอ และหอม 4.การทำไร่ ไม่ต้องมีการเก็บกักน้ำ ทำการไถพรวนก่อนฝนตก เว้นระยะการปลูก 3 ปีต่อครั้ง เพื่อเป็นการรักษ์น้ำรักษ์หน้าดิน ด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน บริเวณพื้นที่ฝนน้อยภาคกลาง มีการปลูก ถั่ว ข้าวโพด งา ฝ้าย และยาสูบ เป็นต้น 5.การทำสวน มีการปลูกไม้ผลเพื่อบริโภค เช่น ส้ม สาลี่ ทุเรียน มังคุด ส้มโอ มะปราง กล้วย และสับปะรด และเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ชา กาแฟ ใบหมันดง ยางพารา มะพร้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง และจาก เป็นต้น 6.การเพาะปลูกบนเกาะกลางน้ำ ทำเมื่อเวลาน้ำลด เกาะจะโผล่ขึ้นมาจนสามารถเดินข้ามไปได้ รวมถึงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ อีกด้วย พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว ถั่ว ชา และข้าวโพด เป็นต้น
ดินในประเทศพม่ายังอุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิด สามารถแบ่งชนิดของดินตามลักษณะของพื้นที่ได้ 8 ชนิด ดังนี้ คือ 1.ดินเกิดใหม่ พบได้ในที่ราบสูงฉาน 2.ดินแดง บนภูเขาสูง พบในรัฐกะยา กะเหรี่ยง 3.ดินป่า พบในที่ฝนตกชุก พม่าตอนล่างในรัฐยะไข่ มอญ และมณฑลตะนาวศรี 4.ดินศิลาแลง พบบริเวณทิวเขาพะโค และรัฐมอญ 5.ดินทรายแดง พบในพื้นที่ฝนตกน้อยตอนกลางของประเทศ 6.ดินเหนียว น้ำซึมได้ยาก แห้งแตกระแหง พบในพื้นที่ฝนน้อย และที่ราบภาคกลาง 7.ดินร่วน พบบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ 8.ดินอายุน้อย พบได้ที่มณฑลตะนาวศรี ปากแม่น้ำอิระวดี และริมชายฝั่งรัฐยะไข่ 
เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ รัฐบาลจึงมีการส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตร ดังนี้คือ 1.การขยายพื้นที่การเพาะปลูก เพื่อรองรับความต้องการของประชากร มีการนำพื้นที่ว่างเปล่า พื้นที่ทิ้งร้างมาปรับปรุงทำการเพาะปลูก 2.ขยายพื้นที่ทดน้ำและพื้นที่ป้องกันอุทกภัย สร้างฝาย เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และคลองส่งน้ำ ในพื้นที่ฝนน้อยภาคกลาง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ กังหันลม-น้ำ เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมและพื้นที่ดินเค็มนั้น ก็สร้างฝาย เพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้ามาจากทะเล และลดความรุนแรงของอุทกภัยในพื้นที่ปากน้ำในรัฐยะไข่ 3.การวัดระดับชั้นดินและรักษาหน้าดิน ศึกษาคุณสมบัติแร่ธาตุของแต่ละพื้นที่ กำหนดพันธุ์พืชที่เหมาะสม โดยร่วมมือกับคนในท้องถิ่น 4.พัฒนาการใช้แรงงานสัตว์และเครื่องมือการเกษตร เพิ่มจำนวนโคกระบือในภาคแรงงานเกษตร นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ เช่น รถไถ รถเกี่ยว สนับสนุนการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเงินทุน  5.ใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพิ่มผลผลิต ให้มีคุณภาพดี มีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาเมล็ดพันธุ์แล้วแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่ว ทานตะวัน ฝ้าย ปอ ยางพารา อ้อย หม่อน และกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และมีการจัดการจากนักวิชาการอย่างมีระบบอีกด้วย 6.สนับสนุนเงินกู้เพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีเงินซื้อโคกระบือ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องมือ และอื่น ๆ
ชนิดของพันธุ์พืชที่เกษตรกรนิยมใช้ในการเพาะปลูก มีดังนี้คือ 1.พืชรวง เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวฝ่าง 2.พืชให้น้ำมัน เช่น งา ถั่วลิสง ทานตะวัน ผักกาด และปาล์ม 3.ถั่วชนิดต่าง ๆ 4.พืชวัตถุดิบ เช่น ฝ้าย ปอ อ้อย ยางพารา ยาสูบ ชา กาแฟ มะพร้าว มันสำปะหลัง และหม่อน 5.พืชผลอื่น ๆ เช่น ตาล พริก หอม กระเทียม มัน พลู หมาก สมุนไพร ใบหมันดง กล้วย จาก หญ้าเลี้ยงสัตว์ ผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันเริ่มมีการปลูกข้าวบาร์เลย์แทนการปลูกฝิ่นในรัฐฉาน การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ จะกระจายกันอยู่ทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดชนิดพันธุ์พืช
นอกจากการเกษตรแล้ว ประชาชนก็ยังนิยมเลี้ยงสัตว์และทำการประมงอีกเช่นกัน ในประเทศพม่านั้น มีการเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อใช้แรงงาน บริโภคเนื้อ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเช่น โค นิยมเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในการเพาะปลูก ให้นม เนื้อ โคใช้งานมี 3 ชนิด คือ โคพม่า โคบังคลาเทศ และโคพันธุ์ มีการผลิตนมโคกระป๋องที่มณฑลมัณฑะเลและสะกาย กระบือ ใช้ลากซุงริมฝั่งแม่น้ำ ใช้แรงงานในการเพาะปลูก ให้นม ม้า มีความสำคัญมากในการคมนาคมขนส่ง มีการเลี้ยงมากในภาคกลางและรัฐฉาน ลาและล่อ ใช้บรรทุกสัมภาระในพื้นที่ยากลำบาก ในหุบเขา ที่รัฐฉานและกะฉิ่น มีการใช้ประโยชน์จากลาและล่อมากที่สุด แพะ ใช้เนื้อเพื่อการบริโภค ในพื้นที่ฝนน้อยภาคกลาง แกะ มีการบริโภคเนื้อ ส่วนการตัดขนมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หมู นิยมเลี้ยงในฟาร์มเพื่อใช้ในการบริโภค ไก่ เลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ เป็นฟาร์มของรัฐบาล ตามเมืองใหญ่ ๆ และบริเวณรอบ ๆ ให้เนื้อและไข่ เป็ด เลี้ยงในบริเวณที่ชื้นแฉะ มีน้ำขัง ให้เนื้อและไข่ รวมถึงไก่งวงและห่าน ไหม เลี้ยงมากในมณฑลมัณฑะเล รัฐฉิ่น กะยา และกะเหรี่ยง มีโรงงานผลิตเส้นไหมที่เมือง ปยี่งอูลวีง ผึ้ง เริ่มเลี้ยงในปี 1978-79 เพื่อผสมพันธุ์พืช ได้น้ำผึ้งและขี้ผึ้ง
ส่วนด้านการประมงนั้นสามารถทำได้ ดังนี้ คือ 1.การจับสัตว์น้ำ มีการจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาเพื่อการบริโภคสด การทำแห้ง ปลาร้า และน้ำปลา เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ อีกเช่น เคย(กุ้งเล็ก) นำมาทำกะปิ น้ำปลากุ้ง การจับสัตว์น้ำมี 2 ประเภท คือ 1.1การประมงน้ำจืด ทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1.1.1การจับปลาในหนองน้ำ พบมากตามหนองน้ำธรรมชาติ บริเวณปากน้ำ และที่ราบลุ่มแม่น้ำสะโตง 1.1.2การสัมปทาน รวมตัวกันจับสัตว์น้ำ ตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล 1.1.3การจับปลาในฤดูน้ำหลาก ผู้ที่ไม่ได้รับสัมปทานก็จะนำ ลอบ ไซ อวน แห ออกมาจับปลากัน 1.1.4การจับปลาในบ่อเลี้ยง มีการขุดบ่อเลี้ยงปลา กุ้ง ในมณฑลย่างกุ้ง อิระวดี มัณฑะเล และพะโค นอกจากนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงปลาในนาข้าวอีกด้วย 1.2การประมงน้ำเค็ม ในแหล่งน้ำตื้น หมู่เกาะมะริด เป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำชุกชุมที่สุด มีเอกชน กรมประมงและคณะกรรมการสหกรณ์เข้าไปประกอบกิจการหลายราย สัตว์น้ำเค็มที่จับได้ ได้แก่ กุ้ง ปลากะพง ปลาหมึก แมงกะพรุน ปลาตะลุมพุก และปลาชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้จะถูกส่งขายยังตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนแมงกะพรุนนั้น จะดอง ตากแห้งแล้วส่งไปขายยังต่างประเทศ 2.การทำนาเกลือ เพื่อใช้ในการบริโภค เช่น เกลือแกง สมัยก่อนในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั้งหลาย เกษตรกรนำน้ำทะเลมาต้มเพื่อให้ได้เกลือแล้วส่งขายยังที่อื่น การใช้ฟืนและถ่านในการต้มนั้นเป็นการทำลายป่าไม้ทางหนึ่ง ดังนั้นในพื้นที่รัฐมอญ เมืองไจ้โถ่ จึงมีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แทนฟืนและถ่าน วิธีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากจะผลิตเกลือแกงแล้วยังมีการผลิตเกลือเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก เช่น ทำยา ผสมสีทาบ้าน เยื่อกระดาษ เสื้อผ้า ฟอกหนัง และปุ๋ย เป็นต้น      3.การเลี้ยงหอยมุข รัฐบาลและกรมประมงร่วมทุนกันเลี้ยงในพื้นที่เกาะมุข หมู่เกาะมะริด มณฑลตะนาวศรี ส่วนของเอกชนที่เมืองตั่นตแว รัฐยะไข่ ไข่มุกของประเทศพม่ามีน้ำดี มีลูกค้าชอบเป็นพิเศษ ทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานแสดงอัญมณีและไข่มุก มีรายได้จากเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
นอกจากการค้าอัญมณีแล้ว ยังมีรายได้จากการทำป่าไม้อีกด้วย ประเทศพม่ามีเนื้อที่ป่าประมาณ 80.3 ล้านเอเคอร์ แบ่งเป็นเนื้อที่ป่าสงวน 25.5 ล้านเอเคอร์และที่เหลือเป็นป่าชนิดอื่น ๆ อีก 54.8 ล้านเอเคอร์ ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑืค้าอ้ประดทษชงอาทิตย์ทกจากป่าส่วนใหญ่ได้มาจากป่าสงวน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไม้ภายในประเทศและส่งไปขายยังต่างประประเทศ ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากป่าอย่างยั่งยืน จึงมีการบำรุงรักษาป่าและปลูกซ่อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ยังนิยมใช้แรงงานกระบือและช้างในการชักลากซุง
เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากป่า สามารถทำได้หลายวิธี เช่น 1.การตัดไม้ ในการทำปางนั้น ไม้ที่เป็นที่นิยมคือ ไม้สัก ขึ้นเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนชื้น มีความทนทานแข็งแรง ไม่หด ไม่พองตัว ปลวกไม่กิน เมื่อโดนน้ำไม่ผุเปื่อย ไม่ขึ้นรา นิยมนำมาทำอาคารสิ่งปลูกสร้าง เครื่องแต่งบ้าน สะพาน ตู้รถไฟ เรือ งานแกะสลัก ฯลฯ เพราะมีลวดลายสวยงาม ส่วนไม้สักลายดำจะมีราคาแพงกว่าสักธรรมดา นอกจากไม้สักแล้ว ยังมีไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ อีกเช่น ไม้แดง ประดู่ เต็ง ซ้อ พะยอม มะค่า หูกวาง จำปา และไม้จำพวกยาง  เป็นต้น ไม้จำพวกนี้เป็นไม้จากป่าดงดิบและป่าผลัดใบเขตร้อน มีสีสวย นิยมนำมาทำเครื่องแต่งบ้าน งานแกะสลัก และด้ามจับเครื่องมือ เป็นต้น 2.ผลิตจากป่าอื่น ๆ  มีมากมายเช่น ฟืนและถ่าน ได้จากป่าชายเลน ป่าชายฝั่ง และป่าแห้งมากที่สุด ไผ่ ได้จากป่าดงดิบและป่าผลัดใบเขตร้อน เป็นวัตถุดิบในครัวเรือน ไร่นา เครื่องสาน ทำกระดาษ เครื่องมือจับปลา เช่น ลอบ ไซ เป็นต้น หวาย ได้จากป่าดงดิบ ใช้ในการทำเครื่องเรือนชนิดต่าง ๆ เช่น เก้าอี้ เครื่องสาน ฯลฯ จาก ได้จากพื้นที่ปากแม่น้ำ และริมชายฝั่ง ใช้ในการมุงหลังคา และรักษาหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของดินริมฝั่งน้ำ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกเช่น ตะนาคา จากเมืองชเวโบ ปโขะกู่ ต่องตวีนจี  ไม้จวง จากรัฐฉิ่น ฉาน ยางรัก เปลือกไม้ น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ครั่ง สมุนไพร กล้วยไม้ ขี้ค้างคาว จากถ้ำหินปูน และรังนกจากหมู่เกาะมะริด เป็นต้น
นันทพร เวชพราหมณ์
นิสิตเอกพม่าศึกษา ปี 3
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15546เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าเบื่อจริงๆเลยครับ

อ่อนแล้วบวดหัวงงจริงๆ

เนื้อหาเยอะมากๆอ่านแล้วงงดูแล้วลายตา

ด้วยถ้าสรุปแล้วจะดีมาก

ขอบคุณนะค่ะสำหรับข้อมูล

ข็อมูลของคุณเป็นประโยชน์กับดิฉันมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท