กฎระเบียบ ข้อบังคับ





กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการ แพปลา พ.ศ. ๒๔๙๖“

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“กิจการแพปลา” หมายความว่า การกระทำอันเป็นปกติธุระอย่างใด อย่างหนึ่ง ดั่งต่อไปนี้
(ก) การให้กู้ยืมเงิน หรือให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืมเรือ เครื่องมือทำการประมง หรือสิ่งอุปกรณ์การ ประมง เพื่อให้ผู้กู้ยืม หรือผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ ผู้ยืมประกอบกิจการประมง หรือทำการค้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยมีข้อตกลงกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่า ผู้กู้ยืม หรือผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ ผู้ยืม จะต้องนำสินค้าสัตว์น้ำ มาให้ผู้ให้กู้ยืม หรือผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้ยืม เป็นตัวแทนทำการขาย สินค้าสัตว์น้ำนั้น
(ข) การรับเป็นตัวแทนทำการขายสินค้าสัตว์น้ำของบุคคลอื่น
(ค) การขายสินค้าสัตว์น้ำโดยวิธีขายทอดตลาด (ง) กิจการค้าสินค้าสัตว์น้ำโดยวิธีอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุว่าเป็นกิจการ แพปลา
“สินค้าสัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์น้ำตามความหมายแห่งกฎหมายว่าด้วยการประมง ไม่ ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และรวมตลอดถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำทุกชนิด ซึ่งเป็นวัตถุสินค้า
“สะพานปลา” หมายความว่า สถานที่หรือบริเวณซึ่งได้มีประกาศให้เป็นที่ประกอบกิจการแพปลาตาม พระราชบัญญัตินี้
“ค่าบริการ” หมายความว่า เงินค่าจัดสถานที่และอำนวยความสะดวกในการ ซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำที่ สะพานปลา
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการองค์การสะพานปลา
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานองค์การสะพานปลา
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ นี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประมง
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกิน อัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราช บัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


หมวด ๑
องค์การสะพานปลา

มาตรา ๕ ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่งเรียกว่า “องค์การสะพานปลา” มีวัตถุประสงค์ ดั่งต่อไปนี้
(๑) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของสะพานปลา ตลาดสินค้าสัตว์น้ำและอุตสาห กรรมการประมง
(๒) จัดดำเนินการหรือควบคุม และอำนวยบริการซึ่งกิจการแพปลา การขนส่ง และกิจการ อื่นๆ อันเกี่ยวกิจการแพปลา

มาตรา ๖ ให้องค์การสะพานปลาเป็นนิติบุคคล

มาตรา ๗ ให้องค์การสะพานปลาตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร

มาตรา ๘ องค์การสะพานปลาเห็นสมควรจัดตั้งสะพานปลาขึ้นสำหรับท้องที่ใด เมื่อได้รับ อนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว ก็ให้ประกาศตั้งขึ้นได้ การประกาศ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สะพานปลาอยู่ในความดูแลดำเนินกิจการขององค์การสะพานปลา

มาตรา ๙ ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน และหนี้สิน รวมทั้งบรรดาข้อสัญญาและภาระผูกพันทั้ง สิ้น อันเกิดจาดการดำเนินการจัดตั้งแพปลาของกรมการประมงโดยงบประมาณแผ่นดิน ให้แก่องค์ การสะพานปลา

มาตรา ๑๐ ให้จ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายวิสามัญลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๔๙๖ ของกรมการประมงที่เกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งแพปลา ให้แก่องค์การสะพานปลา

มาตรา ๑๑ ให้มีคณะกรรมการองค์การสะพานปลาขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธาน กรรมการหนึ่งคน และคณะกรรมการอื่นอีกไม่น้อยหว่าสี่คน แต่ไม่เกิน หก คน ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง ประธานกรรมการ และกรรมการองค์การสะพานปลา

มาตรา ๑๒ ประธานกรรมการและกรรมการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

มาตรา ๑๓ ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการ คือ
(๑) เป็นพนักงาน หรือ
(๒) มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การสะพานปลา หรือในกิจการที่กระทำ ให้แก่องค์การสะพานปลา ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

มาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจ การขององค์การสะพานปลา อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการต่างๆ ตามความในมาตรา ๕
(๒) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง และการถอดถอนพนักงาน
(๔) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานขององค์การสะพานปลา และข้อบังคับว่าด้วย ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงาน
(๕) กำหนดอัตราเงินเดือนของพนักงาน

มาตรา ๑๕ ให้ประธานกรรมการอละกรรมการอยู่ในตำแหน่งมีกำหนดสองปี แต่อาจรับ แต่งตั้งใหม่ได้

มาตรา ๑๖ ประธานกรรมการและกรรมการ ย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓
ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ หรือ กรรมการเข้าแทนได้ แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียง เท่ากำหนด เวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา ๑๗ การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการประชุมไปไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวน กรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุมได้ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการเลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานชั่ว คราว

มาตรา ๑๘ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาในคณะกรรมการ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็น ประมาณ ถ้าเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๙ ให้องค์การสะพานปลามีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าบริการจากผู้ประกอบกิจการแพ ปลาได้ไม่เกินร้อยละสามของราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ซื้อขายกันที่สะพานปลาหรือราคาที่พนักงาน ประเมินราคาตลาดในวันนั้น

มาตรา ๒๐ ให้แบ่งเงินค่าบริการที่องค์การสะพานปลาเรียกเก็บตามความในมาตรา ๑๙ ไว้ ร้อยละ ยี่สิบห้าของค่าบริการที่เก็บได้ทั้งหมด เพื่อใช้จ่ายในการส่งเสริมการประมงตามความใน มาตรา ๕ (๓) และ (๔) การเก็บรักษาและการเบิกจ่ายเงินค่าบริการที่แบ่งไว้ในวรรคก่อน ให้เป็นไปตามระเบียบ และวิธีที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๒๑ ให้องค์การสะพานปลาจัดทำงบประมาณประจำปี แยกเป็นงบลงทุนและงบทำ การ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
ให้องค์การสะพานปลาเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคาร ตามระเบียบของคณะกรรมการ ซึ่ง ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๒๒ รายได้ที่องค์การสะพานปลาได้รับในปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับ ดำเนินงาน ค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคาและเงินสมทบกองทุน สำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในองค์การสะพานปลา เงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงิน สำรองขยายงานและเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำ ส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายดังกล่าว นอกจากเงินสำรองที่ได้ระบุไว้ในวรรค ก่อน และองค์การสะพานปลาไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่องค์การสะพานปลา เท่าจำนวนที่จำเป็น

มาตรา ๒๓ ทุกปี ให้คณะกรรมการตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อสอบและรอง รับบัญชีเป็นปีๆ ไป แล้วนำเสนอ รัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยรายงานกิจ การประจำปี ซึ่งให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้ว และให้มีคำชี้แจงเกี่ยงกับนโยบายของคณะ กรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า
ห้ามมิให้ตั้งประธานกรรมการ กรรมการ หรือพนักงานเป็นผู้สอบบัญชี
เมื่อรัฐมนตรีร้องขอ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชีขององค์การ สะพานปลา

มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แทนองค์การสะพานปลาในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภาย นอก แต่คณะกรรมการจะมอบหมายให้ผู้อำนวยการ หรือพนักงานอื่นใดขององค์การสะพานปลา เป็นผู้แทนได้

มาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการด้วยความเห็นชอบ จากรัฐมนตรี

มาตรา ๒๖ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการขององค์การสะพานปลา ตามนโยบายและ ระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย

มาตรา ๒๗ ประธานคณะกรรมการ และกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่ คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๘ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงาน อาจได้รับเงินรางวัล ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด


หมวด
กิจการแพปลา

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการแพปลา เว้นแต่ได้รับอนุญาตและเสียค่าธรรม เนียมตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๐ ห้ามิให้ผู้ใดกระทำการเป็นที่ขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำที่สะพานปลา เว้นแต่ ได้รับอนุญาตและเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๑ ให้อธิบดี โดยอนุมัติรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อกำหนดดั่ง ต่อไปนี้ โดย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๑) ให้ผู้ประกอบกิจการแพปลาประกอบกิจการที่สะพานปลา และปฏิบัติตามระเบียบและ เงื่อนไขที่กำหนด
(๒) อัตราอย่างสูงสำหรับค่านายหน้า ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ประกอบกิจการแพ ปลาจะพึงเรียกจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำและผู้ซื้อสินค้าสัตว์น้ำ
(๓) วิธีการขายทอดตลาด และการกำหนดหน่วยของน้ำหนักหรือปริมาณสินค้าสัตว์น้ำ
(๔) การจอดเรือ การขนส่ง และการจราจรที่สะพานปลา
(๕) ให้ผู้ประกอบกิจการแพปลาทำบัญชี และเอกสารเป็นภาษาไทยตามแบบ ซึ่งกำหนดไว้

มาตรา ๓๒ ให้อธิบดี โดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดแบบพิมพ์ให้ผู้ประกอบกิจการ แพปลากรอกรายการ ข้อความ จำนวน ปริมาณ ชนิด ราคาสินค้า และอื่นๆ ได้ ผู้ประกอบกิจการแพปลาต้องกรอกคำตอบลงในแบพิมพ์นั้นตามความเป็นจริง พร้อมทั้งลง ชื่อกำกับและจัดการยื่นตามกำหนดเวลาและวิธีการ ณ สถานที่ดังกำหนดไว้ในแบบพิมพ์นั้น
เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบรายการในแบบพิมพ์ที่กรอกยื่นดังกล่าว เมื่ออธิบดีเห็นสม ควร มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบสมุดบัญชีหรือเอกสาร ต่างๆ ในที่ทำการของผู้ประกอบกิจการแพปลาได้ในระหว่างเวลาราชการ ให้ผู้ประกอบกิจการแพ ปลาอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้ แต่ในการตรวจสอบนี้ต้องไม่เป็นการขัด ขวางต่อกิจการงานของผู้ประกอบกิจการแพปลา

มาตรา ๓๓ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการแพปลา ไม่ยอมขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำ รัฐ มนตรี หรอผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้องค์การสะพานปลาดำเนินการขายทอด ตลาดสินค้าสัตว์น้ำที่สะพานปลาเสียเองก็ได้

มาตรา ๓๔ รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสั่งยกเว้น หรือลดค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการตามพระ ราชบัญญัตนี้ให้แก่สหกรณ์การประมงได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๓๕ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการแพปลาที่สะพานปลา รับซื้อสินค้าสัตว์น้ำเสียเอง เวนแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของสินค้าสัตว์นำนั้น ในกรณีเช่นนี้ ห้ามมิให้เรียกเก็บค่านาย หน้าจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำนั้น

มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือผู้ขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำ กระทำ การฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ชำระ ค่าบริการที่องค์การสะพานปลาเรียกเก็บ หรือสั่งเพิกถอนในอนุญาตได้
ในการที่อธิบดีจะสั่งดังกล่าวในวรรค ก่อน ให้ส่งคำตักเตือนเป็นหนังสือ ให้ผู้ประกอบกิจการแพปลาหรือผู้ขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาอัน สมควรที่กำหนดให้เสียก่อน

มาตรา ๓๗ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ก็ดี หรือในกรณีที่อธิบดี สั่งให้หยุดกระทำกิจการแพปลา หรือหยุดขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำ หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก็ ดีผู้ขออนุญาตหรือผู้ถูกสั่งเช่นว่านั้น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ให้อธิบดีส่งคำอุทธรณ์นั้นไปยังรัฐมนตรีภายในเจ็ดวัน นับแต่วัน ได้รับคำอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด


หมวด
บทกำหนดโทษ

มาตรา ๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่ต่ำกว่าห้าพันบาท แต่ไม่ เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๕ หรือฝ่าฝืนข้อกำหนดของอธิบดี ออกตาม ความในมาตรา ๓๑ (๑) (๒) (๓) และ(๕) หรือขัขวางการขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำโดยองค์การ สะพานปลาตามความในมาตรา ๓๓ มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่ เกินสามเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๔๐ ผู้ใดไม่กรอกแบบพิมพ์ยื่น หรือแกล้งกรอกแบบพิมพ์ที่อธิบดีกำหนด ไม่ ครบถ้วนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของอธิบดีว่าด้วยการกรอกแบบพิมพ์นั้น หรือกรอกแบบ พิมพ์เช่นว่านั้นโดยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จหรือไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบสมุดบัญชีหรือ เอกสารตามคำสั่งอธิบดี หรือไม่อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบเช่นว่านั้นตามความในมาตรา ๓๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของอธิบดีออกตามความในมาตรา ๓๑(๔) มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองร้อยบาท


หมวด
บทเฉพาะกาล

มาตรา ๔๒ ผู้ประกอบกิจการแพปลาและผู้ขายทอดตลาดสินค้าสัตว์น้ำที่กระทำการอยู่แล้วก่อนวันใช้ บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามความในพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวัน นับตั้งแต่วัน ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป



คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15418เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท