แขกในพม่าเมื่อ ๗๐ ปีก่อน


ลูทุด่ออะหม่า นักเขียนสตรีอาวุโสชาวพม่า ได้บันทึกชีวิตลำเค็ญของแขกโกลิงคะที่เข้ามาทำมาหากินที่มัณฑะเลเมื่อราว ๗๐ ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นพม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
แขกในพม่าเมื่อ ๗๐ ปีก่อน

 

ลูทุด่ออะหม่า นักเขียนสตรีอาวุโสชาวพม่า ได้บันทึกชีวิตลำเค็ญของแขกโกลิงคะที่เข้ามาทำมาหากินที่มัณฑะเลเมื่อราว ๗๐ ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นพม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเธอก็ยังอยู่ในวัยเยาว์ เธอเล่าว่าแขกกลุ่มนี้ชาวพม่ารู้จักในนาม "คันคยา" บ้าง และ "อปับนา" บ้าง แขกชาวเมืองโกลิงคะทำงานรับจ้างลากรถเจ๊ก รายได้จากการรับจ้างทำงานนับว่าต่ำมาก งานที่แขกโกลิงคะรับจ้างทำนั้น เป็นงานที่คนพม่าไม่สนใจจะแตะ ด้วยเห็นว่าได้ค่าแรงไม่คุ้มเหนื่อย สภาพความเป็นอยู่ของแขกโกลิงคะก็ดูย่ำแย่ มีกลุ่มหนึ่งมาขอเช่าเพิงเล็กๆที่บ้านเธอ แรกๆก็มีมาอยู่กันไม่กี่คน นานเข้าก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น บางคนมีลูกเมียอยู่ปนเปในเพิงเดียวกันกับผู้อื่น จนเธอไม่อยากจะนึกถึงภาพความเป็นอยู่ อาหารการกินก็ประหยัดกันอย่างเหลือเชื่อ อาหารที่กินมักมีเพียงแกงถั่วกับพริก บ้างราดข้าวด้วยแกงถั่ว แล้วโรยด้วยเกลือป่น บ้างกัดพริกกินกับข้าว พอกินเสร็จ ก็จะล้างจานพร้อมไปกับล้างมือ แต่แทนที่จะเทน้ำนั้นทิ้ง ยังกลับซดน้ำล้างจานนั้นจนเกลี้ยง จนแม้แต่น้ำกลั้วปากก็ยังกลืนล้างคอ เรียกว่ากินกันแบบไม่ทิ้งข้าวให้เหลือสักเม็ด พวกแขกโกลิงคะเข้ามาอาศัยในพม่าก็เพื่อหากินเสี่ยงโชคและทำงานโดยไม่เลือก เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็ส่งกลับบ้านเกิด หรือไม่ก็เดินทางกลับไปเอง แต่มิได้กลับไปเลย ยังมีเดินทางกลับมาที่เดิมอีก ลูทุด่ออะหม่ายังเล่าว่ามีแขกบางคนให้คนอื่นเช่าเมียของตนยามที่ตนกลับไปบ้านเกิด แต่พอย้อนกลับมาก็หวนมาอยู่กินกันดังเดิม เธอเล่าอีกว่าเมื่อเธอยังเล็กเธอเคยทะเลาะกับพี่สาว แล้วล้อกันว่า "นังเมียคันคยา" หรือ "นังเมียอปับนา" พอผู้ใหญ่ได้ยินเข้า ก็เลยถูกตีจนเธอจำได้ฝังใจ

 

ลูทุด่ออะหม่าพรรณนาภาพชีวิตน่าอดสูของแขกโกลิงคะตามที่เธอได้พบเห็นในวัยเยาว์ ก็ด้วยความรู้สึกห่วงใยต่อสภาพของชาวพม่าในปัจจุบันที่ลักลอบเข้าไปทำมาหากินอยู่ในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ งานที่คนพม่ารับจ้างทำในประเทศเหล่านี้ย่อมเป็นงานที่คนท้องถิ่นไม่อยากทำ เพราะได้ค่าจ้างน้อยและเหน็ดเหนื่อย ยิ่งทราบจากข่าวว่าชาวพม่าเหล่านั้นต่างไม่อยากกลับประเทศของตน ยิ่งทำให้เธอเกิดความรู้สึกสลดใจ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิมนั้นก็คงเป็นไปด้วยสามัญสำนึกของความอยู่รอด ภาพฃีวิตสุดลำเค็ญของแขกโกลิงคะในยุคอาณานิคม หรือชาวพม่าที่ดิ้นรนทำงานอยู่ในต่างแดน จึงไม่ควรเป็นเพียงภาพที่ชวนอดสูเท่านั้น

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15507เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท