ท่าทีของบางประเทศต่อพม่า


พม่าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศเกือบทุกองค์การ
ท่าทีของบางประเทศต่อพม่า

 

พม่าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศเกือบทุกองค์การ และพม่ามีสถานเอกอัครราชทูตประจำอยู่ ณ นครหลวงของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แสดงว่าพม่ามีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับนานาประเทศโดยกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ หรือคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) ดังในปัจจุบัน การกระจายข่าวสารก็ย่อมเป็นไปโดยกว้างขวางด้วย ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า ทั้งด้านบวกและด้านลบ ย่อมมีช่องทางออกไปสู่โลกภายนอกได้เสมอ ไม่ว่าพม่าจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม ในที่นี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงท่าทีรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับบางประเทศที่มีผลอย่างมากต่อสถานการณ์ในพม่าที่เกี่ยวข้องกับกรณีพม่าและอาเซียน คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ

 

๑. จีน หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่จตุรัสเทียนอัน-เหมินในปี ๒๕๓๒ จีนถูกกดดันจากประเทศต่างๆโดยเฉพาะจากสหรัฐและญี่ปุ่น ทำให้จีนต้องปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ โดยดำเนินการดังนี้ (๑) เร่งฟื้นฟูสถานภาพในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ (๒) สร้างอำนาจต่อรองเพื่อเสริมดุลอำนาจที่เสียไป (๓) เร่งรัดการดำเนินการด้านการทูตให้ตอบสนองต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ และ (๔) กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน จีนให้ความสำคัญแก่อาเซียนมากขึ้น มาตรการที่จีนดำเนินการ คือ ลดความหวาดระแวงจีน เสริมสร้างความไว้วางใจ แสวงหาความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน จีนประสบผลสำเร็จโดยจีนสามารถเข้าไปมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการสร้างเครือข่ายเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำ ระหว่างจีนตอนใต้ (ยูนนาน) - พม่า - ไทยตอนเหนือ และลาว นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าเส้นทางดังกล่าวเปรียบเสมือนเส้นทางยุทธศาสตร์ของจีนในการรุกทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งพม่าด้วย

 

สำหรับประเทศในอาเซียนนั้น จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมากกว่าประเทศอื่น จีนสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสิงคโปร์และบรูไนด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซียยังคงหวาดระแวงจีนว่าจะขยายอิทธิพลของจีนต่อชุมชนชาวจีนในประเทศทั้งสองนั้น ทางด้านพม่า จีนได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพม่า มีการลงนามความตกลงร่วมมือทางทหารกัน นอกเหนือจากความร่วมมือทางการค้า และเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๐ จีนขยายวงเงินช่วยเหลือพม่า และเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ จีนตกลงช่วยพม่าพัฒนาแม่น้ำอิระวดี ซึ่งจะทำให้จีนมีเส้นทางขนส่งสู่มหาสมุทรอินเดียด้วย

 

ในระยะแรกๆ พม่ามีท่าทีผ่อนปรนต่อจีน เพราะเกรงการสนับสนุนของจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่าซึ่งยังไม่สูญสลายไป หลังจากสถานการณ์ไม่สงบในพม่าเมื่อปี ๒๕๓๑ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีนพัฒนาไปมาก เนื่องจากจีนแสดงให้พม่าประจักษ์ว่าไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของพม่า และจีนไม่เห็นด้วยกับการกดดันพม่าทางการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม พม่าก็ระมัดระวังมิให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลมากเกินไป แต่การที่พม่ากับจีนมีความสัมพันธ์ทางทหารโดยใกล้ชิด รวมทั้งการขายอาวุธให้พม่า ทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้หวาดระแวงว่าจีนจะใช้พม่าเป็นช่องทางขยายอิทธิพลลงมาทางใต้

 

สำหรับนักธุรกิจเชื้อสายจีนในพม่านั้น ปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นไม่สู้สบายใจนักกับปรากฏการณ์ ๓ ประการต่อไปนี้ (๑) ปืนและรถถังที่รัฐบาลของพม่านำมาใช้ปราบปรามกลุ่มต่อต้านล้วนแต่ผลิตจากจีนทั้งสิ้น (๒) สถานเอกอัครราชทูตจีนในพม่าติดต่อกับบุคคลในรัฐบาลทหารเท่านั้น ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชาวพม่าโดยทั่วไปเลย และ (๓) เห็นว่ารัฐบาลทหารน่าจะมุ่งแก้ปัญหาของชาติแทนการกล่าวหาต่างชาติและกลุ่มต่อต้าน

 

สรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าพัฒนาไปมาก อิทธิพลของจีนในพม่าเพิ่มขึ้น จีนสามารถขายอาวุธและสินค้าอุปโภคให้พม่าจนทำให้สัดส่วนการตลาดของสินค้าไทยในพม่าลดลงด้วย จีนมีทางเลือกมากขึ้นในการที่จะออกทะเลผ่านพม่า นอกเหนือจากความพยายามที่จะออกทะเลผ่านทางไทยและเวียดนาม จีนประกาศชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐคว่ำบาตรพม่าทางเศรษฐกิจ และจีนเห็นด้วยที่อาเซียนรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก

 

๒. ญี่ปุ่น เมื่อสงครามเย็นยุติลง ญี่ปุ่นเห็นว่า ย่านเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีความเติบโตในอัตราสูง ญี่ปุ่นจึงดำเนินยุทธศาสตร์โดยเน้นความเป็นเอเชีย(Asiatic) และลดความหวาดระแวงของชาติต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งเกรงว่าญี่ปุ่นจะกลับไปเป็นมหาอำนาจอีก พร้อมกันนั้นญี่ปุ่นก็รุกรานทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเพิ่มบทบาททางด้านการทหารมากขึ้น รวมทั้งการยกเลิกข้อจำกัดทางงบประมาณป้องกันประเทศ ทำให้สามารถใช้เงินได้มากกว่า ๑ % ของรายได้ประชาชาติ ญี่ปุ่นเคยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ๒ ประการ คือ (๑) ส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาค และ (๒) เจรจาทางการเมือง โดยถือว่าการประชุมประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเป็นกลไกที่เหมาะสม และสนับสนุนให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอาเซียน เป็นพันธมิตรทางการเมืองและเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ ปรากฏว่าญี่ปุ่นกับประเทศอาเซียนมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดตลอดมา มีการติดต่อและหารือกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับภาคีและทวิภาคี และเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังได้เรียกร้องให้อาเซียนกระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ก็คือ ให้มีการประชุมสุดยอดระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับพม่า ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในการพัฒนาประเทศ พร้อมกันนั้น นักธุรกิจญี่ปุ่นก็เข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น ขณะนี้ญี่ปุ่นลงทุนในพม่าเป็นอันดับ ๙ ด้วยมูลค่าการลงทุน ๑๘๔ ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม ญี่ปุ่นเห็นว่าเศรษฐกิจของพม่ากำลังเติบโต และภายใน ๕ ปีข้างหน้าจะพัฒนาไปมาก

 

ทางพม่า พม่ากำลังมองหาผู้ให้การสนับสนุนในระดับภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนและอินเดีย พม่าปรารถนาจะหลอมรวมเทคโนโลยีและเงินจากญี่ปุ่นเข้ากับแรงงานราคาถูก และทำเลทางภูมิศาสตร์ที่เป็นต่อของพม่า อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านเคยกล่าวโจมตีการลงทุนของญี่ปุ่นว่า บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในพม่า เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองในลักษณะของการปล้นชาติพม่า ญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับการโดดเดี่ยวพม่า เห็นว่าพม่าควรเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ก็ได้เรียกร้องให้พม่าดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและระงับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

๓. สหรัฐ ในการดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศในยุคสิ้นสุดการต่อสู้ทางลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง สหรัฐกำหนดหลักการไว้ ๔ ประการ คือ (๑) การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจการตลาดให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง (๒) การธำรงสถานะความเป็นอภิมหาอำนาจเดียวในโลก และเป็นผู้นำในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การก่อการร้ายสากล การแพร่หลายอาวุธร้ายแรง ปัญหายาเสพติด และปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (๓) การเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนาในภูมิภาคต่างๆ ที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และ (๔) การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมการกระจายข้อมูลข่าวสารให้ครอบคลุมทั่วโลก เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ข้อ เท็จจริงและการโน้มน้าวให้เกิดประชามติระดับโลกขึ้น

 

สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สหรัฐมีนโยบายดังต่อไปนี้ คือ (๑) ดำรงบทบาทด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจต่อไป โดยพึ่งพาพันธกรณีด้านความมั่นคงที่มีอยู่กับพันธมิตร คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย ในจำนวนนี้สหรัฐให้ความสำคัญแก่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากที่สุด (๒) กระตุ้นญี่ปุ่นให้ช่วยแบ่งเบาภาระด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น (๓) ส่งเสริมกลไกความร่วมมือทางด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค เช่น ARF ที่อาเซียนจัดตั้งขึ้น และ (๔) สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ เรียกว่า "ระเบียบโลกใหม่"

 

นโยบายของสหรัฐที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อนำมาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในขอบเขตที่แตกต่างกัน นโยบายที่สหรัฐเน้นในภูมิภาคนี้ คือ (๑) นโยบายส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (๒) นโยบายส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย (๓) นโยบายการต่อต้านยาเสพติด (๔) นโยบายการค้า และ (๕) นโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พิจารณาตามนี้จะเห็นได้ว่าทุกนโยบายกระทบต่อพม่า แม้แต่นโยบายการเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์ที่อาเซียนใช้ต่อพม่า สหรัฐก็ไม่เห็นด้วย

 

สหรัฐใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกดดันรัฐบาลพม่าด้วย คือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ได้ออกคำสั่งห้ามบุคคลหรือนิติบุคคลอเมริกันลงทุนในพม่า ทั้งการลงทุนบางส่วนหรือลงทุนทั้งหมด คำสั่งดังกล่าวมีผลเฉพาะการลงทุนใหม่ ไม่กระทบถึงการลงทุนที่ดำเนินการไปแล้ว เหตุผลที่สหรัฐนำมาอ้างก็คือ พม่าไม่มีประชาธิปไตยและมีพฤติการณ์เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นข้ออ้างที่สหรัฐกล่าวหาพม่าตลอดมา

 

อย่างไรก็ตาม การประกาศคว่ำบาตรพม่าทางเศรษฐกิจ ไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทยูโนแคลที่พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมกับบริษัทโทแทลของฝรั่งเศส และ ปตท. ของไทย ณ แหล่งก๊าซยาดานาในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งจะส่งก๊าซธรรมชาติไปป้อนโรงงานไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่จังหวัดราชบุรี

 

ทางด้านฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่า แสดงความพอใจมาตรการของสหรัฐ แต่รัฐบาลพม่ายืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพม่าแต่อย่างไร ภายในสหรัฐเอง ปรากฏว่านักการเมืองโดยรวมและองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่าแสดงความพอใจ สภาของนครนิวยอร์คสนับสนุนด้วยการออกข้อบัญญัติห้ามบริษัทที่ทำธุรกิจกับพม่าเข้าทำธุรกิจในนิวยอร์ค ข้อบัญญิตินี้มีผลกระทบต่อบริษัทของสหรัฐหลายบริษัทด้วยกัน

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงคัดค้านอยู่ ดังปรากฏในบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ชั้นนำฉบับหนึ่งของสหรัฐ ที่มีความเห็นต่อการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าครั้งนี้ ดังนี้ (๑) เป็นการทำร้ายเอกชนอเมริกัน (๒) เป็นการทำร้ายประชาชนพม่า ไม่กระทบบุคคลในรัฐบาลพม่า (๓) จะไม่ทำให้ผู้นำพม่าเปลี่ยนแปลงความคิด เพราะสหรัฐลงทุนในพม่าเพียง ๘ % ของการลงทุนรวมของต่างประเทศในพม่า ตรงกันข้ามในระยะยาว การลงทุนของสหรัฐในพม่าจะช่วยสนับสนุนการเปิดเสรี และแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ (๔) จะไม่มีประเทศอื่นปฏิบัติตาม กลุ่มอาเซียนคงรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก ญี่ปุ่นก็ยืนยันจะติดต่อค้าขายกับพม่า ส่วนจีนกำลังขยายการค้าและความสัมพันธ์ด้านอื่น การคว่ำบาตรพม่าเท่ากับเป็นการผลักพม่าให้เข้าหาจีน ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนของชาติอื่นเข้าแทนที่บริษัทอเมริกัน และ (๕) หากสหรัฐจะให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง รัฐบาลสหรัฐน่าจะดำเนินการต่อพม่าโดยตรง คือ การตัดความช่วยเหลือที่ให้แก่พม่า และสนับสนุนและช่วยเหลือฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและสื่อมวลชน สหรัฐมองอาเซียนในฐานะมิตรที่มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ และนักการทูตสหรัฐกล่าวว่าสหรัฐกับอาเซียนมีวัตถุประสงค์ต่อพม่าเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันเฉพาะวิธีการ เท่านั้น

 

ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15522เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 03:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท